28 ก.ย. 2021 เวลา 14:56 • ความคิดเห็น
จากดราม่า #อินฟลูก็อปบ้าน สะท้อนสู่โลกของ Influencer ที่ควรสังคายนาครั้งใหญ่
‘ยูทูปเบอร์ (YouTuber)’และ ‘อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer)’ คืออาชีพอุบัติใหม่แห่งทศวรรษนี้ อาชีพเหล่านี้หมายถึงเหล่าผู้คนบนโลกออนไลน์ที่สามารถสร้าง ‘เนื้อหา’ หรือ ‘คอนเทนต์’ ที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัวขึ้นจนได้ยอดผู้ติดตามจำนวนมากบนแพลตฟอร์มออนไลน์ หากใครเน้นทำวิดีโอบน YouTube เราก็จะเรียกพวกเขาอย่างเจาะจงว่า ‘ยูทูปเบอร์’ หรือถ้าหากเป็นคนที่ทำคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น Facebook Instagram หรือ TikTok เราก็จะเรียกพวกเขาแบบรวมๆ ว่า ‘อินฟลูเอนเซอร์’
ในบทความนี้เอาเป็นว่าเราขอเรียกทุกคนรวมว่าอินฟลูเอนเซอร์เนื่องจากยูทูปเบอร์ก็ถือเป็นซับเซ็ทอินฟลูเอนเซอร์อยู่แล้ว
เริ่มทำความเข้าใจคำว่า ‘Influencer’ กันก่อน คำนี้เป็นการเติม suffix ‘-er’ ที่แปลว่า ‘ผู้ที่กระทำ’ ให้กับคำว่า ‘Influence’ ซึ่งแปลเป็นคำนามได้ว่า ‘อิทธิพล’ และมีรูปกริยาเป็นคำเดียวกันแปลว่า ‘สร้างอิทธิพลต่อ….’ เมื่อใส่ suffix ‘-er’ ลงไป Influencer จึงหมายความว่า ‘ผู้สร้างอิทธิพล’ หรือ ทำให้เกิดอิทธิพลต่อคนอื่นๆ หรือผู้ติดตามนั่นเอง
นี่แหล่ะค่ะ หัวใจสำคัญของการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ผู้มีหน้าที่สร้างอิทธิพลให้คนอื่นกระทำ เชื่อ หรือในโลกการตลาดปัจจุบันก็คือ ซื้อสินค้าใดๆ ตาม และนี่ก็เป็นที่มาของรายได้หลัก ที่เหล่าผู้ประกอบการต่างๆ หรือที่เราเรียกว่าสปอนเซอร์มาจ้างอินฟลูเอนเซอร์ให้รีวิวสินค้าของตนเพื่อสร้างอิทธิพลต่อยอดขายให้ผู้ติดตามของเขามาซื้อตามนั่นเอง
เกริ่นมาซะยาวเลยทีเดียว เราขอให้ผู้อ่านจำไว้ก่อนนะคะว่ารายได้หลักของอินฟลูเอนเซอร์มาจากอะไร ต่อมาคุณสมบัติของการเป็นอินฟลูเอนเซอร์นั้น เหมือนกับอาชีพอื่นๆ ใช่มั้ยล่ะคะ เราต้องมีความสามารถเฉพาะตัวที่ทำให้เราเป็นอินฟลูเอนเซอร์ได้ หากมองรวมๆ ผู้เขียนคิดว่าการที่คนๆ หนึ่งจะเป็นที่น่าติดตามได้ต้องมีจุดเด่นค่ะ ตามความจริงอันโหดร้ายของโลกใบนี้ก็อาจจะเป็น มีหน้าตาสะสวย หรือข้ออื่นๆ เช่น มีความสามารถในการพูดโน้มน้าว ถ่ายรูปสวย บลาบลาบลา
แต่ช้าก่อน ทั้งหมดนี้เป็นเพียงปัจจัยประกอบ เลขผู้ติดตามจะหายไปถ้าคุณไม่มีหัวใจสำคัญ คือ ความคิดสร้างสรรค์
หน้าสวย รูปสวย แต่ถ้าอยากจะหารายได้จากการทำคอนเทนต์จริงๆ ก็ต้องขุดความเป็นตัวเองออกมาได้อย่างสร้างสรรค์ หรือถ้าจะขายของยิ่งแล้วใหญ่ ยุคนี้ใครๆ ก็คงไม่ชอบการขายแบบ Hard sale เน้นขายโต้งๆ ใช่ไหมคะ นั่นแหละค่ะ อินฟลูเอนเซอร์อยู่ได้ด้วยความคิดสร้างสรรค์
เข้าเรื่องกันค่ะ ทำไมเราถึงบอกว่าควรถูกสังคายนา? คำตอบดูได้จากดราม่านี้ค่ะ เรื่องย่อของดราม่าคือ อินฟลู A สร้างบ้านและออกแบบบ้านออกมาได้อย่างสวยงามด้วยน้ำพักน้ำแรง เลือกสี เลือกมู้ดแอนโทน เฟอร์นิเจอร์ หรือแม้แต่กระถางต้นไม้เล็กๆ เอง บ้านหลังนั้นสวยจนเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ อินฟลูท่านนี้ใจดี ลงรายละเอียดแหล่งซื้อของทุกอย่างรวมถึงชื่ออินทีเรีย เพื่อให้ผู้ติดตามเอาไปทำเพื่ออยู่อาศัยตามได้ เน้นนะคะว่าเพื่ออยู่อาศัย
ดราม่าเกิดขึ้นเมื่ออินฟลู B เกิดถูกใจ อยากทำตาม และอยากทำตามแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ อินทีเรียก็จัดให้ แถมไม่คิดค่าออกแบบ เรื่องแดงขึ้นเมื่อ B ตัดสินใจทำคลิป Home Tour พร้อมรับสปอนเซอร์รัวๆ หาเงินจากบ้านหลังนั้นได้หลายสตางค์
เครดิตภาพ: คุณ Nubnubbb https://www.facebook.com/100058035550603/posts/277342254210291/?d=n
คำถามคือเรื่องนี้ใครผิด?
ถ้าว่ากันตามแง่กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอาจคลุมเครือ ด้วยการที่อินฟลู A อนุญาต และอินฟลู B ก็มีการให้เครดิตสั้นๆ ภายในคลิปวิดีโอ
แต่ถ้าหากว่ากันตามคุณสมบัติของการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่เรากล่าวมาข้างต้น อินฟลู B สอบตกเต็มเปาค่ะ ความคิดสร้างสรรค์และความเป็นตัวของตัวเองคือจุดขายของการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ การก็อปบ้านคนอื่นทั้งดุ้นมาใช้ขายของให้สปอนเซอร์ที่เขาจ้างคุณเพราะชอบในความเป็นตัวคุณนั้น นอกจากจะผิดคุณสมบัติของอินฟลูเอนเซอร์แล้ว ยังเป็นการดูหมิ่นผู้ว่าจ้างและวิชาชีพของตนเองอย่างแรง
แถมในครั้งนี้ยังเป็นการละเมิดเอา ‘ไอเดีย’ คนอื่นมาใช้กันแบบโต้งๆ นอกจากจะไม่มีคุณสมบัติอันสมควรเป็นอินฟลูเอนเซอร์แล้ว ยังละเมิดและขโมยทรัพย์สินทางปัญญาที่มีค่ายิ่งกว่าทองในสายอาชีพนี้จากเพื่อนร่วมวิชาชีพอีกด้วย
บางคนอาจเถียงว่า ‘ก็ให้เครดิตแล้ว จะทำไมอีก’ ใช่ค่ะ ผู้เขียนจึงละเว้นเรื่องทางกฎหมายไป แต่ไม่ว่ามองอย่างไร การหารายได้เข้าตัวด้วยไอเดียของผู้อื่นก็ผิดจรรยาบรรณอย่างหนัก และช่องโหว่ของเครดิตสั้นๆ ท้ายคลิปคือผู้ชมที่ดูไม่จบหรือข้ามไปก็เข้าใจผิดอย่างเต็มเปาว่าคุณคนนั้นคิดเอง ออกแบบบ้านมาเอง
หรือบางคนอาจเถียงต่อว่า ‘คอนเทนต์เดี๋ยวนี้ก็ก๊อปกันมา’ ใช่ค่ะ เราสามารถทำคอนเทนต์ตามกระแสในหัวข้อเดียวกันได้ แต่เนื้อหาควรมีความเป็นตัวของตัวเอง อย่างกรณีนี้ ถ้าหากอินฟลู B จั่วหัวว่าเป็น Inspiration นำบ้านต้นแบบมาปรับแต่ง ใส่ความเป็นตัวเองลงไป เท่านี้ก็หมดปัญหาไปแล้วค่ะ เพียงแค่คุณหลงเหลือความเป็นตัวเองสักหน่อย
ในโลกที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว กระแสโซเชียลที่เปลี่ยนข้ามวินาที การระดมสมองเค้นไอเดียอาจเป็นเรื่องเสียเวลาเกินไปสำหรับบางคน กลิ่นของเงินที่คว้าได้มันหอมและเย้ายวนจนทำได้ทุกวิถีทางแม้กระทั่งเหยียบหัวเพื่อนร่วมอาชีพ
เราจะปล่อยให้วงการอินฟลูเอนเซอร์เคลื่อนที่ด้วยการ copy & paste ตามสไตล์ใครไวใครได้ เน้นไวไม่เน้นคุณภาพ (แบบที่เกิดกับวงการข่าว) จริงหรือคะ? ในโลกยุคนี้อินฟลูมีอิทธิพลยิ่งใหญ่มากกว่าโฆษณาตามโทรทัศน์นาทีละแสนเสียอีก เราจะปล่อยให้วงการที่มีมูลค่าสูง และมีแววจะพัฒนาก้าวหน้าไปได้ไกลมากขึ้นเรื่อยๆ หากขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์ต้องเสื่อมความน่าเชื่อถือเพียงเพราะบอกว่า ‘ใครๆ ก็ก๊อปกัน’ หรือ?
วันนี้อินฟลูท่านนั้นล้มหน้าคว่ำเพราะยังคงมีคนจำนวนมากที่เชื่ออยู่ว่าความคิดสร้างสรรค์และการเป็นเจ้าของไอเดียเองคือหัวใจสำคัญ และเป็นสิ่งที่ต้องคำนึง ความเชื่อมั่นของผู้ชมยังแข็งแกร่ง
แต่เราอยากขอเตือนผู้ผลิตทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นอินฟลู สื่อ หรือยูทูปเบอร์ ไม่ว่าจะอาชีพใดๆ ที่ขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์และไอเดีย ทุกท่านควรยึดบทเรียนจากเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นสำคัญ เพื่อสังคายนาวงการที่ถูกการ copy & paste ค่อยๆ กัดกิน หยุดให้เงินอยู่เหนือจรรยาบรรณ และหยุดป้อนอาหารให้เชื้อโรคเหล่านั้นด้วยคำพูดที่ว่า ‘ใครๆ ก็ก๊อปกัน’ ทำคอนเทนต์ด้วยการเน้น ‘คุณภาพ’ และ ‘คุณค่า’ เป็นหัวใจสำคัญกันนะคะ
โฆษณา