12 มิ.ย. 2021 เวลา 03:26 • ประวัติศาสตร์
📚อึเล่าประวัติศาสตร์:
สรุปเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับเรื่องขี้ ๆ แต่สาระไม่ใช่ขี้ ๆ นะ
...คำนำสำนักพิมพ์บอกว่าหนังสือเล่มนี้บอกเล่าถึงเรื่องที่สามัญที่สุดคือการอึของผู้คนในสมัยต่าง ๆ (ที่เน้นสังคมตะวันตก) และยังโปรยว่าอึมีส่วนทำให้อารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ล่มสลายแถมยังกระตุ้นให้เกิดการปฏิวัติครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์อีกด้วย...
ช่วงนี้ทำการทยอยถ่ายเทหนังสือเก่า ๆ ที่เคยอ่านไปเก็บไว้ที่ใหม่ หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในเล่มโปรดที่อ่านแล้วชอบมาก เพราะสนุกแถมมีสาระน่ารู้อยู่เต็มไปหมด
ด้วยความเก่าเก็บและผ่านการใช้งานมาอย่างหนักสภาพหนังสือก็จะเยิน ๆ หน่อย แต่ก็บ่งบอกว่าอ่านจริงนะ (อ่านไปนอนทับไป เพราะชอบนอนอ่านหนังสือบนเตียง ก็จะเอาหนังสือที่จะอ่านมากอง ๆ ไว้เต็มเตียง เหลือพื้นที่พอให้ซุกตัวนอนได้นิดหน่อย)
ก่อนจะเอาหนังสือไปเก็บไว้ที่อื่นเลยคิดว่าเอามาเล่าต่อโดยการสรุปเป็นประเด็น ๆ ที่สำคัญดีกว่า ส่วนรูปภาพประกอบนั้นไปค้นมาต่างหากเพื่อให้คนอ่านได้เห็นภาพชัดขึ้น
หนังสือเล่มนี้อายุได้สิบปีเศษแล้ว
🚽อึในยุคเริ่มต้นของอารยธรรมมนุษย์
• นักโบราณอุจจารวิทยาเป็นผู้ทำการศึกษาโคโพรไลต์ หรืออุจจาระโบราณ เพื่อศึกษาว่าคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ยังไม่มีการจดบันทึกนั้นใช้ชีวิตอย่างไร
• มนุษย์โบราณใช้ชีวิตแบบเร่ร่อนเพื่อล่าสัตว์และเก็บของป่า การจัดการของเสียจากมนุษย์จึงไม่ใช่ปัญหาเพราะมนุษย์ย้ายที่อยู่ไปเรื่อย ๆ
• แต่เมื่อมนุษย์หยุดเร่ร่อน สังคมหมู่บ้านก็เกิดขึ้นและพัฒนาจนเป็นสังคมเมือง สิ่งที่ตามมาคือของเสียก็อยู่ที่เดียวกับชุมชนที่มนุษย์ตั้งหลักแหล่งถาวร มาตอนนี้คนไม่ได้ย้ายหนีไปไหนจึงต้องหาวิธีจัดการกับของเสีย
• ในพระคัมภีร์เก่าของคัมภีร์ไบเบิลเล่าว่าพระผู้เป็นเจ้าได้สั่งสอนมนุษย์เรื่องการขับถ่ายผ่านโมเสสด้วย “และท่านต้องมีไม้เสี้ยมรวมไว้กับเครื่องอาวุธ และเมื่อท่านนั่งลงในที่ข้างนอกนั้น ท่านจงใช้ไม้ขุดหลุมไว้ และหันไปกลบสิ่งปฏิกูลของท่านเสีย”
• มีการค้นพบห้องสุขาสำหรับนักบวชโบราณที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองเยรูซาเล็ม โดยนักบวชกลุ่มนี้จะขุดหลุมและฝังกลบของเสียไว้นอกเมือง พอตรวจสอบตัวอย่างพบว่าบริเวณห้องสุขานั้นมีพยาธิสารพัดชนิด จึงมีการสรุปว่านักบวชกลุ่มนี้สุขภาพไม่ดีป่วยบ่อย และส่วนใหญ่มีชีวิตไม่ยืนยาวไปกว่า 40 ปี
• เชื่อกันว่าอารยธรรมฮารับปันและโมเฮนโชทาโรในบริเวณประเทศปากีสถานปัจจุบันเป็นที่แรกที่มีการทำระบบท่อระบายน้ำและระบบท่อส่งน้ำเสียที่มีฝาปิด มีเรือนส่วนตัวและเรือนอาบน้ำสาธารณะ (ในเวลาเดียวกันนั้นชาวยุโรปยังอาศัยอยู่ในถ้ำ)
1
• ชาวมิโนอันที่อาศัยอยู่บนเกาะครีตเมื่อราวสี่พันปีมาแล้วรู้จักการสร้างท่อส่งน้ำและประดิษฐ์ส้วมชักโครก ในซากพระราชวังโบราณพบอ่างเก็บน้ำฝนที่จะปล่อยให้ไหลลงจากหลังคา ซึ่งพบส้วมที่มีที่กดชักโครกซึ่งยังคงใช้งานได้อยู่
1
• ชาวอียิปต์โบราณผู้มีอันจะกินปลดทุกข์ด้วยการนั่งบนที่นั่งหินปูนที่เจาะรูตรงกลาง ซึ่งมีโถที่เติมทรายรองรับไว้อยู่ด้านล่าง แล้วคนรับใช้จะนำไปทิ้ง ส่วนคนทั่วไปก็ขับถ่ายแบบนั่งยอง ๆ นอกบ้านหรือไม่ก็ถ่ายลงแม่น้ำไนล์
1
• ในอารยธรรมเมโสโปเตเมียให้ความสำคัญกับเรื่องความสะอาด ชาวบาบิโลนที่มีฐานะดีจะสร้างส้วมไว้ในบ้าน โดยส้วมนั้นจะตั้งอยู่บนท่อน้ำทิ้งที่ทำมาจากดินเผา ส่วนคนจนก็นั่งยอง ๆ ปลดทุกข์กันเอานอกบ้าน
(a) คือส้วมที่พบในซากพระราชวัง Minos (Knossos) บนเกาะครีต ส่วน (b,c) คือส้วมอิฐที่ Harappa และ Mohenjo-daro (Photo: Mdpi.com)
ในรูปเชื่อว่าเป็นส้วมที่อารยธรรม Mohenjo-daro (Photo: Harappa.com)
ส้วมอิฐสมัยอัคคาเดียนในสมัยอัคคาเดียนในอารยธรรมเมโสโปเตเมีย (Photo: Oriental Institute, University of Chicago)
🚽อึในยุคกรีกโบราณและโรมัน
1
• ชาวกรีกอาจจะเป็นนักคิดที่เก่งกาจแต่พวกเขาไม่เก่งเรื่องการจัดการของเสีย เพราะถึงแม้กรีกจะมีเรือนอาบน้ำ น้ำพุสาธารณะ และท่อส่งน้ำ แต่นั่นสงวนไว้สำหรับพลเมืองจำนวน 15% ที่เป็นผู้ชายและถือว่าเป็นเสรีชน บ้านเรือนส่วนใหญ่ของชาวเอเธนส์ไม่ได้มีระบบส่งน้ำ ผู้หญิง ไพร่ และทาสต้องแบกน้ำมาใช้เองและทิ้งของเสียจากกระโถนกันริมถนน
• ด้วยเหตุนี้ชาวกรีกในนครรัฐเอเธนส์และสปาร์ตาจึงเกิดโรคระบาดร้ายแรงเสมอ เช่น อหิวาตกโรค พอเกิดโรคระบาดชาวเอเธนส์ก็กล่าวโทษสปาร์ตาว่าวางยาพิษในน้ำ
1
• ชาวโรมันต่างกับชาวกรีกตรงที่เป็นนักปฏิบัติ พวกเขาเป็นพวกแรกที่ใช้ท่อส่งน้ำที่ทำมาจากตะกั่ว เรียกกันว่า พลุมบุส (plumbus) ชาวโรมันมีการวางท่อ คลองส่งน้ำ และสร้างคูระบายน้ำเสียในทุกที่ที่เข้าครอบครอง ซึ่งช่วยในการระบายของเสียลงสู่แม่น้ำไทเบอร์และออกสู่ทะเล ซึ่งคลองและคูส่งน้ำจำนวนมากยังใช้งานได้อยู่ในปัจจุบัน
1
• ชาวโรมันมีส้วมสาธารณะ ในปี 315 มีประชากรอาศัยในกรุงโรมมากกว่าหนึ่งล้านคน และมีการสร้างส้วมสาธารณะไว้ 144 แห่งทั่วเมือง ซึ่งจะสร้างไว้บนธารน้ำไหลหรือไม่ก็ธารน้ำเทียมที่สร้างขึ้นมาเองเพื่อปล่อยน้ำไหลใต้ที่นั่งเพื่อชะล้างของเสียออกไป
• ส้วมสาธารณะของชาวโรมันเป็นที่นั่งหินอ่อนเรียงรายติดกันมากถึง 20 ที่นั่ง แถมยังก้าวหน้าเพราะบางแห่งที่นั่งนั้นทำให้อุ่นได้ด้วย ในส้วมสาธารณะจะมีถังใส่น้ำเกลือที่มีฟองน้ำติดด้ามไม้วางอยู่ ใช้สำหรับถูก้น ใช้เสร็จก็เก็บไว้ในถังให้คนอื่น ๆ มาใช้ต่อไป (โรมันไม่ใช้กระดาษชำระ)
• การขับถ่ายในยุคโรมันไม่ใช่กิจกรรมส่วนตั๊วส่วนตัวเหมือนทุกวันนี้ การเข้าส้วมเป็นกิจกรรมสาธารณะเพื่อพบปะพูดคุยกัน ชาวโรมันจะนั่งอึเคียงข้างกันไปในห้องที่เปิดโล่ง และอึไปสนทนากันไป
• ส่วนนักเดินทางที่ต้องการฉี่จะมีโถที่เรียกว่า กาสตรา วางเรียงข้างถนนตรงจุดพักริมทางที่ชาวโรมันสร้างขึ้น นอกจากนี้นักซักผ้าจะวางโถขนาดใหญ่ไว้มุมถนนทั่วเมืองให้ผู้ชายไปฉี่ไว้ แล้วจะนำฉี่เหล่านั้นมาใช้ซักผ้า
• จักรพรรดิเวสปาเชียนเป็นทั้งนักปกครองและนักธุรกิจที่ดี ทรงรู้จักหาเงินด้วยการเก็บภาษีไปสร้างที่ปัสสาวะสาธารณะ แล้วก็ขายปัสสาวะให้แก่นักซักผ้าด้วย แต่การกระทำนี้ทำให้ติตุสโอรสของพระองค์ทรงอับอายมากว่าจักรพรรดิหาเงินจากของเหม็น
• ในบ้านเรือนส่วนตัวของชาวโรมันก็มีส้วมด้วยเช่นกัน ซึ่งจะเป็นช่องบนพื้นที่ที่ต่อไปยังท่อระบายน้ำเสีย เพียงแค่ถลกชุดโทกาที่สวมใส่แล้วนั่งยอง ๆ คร่อมช่องนั้นก็เป็นอันเรียบร้อย
• ในงานเลี้ยงอันหรูหราของชาวโรมัน (แน่นอนว่าคนเข้าร่วมย่อมร่ำรวย) เมื่อดื่มกินมากไปก็จะเกิดสิ่งเรียกร้องตามธรรมชาติ ซึ่งพวกเขาจะเรียกให้ทาสนำกระโถนเงินมาให้สำหรับขับถ่าย (และรองรับอาเจียนในบางกรณี) ซึ่งกิจกรรมนี้ก็ดำเนินไปในงานเลี้ยงท่ามกลางคนมาร่วมงานนั่นแล
• แต่ชาวโรมันที่ยากจนที่อาศัยอยู่ในอาคารแออัดซึ่งบางที่สูงถึง 6 ชั้น และไม่ได้มีเครื่องอำนวยความสะดวกตามที่เล่าไปข้างบน ที่พักส่วนใหญ่ของคนจนไม่มีส้วมเลย หรืออย่างดีที่สุดมีเพียงส้วมสาธารณะที่ทำอย่างง่าย ๆ ตรงชั้นล่างที่เรียกว่า ฟอริไค
• ชาวโรมันมีเทพีแห่งคูระบายน้ำเสีย เรียกว่า วีนัส โคลอาคีนา และมีเทพเจ้าแห่งสิ่งปฏิกูลเรียกว่า สเตอร์คูติอุส
ของจำลองไม้เช็ดก้นที่เรียกว่า xylospongium หรือ tersorium ในสมัยโรมัน (Photo: Wikipedia)
ส้วมสาธารณะของโรมัน (Photo: Wikipedia)
🚽ยุคกลางและยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ
• จักรวรรดิโรมันล่มสลายจากการถูกชนป่าเถื่อน (ตามทัศนะของชาวโรมัน) เผ่าต่าง ๆ รุกราน และจากสาเหตุอื่น ๆ ประกอบกัน ซึ่งอารยธรรมการขับถ่ายที่ชาวโรมันสร้างสรรค์ก็ถูกทำลายลงด้วย แต่ในฝั่งจักรวรรดิโรมันตะวันออก (ไบแซนไทน์) ยังคงรักษานวัตกรรมนี้ต่อไป และมีมาตรฐานสุขอนามัยที่สูงกว่าคนในยุคกลางที่ยุโรป
• เทคโนโลยีการสร้างระบบท่อน้ำและคูคลองส่งน้ำสูญสิ้นไปตามจักรวรรดิโรมัน ยุคกลางของยุโรปเรื่องสุขอนามัยด้านการขับถ่ายจึงแย่มาก ๆ ซึ่งจะเล่าในรายละเอียดเฉพาะของยุคกลางต่อไป
• พอเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ชาวยุโรปโดยทั่วไปก็ยังคงใช้กระโถนกันอยู่ มีการประดิษฐ์ส้วมเกิดขึ้นในยุคนี้ แต่ก็ไม่ค่อยมีผู้ใดให้ความสนใจ ของเสียในกระโถนก็จะถูกโยนทิ้งทางช่องหน้าต่างนั่นเอง
• ที่อังกฤษสมัยพระเจ้าเฮนรีที่ 8 พระองค์พยายามปรับปรุงสุขอนามัยที่เลวร้ายในอาณาจักรของพระองค์ให้ดีขึ้น ออกกฎหมายเกี่ยวกับการกำจัดของเสียหลายฉบับแต่กฎหมายเหล่านี้ไม่ค่อยถูกนำมาใช้ในทางปฏิบัติ ในพระราชวังของพระองค์มีส้วม 2 ชั้นถึง 28 ที่นั่ง ซึ่งของเสียจะถูกระบายลงไปในแม่น้ำเทมส์
• แต่บรรดาขุนนางไม่ค่อยสนใจใช้บริการส้วม พวกเขามักใช้บริการตรงเตาผิง ระเบียง หรือมุมลับตาคน เป็นที่สำหรับฉี่ ตัวพระเจ้าเฮนรีที่ 8 จะไม่ไปเข้าส้วม พระองค์มีเก้าอี้บังคนส่วนพระองค์ และจะมีมหาดเล็กทำหน้าที่เช็ดก้นให้พระองค์ด้วย
1
• ลีโอนาร์โด ดา วินซี พักงานด้านอื่น ๆ เพื่อมาออกแบบประดิษฐ์ชักโครกช่วงปี 1516 เขายังออกแบบห้องน้ำที่มีระบบระบายอากาศด้วย โดยตั้งใจจะสร้างไว้ที่พระราชวังของกษัตริย์ฝรั่งเศส แต่เขาเสียชีวิตไปเสียก่อนโดยทิ้งแบบร่างของส้วมที่ยังไม่ได้สร้างไว้
• ในสมัยราชินีอีลิซาเบธที่ 1 พระธิดาของกษัตริย์เฮนรีที่ 8 เวลาพระองค์เสด็จออกไปยังต่างเมืองจะนำเก้าอี้บังคนส่วนพระองค์ไปด้วย ซึ่งจะมีรถบังคนเป็นเหมือนห้องน้ำเคลื่อนที่ส่วนพระองค์ ต่อมาเซอร์จอห์น ฮาริงตัน ได้ออกแบบการสร้างส้วมชักโครก และมีการสร้างส้วมในพระราชวังไว้สำหรับพระราชินี
• เมื่อชาวยุโรปเดินทางไปยังดินแดนโลกใหม่ (อเมริกา) พวกเขาถ่ายกันนอกบ้าน มีการขุดหลุมทิ้งของเสีย และสร้าง “เรือนนอก” หรืออาคารแยกจากตัวบ้านและมีที่นั่งบนหลุมถ่าย แต่บางคนก็ยังใช้กระโถนที่นำติดตัวมาจากยุโรปอยู่
• พอล่วงมาในศตวรรษที่ 17 กรุงลอนดอนและปารีสกลายเป็นเมืองขนาดใหญ่ แต่ปัญหาสุขอนามัยเลวร้ายมาก อากาศก็เลวร้าย ในกรุงลอนดอนมีส้วมสาธารณะแต่ถือว่าน้อยมากถึงมากที่สุด ถ้าคนเกิดอยากปลดทุกข์ระหว่างการสัญจรในเมืองส่วนมากก็จัดการแอบ ๆ ข้างมุมถนน แต่ถ้าเป็นผู้หญิงอาจจะแวะบ้านของคนรู้จักเพื่อขอใช้กระโถน
• มีเกร็ดบันทึกไว้ในปี 1665 เขียนโดยชายที่ชื่อแซมวล พีปส์ เล่าว่าเลดี้แซนด์วิชมาแวะบ้านของเขา คนรับใช้ได้รีบมาบอกว่ามีแขกเขาจึงรีบรุดกลับบ้าน และพบว่าเธอกำลังนั่งอยู่บนกระโถนในห้องทานข้าว ทั้งสองได้ทักทายกันอย่างกระอักกระอ่วน
1
• ในบ้านที่มีฐานะ ในบ้านที่หรูหรา กระโถนสำหรับขับถ่ายและเก้าอี้ถ่ายก็วางไว้ในห้องกินข้าวนั่นแหละ เวลากลางวันหลังทานข้าวเสร็จผู้หญิงจะมีเก้าอี้ถ่ายส่วนตัวด้านนอก ส่วนผู้ชายจะมีกระโถนเก็บไว้ในตู้ในห้องทานข้าวนั่นเอง โดยคนรับใช้จะคอยเป็นผู้ให้บริการ สำหรับในคืนที่มีอากาศดีก็จะไปขับถ่ายกันข้างนอกในสวน แต่ถ้าอากาศแย่ก็ขับถ่ายในบ้านโดยมีคนรับใช้คอยจัดการทำความสะอาดให้
1
• และในศตวรรษที่ 17 นี้เองที่กาฬโรคก็มาเยือนยุโรปและกลายเป็นหายนะครั้งใหญ่
2
• ในราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่พระราชวังแวร์ซายส์ มีเก้าอี้ถ่ายเพียง 275 ตัวในขณะที่มีผู้คนอาศัยอยู่ถึง 2 หมื่นคน ดังนั้นจึงไม่พอเพียง ในพระราชวังเลยกลายเป็นที่ปลดทุกข์ได้ทุกที่ พระราชวังแห่งนี้จึงมีห้องต่าง ๆ และสวนที่ตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นเหม็นทั้งจากคนและสัตว์เลี้ยงที่ขับถ่ายในนั้น
• ข้าราชสำนักฝรั่งเศสเช็ดก้นโดยใช้ผ้านุ่ม ๆ เช่นไหมหรือลินิน บางคนใช้ขนห่าน แต่บางคนเพื่อความสะดวกใช้ขนที่ติดกับคอห่าน (ที่ถูกตัดออกมาจากตัวแล้ว) เช็ดก้นทั้งอย่างนั้น
• พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เวลาขับถ่ายจะมีข้าราชบริพารประจำห้องบรรทม 2 คนทำหน้าที่อันทรงเกียรติคอยเทกระโถนให้พระองค์ และพระองค์มักจะรับแขกเวลานั่งเก้าอี้บังคนอยู่ พระองค์ทรงนั่งถ่ายนานมาก ซึ่งเรื่องนี้อธิบายได้จากการผ่าพระศพหลังสิ้นพระชนม์แล้วพบว่าพระองค์ทรงมีลำไส้ที่ยาวมากกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า
ที่นั่งพระบังคนของกษัตริย์วิลเลียมที่ 3 ของอังกฤษ น่าจะทำให้เห็นภาพว่ากษัตริย์นั่งขับถ่ายอย่างไร (Photo: Atlasobscura.com)
ภาพส้วมที่ออกแบบโดยเซอร์จอห์น ฮาริงตัน (Photo: History.com)
เซอร์จอห์น ฮาริงตัน (Photo: Naked History)
🚽ยุคการปฏิวัติวิทยาศาสตร์และยุครุ่งเรืองทางปัญญา
• ย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 18 แม้ยุโรปจะเริ่มก้าวหน้าแต่เมืองใหญ่ ๆ ในยุโรปกลับยิ่งสกปรกและเต็มไปด้วยมลพิษมากขึ้น ปารีส เวนิส เบอร์ลิน เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก มีถนนและคลองที่สกปรกมาก เรื่องกลิ่นยิ่งไม่ต้องพูดถึง (ส่วนลอนดอนดีกว่า เพราะถูกไฟไหม้ครั้งใหญ่ไปเลยส่งผลดีในการจัดระเบียบเมืองใหม่) แต่ที่โลกตะวันออกเมืองอย่างปักกิ่งและเอโดะกลับมีการจัดการด้านของเสียที่ดีกว่า
• ชีวิตที่ย่ำแย่ของชาวเมืองปารีส (ผนวกรวมกับปัจจัยอื่น ๆ) กลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการปฏิวัติปี 1789 (ส่วนที่อังกฤษในเวลาเดียวกันนั้นผู้คนมีชีวิตที่ดีกว่าและถึงจะมีกษัตริย์เหมือนกันแต่อำนาจในการปกครองอยู่ที่ระบบรัฐสภา)
• ความสกปรกของอังกฤษโดยเฉพาะที่กรุงลอนดอนนำมาซึ่งการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตนั้นดีขึ้นมา มีการประดิษฐ์ส้วมแบบชักโครกขึ้นในปี 1775 ซึ่งผู้ประดิษฐ์ก็เป็นช่างทำนาฬิกา
• อเล็กซานเดอร์ คัมมิง คือผู้ประดิษฐ์ชักโครกสมัยใหม่ และได้ยื่นจดสิทธิบัตร โดยเขาปรับปรุงจากส้วมยุคก่อนหน้านี้ และคิดค้นวิธีกำจัดกลิ่นให้เหลือน้อยที่สุด
• แต่ชักโครกที่ประดิษฐ์ขึ้นมานี้คนเข้าถึงได้อย่างจำกัดเฉพาะคนมีฐานะเท่านั้นจึงจะครอบครองได้ มันจึงเป็นสิ่งที่บ่งบอกสถานภาพทางสังคมด้วย แต่ชักโครกในยุคแรกใช้งานได้ไม่ดี ทั้งรั่ว ทั้งส่งกลิ่นเหม็น แถมยังมีเสียงดังมาก และในตอนนั้นยังไม่มีระบบการต่อท่อน้ำเสีย มันจะถูกต่อกับหลุมถ่ายส่วนตัวแบบง่าย ๆ ของเสียอย่างอึจึงมักเอ่อไปท่วมห้องใต้ดินหรือไม่ก็สนามหญ้าหน้าบ้านและหลังบ้าน
1
ภาพแกะสลักชื่อ The Embarrassment of Paris โดย Nicolas Guérard ทำขึ้นช่วงราวปี 1700 ซึ่งสะท้อนความสกปรกของเมืองปารีส และต้องบังคับให้ชาวปารีเซียงรักษาความสะอาดของท้องถนน (Photo: Trustees of the British Museum)
ภาพอเล็กซานเดอร์ คัมมิง ผู้จดสิทธิบัตรส้วมชักโครกคนแรก (Photo: Wikipedia)
ส้วมชักโครกที่ออกแบบโดยอเล็กซานเดอร์ คัมมิง (Photo: Wikipedia)
🚽นวัตกรรมเรื่องชักโครก
• เมื่อศตวรรษที่ 19 ในลอนดอน คนเริ่มสร้างส้วมชักโครกไว้ในบ้านมากขึ้น ที่อเมริกา ชาวเมืองที่มั่งคั่งก็สร้างส้วมชักโครกกันมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน
• ต่อมามีการต่อท่อของเสียจากส้วมชักโครกเข้ากับท่อน้ำเก่าสมัยโบราณที่ไหลลงแม่น้ำเทมส์ ข้อดีคือถนนหนทางในลอนดอนเริ่มสะอาดขึ้นเรื่อย ๆ แต่ข้อเสียคือคนในลอนดอนใช้น้ำจากแม่น้ำนี้เช่นเดียวกัน แม่น้ำเธมส์กลายเป็นหลุมถ่ายของชาวลอนดอนนับ 3 ล้านคนเมื่อปี 1850 ซ้ำร้ายของเสียจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่กำลังเติบโตก็ทิ้งลงแม่น้ำเทมส์
• เท่านั้นยังไม่พอ น้ำเสียจากหลุมถ่ายและท่อยังรั่วไหลไปปนเปื้อนกับน้ำดื่มในบ่อ แต่คนสมัยนั้นไม่รู้ ได้เกิดอหิวาตกโรคระบาดหนักที่อังกฤษและเวลส์ครั้งใหญ่เป็นเวลานานติดต่อกันหลายปี
• จึงนำมาซึ่งความพยายามในการหาสาเหตุของโรคและวิธีการป้องกัน ซึ่งแนวคิดดั้งเดิมเชื่อในเรื่องไมแอสมา จึงเชื่อกันว่าโรคนี้แพร่กระจายทางอากาศ ซึ่งมีนายแพทย์ชื่อจอห์น สโนว์ พยายามออกมาโต้แย้งว่าอหิวาตกโรคแพร่กระจายผ่านน้ำ กว่าแนวคิดนี้คนจะยอมรับก็ใช้เวลาเป็นสิบปีและเจ้าของแนวคิดนี้ก็ตายไปเสียก่อน
1
• ในปี 1851 มีการจัดนิทรรศการเรื่องงานอุตสาหกรรมนานาชาติขึ้นในลอนดอน และนักประดิษฐ์ชื่อจอร์จ เชนนิ่ง สร้างห้องส้วมที่ติดอุปกรณ์ชักโครกให้ผู้มาเข้าชมงานได้ใช้ ซึ่งเป็นของใหม่สำหรับผู้คนในเวลานั้น จึงมีคนมาใช้บริการมากกว่า 8 แสนคน
• เมื่อวิกฤตแม่น้ำเทมส์เน่าเสีย เพราะเกิดคลื่นความร้อน ระดับน้ำลดลงของเสียของคนจึงไม่ถูกผลักออกไปสู่ทะเล พอน้ำขึ้นของเสียของคนก็ถูกดันกลับเข้ามาใหม่ แม่น้ำส่งกลิ่นเหม็นเน่าจนต้องผ่านกฎหมายต่อต้านกลิ่นเหม็นภายใน 18 วัน
1
• มีการออกแบบสร้างท่อระบายน้ำเสีย ต่อมาก็มีการสร้างโรงงานบำบัดน้ำเสีย และหยุดทิ้งของเสียที่ยังไม่บำบัดลงแม่น้ำ จนในปี 1864 มีคนพบปลาแซลมอนว่ายในแม่น้ำเทมส์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยพบมานานนับตั้งแต่สมัยพระเจ้าเฮนรีที่ 7 (ครองราชย์ปี 1485 – 1509) ส่วนที่ปารีสก็ประสบปัญหาแม่น้ำแซนเน่าเหม็นเช่นเดียวกัน
• ส่วนส้วมชักโครกก็ได้มีนักประดิษฐ์ออกแบบปรับปรุงอยู่เรื่อย ๆ และพอมนุษย์มีความรู้เรื่องเชื้อโรคมากขึ้น จึงมีการพัฒนาเรื่องการเดินท่อระบายของเสียใหม่ และกลายเป็นส้วมชักโครกแบบที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
• ในหนังสือยังเล่าถึงการสร้างส้วมแบบอื่น ๆ ด้วย แต่ขอไม่กล่าวถึง อยากทราบหาอ่านได้หนังสือได้
• ส้วมจึงเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งในอารยธรรมมนุษย์ ทำให้มนุษย์มีสุขอนามัยที่ดีขึ้นและทำให้ชีวิตยืนยาวมากขึ้น จบ.
The silent highwayman คือภาพการ์ตูนล้อเลียนในนิตยสาร Punch ตีพิมพ์เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 1858 สะท้อนเหตุการณ์ที่เรียกว่า The Great Stink ที่แม่น้ำเทมส์เน่าเสียอย่างหนักเข้าขั้นวิกฤต (Photo: Wikipedia)
ภาพการ์ตูนเสียดสีการเน่าเสียของแม่น้ำเทมส์ในนิตยสาร Punch ตีพิมพ์เมื่อปี 1855 เป็นรูปนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญคือไมเคิล ฟาราเดย์ส่งนามบัตรให้เทพประจำแม่น้ำเทมส์ให้ไปปรึกษากับศาสตราจารย์ผู้รู้แก้ปัญหาเรื่องกลิ่น (Photo: Wikipedia)
ภาพการ์ตูนเสียดสีการเน่าเสียของแม่น้ำเทมส์ในนิตยสาร Punch เมื่อปี 1858 ที่เป็นแหล่งที่ทำให้ชาวลอนดอนเจอกับโรคร้ายต่าง ๆ เด็ก ๆ ในรูปเป็นตัวแทนของโรคคอตีบ โรควัณโรคต่อมน้ำเหลืองที่คอ และโรคอหิวาต์ (Photo: Wikipedia)
ชักโครกกลายเป็นสิ่งของที่มีอยู่ทั่วไปในช่วงกลางถึงปลายศตวรรษที่ 19 ในรูปเป็นโฆษณาส้วมชักโครกที่ออกแบบโดย Thomas Crapper ในช่วงทศวรรษที่ 1880 ซึ่งเขาเป็นผู้นำในการผลิตชักโครกออกมาจำหน่าย (Photo: Wikipedia)
โฆษณา