13 ต.ค. 2021 เวลา 12:27 • สุขภาพ
“การตัดขาดตนเองจากโลก”
โลกมิได้ตัดขาดจากคน แต่เป็นคนที่ตัดขาดตนเองจากโลก
ประโยคในภาพประกอบบทความนี้
ผมได้มาจากนิยายกำลังภายใน “มีดบินกรีดฟ้า”
ซึ่งผู้เขียนคือ โก้วเล้ง
และแปลโดย น.นพรัตน์
“การตัดขาดตนเองจากโลก”
เป็นปรากฏการณ์ที่
คล้ายกับมีกำแพงที่มองไม่เห็น
มากั้นขวางระหว่างตัวเรา กับ โลกภายนอก
ซึ่งกำแพงดังกล่าว
ไม่จำเป็นต้องใช้อิฐ หิน ดิน ทราย หรือ ปูน ในการสร้าง
แต่กำแพงนี้ กลับใช้หัวใจมนุษย์ในการสร้าง
มันคือ “กำแพงในใจ”
กำแพงในใจนั้น
มักทำให้เรารับรู้ถึง...
-ความโดดเดี่ยว (รู้สึกเหมือนถูกทิ้งไว้เพียงลำพัง ถึงแม้จะอยู่ท่ามกลางผู้คน)
-ความไร้อิสรภาพ (รู้สึกเหมือนถูกขัง ถึงแม้ไม่โดนใครจับยัดใส่กรง)
-ความไม่ปลอดภัย (รู้สึกถูกคุกคาม ถึงแม้ไม่มีสิ่งใดมาทำอันตราย)
-ความเดือดดาล (รู้สึกเหมือนมีเพลิงแค้นอยู่ภายใน ถึงแม้สิ่งรอบตัวจะสงบ)
-ความไร้ชีวิตชีวา (รู้สึกด้านชา/ห่อเหี่ยว ถึงแม้จะมีสิ่งสวยงามอยู่รอบกาย)
กำแพงที่มีอานุภาพต่อชีวิตจิตใจของมนุษย์เช่นนี้
มิใช่อยู่ ๆ มันจะผุดขึ้นมาเอง
แต่มันมักเกิดขึ้นจาก
“ความจงใจ”
ซึ่งเป็นเจตนาของมนุษย์
ที่ปรารถนาให้ตนเองไม่ต้องรับรู้ความทุกข์ใจใด ๆ อีกต่อไป
ต้นตอของความทุกข์ในใจจึงเริ่มขึ้นตรงนี้
เนื่องจากจิตใจของเรานั้น
มีธรรมชาติของการรับรู้
(รับรู้ทุกสิ่งจากประสาทสัมผัส และ ทุกประสบการณ์ในใจ)
คล้ายกับเรามีประตูในการรับรู้บานหนึ่ง
“เปิดไว้เพื่อรับรู้สิ่งต่าง ๆ”
แล้วอยู่มาวันหนึ่ง
ได้เกิดเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่ตรงตามความคาดหวัง
ใครคนนั้นจึงเลือกที่จะปิดประตูบานนั้นลง (เนื่องจากผิดหวังอย่างมาก)
พร้อมกับก่อกำแพงสูงใหญ่ขวางกั้นประตูบานนั้นไว้
เพียงเพื่อจะได้ไม่ต้องรับรู้...
-สิ่งที่ไม่ชอบ/ไม่พอใจ
-สิ่งที่ไม่คุ้นเคย/แปลกใหม่
-สิ่งที่ควบคุมไม่ได้/เกินคาดเดา/อุบัติเหตุ
-สิ่งที่คุกคาม/อันตราย
-สิ่งที่ไม่อยากได้/ไม่อยากเจอ
ปิดประตูใจ & สร้างกำแพงในใจ
“เพื่อหนีความทุกข์ใจ”
แต่มีสิ่งหนึ่งที่มนุษย์เราหลงลืมไป
นั่นคือ
“ความสุขใจนั้น
ย่อมต้องผ่านประตูบานนี้ด้วยเช่นกัน”
แล้วเมื่อประตูบานนั้น
ซึ่งมีหน้าที่ในการรับรู้ทุกสิ่งถูกปิดลง
แถมยังถูกกำแพงขวางกั้นไว้อีก
(ปิดประตูใจแล้วลืมเปิด-ปิดประตูใจแล้วไม่คิดจะกลับไปเปิดอีก-
ก่อกำแพงในใจแล้วลืมเอาออก-ก่อกำแพงในใจแล้วตั้งใจไม่เอาออก)
นี่จึงเท่ากับว่า
“การปิดประตูใจ และก่อกำแพงในใจเพื่อหนีความทุกข์ใจ
กลับทำให้สูญเสียการรับรู้ความสุขใจไปด้วย”
ชีวิตที่ปิดกั้นการรับรู้ประสบการณ์เช่นนี้
จึงคล้ายกับการฉีดยาชาให้กับหัวใจตนเอง
“ไม่ทุกข์ใจ และ ไม่สุขใจ”
“กำแพงมิได้อยู่ภายนอก แต่กำแพงอยู่ภายในหัวใจของมนุษย์”
มันทำให้เราขังตัวเองไว้ในกำแพงแคบ ๆ
ที่ล้อมรอบตัวเราเอาไว้ทุกทิศทาง
ซึ่งจะทำให้เราสูญเสียประสบการณ์อันล้ำค่าไป เช่น
-ความผูกพันและเชื่อมโยงกับคนอื่น/สิ่งรอบตัว
-ความอิ่มเอมใจในการทำสิ่งต่าง ๆ
-ความไว้วางใจที่มีต่อโลกใบนี้/ต่อผู้อื่น/ต่อตนเอง
-ความอิสรเสรีเพื่อเลือกในสิ่งที่พอจะเลือกได้
-ความรัก/รอยยิ้ม/ความใกล้ชิด/การให้อภัย
-การอยู่กับปัจจุบัน/ความสงบ/ความสุขใจ/ความมั่นคงทางใจ
-การมองเห็นโอกาสที่จะมีชีวิต/ตัดสินใจใช้ชีวิต
-การเรียนรู้จากความสุขทุกข์ของชีวิต
ฯลฯ
“หากกำแพงในใจยิ่งหนา การตัดขาดตนเองจากโลกย่อมเพิ่มมากขึ้น”
ชีวิตจึงสอนบทเรียนให้กับมนุษย์ ว่า
“เรามิอาจหนีความจริงไปได้”
ไม่ว่าความจริงนั้นจะขัดใจเราแค่ไหน
หรือ ไม่ตรงตามใจเราเพียงใด
แต่ทั้งหมดนั้น
มันคือส่วนหนึ่งของชีวิตเรา
-เป็นเหมือนฤดูกาลที่เราจำต้องพบเจอ
-เป็นเหมือนเส้นทางที่เราจำต้องก้าวผ่าน
-เป็นเหมือนยอดเขาที่เราจำต้องปีนป่าย
“เพื่อให้เราเรียนรู้ การต้อนรับทุกความจริงของชีวิต”
เนื่องจากการหนี/การปิดกั้น/การละเลย/การไม่รับรู้
อาจทำให้เราไม่เจ็บปวดเพียงชั่วขณะหนึ่ง
แต่ถ้าเรายิ่งเผลอใช้กำแพงในใจมากเกินไป/นานเกินไป
ชีวิตจิตใจเราย่อมถูกความด้านชา/การตัดขาดครอบงำ
และอาจทำให้เราลืมเลือนวิถีทางในการอยู่กับความเป็นจริงไป
ดังนั้น
ชีวิตจึงมิใช่การหนีความจริง หรือ การขังตัวเองไว้ในกำแพง
แต่เป็นการอยู่กับความจริง/ต้อนรับความจริง
และดูแลจัดการความจริงนั้นให้ลงตัว (เท่าที่จะทำได้)
“เมื่อเราค่อย ๆ ออกจากโลกแห่งการหนีความจริง”
กำแพงในใจย่อมสลายลงทีละน้อย
แล้วเมื่อนั้นเราย่อมค้นพบความจริงว่า
ภายนอกกำแพงอันคับแคบ
ยังมีโลกอันกว้างใหญ่ไพศาล
ที่รอให้เราเข้าไปสัมผัส เรียนรู้
เก็บเกี่ยวประสบการณ์ และใช้ชีวิตอย่างเต็มที่
“หากท่านปิดประตูใจไปแล้ว อย่าลืมกลับมาเปิดประตูใจนั้นด้วย
หากท่านก่อกำแพงในใจไว้แล้ว อย่าลืมนำกำแพงในใจนั้นออกด้วย”
การใช้ชีวิตด้วยใจที่เปิดกว้าง
ย่อมเปิดโอกาสให้เราพบเจอความจริงที่กว้างขวาง
และสามารถทำให้เราเติบโตได้อย่างไม่จำกัด ^^

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา