16 มิ.ย. 2021 เวลา 07:09 • ความคิดเห็น
ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธ หลักคำสอนในพระพุทธศาสนากล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า การพูดโกหกนั้นผิดศีล 5 แต่ถ้าพูดความจริงแล้วเกิดผลเสียมากกว่าผลดีเราควรทำอย่างไร
1
เมื่อพูดความจริงแล้วปวดใจ โกหกนิดหน่อยก็สบายใจดี แต่ “การไม่โกหก” ก็มีความสำคัญมาก ถึงขนาดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ในศีล 5
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวในโลก เราจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น อย่างน้อยก็คนในครอบครัว เพื่อนบ้าน เพื่อนในโรงเรียน เพื่อนในที่ทำงาน คนเราอาศัยอยู่กันเป็นกลุ่ม ในสังคมอยู่ร่วมกันได้ด้วยความไว้วางใจกัน เชื่อมั่นในคำพูดของกันและกัน
ถ้าเราขาดความเชื่อมั่น ก็จะเกิดปัญหาใหญ่ในการอยู่ร่วมกันขึ้นทันที เช่น ถ้าเราจับได้ว่าเพื่อนสนิทโกหก เราย่อมเสียความรู้สึก หมดความไว้วางใจ และขาดความเชื่อถือเขาไปเลย ยิ่งถ้าสามีภรรยาโกหกกัน ต่อไปก็จะอยู่กันอย่างหวาดระแวง ไม่มีความสุข เหล่านี้คือผลกระทบต่อครอบครัว และยังส่งผลกระทบต่อผู้โกหกด้วย โดยถ้อยคำที่พูดออกไปจะเกิดเป็นภาพในใจ
1
ถ้าพูดเรื่องไม่จริง ภาพที่เกิดก็จะเป็นภาพไม่จริง ซึ่งขัดแย้งกับภาพจริงที่อยู่ในใจผู้พูด สุดท้ายเกิดความสับสนเลอะเลือน
สังเกตว่า คนที่มักพูดโกหก สุดท้ายจำไม่ได้ว่าความจริงคืออะไร ถ้าเราพูดเรื่องไม่จริงใจไปร้อยแปด มีโอกาสสูงที่จะพูดไม่เหมือนเดิม เพราะจำไม่ไหวว่าตนเองเคยโกหกอะไรไปบ้าง สับสน สุดท้ายความแตก
1
“คำพูดเป็นนายเรา” ปัจจุบันไม่ว่าจะทำหรือพูดอะไร ก็ถูกบันทึกไว้หมดเพราะเป็นยุคดิจิทัล ข้อมูลบทสัมภาษณ์ ข้อความที่เคยเขียนไว้ ไม่ต้องไปมัวเสียเวลาค้นหาที่หอสมุดแห่งชาติ แค่เปิด Google คลิกเดียวข้อมูลเก่า ๆ เมื่อ 20-30 ปีก่อนก็เผยขึ้นมาหมด นำไปแชร์ต่อในสังคมได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง
1
เพราะฉะนั้น คำโกหกมีผลกระทบมากทั้งต่อผู้พูดและต่อสังคมส่วนรวม สรุปคือการโกหกเป็นภัยต่อความมั่นคงในสังคมมนุษย์อย่างยิ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติให้เป็นหนึ่งในศีล 5
1
ถ้าเราจำเป็นจะต้องโกหกเพื่อจุดประสงค์ดี ยกตัวอย่างเราไปเยี่ยมผู้ป่วยหนัก อาการไม่สู้ดีนัก แต่เรากลับทักทายเขาว่าเขาดูดีขึ้น เพื่อให้เขารู้สึกสบายใจอย่างนี้ เรียกว่า white lie การโกหกสีขาว
1
ถึงแม้ว่าการโกหกด้วยเจตนาดีจะมีผลกระทบต่อสังคมที่เบาบางกว่า หรือผลกระทบต่อวิบากกรรมผู้พูดเบากว่า แต่ไม่ใช่ไม่มี
1
ที่สุดแล้วการพูดความจริงย่อมดีกว่า แต่เราควรพูดอย่างมีศิลปะ ไม่ใช่พูดจาขวานผ่าซาก เช่น เจอคนไข้หน้าตาซีดเซียวก็บอกเขาไปตรง ๆ ว่าวันนี้หน้าซีดเซียว สงสัยคืนนี้ตายแน่นอน คนไข้ได้ฟังแล้วอาจจะช็อกตาย พูดแบบนี้ไม่ได้ กลายเป็นพูดความจริงอย่างไม่รู้จักกาลเทศะ ไม่รู้ว่าอะไรควรพูด ไม่ควรพูด
2
การพูดแต่ละครั้งต้องมีมารยาทโดยการยึดหลักความจริง แต่ในขณะเดียวกันต้องใช้สติและปัญญาประกอบด้วยว่า เราควรสื่อสารความจริงอย่างไรให้ผู้ฟังรับได้ เกิดความเข้าใจ และได้รับความสบายใจ
1
ในวงการกฎหมาย หรือวงการธุรกิจ บางครั้งพูดความจริงแต่ไม่จริง 100% บางคนเรียกว่าวาทศิลป์ดี มีศิลปะในการพูด พูดน่าเชื่อถือ มีชั้นเชิง และเป็นเหตุเป็นผล แต่หัวใจอยู่ตรงที่วาทศิลป์ดีนั้นต้องอยู่บนแกนของความจริงด้วย สามารถสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องไปสู่สังคมด้วยภาษาที่น่าฟัง เข้าใจง่าย พอตรองตามแล้วเข้าใจกระจ่างแจ้ง จึงจะเรียกว่ามีวาทศิลป์
1
แต่ถ้าเมื่อใดใช้วาทศิลป์ในการสื่อสารจนทำให้สารเกิดการบิดเบือน ใช้เหลี่ยมมุมคำพูดทำให้คนฟังเข้าใจผิด พูดโจมตีฝ่ายตรงข้าม ยกยอฝ่ายตน หรือเบี่ยงเบนข้อมูล วัตถุประสงค์คือทำให้คนรับสารเกิดความเข้าใจผิด ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักกฎหมาย ทนายความ ก็ล้วนแล้วแต่มีวิบากกรรมเกิดกับตนเองทั้งนั้น
1
ผลที่เกิดเฉพาะหน้าคือทนายได้ชนะคดี แต่ไม่ชนะกฎแห่งกรรมเลย กฎแห่งกรรมไม่ได้ตัดสินที่ใครมีวาทศิลป์ แต่ตัดสินที่ความถูกผิด กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ ในโลกมนุษย์อาจใช้เทคนิคหลบเลี่ยง ใช้เส้นสายช่วยให้รอดพ้นความผิดได้ แต่ภายใต้กฎแห่งกรรมไม่มีใครรอดพ้นได้เลย เสมอกันหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ หรือคนธรรมดาก็ล้วนแล้วแต่เสมอภาคกันทั้งหมด
1
ดังนั้น ยึดหลักความจริงดีกว่า เชื่อเรื่องบุญ บาป นรก สวรรค์ไว้ไม่เสียหาย แล้วตั้งใจทำความดี ไม่ว่าจะพูดอะไรก็ควรยึดหลักความจริงเสมอ ผลในระยะยาวย่อมดีกว่าแน่นอน
หลายท่านอาจจะเคยเจอสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องโกหก เพราะความจริงอาจจะนำภัยร้ายแรงมาสู่ตนเอง เช่น หมดอนาคต ครอบครัวแตกแยก หรืออาจจะนำภัยความมั่นคงมาสู่ประเทศชาติได้
ถ้าต้องตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ให้เรายึดหลักว่าไม่โกหก แต่ให้ฉลาดเลือกใช้คำพูด ยกตัวอย่าง เรื่องใกล้ตัว พ่อแม่เป็นห่วงลูก ถามว่าตอนนี้เงินพอใช้ไหม ลูกรู้ว่าพ่อแม่ไม่มีรายได้ ที่ท่านถามก็ด้วยความห่วงใย ลูกจะตอบว่ามีเงินพอใช้ก็โกหก ก็ให้เลือกตอบเพื่อให้ท่านสบายใจว่า ยังพอไหว... ยังพอมี... ถามว่าผิดไหม ก็ไม่ผิด แต่แปลว่าเรายังอดทนสู้ได้อยู่ ไม่ได้โกหก และยังทำให้ท่านคลายกังวลลงได้ด้วย
2
คำพูดใดที่พูดไปแล้วไม่เกิดประโยชน์ เรามีสิทธิ์จะเลือกใช้คำที่ไม่ใช่การโกหก แต่ให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่เราต้องการสื่อ และไม่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่สบายใจด้วย
คนที่ยืนอยู่บนพื้นฐานความจริง สุดท้ายจะเป็นคนที่มีปัญญา เพราะภาพในใจกับสิ่งที่สื่อสารออกไปนั้นตรงกันเสมอ ในขณะเดียวกันก็ได้ฝึกใช้สติปัญญาอยู่เสมอ พอมีคำถาม คนโกหกมักจะพูดง่าย ๆ พูดโดยแทบไม่ได้คิด สุดท้ายก็จำอะไรไม่ได้ สับสน จับต้นชนปลายไม่ถูก แต่คนที่พูดความจริงมักจะมีสติในการฟัง ได้คิดไตร่ตรองก่อนพูดตอบออกไป เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและไม่ทำให้เกิดความเสียหาย
เจริญพร

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา