12 ธ.ค. 2021 เวลา 11:22 • ประวัติศาสตร์
โรคภัยไข้เจ็บในสมัยอยุธยา ตอนที่ 2
มาตรการคุมโรคระบาดในสมัยอยุธยา วิถี New Normal ที่เกิดขึ้นกับคนในสมัยนั้น
1
การนวดตามตำราแพทย์แผนไทยโบราณ เครดิตภาพ: ภาพจากสมุดข่อย ฐานข้อมูลของ British Library Or.13703
เท้าความจากบทความก่อนหน้า โรคภัยไข้เจ็บในสมัยอยุธยา ตอนที่ 1 “สมัยนี้ Covid-19 แล้วสมัยโน้นเค้าเจอโรคระบาดอะไร” ตามลิ้งค์นี้
1
ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14-16 มีเหตุการณ์โรคระบาดเกิดขึ้นตามปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา คือ “โรคห่า” กับ “ไข้ทรพิษ”
2
โรคห่า ครั้งสำคัญเกิดในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)
ไข้ทรพิษ มีเหตุการณ์ระบาดครั้งแรกๆ ตามพระราชพงศาวดาร อยู่ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
[โรคห่า]
ตามที่ได้เล่าไว้ในบทความก่อนหน้านี้ด้านบน อหิวาตกโรค ที่มองว่าเป็นโรคห่าในสมัยสถาปนากรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 1893 เป็นเพียงแค่ข้อสันนิษฐานหนึ่งที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับโลกภายนอก แต่ถ้าเรามองในช่วงเวลาเดียวกันคือศตวรรษที่ 14 โลกภายนอกกำลังเผชิญโรคที่ระบาดไปทั่วยุโรป ตะวันออกกลาง และจีน คือ “กาฬโรค” หรือ Black Death
1
กาฬโรคแพร่ไปยังยุโรปและจีน โดยมีหนูเป็นพาหะนำโรค ซึ่งอาศัยและวิ่งอยู่บนเรือเดินทางและบรรทุกสินค้า ผ่านทางหมัดที่กัดกินผิวหนังกระจายเชื้อแบคทีเรีย เริ่มแพร่จากสัตว์สู่สัตว์ จากสัตว์สู่คน และจากคนสู่คนในที่สุด เอ๊ะ คุ้นๆเหมือน Covid-19
สามารถแพร่จากคนไปสู่อีกคนได้โดยทางอากาศและลมหายใจ เมื่อผู้ป่วยตาย การเข้าใกล้หรือแตะต้องศพยังทำให้ติดเชื้อจากคนตายได้ จึงแพร่ระบาดและล้มตายกันอย่างรวดเร็ว
สมัยนั้นอยุธยามีการค้ากับจีนที่รุ่งเรืองมาก ดังปรากฏในตำนานพระนางสร้อยดอกหมาก-เจ้าชายสายน้ำผึ้ง (ตำนานวัดพนัญเชิง) และพระราชพงศาวดารเกี่ยวกับเจ้านครอินทร์ ยุพราชแคว้นสุพรรณภูมิ ที่ไปศึกษาศิลปวิทยาการจากเมืองจีน เมื่อกลับมาก็ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ที่อยุธยา โดยได้สนับสนุนจากขุนนางใหญ่ที่ไม่พอใจต่อสมเด็จพระรามราชา
3
จุดเริ่มต้นการแพร่ระบาดของกาฬโรคอยู่ที่ดินแดนรอยต่อระหว่างยุโรปกับเอเชีย ผ่านเส้นทางสายไหม
1
นักเดินเรือหลายชาติบนสำเภาที่มาติดต่อการค้ากับอยุธยา ภาพจากหนังสือ สมุดข่อย จัดพิมพ์โดย โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย พ.ศ. 2542
แม้อยุธยาจะไม่ได้ตั้งอยู่ในเส้นทางสายไหม แต่ระบบการค้าของยุคเส้นทางสายไหมก็ส่งผลต่อการขยายตัวของการค้าในภูมิภาคอื่นแบบทางอ้อมด้วย
สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ช่วงที่มีโรคห่าระบาดหนัก ยังไม่ปรากฏการเข้ามาของชาวยุโรป กว่าที่โปรตุเกสชาติตะวันตกชาติแรกจะเข้ามาก็ปาไปช่วงสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แล้ว ดังนั้นยุโรปจึงไม่ใช่คนที่ส่งกาฬโรคมาระบาดในยุคนี้
2
แต่กับจีนนั้น ได้มีการติดต่อกับอโยธยามาเนิ่นนานแล้ว และอโยธยาก็ดำเนินการค้ากับจีนในรูปแบบบรรณาการ (จิ้มก้อง) 3 ปีต่อ 1 ครั้ง เป็นไปได้มากว่าในเรือสำเภาที่มาจากจีน มีพวกหนูที่มีหมัดเชื้อกาฬโรคส่งมายังอโยธยาด้วย เมื่อจีนเกิดการระบาดก็ทำให้คณะทูตกับพ่อค้าเป็นผู้นำเชื้อโรคมาสู่อโยธยาด้วย และแพร่กระจายลุกลามอย่างรวดเร็ว
3
[มาตรการคุมโรคห่า สมัยพระเจ้าอู่ทอง]
คือการย้ายเมืองหนี
4
เมื่อไม่มียารักษาได้ทันที วัคซีนสมัยนั้นก็ยังไม่มี การทิ้งถิ่นฐานไปอยู่ที่ใหม่ จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดในตอนนั้น พระเจ้าอู่ทองจึงตัดสินใจข้ามมาอยู่อีกฟากของแม่น้ำ สังเกตการณ์การระบาดของโรคพร้อมแสวงหาที่ตั้งศูนย์กลางชุมชนใหม่ และจึงได้เลือกที่ตรงอำเภอหนองโสนเป็นที่ตั้งของศูนย์กลางอาณาจักรแห่งใหม่ ตามรูปแผนที่ด้านล่าง
1
แผนที่ตั้งของเมืองเดิมก่อนโรคห่าระบาด คือ อโยธยาศรีรามเทพนคร ก่อนจะย้ายมาอีกฝั่ง ตั้งศูนย์กลางแถวหนองโสน เครดิตรูป: https://lek-prapai.org/home/view.php?id=5379
ในตำนานพงศาวดารเหนือ เล่าว่า ทรงให้อำมาตย์ผู้หนึ่งออกไปเสาะหาที่ตั้งใหม่เป็นเวลา 15 วัน พอครบกำหนดได้กลับมาทูลรายงานว่า บริเวณหนองโสนมีความเหมาะสม ซึ่งพระองค์น่าจะทรงรู้จักบริเวณนี้เป็นอย่างดี เพราะมีโบราณสถานหลายแห่งที่สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่ก่อนสมัยพระเจ้าอู่ทอง เช่น
• วัดมงคลบพิตรที่พระเจ้าสายน้ำผึ้งทรงให้สร้างขึ้น
• วัดธรรมิกราชที่พระเจ้าธรรมิกราชทรงสร้างอุทิศถวายแด่พระเจ้าสายน้ำผึ้ง พระราชบิดาของพระองค์
• วัดแม่นางปลื้ม แม้จะไม่ทราบประวัติที่แน่นอน แต่ภายในวัดมีเจดีย์ใหญ่สิงห์ล้อม ศิลปะแบบเดียวกับเจดีย์ประธานวัดธรรมิกราช
ถึงแม้จะเป็นบริเวณที่รู้จักกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่ที่อำมาตย์ใช้เวลาสำรวจถึง 15 วัน อาจเป็นเพราะต้องให้แน่ใจก่อนว่าบริเวณนี้ปลอดการแพร่ระบาดของโรคห่านั่นเอง
[โรคห่ากับความเชื่อของคนอยุธยาสมัยนั้น]
หรือจะเรียกว่าเกิด New Normal ในยุคนั้น
นอกจากต้องย้ายเมืองแล้ว ยังส่งผลต่อด้านสังคมวัฒนธรรมและศาสนาอีกด้วย กล่าวคือสมัยนั้นยังไม่มีความรู้เรื่อง “เชื้อโรค” เมื่อเกิดโรคร้ายที่มีการนิยามใช้คำว่า “ห่า” นักปราชญ์ปัญญาชนก็จะอธิบายตามคติความเชื่อทางศาสนาว่า เกิดมาจาก “กรรม” ทั้งกรรมของบุคคล กรรมของผู้ปกครอง กรรมของบ้านเมือง
จึงเกิดประเพณีแก้กรรมอันเป็นรากฐานให้กับวัฒนธรรมอยุธยาในเวลาต่อมา เช่น ประเพณีทำบุญ สร้างวัด สร้างเจดีย์ หล่อพระพุทธรูป อุทิศกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับและยังมีชีวิตอยู่ นี่จึงนับเป็นสาเหตุอันดับต้นๆว่า ทำไมกรุงศรีอยุธยาจึงมีวัดวาอารามนับหลายร้อยแห่งในปัจจุบันที่เราทราบกัน
2
นอกจากนี้ยังทำให้ชาวบ้านในสมัยนั้น นึกถึงยุคแห่งความเสื่อม สอดคล้องกับคำว่า “กลียุค” หรือ “ยุคเข็ญ” ที่ปรากฏในหลักปัญจอันตรธานของพุทธศาสนา การสถาปนาเมืองขึ้นใหม่ เพื่อแก้ไขสถานการณ์การระบาดโรคห่าโดยตรงแล้ว ทางด้านจิตใจยังส่งผลมีความหมายเพื่อเสริมสร้างกำลังใจให้ชาวบ้าน ว่าบ้านเมืองได้ผ่านพ้นกลียุคไปสู่ยุคใหม่แล้วอีกด้วย
[ไข้ทรพิษ]
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ กล่าวถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ. 1997 คนทั้งปวงเกิดทรพิษตายมากนัก
1
อีกหลักฐานชิ้นต่อมา คือ “พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน” ในกฎหมายตราสามดวง ตัวบทระบุศักราชไว้ที่ พ.ศ. 1998 ตรงกับช่วงเหตุการณ์ของไข้ทรพิษ (ซึ่งจะกล่าวสืบเนื่อง) ดังนั้นปีที่เกิดไข้ทรพิษระบาดจึงน่าจะเป็น พ.ศ. 1997 ห่างจากปีที่โรคห่าระบาดสมัยพระเจ้าอู่ทอง เป็นระยะเวลากว่า 104 ปี
1
ไข้ทรพิษระบาด ในช่วงอยุธยาสมัยนั้น
ไข้ทรพิษแม้คนจะล้มตายมาก แต่ไม่ร้ายแรงเหมือนโรคห่าในสมัยพระเจ้าอู่ทอง เพราะจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ กล่าวว่า ปีต่อมา (พ.ศ. 1998) สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงส่งกองทัพไปตีมะละกา และอีกปีถัดมา ก็ยังส่งกองทัพไปตี “เมืองลิสบทีน” (ไม่แน่ชัดว่าคือที่ใด) โดยถึงกับเสด็จไปตั้งทัพหลวงเป็นกองหนุนเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ไพร่พลด้วย
2
ต่อมา พ.ศ. 2000 จึงได้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้เป็นผลมาจากไข้ทรพิษ เพราะว่าห่างจากระยะเวลาระบาดไปแล้ว กล่าวคือ หากเป็นโรคห่าก็เท่ากับว่าได้ฝังศพไว้เป็นเวลา 3 ปี ถือว่าเป็นช่วงระยะปลอดภัยจากการระบาดของโรค และสามารถขุดศพมาทำพิธีเผาได้
2
[มาตรการคุมโรคไข้ทรพิษ สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ]
คือกฎหมายตราสามดวง มีการตราจัดการผ่านองค์กรราชการที่เรียกว่า “ทำเนียบศักดินา” คือมีการจัดตั้งหน่วยงานราชการที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องกับการป้องกันและรักษาโรคให้แก่ชาวเมือง ในปี พ.ศ. 1998 เพียง 1 ปี หลังการระบาดของไข้ทรพิษ โดยในทำเนียบศักดินาข้าราชการและพลเรือนมีการจัดตั้งมากกว่า 7 หน่วยงาน คือ
3
กฎหมายตราสามดวง มีการตราองค์กรราชการที่เรียกว่า “ทำเนียบศักดินา” 7 หน่วยงาน [จากเว็บไซท์ สมาพันธ์แพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย (สมพท.)]
• กรมแพทยา มีขุนนางตำแหน่งพระศรีมโหสถราช แพทยาธิบดี องครักษ์ เป็นผู้บังคับบัญชา แบ่งเป็น 2 ฝ่าย 2 บุคคล คือ เจ้ากรมแพทยาหน้าฝ่ายทหาร กับเจ้ากรมแพทยาหลังฝ่ายพลเรือน มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลด้านการแพทย์ทั่วไป และมีหัวหน้าฝ่ายแยกย่อยลงไปรับผิดชอบด้านต่างๆ นอกจากนี้ยังมีตำแหน่ง “พัน” เป็นผู้ช่วยหมอหรือเป็นพยาบาลอีกต่อหนึ่งด้วย
• กรมหมอยา แบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายขวา มีเจ้ากรมหมอยา ตำแหน่งออกพระทิพจักร กับ ฝ่ายซ้าย มีเจ้ากรมหมอยา ตำแหน่งออกพระสิทธิสาร ในกรมหมอ ทั้งฝ่ายขวาและซ้ายยังมีปลัด พัน หัวหมื่น และพันพนักงาน อีกส่วนเป็นผู้จัดยา เตรียมยา ต้มยา และแสวงหาเครื่องสมุนไพรเตรียมไว้
• กรมหมอกุมาร ตามชื่อเลยคือมีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะโรคเด็ก ดูแลรักษาเฉพาะผู้ป่วยเด็กเท่านั้น หมอในกรมนี้มีราชทินนามว่า ขุนกุมารเพชร ขุนกุมารแพทย์ ขุนกุมารประสิทธิ และขุนกุมารประเสริฐ
2
• กรมหมอนวด เป็นกรมใหญ่ เจ้ากรมและปลัดกรมมีศักดินามากกว่ากรมอื่นๆ โดยเจ้ากรมนวดตำแหน่งออกหลวงราชรักษา มีศักดินา 1600 เท่ากับหมอหลวง ถือเป็นหมอหลวงที่ทำงานราษฎร์ไปในขณะเดียวกันด้วย ขณะที่กรมอื่นๆ ส่วนใหญ่มีศักดินาอยู่ที่ 400
3
เพราะว่าอยุธยาเป็นสังคมใช้แรงงาน ความเหนื่อยล้าปวดเมื่อยตามร่างกายย่อมมีมาก การรักษาด้วยวิธีนวดจึงมีบทบาทสำคัญในสมัยนั้น
1
เจ้ากรมหมอนวดมีตำแหน่งเป็นหลวงรักษา แบ่งการบริหารเป็นปลัดกรมหมอนวดฝ่ายขวา หรือ หมอนวดฝ่ายชาย มีขุนภักดีองค์เป็นปลัดกรม และมีเจ้ากรมหมอนวดฝ่ายซ้าย หรือ หมอนวดฝ่ายหญิง มีหลวงราโชเป็นหัวหน้า และขุนองครักษาเป็นปลัดเจ้ากรม
คัมภีร์แผนนวด ระบุถึงเส้นเอ็นต่างๆในร่างกายมนุษย์ ภาพจาก กรมศิลปากร, ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ 5 เล่ม 2 หน้า 76
• กรมหมอยาตา รับผิดชอบเกี่ยวกับโรคตา มีเจ้ากรมซ้ายขวาเป็นหัวหน้า ตำแหน่งขุนราชเนตรเป็นเจ้ากรมฝ่ายขวา ขุนทิพเนตรเป็นเจ้ากรมฝ่ายซ้าย
• กรมหมอวรรณโรค รับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาบาดแผลชนิดต่างๆ ที่ปรากฏบนผิวหนังร่างกาย มีหลวงสิทธิแพทย์เป็นเจ้ากรม ขุนมหาแพทย์เป็นปลัดกรมฝ่ายขวา ขุนสาระแพทย์เป็นปลัดกรมฝ่ายซ้าย
• โรงพระโอสถ เป็นหน่วยงานที่เก็บรักษาดูแลและเสาะหายาสมุนไพรชนิดต่างๆ จึงเป็นอีกกลุ่มชนนอกเหนือจากกลุ่มพ่อค้าชาวจีนที่มีสิทธิพิเศษในการเดินทางเพื่อหายาสมุนไพรมาไว้ใช้ เปรียบเหมือนคลังยาของกรุง มีออกญาแพทยพงษาวิทสุทธาธิบดีเป็นผู้กำกับดูแล
1
# หมอหลวง #
ตาม “พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน” หมอหลวงหรือแพทย์ของราชสำนักมีราชทินนาม “พระศรีมโหสถราชแพทยาธิบดีศรีองครักษ์” บางทีควบตำแหน่งเป็นเจ้ากรมแพทยาหน้าด้วย มีศักดินา 1,600
1
การแพทย์แผนที่ได้รับความเชื่อถือและเป็นสังกัดของหมอหลวง เดิมทีได้แก่ การแพทย์แผนจีน ภายหลังเมื่อชาติตะวันตกเข้ามาค้าขายในอยุธยา ในเรือสินค้ามักมีหมอเดินทางมาด้วย และหมอที่มาในเรือสินค้าตะวันตก เช่น โปรตุเกส ดัตซ์ อังกฤษ ฝรั่งเศส มักจะได้รับเชิญเข้าสู่ราชสำนัก ควบคู่เป็นบาทหลวงที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนา ซึ่งมักทำหน้าที่หมอรักษาคนไข้และเป็นล่ามไปในตัว
3
[ไข้ทรพิษระบาดครั้งใหญ่มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่]
หรือ New Normal ครั้งสำคัญในระบบการบริหารราชการด้านสาธารณสุขในสมัยนั้นนั่นเอง
2
ประเด็นเรื่องการแพทย์ได้ขยับกลายเป็นภารกิจของรัฐศักดินาอยุธยา ในด้านทางโลก คือรัฐต้องทำให้ชาวบ้านและแรงงานไพร่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐทั้งทางการทหารและการสร้างวัดตามความเชื่อ ควบคู่กับการเป็นรัฐทางจิตวิญญาณ รัฐมีบทบาทให้ผู้คนบรรลุจุดหมายปลายทางตามอุดมคติของศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิทธิพลพุทธศาสนาแบบมหายานที่มีผลต่อสถาบันกษัตริย์
1
อ้างอิง:
กรมศิลปากร, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เล่ม 2 พงศาวดารเหนือฉบับพระวิเชียรปรีชา (น้อย) หน้า 366-372, 388-398
กรมศิลปากร, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) หน้า 9
สุจิตต์ วงษ์เทศ, อยุธยายศยิ่งฟ้า หน้า 13-14
เรื่องเดียวกัน หน้า 392
ทวีศักดิ์ เผือกสม, เชื้อโรค ร่างกาย และรัฐเวชกรรม: ประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ในสังคมไทย หน้า 19-25
พระโหราธิบดี, พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2544) หน้า 16
กรมศิลปากร, กฎหมายตราสามดวง หน้า 262-264
David K. Wyatt, Thailand: A short history pp. 60-62
Dhiravat na Pombejra, Court, Company and Campong: Essays on the VOC presence in Ayutthaya pp. 25-43
โฆษณา