19 ต.ค. 2021 เวลา 08:47 • ครอบครัว & เด็ก
BRIEF: หมาป่าใช้วิธีคิดตามทฤษฎีของมาสโลว เพื่อตอบคำถามที่ว่า คุณพ่อคุณแม่ ควรส่งลูกเรียนโรงเรียนไทย หรืออินเตอร์ หรือ เมืองนอก
จากโพสต์ที่แล้ว ขอสรุปทฤษฏีของมาสโลวอีกครั้งนะครับ มาลโลว บอกว่า ความต้องการของมนุษย์แบ่งเป็น 8 ขั้น ได้แก่...
ขั้นที่ 1 Physiological needs: ความต้องการทางกายภาพ เช่น อาหาร น้ำ ความอบอุ่น การพักผ่อน
ขั้นที่ 2 Safety needs: ความต้องการเรื่องความปลอดภัย เช่น ปลอดภัยจากอันตราย จากโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งข้อนี้หมายรวมถึง ความต้องการความมั่นคงจากการมีงาน มีเงินด้วย
ขั้นที่ 3 Belongingness and love needs: ความต้องการได้รับความรัก ได้รับการยอมรับ เป็นส่วนร่วม เช่น ความสัมพันธ์ของคู่รัก หรือ กลุ่มเพื่อน
ขั้นที่ 4 Esteem needs: ความต้องการการยกย่อง ทั้งจากตนเองและ ผู้อื่น เช่น การมีเกียรติ ความรู้สึกประสบความสำเร็จ ความภูมิใจ
ขั้นที่ 5 Cognitive needs: ความต้องการเกี่ยวกับความรู้ หรือ การคิด เช่น ความรู้ ความอยากรู้อยากเข้าใจในเรื่องต่างๆ การสำรวจต่างๆ
ขั้นที่ 6 Aesthetic needs: ความต้องการทางด้านสุนทรียศาสาตร์ เช่น การชื่นชมในความงาม ศิลปะ
ขั้นที่ 7 Self-actualization needs: ความต้องการในการตระหนักรู้ถึงตนเอง เช่น ได้รู้ว่า เราจะเป็น จะทำ ได้ดีที่สุดแค่ไหน
ขั้นที่ 8: Transcendence needs: ความต้องการที่จะช่วยผู้อื่นให้ตระนักรู้ถึงศักยภาพสูงสุดของเค้า
ถ้าคนๆหนึ่ง ยังได้รับการตอบสนองต่อความต้องการในขั้นก่อนหน้าไม่เพียงพอ
.
ความต้องการขั้นก่อนหน้าจะมีความเด่นชัดกว่าความต้องการขั้นหลังๆ
.
และจะเป็นความต้องการหลักที่กระตุ้นพฤติกรรมต่างๆของคนๆนั้นในช่วงขณะนั้น
===
คราวนี้ผมจะมาเล่าให้เห็นภาพ และแชร์ความคิดของหมาป่า เพื่อตอบคำถามที่ว่า “คุณพ่อคุณแม่ ควรส่งลูกเรียนโรงเรียนไทย หรืออินเตอร์ หรือ เมืองนอก?” ผ่านการคิดตามทฤษฎีของ มาสโลว
ตอน ป. 3 เทอม 1 (ปีนึง มี 2 เทอม) ผมนั่งเหม่อลอยออกนอกห้อง ในชั่วโมงเรียน รวมถึงในชั่วโมงเรียนพิเศษ แล้วผลการเรียนก็แย่มาก โดยเฉพาะวิชาคัดลายมือและภาษาไทย ที่ครูรัตนาซึ่งเป็นครูประจำชั้นเป็นคนสอนเอง สุดท้ายครูรัตนา ผู้ซึ่งเป็นที่โจษจันในฐานะครูสุดโหด ก็ตีผมด้วยไม้เรียวที่หน้าชั้นเรียน และเชิญคุณแม่มาพูดคุยที่โรงเรียน
คราวนี้ต้องย้อนกลับไปว่า เกิดอะไรขึ้น ผมซึ่งเป็นเด็กที่ดูธรรมดา เรียบร้อยปกติดี ถึงมีผลการเรียนที่แย่ แบบว่าสอบได้ที่ รองบ๊วย ในห้องเรียนที่เป็นห้องคะแนนบ๊วยของปีนั้น
1
อันดับแรกเลย คือในสมัยผมนั้น มันจะมีแบบ เด็กที่เข้าเรียนก่อนเกณฑ์ คือเข้าเรียนทั้งที่อายุน้อยกว่าเกณฑ์ที่ควรจะเข้าเรียนได้ ผมเข้าเรียนเร็วไปปีนึง เพราะตอนนั้นคุณพ่อคุณแม่มีความจำเป็นมาก ท่านยังลำบากมาก ทั้งต้องทำงานและดูแลน้องเล็กๆอีกสองคน ท่านก็ต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุดสำหรับลูกทั้ง 3 คนเสมอ
1
ผมอยากให้ลองนึกภาพ ว่าสำหรับเด็กเล็กๆ ที่อายุต่างกัน 1 ปี ความสามารถ ทักษะ ต่างๆมันต่างกันมากขนาดไหน พอเข้าเรียนเร็วไป ผมก็เลยเรียนได้ไม่ดี ผมก็เลยต้องเรียนพิเศษทุกเย็นหลังเลิกเรียน แล้วก็กลับบ้าน เป็นอย่างนี้ตั้งแต่อนุบาล ยัน ป. 2 จน ป.3 ก็ยังต้องเรียนพิเศษ ไม่เคยได้ออกไปวิ่งเล่นในสนามร่วมกับเด็กส่วนใหญ่ แล้วคุณเชื่อมั้ย เด็กเล็กๆเนี่ย มันจะมีความเขิน ตอน ป.3 เพื่อนมาชวนว่าไปเตะบอลกัน พอเราไปเตะ ก็เตะไม่โดนบอล เพราะไม่เคยเล่นมาก่อน แล้วมันเขิน คราวนี้ก็ปฎิเสธไม่ไปเตะอีก
เรามาดูเรื่องนี้กัน ว่า ทฤษฎีของมาสโลวที่นักการตลาดศึกษากัน ที่จุดเริ่มของมัน ก็คือ ทฤษฎีจิตวิทยาของมนุษย์นั่นแหละ แล้วมันก็แอพพลายกับมนุษย์ได้ทุกเพศทุกวัย แม้จะเป็นมนุษย์เด็กก็ตาม
เด็ก ป.3 นี่เริ่มโตแล้ว และคิดและทำตามความต้องการของตัวเองแล้ว ถ้าคุณลองมองดูตามหลักของมาสโลว คุณจะพบว่า ความต้องการเรียนรู้ของมนุษย์ คือ ความต้องการใน ขั้นที่ 5 ซึ่งมันจะไม่ถูกกระตุ้นขึ้นมา หากความต้องการข้อที่ 1-4 ยังได้รับการตอบสนองไม่เพียงพอ
1
ว่าง่ายๆ ผมไม่มีเพื่อน ไม่รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับห้องเรียนและไม่รู้สึกภูมิใจอะไรในตัวเอง ดังนั้นเมื่อความต้องการในขั้น 3 และ 4 ยังไม่ได้รับการตอบสนองอย่างเพียงพอ คามต้องการในขั้น 6 ก็คือไม่มี และพอความต้องการมันไม่มี มันก็ไม่มีอะไรมาขับเคลื่อนพฤติกรรมที่จะเรียนรู้ ต่อให้นั่งอยู่ในห้องเรียน ผมก็ยังมองออกไปข้างนอกซะงั้น 555
===
1 เทอม หลังจากคุณแม่พบกับครูประจำชั้นสุดโหด ผมก็สอบได้ที่สามของห้อง ในเทอมถัดมา
ความสำเร็จนี้ เกิดจากการอุทิศและความพยายามของ คุณแม่ ในการติวหนังสือให้ผมจนผมหลับคาโต๊ะไม้เล็กๆทุกคืน
สิ่งที่เกิดขึ้น กลายเป็นว่า ความต้องการของผมในหลายๆขั้น ถูกตอบสนองอย่างเพียงพอไปพร้อมๆกัน
หนึ่ง ผมรู้สึกได้รับการยอมรับ ไม่ใช่เพียงจากครูรัตนา แต่ผมกลายเป็นมีตัวมีตนขึ้นมา เพื่อนๆเริ่มมองเห็นผม ก็คุณคิดดู ต่อให้เป็นเด็กเล็กๆก็ต้องมองเห็นว่า ไอ้เพื่อนห่างๆหงิมๆคนนี้มันอะไรวะ พุ่งจากการเป็นรองโหล่ จนโดนเรียกไปตีหน้าชั้น มาเป็นคนที่ครูรักมาก ในระดับที่ว่าน้ำตาไหล ตอนประกาศว่าผมสอบได้ที่ 3
สอง ผมรู้สึกภูมิใจในตัวเอง ที่ทำได้ และได้ทำให้แม่และพ่อภูมิใจ
คราวนี้ ในฐานะมนุษย์เด็ก ความต้องการขั้น 3 และ 4 ของผม ก็โดนตอบสนองอย่างเพียงพอ
จากนั้น ผมก็สนใจเรียนรู้สิ่งต่างๆด้วยตัวเอง ตั้งใจเรียนด้วยตัวเอง เพราะมันมีความต้องการในการเรียนรู้
พอขึ้น ป.4 แม้จะยังอยู่ห้องบ๊วย แต่ผมสอบได้เป็นที่ 1 ของห้องแบบสบายๆ โดยไม่ต้องมีดราม่าอะไรอีก แล้วพอ ป.5 ผมก็ได้ย้ายไปอยู่ห้องคิง ซึ่งกืคือห้องเก่งสุดขอปีการศึกษานั้น จากนั้นก็เป็นเด็กเรียนดีเสมอมา
===
กับคำถาม สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ที่ต้องตัดสินใจว่าจะให้ลูกเรียน โรงเรียนไทย หรืออินเตอร์ที่แสนแพง หรือ เรียนเมืองนอกไปเลย .
ผมอยากบอกว่า การที่ความต้องการทั้ง 8 ขั้น ของมาสโลวได้รับการตอบสนองอย่างเพียงพอเป็นขั้นๆไป เป็นเรื่องสำคัญมาก
หากแม้คุณมีเงินส่งลูกไปเมืองนอก แต่ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าเด็กจะได้รับการยอมรับจากครูและเพื่อนอย่างเพียงพอ ถ้าเป็นอย่างนั้น เขาก็อาจจะไม่ได้แสวงหาความสำเร็จหรือการยกย่องจากผู้อื่น และเขาก็จะไม่ได้ต้องการที่จะเรียนรู้อะไร
1
อยากให้ลองกลับไปอ่าน ทฤษฎีอีกครั้งครับ เริ่มตั้งแต่ขั้นที่ 1 เลย
จริงๆแล้ว ไม่ว่าสถานการณ์คุณจะเป็นแบบไหน ผมว่า คุณรู้คำตอบดี ผมมาช่วยย้ำในส่วนที่คุณอาจเห็นภาพไม่ชัด แต่แน่นอนว่าชีวิตของทั้งครอบครัวคุณ มันมีเรื่องอื่นๆอีกมาก หวังว่าน่าจะช่วยได้นิดหน่อยครับ
===
สำหรับนักการตลาด หรือผู้อ่านท่านไหน ที่อ่านมาจนถึงตรงนี้แล้วรู้สึกมึนๆ รู้สึกสงสัยหรือหงุดหงิด ว่าทำไม่ต้องเขียนเรื่องง่ายๆ ให้ยากขนาดนี้? ผมขอโอกาสตอบคำถามนี้หน่อยนะครับ
ผมอยากบอกคุณว่า นี่คือ คุณค่า ของสิ่งที่เรียกว่า “หลักการ”
เวลาที่เรื่องง่ายๆ ถูกมองจนลึก เราจะเห็นถึง ความจริงตามธรรมชาติของสิ่งนั้น และเมื่อเราสังเคราะห์มันออกมาเป็นข้อสรุปที่เป็นเหตุเป็นผลมีกลไกการทำงานตามความเป็นจริง สิ่งนี้คือ “หลักการ”
พอเรามี “หลักการ” ที่ถูกต้อง เราก็จะสามารถควักมันออกมาใช้แก้ปัญหาลักษณะเดียวกันได้อีก ไม่ว่ามันจะเกิดอีกครั้ง ในบริบทแตกต่างกันก็ตาม
“หลักการ” นี่จะเปรียบไปก็เหมือนกับสมการคณิตศาตร์
พอเรารู้ว่า หลักการคืออะไร ก็คือเรารู้ว่า สมการเป็นยังไง มีตัวแปรอะไรบ้าง เวลาที่ค่าของตัวแปรมันเปลี่ยนไป เราก็เอาค่าใหม่นั้นใส่เข้าไปคำนวณในสมการ แล้วเราก็จะรู้ผลลัพธ์ทันที เหมือนเวลาที่ ครูคณิตศาสตร์ ถามว่า ถ้าค่า X เท่ากับ 3 ค่า Y จะเท่ากับเท่าไหร่ ประมาณนั้นแหละครับ
แต่ถึงยังไง โลกนี้ไม่ใช่สมการเส้นตรง ไม่ใช่สมการพาลาโบล่า ไม่ใช่อะไรที่มันใส่สูตรแทนค่าเข้าไปได้ง่ายๆแบบนั้น แต่หลักการมันมีอยู่จริง เพราะมันคือความจริงของธรรมชาติ
และถ้าเราเข้าใจหลักการ และใช้มันเป็น เราได้เปรียบแน่นอนครับ
เช่น คุณไม่ต้องรอ AI ให้มันเริ่มเก็บดาต้า คนขึ้นรถเมล์แล้วทำเทสต์อะไร คุณก็พอจะรู้คำตอบอยู่คร่าวๆ ก็ตัวคุณอยู่ในสังคมนี้มากี่ปีแล้ว เก็บดาต้ามาแล้วกี่ปีกันล่ะ แค่มองหน้าคุณก็รุ้เลย คนนี้เค้าจะลุกให้คุณนั่งบนรถเมล์มั้ย คุณคงเดาผิดบ้าง แต่ผมเชื่อว่าคุณถูกมากกว่าผิด เพราะคุณมีหลักการในเรื่องนี้
สำหรับนักการตลาดนะ เรื่องที่คนอื่นต้องทดลองมากมาย ต้องทำ A/B Test งานครีเอทีฟเป็น 1,000++ แบบ เราทำแค่ 5 แบบก็พอ เพราะในหัวเรารู้อยู่แล้ว ไอ้ 995++ แบบที่เราไม่ได้ทำนั่น ไม่มีโอกาสเป็น winning item ได้เลย เพราะมันผิดจากหลักการ เช่น ชิ้นงาน creative มันขัดแย้งกันในตัว มันขัดกับความจริงตามธรรมชาติ
===
สำหรับนักการตลาด นักธุรกิจ อินฟลูเอ็นเซอร์ คอนเทนท์ครีเอเตอร์ ท่านไหนที่รู้สึกว่าเริ่มมึนละ สามารถจบการอ่านตรงนี้ได้เลยนะครับ เราจะเริ่มออกนอกเรื่องจากจิตวิทยาการตลาดกันไปอีกหน่อย แล้วก็จบสำหรับโพสต์นี้โดยที่คุณไม่ได้พลาดอะไรไปครับ
แต่สำหรับใครที่รู้สึกว่ายังสบายๆ อ่านชิวๆ ไม่ได้หนักหน่วง ปวดหัวอะไร ผมอยากชวนให้มองเรื่องที่ผมเล่าข้างบนนั่นอีกครั้งครับ คุณเห็นอะไรอีกอย่างที่อยู่ในนั้น แต่เรายังไม่ได้พูดถึงกันมั้ยครับ?
ผมอยากชวนให้คุณมองว่า...
ถ้าคุณมองว่า ปัญหาของเคสที่เล่าให้ฟังนี่ คือ การที่ผมเรียนไม่ดี จนครูเรียกผมไปตี และเชิญแม่ไปพบ
ผมอยากให้คุณมองใหม่ก่อนนะครับ เพราะผมว่านั่นไม่ใช่ ปัญหา
จริงๆแล้ว...
“ปัญหา”- คือ ผมไม่สนใจจะเรียนเลย เหม่อมองออกนอกหน้าต่าง ไม้ได้ฟังด้วยซ้ำ (ไม่มีความต้องการขั้นที่ 5 ที่จะรับข้อมูลหรือเรียนรู้อะไรเลย)
“เหตุ” - เกิดจาก ผมไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งร่วมกับเพื่อนกับห้องเรียน ไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนหรือครู ไม่มีตัวตน ไม่มีความภูมิใจในตัวเองอย่างเพียงพอ (ความต้องการในขั้นก่อนหน้าคือ ขั้น 3 และ 4 ของผมยังไม่ได้รับการตอบสนองอย่างเพียงพอ)
แต่เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก... ว่า…
.
“Solution” หรือวิธีแก้ไขปัญหานี้ - คือ “การที่แม่นั่งติวหนังสือผมทุกคืน” จนเกิดการ crack ออกของปัญหาทั้งหมด จนผมได้รับการยอมรับ ได้ภูมิใจ และรู้สึกชอบเรียนรู้
คุณว่ามันน่าสนใจมั้ย?
ผมกับแม่ไม่ได้โฟกัสในการแก้ปัญหาที่ตัว “ปัญหา” เอง (แม่ไม่ได้ทำให้ผมอยากเรียน)
เราไม่ได้โฟกัสพลังงานเราไปแก้ปัญหาที่ตัว “เหตุ” ด้วยซ้ำ (ผมกับแม่ ไม่ได้วิ่งออกไปบอกใครๆ ว่า เฮ้ย มาเป็นเพื่อนกับลูกฉันหน่อย หรือ ชวนเพื่อนลูกมาปาร์ตี้ที่บ้าน)
ผมไม่ต้องการที่จะเรียนรู้ (ไม่มีความต้องการขั้นที่ 5) แต่แม่จับผมติวทุกวิชาให้ผมต้องเรียนรู้ทุกคืน ยัดเยียดทักษะความรู้ ซึ่งเป็นจุดหมายในขั้น 5 ที่ผมไม่ได้ต้องการใส่เข้ามาทื่อๆซะงั้น แต่มันกลับมาช่วยให้ผมได้รับการยอมรับ ได้ภูมิใจ และกลายเป็นมีความต้องการเรียนรู้ในที่สุด (แก้ปัญหาความต้องการขั้น 3, 4, 5 ในคราวเดียว)
จริงๆมันมีอีกทฤษฎีนึงทีเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ผมว่ามันจะเราออกนอกเรื่องการตลาดไปไกลเกินไป
เอาง่ายๆว่า มีแค่ “แม่กับผม” เรามีโซลูชั่นได้ และเราแก้ปัญหาได้แล้วกัน
คุณคิดว่าไงล่ะ? คุณมองว่าสิ่งที่แม่กับผมได้ทำลงไปคืออะไรในการแก้ปัญหานั้น?
.
สามารถติดตามหมาป่าได้บนแพลตฟอร์มอื่นๆที่ใช่คุณ นำเสนอตามสไตล์ของแพลตฟอร์มนั้น
Other Social Media Channels:
- IG (เพิ่มเติม คอนเทนต์แนวศิสปะ / with extra of ART content):
- FB (เพิ่มเติม คอนเทนต์ด้านการตลาด / with extra of MARKETING content):
- TW (เพิ่มเติม คอนเทนต์ส่วนตัว / with extra of PERSONAL content):
.
.
-((w))-
โฆษณา