18 ต.ค. 2021 เวลา 01:08 • การศึกษา
รู้เรื่องสัตว์ ๆ ตอนที่ 3: "ง. งู" ใจกล้า🐍
🕛ระยะเวลาการอ่าน 5-7 นาที
สัตว์ที่ซ่อนอยู่ในตัวอักษรไทยประจำสัปดาห์นี้ ตัวจริงก็ซ่อนตัวเก่งมาก ๆ เช่นกัน เค้ามักจะนอนขดซ่อนตัวอยู่ตามที่ต่าง ๆ แถมยังมีอวัยวะรับความร้อนที่เตรียมพร้อมสำหรับตรวจจับอุณหภูมิของเหยื่อไม่ให้หลุดมือ (เอ๊ะ แต่เค้าไม่มีมือนี่นา)
หากสำรวจความกลัวของคนว่าสัตว์อะไรที่คนกลัวที่สุด เชื่อว่าสัตว์เจ้าของเรื่องในวันนี้ต้องติด Top3 แน่นอน และสัตว์ชนิดนั้นก็คือ ‘งู’ 🐍
การที่คนจำนวนมากจะรู้สึกกลัวงูก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะจากสถิติจากองค์กรอนามัยโลก (WHO) พบว่า งูเป็นสัตว์ที่คร่าชีวิตคนมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก (ส่วนสัตว์อะไรเป็นอันดับ 1 ลองทายกันเล่น ๆ ก่อนไปดูในภาพจ้า)
1
การจัดอันดับสิ่งมีชีวิตที่คร่าชีวิตมนุษย์ อันดับ 1 ยุง🦟 อันดับ 2 คนด้วยกันเอง🤺 และอันดับ 3 งู 🐍 (ข้อมูลปี ค.ศ. 2014) ที่มา: https://www.gatesnotes.com/health/most-lethal-animal-mosquito-week
สถิติในภาพแสดงให้เห็นความน่ากลัวของงู ที่ในแต่ละปีมีคนทั่วโลกเสียชีวิตจากพิษของงูชนิดต่าง ๆ มากถึง 50,000 คน😱
นอกจากความน่ากลัวจากพิษงูแล้ว สิ่งที่ทำให้ใครหลายคนไม่ค่อยชื่นชอบสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ซักเท่าไหร่ ก็อาจจะเป็น รูปลักษณ์ ผิวสัมผัส ดวงตาที่น่ากลัวและการเคลื่อนไหวด้วยการเลื้อยของเค้า (แต่บางคนก็ชอบน้องเค้าเพราะสิ่งนี้เช่นกัน🤔)
แต่ไม่ใช่แค่งูพิษเท่านั้นที่น่ากลัว เพราะในโลกนี้ก็มีทั้งงูมีพิษและงูไม่มีพิษ
และงูที่จะชวนมาทำความรู้จักในวันนี้ก็เป็น 'ง. งูใจกล้า' ที่แม้ว่าจะไม่มีพิษแต่ก็มีความน่ากลัวไม่แพ้งูมีพิษนั่นก็คือ งูในวงค์ ‘งูเหลือม’ นั่นเอง
🐍ตัวใหญ่ใจกล้า ไม่มีพิษแล้วไงถอดขากรรไกรได้ก็แล้วกัน
ประเทศไทยมีงูในวงค์งูเหลือม หรือ Family Pythonidae อยู่ 3 ชนิด ได้แก่ งูเหลือม งูหลาม และงูหลามปากเป็ด
พอพูดชื่องูเหลือม งูหลามขึ้นมาหลายคนน่าจะพอนึกภาพได้ถึง งูตัวใหญ่ ๆ ที่มักพบเห็นตามข่าวราวกับเป็นเน็ตไอดอล แชะภาพคู่กับเจ้าหน้าที่กู้ภัยเป็นประจำ
แต่อีกคำถามที่น่าจะตามมาก็คือ...แล้วงูเหลือมกับงูหลามมันต่างกันยังไง?
งูเหลือมและงูหลามมีลักษณะคล้ายกันมาก แต่งูทั้งสองอยู่คนละสกุล (genus) กัน
โดยงูเหลือมอยู่ในสกุล Malayopython ในขณะที่งูหลามอยู่ในสกุล Python (งูหลามปากเป็ดก็ด้วย)
งูเหลือมและงูหลามจัดเป็นงูขนาดใหญ่ระดับ TOP5 ของโลก!🏆
งูเหลือมนั้นจัดเป็นงูขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2🥈 ของโลกรองจาก Anaconda โดยมีความยาวตั้งแต่หัวถึงปลายหางประมาณ 5-7 เมตร และมีรายงานที่พบว่างูเหลือมมีความยาวมากถึง 10 เมตร
ในขณะที่งูหลามก็ไม่น้อยหน้าเพราะก็จัดเป็น 1 ใน 5 งูที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีความยาวเฉลี่ย 3.7 เมตรและมักจะโตได้ถึง 5 เมตร และมีรายงานที่พบงูหลามที่มีความยาวลำตัวมากที่สุด ยาวถึง 5.74 เมตร
สีของงูเหลือมและงูหลามมีความคล้ายคลึงกัน โดยมีลำตัวสีน้ำตาลเทาถึงน้ำตาลเทาอมเหลืองมีลายข้าวหลามตัดบนหลังตลอดความยาวลำตัวมีลายจุดสีขาวประปรายจึงยากจะแยกงูสองชนิดนี้จากสีของลำตัว
แต่สิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจนที่จะช่วยในการแยกงูสองชนิดนี้ก็คือ "ลายบนหัว" นั่นเอง
จุดสังเกตความแตกต่างระหว่างสงูเหลือมและงูหลามก็คือลายบนหัว ที่มา: https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_2869116
ลายบนหัวของงูหลามจะดูคล้ายหัวลูกศรสีขาวในขณะที่หัวของงูเหลือมจะมีเส้นสีดำกลางหัวลากจากปลายจมูกถึงคอและจากหางตาถึงขากรรไกร
การมีขนาดตัวใหญ่ขนาดนี้ทำให้การจัดการกับเหยื่อไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเมื่อเจอเหยื่อ หลังดักซุ่มรอจังหวะก็จะพุ่งเข้ารัดเหยื่อจนขาดอากาศหายใจ💀
และต่อให้เหยื่อจะตัวใหญ่แค่ไหนก็ไม่มีปัญหาเพราะเจ้าเหลือมเจ้าหลามมีปากขนาดใหญ่ ฟันแหลมคม ขากรรไกรแข็งแรงแถมยังสามารถถอดขากรรไกรเพื่อกลืนกินเหยื่อที่มีขนาดใหญ่เข้าไปได้ และโดยทั่วไปงูเหลือมจะดุกว่างูหลาม
งูเหลือมและงูหลามมักอาศัยนอนตามโพรงดินโพรงไม้ในที่มืดและเย็น หลาย ๆ วันจึงจะออกหากินครั้งหนึ่ง
โดยจะออกหากินกลางคืน และหากินได้ทั้งบนบกและในน้ำ โดยมักพบงูเหลือมดักซุ่มรอเหยื่อบนต้นไม้ในขณะที่งูหลามจะชอบหากินตามพื้นดินมากกว่าแต่งูหลามก็สามารถว่ายน้ำได้ดีและชอบอยู่ใกล้แหล่งน้ำ
การกระจายพันธุ์ของงูเหลือมจะกว้างกว่างูหลามโดยในประเทศไทยพบงูเหลือมกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ ในขณะที่งูหลามจะไม่พบในภาคใต้
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของงูเหลือม https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C:Python_reticulatus_Area.PNG แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของงูหลามhttps://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C:Python_bivittatus_Area.svg
งูสมัยนี้แทบจะไม่ใช่งูแล้ว แทบจะเป็นแค่แมวตัวหนึ่ง!🙀
เจ้าเหลือมและเจ้าหลามต่างถูกจัดเป็น "สัตว์ป่าคุ้มครอง" ตาม พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 แต่ดูเหมือนความกลัวที่คนมีต่อสัตว์ชนิดนี้จะทำให้ไม่ค่อยอยากคุ้มครองซักเท่าไหร่🤔
1
เจอ🐍เมื่อไหร่ก็อยากกำจัดออกไปให้ไกล ทั้งที่จริงแล้วหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ปัจจุบันพบงูต่าง ๆ ตามบ้านเรือนของคนได้บ่อยขึ้นก็เพราะคนนั่นเอง
เพราะการขยายตัวของเมืองจากการบุกรุกที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติดั้งเดิมของงูทำให้งูไม่มีที่อยู่ นอกจากนี้พฤติกรรมการอุปโภคบริโภคอย่างไม่ยั่งยืนของมนุษย์ยังทำให้ปริมาณ 'หนู' ซึ่งเป็นหนึ่งในอาหารของงูเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
โดยข้อมูลจากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่างูเหลือมจะตามกลิ่นหนูมาอยู่ตามบ้านเรือนและทุกที่ที่มีหนู
ก็คือที่ใดมีหนูมากที่นั้นก็จะมีงูมากเช่นกัน!
แต่ๆๆๆ เมื่อคนเจองูก็รีบแจ้งเจ้าหน้าที่มาจับโดยพบว่ามีการแจ้งจับงูชนิดต่าง ๆ กว่า 5,000 ตัว ในช่วงเวลาราว 1 ปีเศษ
ซึ่งงูที่โดนจับจำนวนนี้สามารถช่วยกินหนูได้ราว 6 แสนตัวต่อปี!
แต่เมื่องูถูกจับออกไป ศัตรูของหนูก็จะลดลง ในขณะที่ปริมาณเศษอาหารของคนซึ่งเป็นอาหารของหนูไม่ได้ลดลงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย!
1
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ง.งู ใจกล้าเป็นสิ่งมีชีวิตที่สำคัญซึ่งจะช่วยควบคุมประชากรสัตว์ในระบบนิเวศ และเป็นสมดุลทางธรรมชาติ
เมื่อมองในมุมนี้จะพบว่าการดำรงอยู่ของสัตว์ทุกชนิดมีคุณค่าในตัวมันเอง ทว่าความกลัวที่มีต่องูทำให้ทุกวันนี้ไม่ว่าจะพบเจองูพิษหรือไม่มีพิษก็ตาม ผู้คนมักตีให้ตายก่อนพิจารณาเสียด้วยซ้ำ...
อ้างอิง
โฆษณา