27 ต.ค. 2021 เวลา 09:03 • ประวัติศาสตร์
•วีรกรรมเจ้าชายผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน จนได้รับฉายาว่า “ผู้ถล่มสุสาน-Tomb Raider”
เคยเล่าวีรกรรมของกษัตริย์จอร์จที่ 4 ผู้ไม่เคยญาติดีกับมเหสีตัวเองในตอน “ผัวเมียละเหี่ยใจฯ” มาครั้งหนึ่งแล้ว (สามารถไปหาอ่านดูได้ สนุกมาก ขอโฆษณาเลยละกัน) มาคราวนี้จะเล่าวีรกรรมอีกเรื่อง คือการบุกสุสานหลวงในตอนที่พระองค์ยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าชายผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
การ์ตูนล้อเลียนชื่อว่า “Meditations amongst the Tombs” วาดโดย George Cruikshank เมื่อปี 1813 สะท้อนเรื่องราวคราวที่เจ้าชายผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเสด็จไปสุสานใต้ดินเพื่อสำรวจร่างของกษัตริย์เฮนรีที่ 8 และชาร์ลส์ที่ 1 (Image: Brighton Museum)
• เหตุเกิดที่สุสานหลวงในพระราชวังวินเซอร์
หลังจากที่เจ้าชายจอร์จได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าชายผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเพราะพระราชบิดากษัตริย์จอร์จที่ 3 แห่งอังกฤษประชวรด้วยอาการทางจิตเมื่อปี 1811 พระองค์ก็ทรงริเริ่มโครงการก่อสร้างอันรุ่มรวยตามพระนิสัยฟุ่มเฟือยรักความหรูหราฟู่ฟ่าของพระองค์หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือโครงการก่อสร้างสุสานใต้ดินข้างล่างโบสถ์เซนต์จอร์จ (St George’s Chapel) ในพระราชวังวินเซอร์
ในปี 1813 บังเอิ๊ญบังเอิญว่าในระหว่างที่ทำการขุดเจาะช่องทางเดินเพื่อไปยังสุสานใต้ดินนี้ คนงานได้ไปเปิดหลุมพระศพของกษัตริย์เฮนรีที่ 8 แห่งราชวงศ์ทิวเดอร์ และชาร์ลส์ที่ 1 แห่งราชวงศ์สจ๊วร์ตโดยไม่ตั้งใจเข้า ซึ่งอีกข้อมูลระบุว่าการขุดเจาะนี้เป็นไปเพื่อเตรียมฝังพระศพเจ้าหญิงออกัสตา (Augusta, Duchess of Brunswick) ซึ่งเป็นพี่สาวของกษัตริย์จอร์จที่ 3 และมีฐานะเป็นแม่ยายของเจ้าชายจอร์จผู้สำเร็จราชการแผ่นดินด้วย
ด้วยนิสัยอยากรู้อยากเห็น เจ้าชายจอร์จผู้สำเร็จราชการแผ่นดินจึงมีพระบัญชาให้นายแพทย์หลวงประจำราชสำนักคือเซอร์เฮนรี ฮาลฟอร์ด (Sir Henry Halford) มาสำรวจหลุมพระศพและทำการชันสูตรพระศพของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1
1
เหตุการณ์เปิดสุสานในครั้งนี้ไม่ใช่ความลับ มีข่าวรายงานเรื่องนี้ออกมาอย่างแพร่หลาย แม้กระทั่งเซอร์เฮนรี ฮาลฟอร์ดเองก็ยังนำบันทึกการเปิดโลงพระศพที่เขาจดไว้ออกมาตีพิมพ์ด้วย ซึ่งเขาได้อธิบายเหตุผลในการเปิดหลุมพระศพและทำการชันสูตรพระศพของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 เหตุเพราะเจ้าชายจอร์จทรงสนพระทัยในประวัติศาสตร์
1
เหตุที่เวลานั้นตำแหน่งที่ฝังพระศพของกษัตริย์ชาร์ลที่ 1 ไม่ได้ระบุไว้อย่างแน่ชัด หลักฐานที่มีในเวลานั้นบอกเพียงว่าร่างของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 ถูกฝังในสุสานข้างกันกับกษัตริย์เฮนรีที่ 8 เซอร์เฮนรี ฮาลฟอร์ด จึงอ้างว่าการชันสูตรพระศพครั้งนี้ว่าเป็นไปในเชิงวิชาการเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงถึงตำแหน่งแห่งที่ตั้งที่ฝังพระศพของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 อันถูกต้อง
ภาพวาดของเจ้าชายจอร์จผู้สำเร็จราชการแผ่นดินกับเซอร์เฮนรี ฮาลฟอร์ด (Image: Wikipedia)
• อธิบายภาพการ์ตูนล้อเลียน
บันทึกเซอร์เฮนรี ฮาลฟอร์ด นี้ ได้เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินผู้วาดการ์ตูนล้อเลียนอย่างจอร์จ ครุกแชงค์ วาดภาพเสียดสีนี้ขึ้นมา
ในการ์ตูนนั้น จะเห็นว่าเจ้าชายจอร์จผู้ตัวบวมฉึ่งเพราะความอ้วนมองพระศพของกษัตริย์เฮนรีที่ 8 อย่างชื่นชม เพราะกษัตริย์ผู้ยิ่งยงผู้นี้นำพาอังกฤษออกจากอำนาจของพระสันตะปาปาที่กรุงโรมและก่อตั้งนิกาย Church of England ซึ่งเป็นการแผ้วถางทางโดยที่พระองค์มิได้รู้ล่วงหน้าว่าจะทำให้คนจากราชตระกูลฮันโนเวอร์ของเยอรมันที่เป็นโปรเตสแตนท์ได้ยาตรามาครองบัลลังก์อังกฤษ
ในคำบรรยายภาพการ์ตูนนี้เสียดสีเจ้าชายจอร์จที่ทำได้แต่เพียงทอดถอนใจชื่นชมกษัตริย์เฮนรีที่ 8 ที่สามารถกำจัดมเหสีของพระองค์ได้มากมายหลายองค์ ในขณะที่ตัวพระองค์คือเจ้าชายจอร์จผู้น่าสงสารไม่สามารถแม้แต่จะกำจัดมเหสีเพียงองค์เดียวได้เลย ซึ่งมเหสีองค์นั้นคือแคโรไลน์แห่งบรันส์วิกผู้สู้รบปรบมือกันไม่เคยหยุดหย่อน (อยู่ในตอน ผัวเมียละเหี่ยใจฯ)
เจ้าชายจอร์จทรงมีพระบัญชาให้เซอร์เฮนรี ฮาลฟอร์ดตัดเคราจากพระศพของกษัตริย์เฮนรีที่ 8 มาให้แก่พระองค์ด้วย โดยการ์ตูนต้องการเสียดสีการที่เจ้าชายจอร์จทรงพยายามอยากจะมีพระราชอำนาจอย่างกษัตริย์เฮนรีที่ 8 บ้าง
ในการ์ตูนนี้ยังมีนัยยะทางการเมืองที่ต้องการสื่อหลายทางด้วย ยกตัวอย่างหนึ่งนั่นก็คือพระศพของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 ที่ยกพระเศียรที่ถูกบั่นของพระองค์ขึ้นมาเพื่อเตือนเจ้าชายจอร์จ เพราะพระองค์เป็นกษัตริย์อังกฤษผู้เผชิญการปฏิวัติจากสงครามกลางเมืองและถูกบั่นพระศอเมื่อปี 1649 ซึ่งตัวเจ้าชายจอร์จเองก็ไม่เป็นที่นิยม และถูกคุมคามจากพวกที่นิยมสาธารณรัฐ
ภาพร่างสุสานใต้ดินที่มีโลงพระศพของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 ที่อยู่ด้านริมสุดสีดำวาดโดย Alfred Young Nutt เมื่อปี 1888 (Image: Wikipedia)
• เกิดอะไรขึ้นในสุสานหลวง
ในวันที่ 1 เมษายน ปี 1813 มีเรื่องชวนขันเกิดขึ้นในสุสานหลวงด้านล่างโบสถ์เซนต์จอร์จจนต้องนำมาเล่าสู่กันอ่าน ซึ่งในวันนั้นเจ้าชายจอร์จทรงประทับอยู่ในสุสานใต้ดินด้วยพร้อมกับคนอื่น ๆ เพื่อเป็นสักขีพยานการเปิดโลงของเซอร์เฮนรี ฮาลฟอร์ด
เมื่อเปิดโลงพระศพของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 เซอร์เฮนรี ฮาลฟอร์ดเปรียบเทียบร่างที่เน่าเปื่อยกับภาพวาดของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 ซึ่งร่างนั้นสีผิวเปลี่ยนแล้ว จมูกก็หาย ไปแล้ว และเหลือเพียงลูกตากับหูเพียงข้างเดียว ทุกคนในที่นั้นต่างเห็นพ้องต้องกันว่าร่างนี้เป็นของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 เพราะใบหน้าของร่างนั้นเหมือนกับภาพวาดที่คุ้นเคยกันดี
นอกจากนี้ยังมีการไปตรวจสอบโลงของกษัตริย์เฮนรีที่ 8 ด้วย ซึ่งพระศพของพระองค์เหลือแต่กระดูก และพบว่ามีเคราติดอยู่กับส่วนคางด้วย แต่ในบันทึกของเซอร์เฮนรี ฮาลฟอร์ดไม่ได้ระบุว่าเขาตัดเคราจากพระศพของกษัตริย์เฮนรีที่ 8 ไปถวายเจ้าชายจอร์จดังที่การ์ตูนล้อเลียนนั้นวาดเสียดสีไว้
เจ้าชายจอร์จทรงอนุญาตให้เซอร์เฮนรี ฮาลฟอร์ด วาดพระพักตร์หรือใบหน้าพระศพของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 ได้ แต่มีเรื่องเล่าว่าด้วยความที่พอเปิดโลงจึงทำให้ความดันในโลงเปลี่ยนไป พระเนตรหรือลูกตาของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 จึงระเบิดใส่ทั่วตัวของเจ้าชายจอร์จ
เท่านั้นยังไม่พอ ตัวเจ้าชายจอร์จยังทรงอนุญาตให้เซอร์เฮนรี ฮาลฟอร์ด นำของที่ระลึกจากหลุมฝังพระศพติดมือไปด้วย สิ่งนั้นคือ กระดูกสันหลังส่วนต้นคอของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 ที่ถูกมือประหารตัดในคราวประหารชีวิตพระองค์ในปี 1649 และของชิ้นนี้ได้กลายเป็นมรดกตกทอดสืบต่อกันมายังลูกหลานของเซอร์เฮนรี ฮาลฟอร์ด
แต่ข้อมูลอื่นบอกว่าเซอร์เฮนรี ฮาลฟอร์ด “แอบขโมย” ชิ้นส่วนนี้ออกมาจากหลุมฝังพระศพเอง แถมเขายังนำเอากระดูกนี้มาส่งต่อให้กันดูบนโต๊ะอาหารหลังรับประทานมื้อเย็นกันแล้วอีกด้วย ซึ่งชิ้นส่วนที่นำออกมาจากพระศพนั้นไม่ได้มีแค่กระดูกสันหลังส่วนที่ 4 ที่ปรากฏรอยฟันของขวานที่ใช้บั่นพระศอเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีฟันและเคราจากพระศพของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 มาอีกด้วย ซึ่งในบันทึกของนายแพทย์ผู้นี้อ้างว่าเจ้าชายจอร์จทรงมอบชิ้นส่วนทั้ง 3 ชิ้นนี้ให้แก่เขาด้วยพระองค์เอง
1
ภาพร่างส่วนพระเศียรของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 วาดโดยเซอร์เฮนรี ฮาลฟอร์ด (Image: National Portrait Gallery, London)
• ชิ้นส่วนของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1
ในเวลาต่อมามีข้อมูลปรากฏว่า ส่วนที่เป็นผมของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 นั้นเซอร์เฮนรี ฮาลฟอร์ดได้มอบของชิ้นนี้ให้แก่ฮันส์ บัสก์ (Hans Busk) ลูกชายคนโตของตระกูลเจ้าของที่ดินในเวลส์ และลูกหลานของเขาได้นำของชิ้นนี้ออกมาขาย โดยในปี 1995 ส่วนที่เป็นผมของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 ถูกขายให้แก่นักสะสมชาวอเมริกันด้วยราคา 3,910 ปอนด์
เจ้าชายจอร์จผู้สำเร็จราชการแผ่นดินทรงครอบครองส่วนที่เป็นผมกระจุกหนึ่งของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 ด้วยเช่นกัน แสดงว่าฉายา “ผู้ถล่มสุสาน” ที่ได้มาของเจ้าชายจอร์จก็เป็นการสมควรแล้ว ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานล็อกเก็ตที่เก็บปอยผมของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 ให้แก่เจ้าหญิงชาร์ล็อตต์พระธิดาของพระองค์ที่ประสูติจากเจ้าหญิงแคโรไลน์แห่งบรันส์วิก
ส่วนกระดูกต้นคอนี้มีข้อมูลว่า ในปี 1888 หลานชายของเซอร์เฮนรี ฮาลฟอร์ด ได้มอบให้แก่เจ้าชายรัชทายาทซึ่งต่อไปจะดำรงตำแหน่งเป็นกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 7 ซึ่งทรงรับมาอย่างลังเล และมีพระดำริเห็นควรว่าจะต้องนำชิ้นส่วนนี้กลับไปเก็บไว้ที่เดิม
พอสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงสดับรับทราบเรื่องนี้เข้าพระองค์ทรงกริ้วมาก จึงมีพระบัญชาให้นำกระดูกชิ้นนี้กลับไปเก็บไว้ที่เดิม โดยเมื่อปี 1888 มีการนำกระดูกชิ้นนี้เก็บไว้ในกล่องแยกต่างหากแล้วถูกนำลงไปหย่อนเพื่อฝังไว้ในตำแหน่งบนโลงพระศพของกษัตริย์ชาร์ลที่ 1
ในฝากล่องนั้นสลักตัวอักษรไว้ว่า… “กระดูกในกล่องนี้ถูกนำมาจากโลงพระศพของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 เมื่อวันที่ 1 เมษายน ปี 1813 โดยเซอร์เฮนรี ฮาลฟอร์ด นายแพทย์ประจำพระองค์ของกษัตริย์จอร์จที่ 3 แล้วหลานชายของเขาคือเซอร์ เฮนรี เซนต์จอห์น ฮาลฟอร์ด ได้นำมาถวายแก่อัลเบิร์ต เอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ ซึ่งในวันที่ 13 เดือนธันวาคม ปี 1888 กระดูกเหล่านี้ถูกนำกลับมาฝังไว้ ณ ตำแหน่งเดิมโดยเจ้าชายแห่งเวลส์”
ล็อกเก็ตที่บรรจุปอยผมของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 (Image: The Royal Collection Trust)
อ้างอิง:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา