22 ก.ย. 2021 เวลา 08:28 • ประวัติศาสตร์
• พระราชินีแหม่นุ ตำนานการได้ขึ้นเป็นมเหสี และต้นแบบของพระนางซินผิ่วมะฉิ่นและพระราชินีศุภยาลัต
ภาพของพระราชินีแหม่นุก่อนปี 1923 (Image: Myanmar Historical Archive)
• ท้าวความเบื้องต้น
พระราชินีแหม่นุ เป็นพระมเหสีเอกของพระเจ้าบ๊ะจีด่อ กษัตริย์พม่าพระองค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์คองบอง พระราชินีแหม่นุมีพระธิดากับพระเจ้าบ๊ะจีด่อคนสำคัญในประวัติศาสตร์พม่าพระองค์หนึ่ง คือซินผิ่วมะฉิ่น ซึ่งต่อมาได้เป็นหนึ่งในมเหสีจำนวน 63 องค์ของพระเจ้ามินโดง
พระนางซินผิ่วมะฉิ่นมีพระธิดากับพระเจ้ามินโดงสามพระองค์ คือ พระนางศุภยาจี พระนางศุภยาลัต และพระนางศุภยากะเล ซึ่งทั้งสามพระองค์ได้กลายเป็นมเหสีของพระเจ้าธีบอซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้ามินโดงเช่นเดียวกัน พูดง่าย ๆ คือกษัตริย์ธีบอเป็นพระยาเทครัวได้น้องสาวคนละแม่มาเป็นเมีย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรสำหรับชนชั้นกษัตริย์ที่การแต่งงานกับพี่น้องของตัวเองคือการรักษาเลือดบริสุทธิ์ไว้
เราได้ทราบกิตติศักดิ์และเรื่องราวว่าด้วยความทะเยอทะยานในอำนาจ และความโหดเหี้ยมเด็ดขาดจอมบงการของสองแม่ลูกซินผิ่วมะฉิ่นกับศุภยาลัตมาไม่น้อย แต่ทราบหรือไม่ว่าอุปนิสัยเช่นนี้มีต้นแบบมาจากพระราชินีแหม่นุ
เหนือพระนางศุภยาลัตยังมีแม่คือพระนางซินผิ่วมะฉิ่น เหนือแม่ยังมียายคือพระราชินีแหม่นุ
ภาพพระเจ้าพระเจ้าบ๊ะจีด่อจากสายตาของชาวอังกฤษ (Image: Wikipedia)
• ตำนานการขึ้นเป็นมเหสีเอกแห่งกษัตริย์พม่า
เมื่อพูดถึงคำว่า ตำนาน ก็ต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่าคำ ๆ นี้หมายถึงเรื่องเล่าที่ผสมปนเปกันระหว่างเรื่องจริงและเรื่องแต่ง ซึ่งมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เข้ามาเติมรสชาติให้ด้วย
ตำนานของแหม่นุมีอยู่ว่า นางเป็นลูกสาวของนายทหาร ในวันหนึ่งเกิดเหตุพายุพัดโหมกระหน่ำอย่างรุนแรง จนพัดเอาผ้านุ่งของแหม่นุปลิวขึ้นไปเกี่ยวอยู่บนยอดฉัตรของพระราชวังอังวะ
จากเหตุการณ์นี้ไม่ต่างอะไรกับละครจักร ๆ วงศ์ ๆ บ้านเรา ที่จะมีตัวละครสำคัญโผล่มาคือโหรหลวง ซึ่งโหรประจำราชสำนักแห่งกรุงอังวะทำนายว่ามันเป็นลางบอกเหตุ ดังนั้นจักต้องค้นหาตัวเจ้าของผ้านุ่งผืนนี้ให้จงได้แล้วนำตัวมาไว้ในพระราชวัง เพราะโหรเชื่อว่าจะเป็นสิ่งมงคล (แต่บ้านเรานี่ผ้านุ่งผ้าถุงของสตรีถือว่าเป็นของต่ำ)
1
ด้วยเหตุนี้ แหม่นุจึงได้เข้ามาอยู่ในพระราชวังอังวะด้วยอายุเพียง 14 ปี แหม่นุได้รับแต่งตั้งให้เป็นนางกำนัลของพระมเหสีเอก และทำให้นางมีโอกาสได้ประสบพบพักตร์กับว่าที่กษัตริย์ในอนาคตคือพระเจ้าบ๊ะจีด่อ จนบ๊ะจีด่อหลงใหลคลั่งไคล้ในตัวนางอย่างไม่ลืมหูลืมตา จนรับนางมาเป็นมเหสีของพระองค์
แต่อีกเวอร์ชั่นเล่าว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าปดุง วันหนึ่งมีเหยี่ยวมาคาบเอาผ้าถุงที่พาดไว้ของแหม่นุไปในขณะที่นางกำลังอาบน้ำอยู่ ตอนนั้นแหม่นุยังมีอายุได้ 11 ปี แล้วเจ้านกเหยี่ยวก็เอาผ้านุ่งของแหม่นุไปทิ้งไว้ที่ปีกซ้ายของส่วนหลังของพระราชวัง
พระเจ้าปดุงจึงสืบเสาะค้นหาว่าเจ้าของผ้านุ่งผืนนี้เป็นของใคร เมื่อพบจึงมีการนำแหม่นุมาเข้าเฝ้าพระองค์ เมื่อบรรดาข้าราชบริพารในราชสำนักพากันตรวจสอบนางอย่างถี่ถ้วนแล้ว พระเจ้าปดุงจึงแต่งตั้งให้นางเป็นนางกำนัลในพระราชวัง
สรุปตำนานนี้ว่า ผ้าถุงนำโชคพาให้ได้ดีจนกลายเป็นราชินีของพม่า
ภาพพระราชวังอมรปุระเมื่อปี 1795 (Image: Wikipedia)
• ข้อเท็จจริง
แหม่นุ เกิดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ปี 1783 ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง (ปัจจุบันอยู่ในเขตสักกายของพม่า) บ้างก็ว่านางเป็นลูกพ่อค้าแม่ค้า แต่บ้างก็ว่านางเป็นลูกนายทหาร แหม่นุมีพี่ชายคนหนึ่งชื่อหม่องอู ซึ่งต่อไปจะกลายเป็นคนสำคัญที่มีส่วนต่อการเปลี่ยนแปลงในราชสำนักพม่า
เจ้าชายสักกายซึ่งเป็นหลานชายของพระเจ้าปดุง ถูกวางตัวให้เป็นว่าที่กษัตริย์แห่งพม่าองค์ต่อไปเมื่อวันที่ 6 เมษายน ปี 1809 และมีชายาคู่กายอยู่แล้ว คือชินพิวเม ซึ่งก็เป็นหลานของพระเจ้าปดุงเช่นเดียวกัน แต่ในปลายปี 1812 ชินพิวเมให้กำเนิดโอรสคือเจ้าชายญองยาน แต่พระนางก็สิ้นพระชนม์หลังคลอดได้เพียง 7 วัน
ต่อมาในปี 1813 แหม่นุได้เป็นชายาของเจ้าชายสักกายที่มีอายุห่างกันร่วมสามสิบกว่าปี พอได้เป็นชายาของว่าที่กษัตริย์องค์ต่อไป แหม่นุได้รับการอวยยศด้วยการได้รับพระราชทานที่ดินจำนวน 9 หมู่บ้าน ซึ่งในจำนวนนี้มี 5 หมู่บ้านที่ทำนาเกลือ ซึ่งจะทำให้แหม่นุมีรายได้งาม ได้รับม้า 30 ตัว ได้ที่ดินอีก 3,000 ไป และได้รับเงินภาษีจากสินค้า 4 ชนิด
1
พอเจ้าชายได้ขึ้นครองบัลลังก์เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ปี 1819 ก็กลายเป็นพระเจ้าบ๊ะจีด่อ พระองค์ย้ายเมืองหลวงจากอมรปุระไปอังวะ ส่วนแหม่นุก็กลายเป็นมเหสีเอกไป และความโปรดปรานในมเหสีแหม่นุก็ทำให้หม่องอูพี่ชายของนางได้รับอานิสงค์ไปด้วย เพราะพระเจ้าบ๊ะจีด่อก็พระราชทานยศฐาบรรดาศักดิ์ให้แก่หม่องอู
แหม่นุมีพระโอรสและพระธิดาให้แก่พระเจ้าบ๊ะจีด่อ 3 องค์ องค์แรกเป็นเจ้าหญิงแต่สิ้นพระชนม์ตั้งแต่วัยเยาว์ องค์ที่สองเป็นเจ้าชายแต่สิ้นพระชนม์ด้วยโรคอีสุกอีใสเมื่อตอน 10 ชันษา เหลือเพียงพระธิดาองค์สุดท้าย คือเจ้าหญิงศุภยากะเล ซึ่งต่อมาคือพระนางซินผิ่วมะฉิ่นมเหสีของพระเจ้ามินโดง
วิหารที่พระราชินีแหม่นุสั่งให้สร้างขึ้นเมื่อปี 1818 เพื่อให้เป็นอารามแก่ท่านพระครูของพระนาง (Image: Wikipedia)
• เกมแห่งอำนาจ
บุรุษมักพ่ายแพ้แก่สตรี ประโยคนี้มิใช่การกล่าวเกินจริงไปเลย เพราะพระเจ้าบ๊ะจีด่อโปรดปรานพระราชินีแหม่นุมาก พระนางจึงกลายเป็นบุคคลที่ทรงอำนาจและอิทธิพลมากที่สุดในราชสำนักพม่า รวมถึงหม่องอูพี่ชายของพระนางด้วยเช่นเดียวกัน
ในเวลานั้นจักรวรรดิอังกฤษได้ก้าวคืบคลานมาสู่ราชอาณาจักรพม่าแล้ว พระราชินีแหม่นุมีแนวคิดให้ทำสงครามกับอังกฤษ แต่การตัดสินใจที่ผิดพลาดและการได้รับคำแนะนำที่ด้อยก็นำมาซึ่งหายนะ
ในปี 1824 สงครามพม่า-อังกฤษ ก็ระเบิดขึ้นเป็นครั้งแรก และผลจบลงด้วยความปราชัยให้แก่อังกฤษเมื่อปี 1826 พม่าเสียดินแดนทางด้านตะวันตกคือยะไข่กับตะนาวศรีให้แก่อังกฤษ และต้องเสียเงินค่าชดเชยสงครามเป็นจำนวนมหาศาลคือ 1 ล้านปอนด์ โดยที่พม่าไม่มีโอกาสได้เจรจาความใด ๆ ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ส่งผลทำให้อาณาจักรพม่าเปรียบเสมือนกับคนทุพพลภาพ พระเจ้าบ๊ะจีด่อทรงเสียพระทัยมาก และหวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่าอังกฤษจะคืนดินแดนให้แก่พระองค์ พระองค์เริ่มมีพฤติกรรมปลีกตัวไม่พบปะผู้ใดมากขึ้น อีกทั้งยังมีพระอารมณ์แปรปรวนมากขึ้นเรื่อย ๆ
1
ดังนั้นผู้ที่มีอำนาจในการปกครองอาณาจักรพม่าที่แท้จริงคือพระราชินีแหม่นุ โดยพระนางบริหารประเทศร่วมกับหม่องอูพี่ชายของพระนาง ผู้คนต่างกลัวเกรงสองพี่น้องนี้มาก เพราะทั้งคู่ปกครองโดยวิธีกดขี่ข่มเหงอย่างโหดเหี้ยมทารุณ คนจึงล่ำลือไปว่าหม่องอูเป็นชู้รักกับพระราชินีแหม่นุน้องสาวของตัวเอง
แน่นอนว่าพฤติกรรมของสองพี่น้องนี้ย่อมไม่เป็นที่พอใจแก่สมาชิกราชวงศ์คนอื่น ๆ เพราะย่อมเห็นว่าทั้งคู่ไม่มีสิทธิ์ปกครองประเทศเพราะไม่ใช่ชาติเชื้อเนื้อกษัตริย์ เจ้าชายตาหย่าวะดีพระอนุชาของพระเจ้าบ๊ะจีด่อจึงก่อจลาจลขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1837
พระราชินีแหม่นุคิดอุบายที่จะสังหารเจ้าชายตาหย่าวะดี จากนั้นก็จะชูหม่องอูพี่ชายของตัวเองให้เป็นกษัตริย์ แผนของพระนางนั้นจะสั่งให้คนไปจับตัวเจ้าชายตาหย่าวะดียัดใส่กระสอบ จากนั้นก็จะลอบแบกเข้าไปในอุโมงลับเพื่อนำเจ้าชายตาหย่าวะดีไปทิ้งฆ่าถ่วงน้ำที่แม่น้ำอิระวดี ซึ่งอุโมงค์ลับที่ว่านี้พระนางสั่งให้สร้างขึ้นใต้อารามศิลาบนฝั่งแม่น้ำอิระวดีหลายปีก่อนหน้านี้แล้ว อารามแห่งนี้พระนางบริจาคทรัพย์ให้สร้างขึ้นมาและยังสั่งให้สร้างอุโมงค์ลับจากอารามไปยังแม่น้ำอิระวดีอีกด้วย
1
แต่เจ้าชายตาหย่าวะดีดวงไม่ถึงฆาตและมีวาสนาจะได้เป็นกษัตริย์พม่าองค์ต่อไป พระองค์จึงระแคะระคายล่วงรู้ถึงแผนการนี้ พระองค์จึงชิงลงมือก่อน ด้วยวิธีเกลือจิ้มเกลือ พระองค์สั่งการให้คนไปจับตัวพระราชินีแหม่นุแล้วนำไปประหารตามแบบที่พระนางคิดจะทำต่อพระองค์
1
มีเรื่องเล่าว่าในระหว่างที่นำตัวพระราชินีแหม่นุจากอารามศิลาลงไปตามอุโมงค์ลับเพื่อนำไปฆ่าถ่วงน้ำที่แม่น้ำอิระวดีนั้น พระนางร้องขอความช่วยเหลือจากพระในอารามนั้น เจ้าอาวาสผู้ชราภาพกล่าวคำปลอบประโลมกับพระนางว่า “พระนางเสด็จล่วงหน้าไปก่อน วันหนึ่งเราทั้งหมดจะตามพระนางไป” สิ่งที่เจ้าอาวาสบอกคือเราต่างหนีความตายไปไม่พ้น พระราชินีแหม่นุแม้จะไม่สามารถหนีความตายจากการถูกจับฆ่าถ่วงน้ำไปได้ แต่ถึงอย่างไรคนอื่นทุกผู้ตัวคนก็ต้องตายตามพระนางไปอยู่ดี
เจ้าชายตาหย่าวะดีจัดการสังหารหม่องอูพี่ชายของพระราชินีแหม่นุด้วย ส่วนพระเจ้าบ๊ะจีด่อพระเชษฐาถูกพระองค์บังคับให้สละราชสมบัติให้แก่เจ้าชายตาหย่าวะดีเพื่อขึ้นครองราชย์แทนในเดือนเมษายน ปี 1837 พระองค์นำอดีตกษัตริย์ผู้เป็นพระเชษฐาไปกักขังไว้ พระเจ้าบ๊ะจีด่อสิ้นพระชนม์ในอีกหลายปีต่อมา เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ปี 1846 ด้วยวัย 62 ชันษา
เจ้าชายตาหย่าวะดีขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 15 เมษายน ปี 1837 คนไทยมักรู้จักพระนามของพระองค์ในอีกชื่อว่าพระเจ้าแสรกแมง
สุสานของพระเจ้าบ๊ะจีด่อที่เมืองอมรปุระ (Image: Wikipedia)
• มรดกแห่งความผิดพลาด
ในตอนที่เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายในราชสำนักและพระนางแหม่นุถูกจับไปประหารด้วยการถ่วงน้ำ เจ้าหญิงซินผิ่วมะฉิ่นอยู่ในวัย 19 ชันษา ซึ่งโตพอที่จะได้เห็นและเรียนรู้เกมแห่งการแย่งชิงอำนาจในราชสำนักพม่า พระนางซึบซับมาแต่เยาว์วัย ซึ่งพอได้เป็นมเหสีของพระเจ้ามินโดงพระนางก็สามารถแสวงหาอำนาจถึงแม้ว่าจะไม่ใช่มเหสีเอกผ่านการวางแผนอย่างแยบคายด้วยเล่ห์เพทุบายต่าง ๆ และได้ถ่ายทอดลักษณะเช่นนี้ส่งต่อไปให้แก่พระธิดาคือเจ้าหญิงศุภยาลัต
ในสายตาของคนเขียนเห็นว่าพระนางซินผิ่วมะฉิ่นและพระราชินีศุภยาลัตเรียนรู้แต่เล่ห์เพทุบายและวิธีการในการให้ได้มาซึ่งอำนาจ ทั้งคู่หมกมุ่นอยู่แต่กับเกมแห่งอำนาจเฉพาะในราชสำนัก หากเรียนรู้ถึงความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นบ้าง โดยเฉพาะปัจจัยจากโลกภายนอกพระราชวัง สองแม่ลูกคู่นี้ก็คงจะไม่ประสบชะตากรรมตกบัลลังก์เช่นนี้
อ้างอิง:
1. ชาห์, สุดาห์. ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง. กรุงเทพฯ : มติชน, 2558.
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา