19 เม.ย. 2022 เวลา 11:56 • ประวัติศาสตร์
“เซนโกคุ (Sengoku)” มหาสงครามรวมแผ่นดินญี่ปุ่น
3
กาลครั้งหนึ่ง ในป่าอันกว้างใหญ่ มีสิงสาราสัตว์มากมายอาศัยอยู่อย่างสงบ...
ในบรรดาสัตว์เหล่านั้น มีนกตัวหนึ่งที่จะส่งเสียงร้องเพลงอันไพเราะ ชวนเคลิบเคลิ้ม และน่าหลงไหลในทุกๆ วัน...
เสียงขับขานที่สะท้อนในป่านั้น กลายเป็นเรื่องเล่าของเหล่าชาวบ้านปากต่อปากว่าต้องได้ยินเสียงนี้ซักครั้งในชีวิต...
1
ชายสามคนในหมู่บ้านจึงเดินเข้าป่าเพื่อออกตามหาเสียงในตำนาน แล้วในที่สุดก็ได้สดับรับฟังถึงความไพเราะชวนเคลิบเคลิ้มของเสียงนั้น และพบเข้ากับนกที่เป็นเจ้าของเสียง...
1
แต่เมื่อนกตัวนั้นเห็นชายสามคน จึงหยุดร้องเพลงในทันที...
ชายสามคนอยากได้ยินเสียงน่าหลงไหลนั้นอีก จึงปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรให้นกเริ่มร้องเพลงอีกครั้ง...
ชายคนแรกที่เริ่มมีอารมณ์โมโหจึงเสนอว่า "ถ้ามันไม่ร้องก็ฆ่ามันทิ้งเลยดีกว่า"
ชายคนที่สองขัดขึ้นมาว่า "ถ้าเป็นข้า ข้าจะหาวิธีบังคับให้นกร้องเพลงให้ได้"
ชายคนที่สามที่มีท่าทีใจเย็นจึงพูดขึ้นว่า "ส่วนข้า จะนั่งรอจนกว่านกตัวนั้นจะร้องเพลงออกมาเอง..."
ทุกท่านครับ เรื่องราวต่อไปนี้เป็นเรื่องราวของยุคสมัยหนึ่งในดินแดนเกาะทางตะวันออกนามว่าญี่ปุ่น...
1
ยุคสมัยที่ศึกสงครามกินระยะเวลายาวนานกว่า 100 ปี...
1
ยุคสมัยที่อำนาจในแผ่นดินแตกแยกออกเป็นหลายแว่นแคว้น โดยแว่นแคว้นเหล่านั้นมีผู้นำที่ต่างลุกขึ้นมาฟาดฟันกันเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่...
และในบรรดาผู้นำเหล่านั้นก็ได้มีชายสามคนที่สร้างยุคสมัยของตัวเองจนนำไปสู่การรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งเดียว...
1
โอดะ โนบุนากะ...
1
โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ...
3
โทกุกาวะ อิเอยาสึ...
4
และนี่ คือเรื่องราว "เซนโกคุ (Sengoku)" มหาสงครามรวมแผ่นดินญี่ปุ่น
โปรดนั่งลงเถิดครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง...
ภาพจาก Total War
ก่อนที่จะเข้าสู่ยุคเซนโกคุ ผมขอเล่าย้อนถึงประวัติศาสตร์ก่อนหน้านี้ของญี่ปุ่น เพื่อให้เข้าใจความเป็นมาเป็นไปมากยิ่งขึ้นนะครับ...
1
โดยญี่ปุ่นเริ่มมีหลักฐานที่สืบสาวราวเรื่องได้คือในยุคที่เรียกว่า "โจมน" ซึ่งกำเนิดจักรพรรดิองค์แรกนามว่าจิมมุ แต่จะมาจากเรื่องเล่าในตำนานปรำปราเป็นส่วนใหญ่
1
สมัยต่อมาญี่ปุ่นพัฒนาขึ้น และคนเริ่มรวมตัวกันสร้างเป็นชุมชนเล็กๆ ในยุคที่เรียกว่า "ยาโยอิ" โดยชุมชนก็เริ่มพัฒนาขึ้นไปเป็นเมืองและเริ่มสร้างราชวงศ์ขึ้นมาในยุค "โคฟุง"
2
ต่อมา ก็เริ่มมีการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างจักรพรรดิกับขุนนางตระกูลต่างๆ ในยุค "อาซึกะ" ซึ่งในตอนท้ายก็มีผู้ชนะคือตระกูลฟูจิวาระ ขึ้นมากุมอำนาจแล้วสร้างเมืองหลวงที่นารา โดยเราจะเรียกยุคตามชื่อเมืองหลวงว่า "นารา" นั่นเองครับ
2
แน่นอนว่าไม่มีอำนาจใดที่อยู่ค้ำฟ้า สุดท้ายตระกูลฟูจิวาระก็ถูกโค่นล้ม มีการย้ายเมืองหลวงไปเฮอันเกียว (ต่อมาคือเกียวโต) ซึ่งจะเรียกยุคนี้ว่า "เฮอัน" โดยเวลานี้จะเป็นการที่ตระกูลต่างๆ ตบตีแย่งแย่งชิงอำนาจกันเหมือนเดิม แต่มีความพิเศษคือเกิดนักรบชั้นสูงที่เรียกว่า "ซามูไร" ที่ยึดหลักบูชิโดขึ้นมาในยุคนี้
5
สุดท้ายก็มีผู้ชนะคือตระกูลมินาโมโตะ ซึ่งลงเอยด้วยการย้ายเมืองหลวง (อีกแล้ว) จากเฮอันไปที่คามาคุระและเรียกยุคนี้ว่า "คามาคุระ" ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการลดอำนาจจักรพรรดิลง และสร้างตำแหน่งใหม่ที่เรียกว่า "โชกุน (Shogun)" ขึ้นมากุมอำนาจทางทหารและการบริหารแบบเบ็ดเสร็จ
3
อีกทั้งยังมีการสร้างระบบศักดินาแบ่งเป็นชนชั้นต่างๆ ลดหลั่นลงไป พร้อมกับให้แต่ละแคว้นมีขุนนางปกครอง โดยเราจะเรียกขุนนางพวกนี้ว่า "ไดเมียว"
2
ต่อมา ก็วนลูปอีกครั้งครับ เมื่อจักรพรรดิที่ถูกลดอำนาจเริ่มไม่ยอม ทำการดีลจับมือกับตระกูลอื่นๆ โค่นล้มโชกุน จนสุดท้ายก็เตะตระกูลมินาโมโตะออกจากอำนาจได้ แต่ก็ลงท้ายที่ผู้ชนะคือตระกูลอาชิคางะ เข้ามาเสียบเป็นโชกุนแทนย้ายเมืองหลวงกลับไปที่เกียวโต แล้วก็มีปัญหากับจักรพรรดิอีกตามเคย โดยเราจะเรียกช่วงนี้ว่า "มุโรมาจิ"
3
ซึ่งในช่วงปลายของมุโรมาจิ ได้เกิดศึกสายเลือดในตระกูลอาชิคางะเพื่อแย่งชิงตำแหน่งโชกุนจนเกิดเป็นเรื่องราวใหญ่โตที่เรียกว่า "สงครามโอนิน"
1
และแม้สงครามโอนินจะจบปัญหาภายในของโชกุนได้ แต่ก็ผลาญงบประมาณของรัฐไปเยอะพอสมควร ทำให้อำนาจของโชกุนยิ่งอ่อนแอลงไปอีก
1
คราวนี้แหละครับ เหล่าไดเมียวที่อยู่ตามแคว้นต่างๆ ก็เริ่มมีใจออกห่างจากโชกุน และคิดว่า "ทำไมเราต้องส่งส่วยให้ส่วนกลางที่อ่อนแอแบบนั้น"
3
ทำให้เหล่าไดเมียวแต่ละแคว้นจึงเริ่มสร้างอำนาจของตัวเองแยกจากโชกุน กลายเป็นมาเฟียที่คุมในแต่ละพื้นที่ และพยายามตีเอาพื้นที่อื่นๆ เข้ามาอยู่ในอำนาจตัวเอง
5
ส่วนกลางที่ไม่สามารถคุมอะไรได้อีกต่อไป กับส่วนท้องถิ่นที่เริ่มแบ่งแยกตัวเองแล้วเข้าห้ำหั่นกัน ทำให้แผ่นดินญี่ปุ่นแตกออกเป็นชิ้นๆ และเข้าสู่ยุคสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ที่เรียกว่า "เซนโกคุ (Sengoku)" ในที่สุด
3
ภาพจาก Socratic (ระบบศักดินาตั้งแต่สมัยคามาคุระเป็นต้นมา)
ภาพจาก BoardGameGeek (สงครามโอนิน)
ภาพจาก The Future of Europe Wiki (ไดเมียวตระกูลต่างๆ ที่คุมในแต่ละพื้นที่ของญี่ปุ่น โดยสีขาวคือพื้นที่ของตระกูลอาชิคางะที่รัฐบาลส่วนกลางหรือโชกุน)
เรียกได้ว่าหลังสงครามโอนิน มีการแบ่งแยกแว่นแคว้นที่แต่ละตระกูลครองอำนาจกันอย่างอิสระได้หลายสิบแคว้นเลยล่ะครับ แต่แคว้นที่จะเป็นตัวดำเนินเรื่องที่ผมจะพูดถึงเป็นหลักคือแคว้นที่ชื่อว่า "โอวาริ" ซึ่งมีตระกูลโอดะเป็นเจ้าถิ่น...
โดยแคว้นโอวารินี้ไม่ใช่แคว้นใหญ่โตอะไรมากมาย มีผู้นำคือโอดะ โนบุฮิเดะ ที่มีลูกชายอยู่ 3 คน ซึ่งคนที่เด่นสุดคือคนกลางที่ชื่อว่า "โอดะ โนบุนากะ"
ตัวของโนบุฮิเดะที่เห็นถึงพรสวรรค์ในตัวลูกชายคนกลาง จึงพยายามปลุกปั้นอย่างสุดฝีมือ โดยโนบุนากะก็ได้ร่ำเรียนทั้งวิชาดาบ วิชาการ และวิชาบริหารคนกับปรมาจารย์ของแคว้นอย่างครบถ้วน
แต่นิสัยโดยส่วนตัวของโนบุนากะนั้นกลับเป็นคนใจร้อน มุทะลุ และชอบคิดอะไรนอกกรอบ ทำให้หลายคนมองว่าเด็กคนนี้มีนิสัยที่แปลกประหลาดแบบสุดๆ
และในเวลาต่อมา ตัวของโนบุฮิเดะซึ่งเป็นผู้นำตระกูลก็เกิดเสียชีวิตกระทันหัน ทำให้แคนดิเดตอันดับหนึ่งอย่างโนบุนากะก็ถูกดันขึ้นมาเป็นผู้นำตระกูลในตอนที่อายุแค่ 15 ปี
3
แน่นอนครับว่า ด้วยความเป็นเด็ก (แถมยังเป็นเด็กประหลาด) อำนาจปกครองที่แท้จริงจึงอยู่กับอาที่ชื่อโนบุโตโมะ อีกทั้งเสียงของขุนนางภายในตระกูลยังแตกออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่โปรโนบุนากะ กับฝ่ายที่โปรลูกชายคนที่สามที่ชื่อว่าโนบุยูกิ
5
โดยโนบุโตโมะก็พยายามปลุกปั้นโนบุยูกิให้ขึ้นมาเป็นผู้นำตระกูลแทน พร้อมกับส่งคนไปลอบสังหารโนบุนากะ แต่แผนการกลับรั่วไหลไปถึงหูของเจ้าตัว ทำให้โนบุนากะชิงส่งคนไปเชือดโนบุโตโมะก่อน
2
ฝ่ายของโนบุยูกิที่อยากขึ้นเป็นผู้นำตระกูลอยู่แล้ว เห็นแบบนั้นจึงพยายามรวมกองกำลังก่อกบฏพี่ชายตัวเอง แต่ก็ไม่สำเร็จโดนรวบทั้งขบวนการ ซึ่งโนบุนากะที่เห็นว่าเป็นน้องเลยให้อภัยไม่ลงโทษอะไร
2
แต่ท้ายที่สุด ฝ่ายโนบุยูกิก็ไม่ละความพยายาม ทำการก่อกบฏอีก ซึ่งก็โดนรวบอีกรอบตามเคย แต่ในครั้งนี้โนบุนากะได้สั่งอย่างเด็ดขาดให้ประหารน้องตัวเองรวมถึงกบฏทั้งหมดด้วย!
2
เมื่อหมดสิ้นเสี้ยนหนาม รวมถึงเหล่าขุนนางที่เคยครหาในโนบุนากะก็เริ่มเห็นความสามารถของการเป็นผู้นำ จึงพากันยอมรับโนบุนากะในฐานะผู้นำตระกูลและไดเมียวของแคว้นอย่างเต็มตัวเพียงผู้เดียว
และนี่เป็นจุดเริ่มต้นที่แคว้นเล็กๆ อย่างโอวาริจะผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในอนาคต...
ภาพจาก KASKUS (โอดะ โนบุนากะ)
ในระหว่างที่ตระกูลโอดะมีปัญหาภายในอยู่นั้น แคว้นที่อยู่ทางเหนืออย่างมิโนะ ซึ่งมีตระกูลไซโตคุมอยู่ ก็เกิดปัญหาภายในขึ้นมาเมื่อไซโต โยชิทัตสึ ทำการปลุกระดมแล้วขึ้นมายึดอำนาจพ่อตัวเองแล้วขึ้นเป็นผู้นำตระกูล
1
ซึ่งหลังจากปัญหาตระกูลโอดะเคลียร์เรียบร้อย โนบุนากะเล็งที่จะไปยึดแคว้นมิโนะที่การเมืองภายในสั่นคลอนอยู่ เกิดเป็นการปะทะกันระหว่างโนบุนากะกับโยชิทัตสึ ซึ่งเป็นศึกที่ยืดเยื้อเพราะเป็นศึกแรกที่โนบุนากะนำทัพ...
3
แต่ระหว่างที่โอวาริกับมิโนะบวกกันอยู่นั้น แคว้นซุรุกะที่อยู่ทางใต้นำโดยตระกูลอิมากาวะ ยกทัพระดับ 40,000 คน มาตีโอวาริ ทำให้โนบุนากะต้องสงบศึกกับมิโนะ เพื่อมารับมือกับซุรุกะก่อน
ทางด้านขุนนางของโอวาริเมื่อเห็นขนาดกองทัพของซุรุกะก็เสนอว่า "ยอมแพ้เถอะ เราสู้ไม่ได้หรอก!" ซึ่งโนบุนากะที่เป็นคนใจร้อนมุทะลุอยู่แล้วก็ไม่ยอมฟังคำทัดทานพร้อมโต้ว่า "ตระกูลเราต้องไม่เป็นเบี้ยล่างของคนอื่น!"
2
ว่าแล้วก็แบ่งทัพเป็นสองส่วน ส่วนแรกให้สำรองไว้กันมิโนะทางด้านเหนือ และอีกส่วนโนบุนากะนำทหารแค่ 2,000 คน ไปรับมือกับซุรุกะทางใต้
3
โนบุนากะรู้ดีว่าหากบวกกันตรงๆ ต้องแพ้ราบคาบแน่นอน ดังนั้น จึงส่งสายลับที่เรียกว่า "นินจา" ไปเก็บข้อมูลที่ตั้งค่ายของทัพซุรุกะมาอย่างละเอียด ซึ่งได้ข้อมูลว่าค่ายหลักอยู่ในหุบเขาและมีกองทหารส่วนใหญ่คุ้มกันอยู่รอบนอกเขา
2
ว่าแล้ว โนบุนากะพร้อมเหล่านินจา ก็ทำการลอบเข้าไปในค่ายหลักโดยอาศัยวันที่ฝนตกหนักเพื่อให้น้ำชะล้างร่องรอยของเหล่านินจา ซึ่งสุดท้ายก็สามารถลอบเข้าไปตัดหัวผู้นำตระกูลได้สำเร็จ โดยพอผู้นำถูกเก็บ เหล่าแม่ทัพทหารก็ไร้ซึ่งแรงจูงใจที่จะรบต่อและยอมแพ้ไปในที่สุด
6
การเอาชนะแคว้นใหญ่อย่างซุรุกะ ทำให้โนบุนากะเริ่มมีชื่อเสียงกระจายไปทั่วแผ่นดินญี่ปุ่น รวมถึงการกำจัดตระกูลอิมากาวะในซุรุกะ ทำให้แคว้นต่างๆ ที่เคยอยู่ใต้ซุรุกะก็พากันประกาศอิสรภาพ อีกทั้งส่วนใหญ่ก็พากันมาสวามิภักดิ์กับโอวาริ
4
และหนึ่งในแคว้นที่มาสวามิภักดิ์นั้นคือแคว้นที่ชื่อว่ามิคาวะ (โดยในภายหลังมิคาวะก็ยึดซุรุกะมาเป็นดินแดนตัวเอง) ซึ่งเผอิญว่า ผู้นำของมิคาวะดันเป็นเพื่อนในวัยเด็กของโนบุนากะ ทำให้ทั้งสองมีการจับมือเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นกัน
2
โดยชายที่เป็นผู้นำของมิคาวะและเป็นเพื่อนของโนบุนากะนั้นมีชื่อว่า "โทกุกาวะ อิเอยาสึ" ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในอนาคต...
2
ภาพจาก Fuji Arts (การลอบสังหารผู้นำตระกูลอิมากาวะแห่งแคว้นซุรุกะ)
ภาพจาก Big Bad Toy Store (โทกุกาวะ อิเอยาสึ)
เมื่อจบเกมกับฝั่งซุรุกะแล้ว โนบุนากะก็เบนเข็มเพื่อจะไปสะสางเรื่องราวเก่าๆ กับมิโนะต่อ ซึ่งเผอิญว่าโยชิทัตสึที่เป็นผู้นำเกิดเสียชีวิตกระทันหัน ทำให้ลูกชายอย่างทัตสึโอกิต้องขึ้นคุมแคว้นมิโนะแทน
ลำพังแค่ทัตสึโอกินั้นไม่ได้มีพิษสงอะไรมากมาย แต่ในมิโนะมีกุนซือมือฉมังอย่างทาเคนากะ ฮันเบ ที่เป็นเบื้องหลังความสำเร็จต่างๆ ของแคว้น ทำให้ถึงแม้โนบุนากะจะตีหัวเมืองของมิโนะได้หลายเมือง แต่ก็ไม่สามารถตีเมืองและปราสาทหลักของมิโนะได้
1
แต่แล้วก็มีทหารคนหนึ่งที่เสนอตัวว่ารู้ทางลับในป่าเพื่อแทรกซึมเข้าสู่ปราสาทได้ โนบุนากะจึงส่งทหารคนนี้แทรกซึมเข้าไปแล้วพยายามโน้มน้าวเหล่าขุนนางภายในให้ยอมแพ้แล้วสยบต่อโอวาริ
3
และเหลือเชื่อครับ ที่ทหารคนนี้ดันมีวาทศิลป์ระดับชั้นครู สามารถโน้มน้าวขุนนางรวมถึงตัวของฮันเบ ให้ยอมแพ้ได้สำเร็จ จนทัพโอวาริสามารถยึดปราสาทแล้วจบเกมกับมิโนะได้ในที่สุด
1
โดยเหล่าแม่ทัพของมิโนะ รวมถึงฮันเบก็ยอมเข้ามาเป็นมันสมองและกองกำลังให้กับโนบุนากะในภายหลัง
1
ส่วนทหารผู้ซึ่งเป็นแกนหลักในการสร้างผลงานมาสเตอร์พีซครั้งนี้ ก็ได้กลายเป็นแม่ทัพข้างกายของโนบุนากะไปในทันที
ใช่แล้วครับ ทหารคนนี้คือ "โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ" ซึ่งจะเป็นตัวละครที่มีบทบาทสำคัญในอนาคตเช่นเดียวกัน...
1
ภาพจาก Wikipedia (ปราสาทอินาบายามะ ของตระกูลไซโตแห่งแคว้นมิโนะ)
ภาพจาก action figure district (โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ)
หลังจากยึดมิโนะได้ ทำให้ภาคกลางของญี่ปุ่นตกอยู่ในอำนาจของโนบุนากะกับพันธมิตรอย่างอิเอยาสึ
โนบุนากะคิดแล้วว่า "ไหนๆ ก็ยึดมาได้ขนาดนี้แล้ว เดินหน้ายึดรวบทุกแคว้นให้เป็นหนึ่งเดียวเลยดีกว่า!"
ว่าแล้ว โอวาริก็มีการขยายอำนาจออกไปเรื่อยๆ โดยตัวของโนบุนากะนั้นเน้นการใช้กำลังทหารเข้าขยี้แคว้นอื่นๆ เป็นหลัก ใครที่ยอมสวามิภักดิ์ก็จะมีการรับเข้ามาเป็นแขนขาของโนบุนากะ แต่หากใครที่พยายามต่อต้านก็จะถูกสั่งตัดหัวจนเหี้ยน...
1
โดยในช่วงที่โนบุนากะกำลังเข้าสู่จุดพีคนั้น ในเมืองหลวงอย่างเกียวโตก็เกิดปัญหาภายในขึ้น เมื่อโชกุนถูกลอบสังหาร ทำให้ขุนนางได้ดันให้โยชิฮิเดะ ซึ่งอายุแค่ 14 ปี ขึ้นเป็นโชกุนหุ่นเชิด
2
แต่โยชิอากิซึ่งเป็นน้องของโชกุนคนก่อนเกิดไม่ยอม อยากโค่นล้มอำนาจขุนนาง เลยมีการติดต่อไปที่โนบุนากะให้มาช่วยในภารกิจนี้
2
ซึ่งโนบุนากะก็ตอบรับโอกาสทองนี้อย่างไม่ลังเล เพราะมันจะเป็นบันไดชั้นเยี่ยมที่จะไต่เต้าเข้าควบคุมศูนย์กลางอำนาจ ว่าแล้วก็มีการยกทัพเข้าไปในเกียวโตทำการโค่นล้มขุนนางรวมถึงโชกุนหุ่นเชิดอย่างไม่ยากเย็นอะไร
1
โดยโยชิอากิ ก็ได้ขึ้นเป็นโชกุนสมใจ และโนบุนากะก็ได้ตำแหน่งที่เรียกว่า "ไนไดจิน" หรือผู้พิทักษ์โชกุนและจักรพรรดิ
กลายเป็นว่า โยชิอากิที่ขึ้นเป็นโชกุนนั้น ดีใจได้ไม่นานก็เริ่มรู้ตัวว่าอำนาจในการบริหารและบัญชาการกองทัพดันตกไปอยู่ในมือของโนบุนากะเป็นส่วนใหญ่
2
ทางฝ่ายโนบุนากะที่กุมอำนาจของโชกุนได้ก็เริ่มคิดพัฒนากองทัพของตัวเอง เพื่อเตรียมแผนการรวมแผ่นดินญี่ปุ่น ซึ่งในขั้นแรกคือการหาเงินเข้ากระเป๋าโดยใช้วิธีให้เกียวโตและแคว้นที่อยู่ในอิทธิพลของโนบุนากะเปิดการค้าเสรีกับต่างชาติ
คราวนี้แหละครับ การค้าเสรีกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ตะวันตกเข้ามาติดหนึบ การค้าขายเริ่มบูม เงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ทำให้เหล่าพ่อค้าเริ่มมั่งคั่งขึ้นแล้วเป็นฝ่ายเข้ามาสนับสนุนโนบุนากะเองในที่สุด
2
การเปิดเสรีทางการค้านี้ ทำให้โนบุนากะสามารถสร้างฐานอำนาจตัวเองโดยใช้นายทุน อีกทั้งยังสามารถลองอาวุธจากตะวันตกอย่าง "ปืนคาบศิลา" ซึ่งถือว่าเป็นอาวุธที่ประหลาดมากสำหรับญี่ปุ่นในตอนนั้น
1
แต่โนบุนากะที่เล็งเห็นอานุภาพของอาวุธนี้ จึงกว้านซื้อเข้ามาในกองทัพของตัวเอง เพราะเป็นอาวุธที่ไม่ต้องใช้เวลาฝึกนานแบบธนู ชาวบ้านตาสีตาสาก็สามารถใช้เป็น (การใช้ธนูส่วนใหญ่จะเป็นซามูไร และต้องฝึกมาตั้งแต่เด็กๆ)
3
อีกทั้งยังมีการศึกษาเทคโนโลยีจากตะวันตกทั้งปืนไฟ การต่อเรือ กลยุทธ์การรบ ฯลฯ ทำให้ทัพโนบุนากะเริ่มมีการแหกขนบธรรมเนียมเก่าๆ ของญี่ปุ่นไปแบบสุดๆ กลายสภาพเป็นทัพสมัยใหม่แบบเต็มตัว
2
ปืนคาบศิลาเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในกองทัพของโนบุนากะ
พื้นที่อำนาจในช่วงที่โนบุนากะเข้าควบคุมรัฐบาลโชกุน (สีชมพูคือเขตของโนบุนากะและสีเหลืองถัดลงมาเป็นของอิเอยาสึซึ่งเป็นพันธมิตร)
เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว โนบุนากะก็ทำการยกทัพโฉมใหม่ของตัวเองไปจัดการตระกูลอาซากุระแห่งแคว้นเอจิเซ็นที่อยู่ทางเหนือ แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นเมื่อโชกุนโยชิอากิดันเคยมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับตระกูลอาซากุระ ทำให้มีการห้ามโนบุนากะไม่ให้ไปตีเอจิเซ็น
1
แต่โนบุนากะก็ไม่สนใจฟัง ต้องการสยบเอจิเซ็นด้วยกำลังทหารท่าเดียว ซึ่งกลายเป็นจุดแตกหักระหว่างโนบุนากะกับโชกุนในที่สุด
2
ฝ่ายโชกุนโยชิอากิเลยลอบส่งข่าวไปเตือนตระกูลอาซากุระ ทำให้มีการวางแผนโดยจับมือเป็นพันธมิตรกับตระกูลอาซาอิแห่งแคว้นโอมิ
โดยทัพของอาซากุระได้มีการเปิดศึกตะลุมบอนกับทัพโนบุนากะแบบตรงๆ และในขณะเดียวกันทัพของตระกูลอาซาอิก็ทำการตลบหลังทัพโนบุนากะเป็นแซนวิชอยู่ตรงกลาง
ฝ่ายโนบุนากะที่คิดไว้อยู่แล้วว่า "อาซากุระกับอาซาอิต้องจับมือกันแล้วตลบหลังตัวเองแน่นอน!" จึงมีการวางแผนล่วงหน้าไปก่อนแล้ว โดยการให้ทัพของอิเอยาสึทำการตลบหลังทัพของอาซาอิอีกที!
4
เหมือนจะเป็นการแก้เกมได้ครับ แต่ทว่า ฝ่ายอาซากุระมีชั้นเชิงยิ่งกว่าที่คิด ทำการจับมือกับกองทัพพระนักรบที่เรียกว่า "อิกโกะอิกกิ" ซึ่งเป็นกองกำลังอิสระที่น่ากลัวที่สุดในยุคนั้น ให้ตลบหลังทัพของอิเอยาสึอีกทีหนึ่ง!
10
การขนาบเป็นแซนวิชสองชั้น ทำให้โนบุนากะและอิเอยาสึเห็นแล้วว่าตัวเองแพ้อย่างราบคาบ จึงตัดสินใจสั่งถอยทัพหนีกลับเกียวโต ซึ่งกลายเป็นการหนีตายอย่างหมดรูปแบบสุดๆ และพอรอดมาได้จนถึงเกียวโตก็เห็นว่าฝ่ายอาซากุระวางหมากไว้อย่างแยบยล คือมีการล้อมเมืองหลวงเอาไว้ก่อนแล้วเพื่อรอต้อนรับโนบุนากะที่หนีตายกลับมา...
3
ความจนมุมแบบเด็ดขาดนี้ ทำให้โนบุนากะต้องละทิ้งศักดิ์ศรีก้มหัวยอมแพ้ตระกูลอาซากุระในที่สุด พร้อมถอยกลับไปตั้งหลักที่โอวาริ
3
แต่ด้วยคอนเนคชั่นกับนายทุนที่โนบุนากะได้สร้างเอาไว้ ทำให้สามารถฟื้นฟูกองทัพกลับมาในเวลาเพียงแค่สองเดือน แล้วทำการรวมพลังกับอิเอยาสึเข้าตีตระกูลอาซาอิแบบสายฟ้าแลบและสามารถเผด็จศึกได้อย่างรวดเร็ว
พอเผด็จศึกอาซาอิแล้ว ก็เข้าตีอาซากุระต่อและสามารถเผด็จศึกได้อย่างง่ายดายเช่นกัน เพราะโนบุนากะได้ประเมินไว้แล้วว่า "ประสิทธิภาพของกองทัพตัวเองนั้นเหนือกว่าพวกนี้หลายขุม แต่ที่แพ้คราวก่อนเพราะพวกนี้รวมตัวกันแล้วสามารถล้อมโนบุนากะให้จนมุมได้"
2
ซึ่งหลังจากปิดเกมกับทั้งอาซาอิและอาซากุระได้แล้ว ก็ทำการเข้ายึดเกียวโตเพื่อเตรียมพร้อมเผชิญหน้ากองทัพที่เหนียวที่สุดของญี่ปุ่นในยุคนั้นอย่างกองกำลังพระนักรบอิกโกะอิกกิ...
4
ภาพจาก Fuji Arts (การหนีตายของทัพโนบุนากะ)
การเข้าถล่มอาซาอิและอาซากุระของโนบุนากะ
พระนักรบอิกโกะอิกกิ เป็นกองทัพอิสระที่มีความเชื่อในศาสนาพุทธผสมชินโต ซึ่งต่อต้านโนบุนากะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะมีการสนับสนุนให้ตะวันตกเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในญี่ปุ่น
2
โดยศึกนี้ ฝ่ายโนบุนากะเป็นคนเปิดก่อน มีการส่งแม่ทัพคือฮิเดโยชิไปตีอิกโกะอิกกิที่ศูนย์กลางอำนาจอย่างวัดเอนเรียคุ แต่ฮิเดโยชิก็ไม่สามารถล้มอิกโกะอิกกิได้ถูกตีโต้จนต้องถอยทัพกลับ
ฝ่ายโนบุนากะจึงยกทัพขนาดใหญ่กว่าเดิมเข้าถล่มอิกโกะอิกกิด้วยตัวเอง จนสามารถพิชิตเอนเรียคุได้ ซึ่งโนบุนากะได้เผาวัดจนไม่เหลือซาก พร้อมสังหารหมู่เด็ก ผู้หญิง คนแก่ และพระไปกว่า 4,000 คน
3
หลังพิชิตเอนเรียคุ ก็มีการตามเชือดกองกำลังที่เหลือของเหล่าพระนักรบ ซึ่งใช้เวลาถึง 10 ปี จึงสามารถทำลายอำนาจของอิกโกะอิกกิจนหมดสิ้นได้...
3
การไล่ฆ่าพระและเผาวัดของโนบุนากะ ทำให้เหล่าชาวพุทธทั่วญี่ปุ่นต่างพร้อมใจสาปส่งโนบุนากะกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะทาเคดะ ชินเง็น ไดเมียวของแคว้นคะอิ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมหาอำนาจทางตะวันออกและมีจุดเด่นด้านกองทัพม้า
ตัวของชินเง็นคิดว่าโนบุนากะเป็นตัวมารศาสนา จึงติดต่อกับโชกุนโยชิอากิเพื่อขอข้อมูลช่วยกันโค่นล้มโนบุนากะ
1
หลังจากนั้น ชินเง็นก็ยกทัพเพื่อเข้าตีโอวาริ แต่ก่อนจะไปถึง ก็ดันมีทัพของอิเอยาสึเข้ามาปะทะกับทัพของชินเง็นก่อน
แต่ในเวลาไม่นาน อิเอยาสึก็แพ้ให้กับทัพม้าของชินเง็นอย่างยับเยิน จนถูกล้อมอยู่ในปราสาท...
1
แต่ถือเป็นโชคดีของอิเอยาสึที่ถูกล้อมได้ไม่นาน ชินเง็นก็ดันป่วยและเสียชีวิตลงกระทันหัน ทำให้ตระกูลทาเคดะต้องถอยทัพ และหลังจากนั้น คัตสึโยริที่เป็นลูกชายชินเง็นก็ขึ้นเป็นผู้นำต่อ
1
ฝ่ายโนบุนากะที่เห็นความพ่ายแพ้ของอิเอยาสึต่อหน้ากองทัพม้าของตระกูลทาเคดะ ทำให้มีการวางแผนใหม่โดยการซื้อปืนคาบศิลาพร้อมเกณฑ์คนมาฝึกให้มากยิ่งขึ้น
และแล้ว ทัพของโนบุนากะก็ปะทะกับทัพตระกูลทาเคดะที่ทุ่งนางาชิโนะ โดยโนบุนากะมีการวางกลยุทธ์สร้างรั้วไม้เป็นหน้ากระดานเพื่อต้านกองทัพม้า และใช้พลปืนคาบศิลาเป็นแกนหลักในการรบ
1
ผลคือ กองทัพม้าอันเกรียงไกรของทาเคดะ ถูกกระสุนปืนสาดใส่จนแตกกระเจิง และพ่ายแพ้อย่างยับเยินในที่สุด อีกทั้งโนบุนากะยังมีการปลดผู้อยู่เบื้องหลังอย่างโชกุนโยชิอากิแล้วเนรเทศออกจากเมืองไปอย่างไร้เยื่อใย
3
เป็นอันว่าในตอนนี้อำนาจศูนย์กลาง อำนาจทางตอนกลาง และอำนาจทางตะวันออกอยู่ภายใต้เงื้อมมือของโนบุนากะอย่างเด็ดขาด
โนบุนากะจึงไม่รอช้า ยกทัพบุกแคว้นตะวันตกที่มีมหาอำนาจอย่างตระกูลโมริ ซึ่งเด่นเรื่องทัพเรือ
1
โนบุนากะจึงทุ่มเงินมหาศาลเพื่อสร้างทัพเรือของตัวเอง โดยมีการระดมเงินจากนายทุนแล้วสร้างเรือแบบตะวันตกที่มีการติดตั้งปืนไฟแบบพร้อมเสร็จสรรพ
2
ด้วยเทคโนโลยีที่เหนือชั้นกว่าของโนบุนากะ ทำให้สามารถพิชิตทัพเรือของตระกูลโมริได้อย่างไม่ยากเย็น
เมื่อทำลายเรือของโมริเรียบร้อยแล้ว ก็มีการสั่งให้ฮิเดโยชินำทัพบกเข้าตีอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งทัพของโมรินั้นตึงมือกว่าที่คาดเอาไว้ ทำให้ฮิเดโยชิต้องขอกำลังเสริม...
ฝ่ายโนบุนากะที่พักผ่อนอยู่วัดฮอนโนจิในเกียวโต ก็ได้สั่งให้แม่ทัพข้างกายอีกคนที่ชื่อว่า "อาเคจิ มัตสึฮิเดะ" เตรียมกองกำลังเพื่อไปช่วยฮิเดโยชิ
แต่แล้วเรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อกลางดึกที่โนบุนากะกำลังพักผ่อนอยู่นั้น มัตสึฮิเดะก็นำทหารเข้าล้อมวัดฮอนโนจิ แล้วสังหารผู้ติดตามพร้อมองครักษ์ของโนบุนากะจนเกลี้ยง จากนั้นก็ทำการเผาวัดเพื่อย่างสดโนบุนากะ
3
ฝ่ายโนบุนากะที่รู้ตัวว่าโดนลูกน้องที่ไว้ใจหักหลังและคิดว่าคงไม่รอด จึงทำการเซ็ปปุกุ (คว้านท้องตัวเอง) ท่ามกลางกองไฟที่ลุกโชนก่อนที่มัตสึฮิเดะจะเข้าถึงตัว
5
ด้วยแรงไฟที่โหมกระพือทำให้วัดถล่มลงมา มัตสึฮิเดะจึงต้องรอให้ไฟมอดก่อนค่อยตามหาศพของโนบุนากะ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกและลึกลับสุดๆ ที่หลังจากนั้น ไม่เคยมีใครพบเห็นโนบุนากะทั้งที่มีชีวิตหรือในสภาพที่เป็นศพอีกเลย...
2
(ส่วนแรงจูงใจของมัตสึฮิเดะในการทรยศนั้นก็ไม่มีใครรู้อย่างแน่ชัด)
ภาพจาก Wikimedia Commons (การรบที่ทุ่งนากาชิโนะ)
การรบที่ทุ่งนากาชิโนะ
ภาพจาก Akatebun (เรือจำลองของทัพโนบุนากะ)
ภาพจาก Nioh 2 (การเผาวัดฮอนโนจิเพื่อสังหารโอดะ โนบุนากะ)
ข่าวการทรยศของมัตสึฮิเดะรู้ไปถึงหูของฮิเดโยชิอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการยกทัพกลับมาเพื่อล้างแค้นให้กับเจ้านายของตัวเอง ซึ่งฮิเดโยชิก็สามารถจัดการและสั่งประหารมัตสึฮิเดะได้อย่างง่ายดาย
แต่ช่องว่างที่หายไปของโนบุนากะนั้น ทำให้ภายในตระกูลโอดะรวมถึงแคว้นต่างๆ ก็เริ่มมีรอยร้าวส่อแววจะแยกตัวอีกครั้ง ตัวของฮิเดโยชิจึงเริ่มรวบอำนาจภายในตระกูลโอดะเข้าสู่ตัวเอง แล้วขึ้นเป็นผู้นำแทนโนบุนากะ
1
โดยตระกูลโนบุนากะรวมถึงขุนนางบางคนนั้นไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของฮิเดโยชิ จึงมีการไปเสี้ยมให้อิเอยาสึมาสยบความกร่างของฮิเดโยชิ
ซึ่งอิเอยาสึก็ยกทัพมารบกับฮิเดโยชิตามคำขอ กลายเป็นสงครามที่ยืดเยื้อนานหลายเดือนเลยล่ะครับ แต่ในท้ายที่สุดจากการรบครั้งนี้อิเอยาสึก็ยอมรับในตัวฮิเดโยชิ และคิดว่า "ไม่มีใครเหมาะจะเป็นผู้นำต่อจากโนบุนากะมากไปกว่าฮิเดโยชิอีกแล้ว" และทั้งสองก็ได้จับมือเป็นพันธมิตรกัน...
4
เมื่อทุกอย่างเริ่มเข้ารูปเข้ารอยจากการช่วยเหลือของอิเอยาสึ ฮิเดโยชิก็เริ่มโครงการเก่าที่โนบุนากะยังทำไม่สำเร็จ คือการตีแคว้นทางตะวันตก ซึ่งเป็นการยกทัพใหญ่ระดับ 200,000 คน เข้าถล่มอย่างเด็ดขาดจนสามารถสยบดินแดนทั้งหมดได้
1
และอีกฟากหนึ่ง อิเอยาสึก็ทำการยกทัพตีแคว้นที่เหลือทางตะวันออกและทางเหนือ กำชัยชนะรวมดินแดนทั้งหมดให้อยู่ภายใต้ฮิเดโยชิ แม้ในภายหลังจะมีบางตระกูลที่ยังขัดขืนอย่างตระกูลโฮโจและตระกูลดาเตะ แต่ฮิเดโยชิก็สามารถใช้การทูตผนวกการทหารหว่านล้อมตระกูลเหล่านี้ให้สยบยอมได้ในที่สุด
6
เรียกได้ว่า คาแรกเตอร์ของฮิเดโยชินั้นจะแตกต่างกับโนบุนากะอย่างสิ้นเชิง โนบุนากะจะเก่งในเรื่องการรบและการทหาร แต่ฮิเดโยชิจะเก่งในเรื่องการชักจูงคนและงานบริหารบ้านเมือง
3
ฮิเดโยชิมีการวางอำนาจส่วนกลางให้มีความเข้มแข็งขึ้นมา เพื่อป้องกันไม่ให้เหล่าไดเมียวมีอำนาจมากเกินไปเหมือนแต่ก่อน และมีการสร้างระบบเพื่อตรวจสอบไดเมียว พร้อมใช้การทูตในการสานความสัมพันธ์แคว้นต่างๆ ให้เป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น
3
อีกทั้งยังมีการย้ายฐานอำนาจตัวเองไปที่โอซาก้า พร้อมสร้างปราสาทที่เป็นป้อมปราการขนาดใหญ่เพื่อเป็นที่ลี้ภัยของตัวเอง โชกุน และจักรพรรดิยามฉุกเฉิน
4
แน่นอนว่า อำนาจส่วนใหญ่เป็นของฮิเดโยชิแล้ว แต่ด้วยพื้นเพที่ไม่ใช่ลูกผู้ดีตีนแดง แต่เป็นแค่ชาวบ้านต๊อกต๋อย ทำให้จักรพรรดิไม่ยอมแต่งตั้งให้ฮิเดโยชิเป็นโชกุน ถึงแม้ว่าจะมีความสามารถขนาดไหนก็ตาม
3
ทำให้ฮิเดโยชิเป็นได้แค่ "คัมปากุ" ที่มีอำนาจในทางพลเรือนเท่านั้น (แต่ในทางปฏิบัติฮิเดโยชิก็มีอำนาจเหนือทหารอยู่ดี เรียกได้ว่าเป็นโชกุนที่ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งโชกุนนั่นแหละครับ)
1
เมื่อการรวมแผ่นดินเสร็จสิ้นแล้ว ฮิเดโยชิก็มองเห็นภัยคุกคามที่จะตามมาในอนาคตนั่นคืออิทธิพลของตะวันตกที่เริ่มแทรกซึมเข้ามาเรื่อยๆ จากการเปิดเสรีของโนบุนากะ
1
โดยเฉพาะสเปนและโปรตุเกสที่มีการแทรกแซงการเมืองในแคว้นต่างๆ รวมถึงความเป็นคริสต์ที่เริ่มเข้ามากลืนกินวัฒนธรรมแบบเก่าๆ ทำให้ฮิเดโยชิที่มีหัวแบบอนุรักษ์นิยม จึงพยายามเซนเซอร์การค้าเสรี และจำกัดการเผยแผ่ศาสนา
1
อีกทั้ง ฮิเดโยชิมีความทะเยอทะยานมากกว่านั้น โดยมีโปรเจกใหญ่ที่จะขยายอิทธิพลของตัวเองไปนอกเกาะญี่ปุ่น โดยการบุกเกาหลีและจีน!
2
ซึ่งทัพญี่ปุ่นก็ได้เปิดศึกข้ามชาติแบบจริงจังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยการถล่มเกาหลีเป็นอันดับแรก แต่ทว่า ยังไม่ทันจะยึดอะไรได้เป็นชิ้นเป็นอัน ฮิเดโยชิก็ดันเสียชีวิตลงไปก่อน ทำให้ความทะเยอทะยานของญี่ปุ่นจึงหยุดลงเพียงแค่นั้น...
ภาพจาก Live Japan (ปราสาทโอซาก้า)
ภาพจาก Wikipedia (การบุกเกาหลีของฮิเดโยชิ)
ภาพจาก Timetoast (ญี่ปุ่นบุกเกาหลี)
คราวนี้แหละครับ การจากไปของฮิเดโยชิก็เป็นการทิ้งระเบิดลูกใหญ่ลงเกาะญี่ปุ่นอีกรอบ ไดเมียวแต่ละแคว้นเริ่มสั่งสมกำลังตัวเองอีกครั้ง
แต่ฮิเดโยชินั้นได้มีการเขียนพินัยกรรมให้ลูกชายคือ "ฮิเดโยริ" เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งตัวเอง แต่ปัญหาอยู่ที่ฮิเดโยริมีอายุแค่ 5 ขวบ ทำให้มีการตั้งสภาอาวุโสเพื่อดูแลฮิเดโยริอย่างเต็มที่จนกว่าจะสามารถปกครองเองได้
1
แต่อิเอยาสึที่เห็นแล้วว่าหากรอฮิเดโยริโต ญี่ปุ่นคงแตกเป็นเสี่ยงๆ ไปก่อนแล้ว อีกทั้งอิเอยาสึยังคิดว่า "ในสถานการณ์แบบนี้ตัวเองเป็นคนที่เหมาะสมที่สุดในการเป็นผู้นำ"
2
แต่อิเอยาสึนั้นไม่ได้บุ่มบ่ามยึดอำนาจทันที แต่รอคอยโอกาสอย่างใจเย็น และพยายามสร้างพันธมิตรกับไดเมียวในแคว้นอื่นๆ ให้ได้มากที่สุด
2
ทางฝ่ายของฮิเดโยรินั้น มี "อิชิดะ มัตสึนาริ" ซึ่งเคยเป็นแม่ทัพคนสำคัญของฮิเดโยชิ เป็นคนหนุนหลังฮิเดโยริอยู่ และมัตสึนารินั้นเห็นแววที่อิเอยาสึต้องการฮุบอำนาจ จึงส่งคำเตือนไปที่อิเอยาสึว่า "ถ้าไม่อยากทำสงคราม ก็อย่าคิดต่อต้านฮิเดโยริ"
2
อิเอยาสึที่รออย่างใจเย็นมาหลายปี พอเห็นว่าเหล่าไดเมียวน่าจะสนับสนุนตัวเองมากพอแล้ว จึงทำการประกาศว่า "อิเอยาสึจะขึ้นเป็นโชกุนคนต่อไปเอง"
4
และแล้ว ญี่ปุ่นก็ถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่สนับสนุนฮิเดโยริและฝ่ายที่สนับสนุนอิเอยาสึ ทำให้เกิดเป็นศึกตัดสินใน "ยุทธการเซกิงาฮาระ"
4
กองทัพของมัตสึนาริและกองทัพของอิเอยาสึก็ได้เข้าฟาดฟันกันอย่างดุเดือดที่เซกิงาฮาระ ซึ่งฝ่ายของมัตสึนารินั้นมีขนาดทัพที่ใหญ่กว่า อีกทั้งมีการวางกองกำลังซ้อนเข้าดักซุ่มโจมตีฝ่ายอิเอยาสึที่ติดอยู่ในวงล้อมของทัพหลัก
2
แน่นอนว่า อิเอยาสึเสียเปรียบแบบเต็มประตู แต่ทว่า ก่อนที่จะเปิดศึกนั้นอิเอยาสึได้มีการติดต่อกับแม่ทัพของมัตสึนาริคนหนึ่งที่ชื่อว่า "โคบายาคาวะ ฮิเดอากิ" ซึ่งมีเรื่องบาดหมางกับมัตสึนาริอยู่ก่อนแล้ว
อิเอยาสึพยายามโน้มน้าวฮิเดอากิให้ตลบหลังมัตสึนาริในสงครามครั้งนี้ ซึ่งในระหว่างที่ทั้งสองฝ่ายห้ำหั่นกันอยู่นั้น อิเอยาสึที่กำลังจะเพลี่ยงพล้ำก็เฝ้ารอการตัดสินใจของฮิเดอากิว่าจะเอายังไง...
4
และด้วยความทนไม่ไหว อิเอยาสึจึงยิงปืนกดดันไปทางทัพของฮิเดอากิ เพื่อเร่งให้ตัดสินใจ...
2
โดยในเสี้ยวนาทีแห่งความกดดันนั้น ฮิเดอากิจึงตัดสินใจยกทัพเข้าตลบหลังถล่มฝ่ายมัตสึนาริในที่สุด ทำให้ผลของสงครามพลิกล็อกไปที่อิเอยาสึจนสามารถกำชัยชนะในศึกตัดสินนี้...
ผลของสงคราม ทำให้เหล่าไดเมียวที่เป็นฝ่ายตรงข้ามถูกริบที่ดินหรือไม่ก็ถูกตัดหัว เพื่อเป็นการทำลายฐานอำนาจที่ต่อต้านอิเอยาสึให้หมดสิ้น
2
แต่ด้วยความที่เห็นแก่ฮิเดโยชิ อิเอยาสึนั้นไม่ได้จัดการกับฮิเดโยริ ซึ่งในภายหลังนั้นก็มีขุนนางที่สนับสนุนจนฮิเดโยริ (ที่เริ่มโตแล้ว) ทำการลุกขึ้นต่อต้านอิเอยาสึอีกครั้ง...
1
แต่ความอ่อนต่อโลกทำให้ฮิเดโยริพ่ายแพ้อย่างหมดรูป ถูกล้อมอยู่ในปราสาทโอซาก้า และตัดสินใจเซปปูกุตัวเอง
เหล่าครอบครัวที่เหลืออยู่ของฮิเดโยชิก็ต่างพากันฆ่าตัวตายตามไปด้วย เหลือเพียงหลานชายวัย 8 ขวบเพียงคนเดียวที่ยังไม่ประสีประสาอะไร...
1
อิเอยาสึที่ต้องการตัดไฟแต่ต้นลม จึงสั่งให้ตัดหัวเลือดเนื้อเชื้อไขคนสุดท้ายของโทโยโทมิ ฮิเดโยชิในที่สุด
6
ด้วยความสามารถ ประสบการณ์ และชาติกำเนิด ทำให้จักรพรรดินั้นยอมแต่งตั้งให้อิเอยาสึเป็นโชกุน...
3
การขึ้นสู่อำนาจของอิเอยาสึนั้น ทำให้มีการย้ายศูนย์กลางอำนาจจากเกียวโตไปที่ "เอโดะ (โตเกียวในปัจจุบัน)" และตั้งรัฐบาลโทกุกาวะขึ้นมาปกครองประเทศและสามารถสยบไดเมียวทุกแคว้นให้อยู่ภายใต้รัฐบาลอย่างเหนียวแน่นได้สำเร็จไปอีก 200 ปี...
3
"โอดะ โนบุนากะ" คือชายที่วางรากฐานและใช้กองกำลังกำราบให้แคว้นต่างๆ รวมเป็นหนึ่งเดียว...
3
"โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ" คือชายที่สานต่องานนั้น และพร้อมสรรหาวิธีการให้แคว้นต่างๆ เชื่อมต่อกันให้มากขึ้น...
6
"โทกุกาวะ อิเอยาสึ" คือชายที่เฝ้ารอให้แคว้นต่างๆ รวมเป็นหนึ่ง มีรากฐานที่มั่นคง พร้อมใช้โอกาสที่ได้ต่อยอดไปสู่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า...
4
สุดท้าย สงครามอันยาวนานก็สิ้นสุดลง แผ่นดินที่เคยแตกแยกรวมเป็นหนึ่ง
1
รวมถึงเสียงเพลงอันชวนหลงไหลของนกตัวนั้นก็ได้ดังกังวานไปทั่วผืนป่าอีกครั้ง
3
ภาพจาก Yabai
References
Chapin, Danny. Sengoku Jidai. Nobunaga, Hideyoshi, and Ieyasu: Three Unifiers of Japan. Scotts Valley : CreateSpace Independent Publishing Platform, 2018.
Clements, Jonathan. A Brief History of Japan: Samurai, Shogun and Zen: The Extraordinary Story of the Land of the Rising Sun. Vermont : Tuttle Publishing, 2017.
Gordon, Andrew. A Modern History of Japan: From Tokugawa Times to the Present. Oxford : Oxford University Press, 2002.
Kure, Mitsuo. Samurai: An Illustrated History. Vermont : Tuttle Publishing, 2002.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา