29 ก.ย. 2020 เวลา 09:27 • การศึกษา
ความเป็นมนุษย์ สัมพันธ์กับการทำงาน
“การประกอบอาชีพ” ไม่สามารถแยกขาดออกจากความเป็นมนุษย์
ช่วงที่ผ่านมานี้
มีข่าวสารที่ทำให้เราได้เห็น
“ด้านมืดที่ซ่อนอยู่ในวิชาชีพต่าง ๆ”
ซึ่งเต็มไปด้วยการกระทำที่ขาด ๆ เกิน ๆ
“ไม่ลงตัว”
โดยลำพังตัววิชาชีพนั้นมิอาจสร้างปัญหา
สิ่งที่ทำให้เกิดความไม่ลงตัวในวิชาชีพและการทำงาน
จึงมักมาจากชีวิตจิตใจของมนุษย์
“ผู้ที่อยู่ในสนามแห่งการทำงาน”
เหตุการณ์ในช่วงนี้
จึงทำให้ผมนึกถึงประโยคหนึ่ง
ที่อาจารย์เคยบอกไว้ขณะเรียน ว่า
“เอ็งเป็นมนุษย์ให้ได้ก่อน…แล้วค่อยไปเป็นนักจิตวิทยา”
(ตอนที่ผมได้ยินประโยคนี้…ผมนี่อึ้งไปเลยครับ 555)
แต่ละคนทั้งตกใจ และสงสัยไปในเวลาเดียวกัน
“เหมือนโดนเขกกะโหลกให้ลดความโอหัง…เพื่อเปิดใจเรียนรู้”
จากนั้นอาจารย์จึงค่อย ๆ ชวนให้เหล่าบรรดาลูกศิษย์ได้ทบทวนชีวิต
“สังเกตส่วนต่าง ๆ ในชีวิตของตนเอง”
เริ่มตั้งแต่
การมีสติรู้ตัวเท่าทันความเปลี่ยนแปลง
การรู้จักสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตนเองอย่างถูกต้องรอบด้าน
การมีความมั่นคงทางใจท่ามกลางความผันแปร
ความสามารถในการดูแลชีวิตจิตใจตัวเอง
รวมทั้งทักษะในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และธรรมชาติอย่างกลมกลืน
ทั้งหมดนี้จึงกล่าวได้ว่า คือความสามารถในการเป็นมนุษย์
ซึ่งเราสามารถฝึกฝน และบ่มเพาะขึ้นได้
“ในแต่ละขณะของการมีชีวิต”
เมื่อเราเป็นมนุษย์อยู่ทุกวินาที
เราย่อมสามารถขัดเกลาตนเองได้เสมอ
คำว่า “เป็นมนุษย์”
สำหรับผมแล้ว
จึงไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การมีร่างกาย
(ร่างกายตามเผ่าพันธุ์ของเรานั่นล่ะครับ 555)
แต่ยังหมายถึงสมรรถนะที่มีอยู่ในหัวใจของเรา
“ความเป็นมนุษย์ที่สามารถเติบโตงอกงาม…ไม่ได้มีเพียงแค่สัญชาตญาณ”
เช่น
เป็นมนุษย์ที่มีจิตใจเอื้อเฟื้อเกื้อกูล…มิใช่มัวแต่ก้าวก่ายกอบโกยผู้อื่น
เป็นมนุษย์ที่อยู่กับความเป็นจริง…มิใช่หมกมุ่นยึดติดอยู่กับความคาดหวังแคบ ๆ
เป็นมนุษย์ที่พร้อมปรับตัวกับความผันแปร…มิใช่เอาแต่ยื้อยุดในสิ่งที่ผ่านพ้นไปแล้ว
ซึ่งภาวะเหล่านี้เปิดโอกาสให้ชีวิตพบกับความกว้างขวางยิ่งขึ้น
เราจึงสามารถทำงานด้วยความรู้ตัว และตัดสินใจอย่างละเอียดอ่อน
มิใช่ลงมือโดยอาศัยความไร้สติ และความแข็งกร้าวแต่เพียงอย่างเดียว
เมื่อเราฝึกฝนขัดเกลาตนเองเช่นนี้อย่างสม่ำเสมอ
“รากฐานแห่งความเป็นมนุษย์ย่อมมั่นคง”
จากนั้น ไม่ว่าเราจะไปเป็นนักจิตวิทยา เป็นนักวิทยาศาสตร์
เป็นนักข่าว เป็นพนักงาน เป็นนักวิจัย
เป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นครูอาจารย์
จะประกอบอาชีพใดก็ตาม
เป็นพ่อแม่ เป็นพี่น้อง
เป็นหัวหน้า เป็นลูกน้อง หรืออยู่ในบทบาทใด ๆ
เราย่อมสามารถใช้ชีวิตอยู่กับความเป็นจริงอย่างเท่าทัน
และปรับตัวให้สอดรับกับทุกท่วงทำนองของชีวิตได้อย่างสร้างสรรค์
หากเราหรือใครสักคน
เผลอพลาดพลั้งในการงาน
แทนที่จะมัวแต่กล่าวโทษตนเองและผู้อื่นเพียงอย่างเดียว
เรายังสามารถใช้เป็นโอกาสในการทบทวน
เพื่อทำความเข้าใจถึงที่มาความเป็นไป
“ซึ่งเป็นรากฐานแห่งความพลั้งพลาด”
อาจเรียกได้ว่า
เปลี่ยนพิษร้ายให้กลายเป็นยารักษา
“เติบโตจากความล้มเหลว”
เพื่อกลับมาเรียนรู้ ให้อภัย
และเติมเต็มความเป็นมนุษย์ให้งอกงามยิ่งขึ้น

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา