17 มี.ค. 2021 เวลา 00:50 • ธุรกิจ
รายจ่ายต้องห้ามทางภาษี ที่เราควรรู้
คุณผู้อ่านอาจจะเกิดความสงสัยว่าอะไรคือ รายจ่ายต้องห้าม มันห้ามกันได้ด้วยเหรอ จริงๆ แล้วมันก็คือรายจ่ายที่เราได้จ่ายไปจริงๆ นั่นล่ะค่ะ แต่ต้องพิจารณาด้วยว่ารายจ่ายนั้นเป็นไปตามข้อกำหนดของสรรพากรหรือไม่ ลองมาทำความเข้าใจของคำว่า รายจ่ายต้องห้าม กันหน่อยนะคะ
รายจ่ายต้องห้าม หมายถึง รายจ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการของนิติบุคคลและได้มีการบันทึกบัญชีเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่เกิดรายการแล้ว แต่ในทางภาษีไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ
ขอบเขตรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กำหนดไว้ตามประมวลรัษฎากร เป็นไปตามเงื่อนไขการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี
แล้วรายจ่ายต้องห้ามดังกล่าวนั้น มีอะไรกันบ้าง มาต่อกันเลยค่ะ
📌 รายจ่ายส่วนตัวของผู้บริหารที่อยู่นอกระเบียบบริษัท
รายจ่ายส่วนนี้ห้ามนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นอันขาด ซึ่งรายจ่ายของผู้บริหารที่อยู่นอกระเบียบบริษัท เช่น ค่าน้ำมัน เงินช่วยเหลืองานบุญ งานบวช หรือกระทั่งงานศพของพนักงาน เป็นต้น
1
รายจ่ายแบบนี้ ถ้าไม่มีกำหนดอยู่ในระเบียบชัดเจน ห้ามนำมาหักภาษีเด็ดขาด เพราะถือว่าเป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นตามอำเภอใจและเป็นรายจ่ายส่วนตัวของผู้บริหารบริษัทเอง ไม่ใช่ของบริษัท
ดังนั้นในทางที่ดีถ้าบริษัทมองว่ารายจ่ายเหล่านี้ยังไงก็ต้องเกิดขึ้นและจะใช้เงินบริษัทมาจ่าย ก็ควรจะทำการระบุไว้ในระเบียบของบริษัทให้ชัดเจน เช่น ระบุว่าผู้บริหารจะมีค่าน้ำมันเดือนละเท่าไร หรือถ้าพนักงานไปบวชหรือเสียชีวิต บริษัทจะให้เงินช่วยเหลือเท่าไรในฐานะของสวัสดิการพนักงาน เป็นต้น
1
📌 รายจ่ายเพื่อรับรองลูกค้าที่เกินโควตา หรือเกินกว่าที่สรรพากรกำหนดให้ใช้ได้
คนทำธุรกิจโดยทั่วไปก็น่าจะเข้าใจว่ากว่าจะปิดดีลกับลูกค้าได้ ก็ต้อง “เลี้ยง” ลูกค้าไปหลายรอบ อย่างไรก็ดีการเลี้ยงเหล่านี้ในทางกฎหมายมีโควต้าว่าต้องเลี้ยงไม่เกินคนละ 2,000 บาทต่อครั้งเท่านั้น (นับรวมพนักงานที่พาไปเลี้ยงด้วย) และรายจ่ายพวกนี้จะต้องไม่เกิน 0.3% ของยอดขายของกิจการด้วย
โดยเพดานของรายจ่ายตรงนี้สูงสุดอยู่ที่ 10 ล้านบาท หมายความว่า ไม่ว่ากิจการจะต้องเลี้ยงลูกค้ามากแค่ไหนกว่าจะปิดดีลได้ แต่รายจ่ายตรงนั้นจะไม่สามารถเอามาหักออกจากรายได้ตอนเสียภาษีถ้าเกินเพดานที่กำหนดไว้
📌 รายจ่ายที่ไม่มีผู้รับ หรือพิสูจน์ผู้รับเงินไม่ได้
รายจ่ายที่ไม่มีผู้รับ กล่าวคือ รายจ่ายที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าได้จ่ายไปที่ใคร รายจ่ายลักษณะนี้อาจพบได้มากในบริษัทขนาดเล็กทั่วไป
กิจการควรตั้งงบประมาณไว้จัดการเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น อุปกรณ์สำนักงาน วัสดุสิ้นเปลืองทั่วไป หรือกระทั่งการจ้างมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปส่งเอกสาร เป็นต้น
ประเด็นคือ รายจ่ายเหล่านี้ หากจ่ายไปเป็นเงินสด และผู้รับไม่มีการออกใบเสร็จให้ มันก็จะไม่มีหลักฐานใดๆ ว่ารายจ่ายพวกนี้ได้จ่ายไปที่ใคร และจะไม่สามารถนำมาคำนวณหักภาษีได้ ถึงแม้ว่าจะมีการจ่ายเงินออกไปจริงก็ตาม
📌 รายจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม
การทำธุรกรรมทางการเงินของกิจการ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหรือขายสินค้าหรือบริการ มันจะมีเงินส่วนหนึ่งที่ต้องจ่ายไปเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือต้องเก็บไว้เพื่อรอนำจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับสรรพากร เช่น กิจการขายของได้ 107 บาท กิจการจะได้จริงๆ 100 บาท อีก 7 บาทต้องเก็บไว้นำจ่ายเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มให้สรรพากร
ประเด็นคือ 7 บาทที่ว่านี้ ไม่สามารถเอามาคิดเป็น “รายจ่าย” ของกิจการตอนเสียภาษีเงินได้ เพราะในทางบัญชี ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ใช่รายจ่ายของกิจการ แต่จะตั้งไว้เป็นหนี้สินรอนำส่ง กิจการจะเป็นเพียงตัวกลางนำส่งภาษีให้กรมสรรพากรเท่านั้น
📌 รายจ่ายเงินเพิ่มเบี้ยปรับภาษีอากร หรือ ค่าปรับ
ค่าปรับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอกับกิจการ ไม่ว่ากิจการจะทำผิดกฎหมายระดับเล็กน้อยหรือมาก และเมื่อต้องเสียค่าปรับ ก็แน่นอนว่ามันเป็นเงินของกิจการที่ต้องจ่ายออกไป และในทางบัญชีทั่วไปก็ต้องคิดเป็นรายจ่าย
อย่างไรก็ดี แม้ว่ากิจการจะจ่ายเงินไปตามนั้นจริง แต่ในทางภาษีเราไม่สามารถเอาค่าปรับต่างๆ มาคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายได้
เพราะจากมุมมองของสรรพากร รายจ่ายตรงนี้ไม่ใช่รายจ่ายทางธุรกิจ แต่มันเกิดจากการที่กิจการทำผิดกฎหมายและได้รับการลงโทษโดยรัฐ มันจึงเอามาคำนวณเป็น “รายจ่าย” ในทางภาษีของกิจการไม่ได้
📌 เงินเดือนของผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนเฉพาะส่วนที่จ่ายเกินสมควร
เจ้าพนักงานมีอำนาจพิจารณารายจ่ายประเภทเงินเดือนของผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนของกิจการได้
โดยเปรียบเทียบกับกิจการรายอื่นซึ่งอยู่ในฐานะหรือลักษณะเดียวกัน อยู่ในหน่วยงานเดียวกัน หรือทำเลเดียวกัน ประกอบกิจการค้าอย่างเดียวกันหรือลักษณะเดียวกัน
📌 ค่าเสื่อมราคารถยนต์
รถยนต์ที่ซื้อมาในราคาเกิน 1 ล้าน สรรพากรกำหนดว่า ให้คิดค่าเสื่อมราคาตามยอดจริง แต่ไม่เกิน 1 ล้าน ส่วนที่เกินมูลค่า จะถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม ต้องบวกกลับตอนทำงบส่งสรรพากรด้วย
📌 ค่าทรัพยากรธรรมชาติที่เสียไป
ในกรณีที่กิจการสร้างรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติที่ตัวเองถืออยู่ เช่น การขุดแร่หรือตัดไม้มาขาย แน่นอนว่าจากมุมของกิจการ เมื่อเอาทรัพยากรมาใช้แบบนี้ ทรัพยากรย่อมลดลง
และในทางบัญชีโดยทั่วไปก็ถือเป็นรายจ่ายที่ต้องคำนวณกันไป แต่สิ่งเหล่านี้ ในทางภาษีไม่สามารถนำมานับเป็นรายจ่ายได้
ซึ่งเหตุผลก็เป็นเพราะมันไม่มีเกณฑ์ชัดเจนในการประเมินมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกใช้ไป และถ้าเปิดโอกาสให้เอาส่วนนี้มาเป็นรายจ่าย บริษัทก็มีแนวโน้มจะประเมินมูลค่าทรัพยากรที่เสียไปเกินจริง
📌 ค่าของอสังหาริมทรัพย์ที่ตีราคาต่ำลง
ทรัพย์สินในรูปของอสังหาริมทรัพย์ ในทางบัญชีทั่วๆไป ก็จะต้องมีการประเมินมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้ตลอด เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงมูลค่าของสินทรัพย์ของกิจการว่ามากขึ้นหรือลดลง
ซึ่งกรณีที่มันลดลง ในทางบัญชีปกติก็ถือเป็นรายจ่ายในงบการเงินได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าสินทรัพย์บริษัทลดลง
แต่ในทางภาษี เนื่องจากยังไม่มีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นจริง และการประเมินมูลค่าก็ไม่มีหลักทางภาษีที่แน่นอนตายตัวในรายละเอียด ทางสรรพากรจึงกำหนดให้เป็นรายจ่ายต้องห้าม
1
💦.....ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็เป็นหลักกว้างๆ ว่าในทางภาษี เราไม่สามารถนำรายจ่ายแบบใดมาคำนวณหาผลกำไรของกิจการได้บ้าง
อย่างไรก็ดี จริงๆ “รายจ่ายต้องห้าม” ก็ยังมีรายละเอียดไปจนถึงข้อยกเว้นอีกมาก ซึ่งสามารถเข้าไปอ่านได้ที่ เว็บของกรมสรรพากรค่ะ
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ช่องทางอื่นในการติดตาม เพจลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกกำลังใจและการติดตามนะคะ 🙏🙏😘😘

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา