29 ม.ค. 2021 เวลา 00:29 • หนังสือ
สรุปหนังสือ The Power Of Output (Series 3/3)
ผู้เขียน ชิออน คาบาซาวะ
มาต่อกันที่สรุปส่วนสุดท้ายของหนังสือ The power of output กันค่ะ
Series นี้จะเน้นไปที่การขยับกล้ามเนื้อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นจากการพูด หรือการเขียน ซึ่งถือว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาความจำของสมองค่ะ
1. The Magic 3 (อยู่ใน Series 1 )
2. The miracle of happy hormones (อยู่ใน Series 2)
3. The body secrets ***
ศิลปะของการปล่อยของ (เปลี่ยนโลกจริงให้ทุกสิ่งเป็นไปได้ ผ่านหลักคิด พูด เขียน ทำ)
การขยับของร่างกายทำให้เกิด “ความจำของกล้ามเนื้อ” และเป็นความจำในระดับที่ลืมยากด้วย เพราะข้อมูลจากกล้ามเนื้อจะถูกส่งไปที่สมองส่วนซีรีเบลลัม ซึ่งโครงข่ายใยประสาทตรงนั้นจะทำให้ข้อมูลมีความซับซ้อนมากขึ้น จากนั้นจึงค่อยส่งข้อมูลต่อไปยังสมองส่วนฮิปโปแคมปัส เพื่อเก็บเป็นความจำระยะยาวต่อไป
ดังนั้นจุดเด่นของความจำระดับกล้ามเนื้อ คือ
พอจำได้แล้ว ต่อไปก็จะลืมยาก!!!
เหมือนแรก ๆ เราหัดปั่นจักรยานจะหกล้มกันบ่อย เพราะกล้ามเนื้อยังไม่เกิดความจำเกี่ยวกับวิธีการปั่น แต่พอได้ลองอีกซัก 2–3 ครั้ง เราก็คล่องขึ้นไม่ล้มแล้ว แบบนั้นละค่ะที่เรียกว่า…ความจำของกล้ามเนื้อ คือได้แล้วได้เลย
สำหรับเพื่อน ๆ ที่หลงเข้ามาอ่านบทความนี้ แล้วอยากย้อนไปอ่าน Series หนึ่งและสอง “The magic 3 and The miracle of happy hormones” อยู่ที่ลิงค์นี้ค่ะ
==========
### Zajonc theory ###
เป็นทฤษฎีเกิดจากนักจิตวิทยาชาวอเมริกันชื่อไซแอนด์ ที่ได้ทดลองเอารูปถ่ายไปให้คนกลุ่มหนึ่งดู แต่ละรูปจะส่งให้ในจำนวนครั้งไม่เท่ากัน จากนั้นก็ให้กลุ่มทดลองเขียนคะแนนความชอบของแต่ละภาพ ปรากฏว่าภาพที่ยิ่งดูบ่อยคนยิ่งชอบ เค้าจึงสรุปออกมาเป็นทฤษฎีว่า “จำนวนครั้งที่พูดคุย…สำคัญกว่าเนื้อหาที่พูดคุย”
โดยทฤษฎีนี้ถูกเรียกว่า “ทฤษฎีของไซแอนซ์ หรือ ปรากฏการณ์เพียงแค่ได้เจอ”
เราว่ามันเข้ากับสำนวนไทยที่ว่ารักแท้แพ้ใกล้ชิดค่ะ ดังนั้นถ้าอยากผูกมิตรกับใคร ชวนเค้าคุยบ่อย ๆ นะ
==========
### Cocktail party effect ###
ปรากฏการณ์ที่หูคนเราสามารถได้ยินเสียงเรียกชื่อตัวเองชัดแจ๋ว ทั้ง ๆ ที่บริเวณนั้นเสียงดังจนแสบแก้วหู
มันเป็นวิธีการหนึ่งในการจัดการข้อมูลของสมองค่ะ ที่เรียกกันว่า “สมาธิเลือกสรร” เพื่อไม่ให้เราต้องรับข้อมูลเข้ามาอยู่ในหัวมากจนเกินไป ดังนั้นถ้ามีเสียงหรือประโยคอะไรที่มันคุ้นเคยหรือรู้จัก สมองจะพุ่งสมาธิไปจดจ่ออยู่ตรงนั้นแทน อย่างเช่น มีคนเรียกชื่อเราหรือพ่อแม่เรา เป็นต้น
ความพิเศษของกลไกสมองอันนี้ สามารถนำมาใช้กับการสร้างสมาธิก่อนอ่านหนังสือ หรือเข้าฟังสัมมนาได้ค่ะ โดยการตั้งคำถามก่อนเริ่มลงมือทำ เช่น เราต้องการอะไรจากการอ่านหนังสือ The power of output แล้วก็ลองตอบตัวเองคร่าว ๆ ถึงประโยชน์ที่จะได้รับ
--> คำถามจะเป็น Cocktail party effect ให้กับสมอง
ทีนี้พอเราเริ่มอ่านหนังสือ สมองก็จะสแกนหาเรื่องที่เราอยากจะจดจำ ทำให้พอถึงจุดสำคัญ สมองจะรวมสมาธิเพื่อเปิดรับข้อมูลได้ง่ายขึ้น
==========
### Little stress is friend ###
ความตื่นเต้นนิด ๆ จะช่วยให้เราทำข้อสอบได้ดีขึ้น หะ…ว่าอะไรนะ!! เพื่อน ๆ อ่านไม่ผิดค่ะ เพราะแรงกดดันจากเวลาที่จำกัด…จะกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารนอร์อะดรีนาลีนที่สมอง ซึ่งส่งผลต่อระดับสมาธิของเรา สังเกตว่าเราจะมีความระมัดระวังและตั้งใจกับสิ่งตรงหน้ามากขึ้น อาการวอกแวกจะน้อยลง หรือบางทีหูดับปิดรับเสียงภายนอกไปเลยก็มีค่ะ
การกำหนดเวลาหรือเส้นตาย จึงเป็นแรงกดดันทางความรู้สึก ที่ช่วยกระตุ้นนอร์อะดรีนาลีนให้หลั่งออกมา
แต่ความท้าทายหรือการกดดันตัวเอง เป็นอะไรที่คนส่วนใหญ่ไม่ชอบ เพราะมันมีโอกาสที่จะเจอกับความล้มเหลวสูง พูดง่าย ๆ คือ มันเสี่ยงเกินไป สู้อยู่แบบเดิมจะดีกว่า
สาเหตุที่การทดลองทำอะไรใหม่ ๆ ไม่เป็นเรื่องน่าสนุกสำหรับใครบางคน เป็นเพราะเราเลือกท้าทายสิ่งที่อยู่ใน “พื้นที่อันตราย” ซึ่งเป็นโซนที่เกินขีดความสามารถของเราที่จะทำสำเร็จได้ พื้นที่ตรงนี้ไม่ปลอดภัย!!! และยังสร้างความกลัวมากกว่าที่จะรู้สึกสนุกตื่นเต้นไปกับมันด้วย ดังนั้นแทนที่สมองจะหลั่งสารแห่งความสุขอย่างโดพามีน มันกลับถูกกระตุ้นให้หลั่งฮอร์โมนความเครียดอย่างคอร์ติซอลแทน แถมมีแนวโน้มที่เราอาจจะล้มเลิกแล้วกลับไปสู่ “พื้นที่คุ้นเคย” (Comfort zone) ก็เป็นได้ค่ะ เลยกลายเป็นว่า สุดท้ายเราไม่กล้าพัฒนาตัวเอง
โดพามีนสารแห่งความสุข
จะออกมาเมื่อเจอกับความท้าทายเล็ก ๆ และยังอยู่ในพื้นที่การเรียนรู้เท่านั้น
ดังนั้น…จงตั้งเป้าหมายที่สามารถทำได้และไม่ยากจนเกินไป หนึ่งในเทคนิคการตั้งเป้าหมายที่คุณคาบาซาวะแนะนำ คือ “ Hop Step Jump” ค่ะ
เพื่อน ๆ เคยลองกระโดดข้ามกำแพงสูงประมาณคอเรามั้ยคะ ฮ่า ฮ่า เราก็ไม่เคยหรอก เพราะมันยากเกินไปค่ะ สูงขนาดนั้นใครจะไปกระโดดไหว >< นั่นละค่ะพื้นที่อันตรายที่เรากลัว แล้วก็พร้อมจะเลิกทำต่อ
เอาใหม่…ถ้างั้นเราขอให้เพื่อน ๆ ฝึกกระโดดข้ามเก้าอี้สูงแค่ประมาณเข่า อ่าาา ทีนี้ก็เริ่มมีบางคนอยากลองทำดู อยากท้าทายพลังขากันซะหน่อย แบบนี้ค่ะเรียกว่าพื้นที่การเรียนรู้ เป็นเป้าหมายที่เราพอจะทำได้ Hop step jump จึงหมายถึงการซอยเป้าหมายออกเป็นหลายระดับ เพื่อให้เราเกิดความท้าทายเล็ก ๆ และกล้าที่จะลงมือทำค่ะ ลองดูนะคะ ฮึบ ฮึบ
==========
### RAS as a brain security guard ###
Reticular Activating System หรือ RAS เป็นกลุ่มเครือข่ายของเส้นประสาทตรงก้านสมอง ทำหน้าที่เหมือนยามรักษาการณ์ คอยเตือนภัยเวลามีอะไรไม่ชอบมาพากลค่ะ เมื่อ RAS โดนกระตุ้น มันจะส่งสารเคมีไปบอกสมองใหญ่ว่า “จงเตรียมพร้อม ระวังภัย และห้ามพลาดในทุกรายละเอียด”
ทีนี้พอจะเดาได้มั้ยคะ ว่าอาการตื่นเต้นและมีสมาธิจดจ่อกับภัยคุกคามมันคล้ายกับฮอร์โมนตัวไหน ปิ๊งป่อง ปิ๊งป่อง!! นอร์อะดรีนาลีนนั่นเอง RAS คือจุดปล่อยสารสื่อประสาทหลายตัว ได้แก่ โดพามีน เซโรโตนีนและนอร์อะดรีนาลีนค่ะ
การกระตุ้นระบบ RAS จะช่วยให้เกิดสมาธิได้
และวิธีกระตุ้นที่ง่ายที่สุด คือ “เขียน เขียน และเขียน” ค่ะ
พอเรามีการขยับกล้ามเนื้อ สมองจะเริ่มระมัดระวังและจดจ่อกับเรื่องที่เขียนมากขึ้น เท่ากับว่า…เรากำลังเขียนคำสั่งให้กับระบบ RAS เพื่อบอกมันว่า…จงเฝ้าระวัง เพราะมีสิ่งสำคัญที่ต้องจดจำอยู่นะ!!! แล้วถ้าย้อนกลับไปอ่านหัวข้อ Cocktail party effect ที่เราพูดไปก่อนหน้านี้ ก็จะเห็นว่ามันคือหนึ่งในกลไกของระบบ RAS เช่นกันค่ะ
==========
### Default mode network ###
“ต้องหาเวลานั่งเหม่อ เพื่อพัฒนาสมอง”อุต๊ะ มันได้ด้วยเหรอออ ??
งานวิจัยทางประสาทวิทยาศาสตร์พบว่า การนั่งใจลอยสำคัญต่อการสร้าง Output ที่มีคุณภาพ เพราะ Default mode network (DMN) ซึ่งเป็นโหมดสแตนด์บายของสมอง จะออกทำงานในช่วงเรานั่งเหม่อ เพื่อทำให้ข้อมูลที่เราได้รับมาก่อนหน้า ถูกย่อยและเชื่อมต่อกันเป็นข้อมูลที่สมองสามารถใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต
DMN ทำหน้าที่เป็นเชฟ (Chef) ที่เลือกเอาข้อมูลวัตถุดิบตรงหน้า มาประกอบเป็นอาหารที่มีสารอาหารดีพร้อมเสริ์ฟให้กับสมองค่ะ
ช่วงเวลาพักสมอง…จึงเป็นอะไรที่สำคัญมาก หากช่วงเวลาของ DMN มีน้อยจะทำให้สมองส่วน Frontal cortex ที่ใช้ในการคิดวิเคราะห์และคิดสร้างสรรค์ฝ่อได้ แล้วถ้ายังไม่ยอมพักเลยจะเกิดภาวะสมองล้า (Brain fratique) และสมองตายในที่สุด
==========
### Nucleus accumbens ###
เพื่อน ๆ เป็นกันมั้ยคะ ??? เวลาที่เราอยากจะเริ่มทำอะไรใหม่ ๆ เรามักเริ่มไม่ค่อยได้ มันเหมือนมีมารมาพจญ ดึงแข้งดึงขาสารพัด จนบางทีมันก็ชนะความตั้งใจเราซะด้วย ><
จริง ๆ แล้วมันเป็นเพราะ “สวิตซ์ความตั้งใจ” ยังไม่ถูกเปิดค่ะ
ความรู้สึกตื่นตัวอยากจะลงมือทำอะไรจริงจัง จะถูกสั่งงานมาจากส่วนเล็ก ๆ ในสมองที่มีชื่อว่า “Nucleus accumbens” เป็นส่วนของสมองที่มีขนาดเท่าเม็ดแอปเปิ้ลอยู่บริเวณตรงกลางสมอง มีหน้าที่ควบคุมฮิปโปแคมปัสและสมองส่วนหน้าให้เกิดความรู้สึกตั้งใจและอยากลงมือทำ
ความตั้งใจลงมือทำ จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นหลังจากเริ่มลงมือทำไปแล้ว
Nucleus accumbens มันค่อนข้างเฉื่อยค่ะ การจะไปกระตุ้นเจ้าสวิตซ์ความตั้งใจนี้ต้องใช้แรงกระตุ้นหนักพอสมควร และต้องทำต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 5 นาที แต่ว่า…ถ้ามันได้เริ่มปล่อยพลังแล้ว เอาช้างมาฉุดก็ไม่หยุดความพยายามค่ะ
แล้วเราจะเปิด Nucleus accumbens ได้อย่างไร?? มีทางเดียวค่ะ คือเราต้องลงมือทำไปก่อน ทำแบบฝืน ๆ เนือยๆ ไปซักพัก รอจนสวิตซ์ตัวนี้เปิด ทีนี้หล่ะเราจะเดินหน้าลุยกับงานตรงหน้าสุด ๆ ไปเลย^^
==========
สรุปจบครบทุกรายละเอียดแล้วนะคะ ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่านค่ะ
ฝากติดตามต่อได้ที่
Medium
ด้วยความปรารถนาดี
The Wisdom Diary
References
ข้อมูลหนังสือ
The Power Of Output ศิลปะของการปล่อยของ (เปลี่ยนโลกจริงให้ทุกสิ่งเป็นไปได้ ผ่านหลักคิด พูด เขียน ทำ): ชิออน คาบาซาวะ สำนักพิมพ์: we learn จำนวนหน้า: 340 หน้า ปกอ่อน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา