27 เม.ย. 2021 เวลา 12:21 • สุขภาพ
เพราะนั่งแบบนี้ จึงเจ็บปวด Part 4 พาร์ทสุดท้าย
“นั่งท่าไหน ถึงจะไม่ปวด?”
1
ในพาร์ทที่ 1 2 และ 3 ที่ผ่านมา เราได้พอรู้เกี่ยวกับท่านั่งในแบบต่างๆไปแล้วว่าทำให้เกิดความเจ็บปวดอะไรได้บ้าง เช่น
ในพาร์ทที่ 1 ท่านั่งหลังแอ่น ท่านั่งนี้จะมีการหมุนของกระดูกเชิงกรานให้คว่ำมาด้านหน้า ทำให้กล้ามเนื้องอสะโพกและหลังหดเกร็งค้าง ,กล้ามเนื้อหน้าท้องและก้น จะยืดยาวและอ่อนแรงลง ในส่วนของข้อต่อกระดูกเอวและกระเบนเหน็บมีช่องว่างระหว่างข้อที่แคบลง ข้อต่อกดเบียดเสียดสีกัน จึงทำให้เกิดอาการปวดหลัง ข้อต่ออักเสบ ในบางรายเกิดการหนีบทับเส้นประสาท จนมีอาการปวดชาร้าวลงขาได้
พาร์ทที่ 2 ท่านั่งหลังงอ/นั่งตัวไถล ท่านั่งนี้จะมีการหมุนของกระดูกเชิงกรานให้หงายไปทางด้านหลัง ทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องและก้นมัดลึกหดเกร็งค้าง ,กล้ามเนื้องอสะโพกและหลังยืดยาวและอ่อนแรงลง เกิดแรงตกกระทำที่ข้อต่อกระเบนเหน็บ และหน้าต่อกระดูกเอว ซึ่งนอกจากจะทำให้ปวดหลัง ปวดก้นแล้ว ยังทำให้เสี่ยงที่จะเกิดหมอนรองกระดูกเอวปลิ้นทับเส้นประสาทได้ง่ายอีกด้วย
พาร์ทที่3 ท่านั่งไขว่ห้าง ท่านั่งนี้มีการลงน้ำหนักที่ก้น 2 ข้างไม่เท่ากัน เกิดแรงเครียดที่ข้อต่อกระเบนเหน็บและข้อสะโพก ,เชิงกรานเอียงสูงต่ำไม่เท่ากัน ทำให้กระดูกเอวเอียงโค้งมาด้านข้าง กล้ามเนื้อหลัง 2 ข้างจึงแข็งแรงและยืดหยุ่นไม่เท่ากัน ส่วนขาข้างที่ไขว้ขึ้น กล้ามเนื้อขาหนีบจะหดเกร็งค้าง และกล้ามเนื้อก้นมัดด้านข้างจะยืดยาวอ่อนแรง จึงทำให้มีอาการปวดลึกๆที่ก้นข้างเดียว ,ปวดหลังข้างเดียว ,ปวดขัดข้อต่อกระเบนเหน็บข้างเดียว ชาและบวมที่น่องเนื่องจากเส้นเลือดที่ข้อพับถูกกดทับ นอกจากนี้ยังเสี่ยงที่จะเป็นกระดูกสันหลังคดอีกด้วย
แล้วสรุปว่า ต้องนั่งท่าไหน ถึงจะไม่เจ็บปวด ?
ท่าทางในการนั่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการปวดได้ แต่คำตอบของคำถามนี้ ไม่ได้อยู่ที่ท่านั่งเสมอไป แต่อยู่ที่ “ระยะเวลาที่ใช้ในการนั่ง” นั่นเอง
ไม่ว่าจะนั่งท่าไหนก็ตาม หากเรานั่งท่าเดิมนานๆจนกล้ามเนื้อล้าและหมดแรง ก็จะทำให้มีอาการเจ็บปวดเกิดขึ้นได้ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือนั่งนาน จนร่างกายคุ้นชินแล้วเข้าใจว่า ตำแหน่งร่างกายที่เป็นอยู่ตอนนี้ คือตำแหน่งที่สมดุล เช่น นั่งหลังแอ่นนานๆ จนเข้าใจว่านี่คือตำแหน่งที่หลังตรงปกติ ทำให้ไม่ว่าจะยืนหรือนอน ก็จะติดอยู่ในท่าหลังแอ่นตลอดเวลา จนเกิดอาการเจ็บปวดในทุกท่า ที่ไม่ได้มาจากท่านั่งเพียงอย่างเดียว
ดังนั้น จึงไม่ควรนั่งท่าเดิมนานๆ ควรลุกจากท่านั่งทุก 45-60 นาที หมั่นออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงทนทานและความยืดยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อ เพื่อที่จะนั่งได้นานขึ้น โดยไม่เจ็บปวดนั่นเอง
โดยท่านั่งที่แนะนำ คือท่านั่งหลังพิงพนักพิง เท้าทั้ง 2 ข้างวางที่พื้น เนื่องจากเป็นท่าที่กล้ามเนื้อไม่ต้องทำงานหนักมากเท่าท่าอื่น และมีการกระจายแรงตามข้อต่อไปที่เท้าทั้ง 2 ข้าง ทำให้นั่งได้นานมากขึ้น แต่ถึงจะเป็นท่าที่แนะนำ ก็อย่าลืมว่าสามารถเกิดอาการเจ็บปวดได้เหมือนกัน หากนั่งนานจนกล้ามเนื้อล้าและหมดแรง จึงควรหมั่นสังเกตตนเองว่าเริ่มมีอาการล้า หรือตึงกล้ามเนื้อเมื่อใด ให้ลุกขึ้นเดินเพื่อเปลี่ยนท่า หรือพักด้วยการยืดเหยียดร่างกายก่อนที่จะเกิดอาการเจ็บปวดขึ้นมานั่นเอง
1
สามารถอ่านวิธีแก้อาการปวด จากท่านั่งในพาร์ทต่างๆได้ที่นี่
Part 1 ท่านั่งหลังแอ่น https://www.blockdit.com/posts/6046250acc6965112488504e
Part 2 ท่านั่งหลังค่อม https://www.blockdit.com/posts/6050410b627fea0439164ba8
Part 3 ท่านั่งไขว่ห้าง https://www.blockdit.com/posts/607043b56fa2f313649c60a6
ขอให้ทุกคนมีสุขภาพที่แข็งแรงค่ะ ❤️
โฆษณา