20 พ.ย. 2021 เวลา 00:00 • ปรัชญา
ฝึกตัวเองให้เป็นคนมีสติอยู่เรื่อย ๆ
ผู้มีสติคือผู้ที่ตื่นรู้แล้วทางจิตวิญญาณ
การเรียนรู้ศิลปะในการเจริญสติ
คือการพยายามเติมสติลงไปในทุกเรื่องที่คิด
ทุกกิจที่ทำ ทุกคำที่พูด ทุกครั้งที่เคลื่อนไหว
1
ให้ค่อย ๆ เพียรเจริญสติเหมือนหยดน้ำเล็กๆ
ที่ค่อยๆ หยดลงในภาชนะใบหนึ่ง
ทีละเล็กละน้อย แต่บ่อยเข้า
น้ำที่เป็นดั่งสติของเราก็จะเติมเต็มในที่สุด
2
สติคือพลังงานหนึ่ง
อันเกิดจากการดึงกายใจมาไว้ที่เดียวกัน
เมื่อใดก็ตามที่เรามีสติ เราจะรู้สึกถึงความมีชีวิตชีวา
รู้สึกว่ามีบางอย่างงอกงามอยู่ในจิตใจของเรา
1
การฝึกสตินั้น ทำได้โดยการฝึกสติปัฏฐาน
โดยการเจริญสติ 4 ฐาน คือ
ฐานกาย (กายานุปัสสนาสติปัฎฐาน)
ฐานเวทนา (เวทนานุปัสสนาสติปัฎฐาน)
ฐานจิต (จิตตานุปัสสนาสติปัฎฐาน)
และ ฐานธรรม (ธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐาน)
🍁1.ฐานกาย (กายานุปัสสนาสติปัฎฐาน)🍁
ฐานที่ระลึกของสติคือกาย
กายในที่นี้มี 2 ความหมาย คือ กายนอก และ กายใน
กายนอก คือ รูปกายหรือรูปร่างสังขารตั้งแต่ปลายเท้าจรดปลายผม
ทุกองคาพยพเป็นฐานของสติหมด
ทุกการเคลื่อนไหวของร่างกาย เราใช้สติตามระลึกรู้ได้หมด
เช่น ร้อน เย็น อ่อน แข็ง ตรง คด ตึง หย่อน
ก็ให้เติมความระลึกรู้ให้ละเอียดที่สุด
การระลึกรู้ตัวในที่นี้ เป็นตัวรู้ที่ไม่ผ่านการไตร่ตรองจากสมอง
แต่เป็นภาวะรู้ซึ่งๆ หน้า เช่น เมื่อจิบน้ำร้อน ก็รู้สึกร้อนที่ลิ้นได้เอง
เมื่อลมหนาวมาโดนกาย ก็รู้สึกว่าหนาว
ไม่ต้องพิจารณาว่าความร้อนความเย็นที่มากระทบกายนี้กี่องศา
กายใน คือการสังเกตลมหายใจ
เราหายใจกันทุกวันก็จริงอยู่ แต่ให้ลองระลึกรู้ลงไปในลมหายใจ
ว่ามันสั้นหรือยาว หยาบหรือละเอียด ชัดเจนหรือเลือนราง
ให้เราตามดู ตามรู้ โดยไม่ต้องไปบังคับลมหายใจ
หรืออาจดูอาการพองยุบที่ท้อง ที่เปลี่ยนแปลงไปตามจังหวะการหายใจ
1
การดูกายทั้งในและนอก ให้เราเป็นดังผู้สังเกตการณ์ ไม่ต้องไปบังคับ กะเกณฑ์
เมื่อเราเฝ้าสังเกตอย่างมีสติและเป็นธรรมชาติ
จะเห็นว่าร่างกายเราเคลื่อนคล้อยไปตามกฎแห่งไตรลักษณ์
คือเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา (อนิจจัง)
บีบคั้นขัดข้องในตัวเอง (ทุกขัง)
และไม่ใช่ของเรา (อนัตตา)
2
🍁2. ฐานเวทนา (เวทนานุปัสสนาสติปัฎฐาน)🍁
ฐานที่ระลึกของสติ คือ เวทนา
เวทนาคือความรู้สึกหรืออารมณ์เราอันเนื่องกับกาย ว่าเรารู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เผชิญอยู่
โดยความรู้สึกก็จะวนเวียนอยู่ 3 ลักษณะ คือ
 
สุข เช่น ยินดี พอใจ ชื่นชม รัก
ทุกข์ เช่น หงุดหงิด อึดอัด ขัดใจ ว้าวุ่น กังวล
และ อทุกขมสุข คือ รู้สึกเฉยๆ
เราทำหน้าที่เสมือนผู้สังเกตการณ์เช่นเดิม
คือดูให้รู้ว่าขณะนั้นอยู่ในอารมณ์ใด
โดยไม่ต้องไปพยายามจัดการกับความรู้สึกนั้น
เพียงแค่รู้ความรู้สึก ไม่นานความรู้สึกก็จะจางคลายลงไปเอง
1
หากเราตามดูอย่างมีสติ ทันทีที่สุขแล้วเราไปสังเกตดู สุขย่อมคลาย
ทันทีที่ทุกข์เกิดขึ้นแล้ว เราไปสังเกตเห็น
ทุกข์ย่อมคลาย
1
เมื่อสังเกตอย่างต่อเนื่อง ปัญญาก็จะเกิด
ว่าความสุขก็ไม่เที่ยง ทุกข์ก็ไม่เที่ยง
เกิดขึ้นแล้วดับไป มีแล้วหาย ชัดแล้วจาง
3
🍁3. ฐานจิต (จิตตานุปัสสนาสติปัฎฐาน)🍁
ฐานที่ระลึกของสติ คือ จิต หรือ ความคิด
ธรรมชาติของมนุษย์มักอยู่ในโลกของความคิด
ฉะนั้นการลองสังเกตลงไปที่จิตหรือความคิดก็เป็นฐานให้สติเกิดได้
ให้เราตามสังเกตว่าความคิดเป็นอย่างไร
ตามดูความคิดจิตใจว่ามันปรุงแต่งอะไรอยู่
ให้รู้เห็น แต่ไม่ต้องไปพิพากษาว่าถูกหรือผิด
ความคิดมันจะปรุงอะไรก็ช่าง มันปรุงหาอดีต ปรุงไปเรื่องงาน ครอบครัว ก็เฝ้าดูมันไป
เพียงเราคอยเฝ้าดูสังเกตเท่านั้น ทันทีที่เราเห็นความคิด จิตจะสะดุดกลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะทันที
1
เพราะเมื่อเราเห็นความคิดได้ทัน เราจะเห็นความคลี่คลายของความคิด
เห็นว่าความคิดหนึ่งเกิด ความคิดหนึ่งดับอยู่ตลอดเวลา
1
ในที่สุดจะเห็นแม้กระทั่งมีกิเลสอะไรเกิดขึ้นในความคิดของเรา
รวมทั้งเห็นการดับไปของกิเลสที่เกิดขึ้นเช่นกัน
1
🍁4. ฐานธรรม (ธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐาน)🍁
การสังเกตธรรม เป็นฐานของสติ
ธรรมคือสิ่งที่เนื่องอยู่กับจิต เวลาจิตคิดโน่นนี่ เกิดความรู้สึกต่าง ๆ นา ๆ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ
ลักษณะที่หนึ่ง จิตถูกบังคับบัญชาโดยกิเลสหรืออกุศล เช่น งุนงงสงสัย ไม่พออกพอใจ หดหู่ซึมเศร้า เรียกว่าเกิดนิวรณ์
ลักษณะที่สอง จิตถูกบังคับบัญชาโดยสติ คือบางทีจิตก็ไปพิจารณาธรรม เช่น เห็นความรู้สึกไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
แต่ไม่ว่าธรรมที่แสดงออกมาในจิตของเราจะไปในทิศทางใด ก็ให้สังเกต ตามดูตามรู้ไป
และให้ลองมองดูว่าธรรมที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรามีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปตามกฎไตรลักษณ์ คือเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือไม่
1
การสังเกต กาย เวทนา จิต ธรรม นั้นทำได้โดยไม่ต้องจดจ้อง กะเก็งมากเกินไป ไม่หลุด ไม่หลง ไม่กด ไม่เกร็ง
1
เมื่อเราสังเกตอย่างเรียบง่ายตามธรรมดาและเป็นธรรมชาติแล้ว สติก็จะเกิดขึ้นมาได้เอง
1
การเจริญสติปัฏฐานนั้นเปรียบเหมือนการฉายคีโมทำเคมีบำบัด
ตัวกิเลสเปรียบเหมือนเซลล์มะเร็ง เมื่อเราใช้สติไปพิจารณา ผ่านกาย เวทนา จิต ธรรม เซลล์มะเร็งหรือตัวกิเลสก็เหมือนถูกฉายแสงแห่งสติ และฝ่อไปทันที
1
เคล็ดลับคือให้เราทำตัวเหมือนสายลม แม้จะเห็นท้องฟ้า ภูผา ดอกไม้ ทุ่งหญ้า ก็แค่พัดผ่านไป
เปรียบกับการดูกาย เวทนา จิต ธรรม เมื่อเห็นแล้ว ตระหนักรู้แล้ว ก็พัดผ่านไป
1
ลองนำไปฝึกกันตามที่ถูกจริตแก่ตน โดยพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ถ้าสิ่งที่ตถาคตสอน เธอทำไม่ได้ ตถาคตไม่สอน
1
ฉะนั้นหากลองปฏิบัติดูแล้ว เราจะพบว่า พระพุทธองค์ทรงสอนเฉพาะสิ่งที่มนุษย์อย่างเรา ๆ นี้ ทำได้จริง ๆ
1
...
คัดย่อจากหนังสือนิพพานระหว่างวัน ตอนสติปัฏฐาน ระบบปฏิบัติการสู่นิพพาน
โฆษณา