18 ธ.ค. 2021 เวลา 09:02 • สุขภาพ
การใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดทาภายนอก
🔶ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกมีความแรงแตกต่างกัน ความแรงของยาประเมินจากการออกฤทธิ์ที่ทำให้หลอดเลือดบีบตัวร่วมกับผลที่ได้จากการศึกษาเปรียบเทียบความแรงของยา ซึ่งความแรงขึ้นกับปัจจัยต่างๆ ได้แก่
ชนิดของตัวยาสำคัญ
ชนิดของเกลือ
ปริมาณยา
รูปแบบยา
ตัวอย่างเช่น betamethasone มีความแรงมากกว่า​ hydrocortisone
betamethasone dipropionate จะมีความแรงมากกว่า​betamethasone valerate
✳️นอกจากนี้ยาในรูปแบบขี้ผึ้งจะช่วยปกคลุมผิวหนัง ลดการสูญเสียน้ำและเพิ่มการดูดซึมตัวยาสำคัญ แต่ยาประเภทขี้ผึ้งทำให้เหนอะหนะผิว ทาเป็นวงกระจายได้ยากและเป็นมันทำให้ล้างออกยาก ผู้ป่วยมักไม่ชอบ
❇️การดูดซึมยาผ่านผิวหนังแต่ละแห่งไม่เท่ากัน เช่น
การดูดซึมผ่านฝ่ามือหรือฝ่าเท้า (0.1–0.8%)
บริเวณระหว่างข้อศอกกับข้อมือ (1%)
ใบหน้า (10%)
หนังศีรษะและตามซอกพับ (ราว 4%)
เปลือกตาและถุงอัณฑะ (40%) เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้บริเวณที่มีการดูดซึมดีควรใช้ยาที่มีความแรงต่ำและควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีความแรงสูงรวมถึงพวกที่มีความแรงรองลงมาหากต้องใช้เป็นเวลานาน
ส่วนบริเวณฝ่ามือหรือฝ่าเท้าจะใช้ยาที่มีความแรงสูง
อย่างไรก็ตาม หากรอยโรคมีบริเวณกว้างควรใช้ยาที่มีความแรงลดลง เพื่อลดปริมาณยาที่ถูกดูดซึมเข้าระบบของร่างกาย
⭕อาการไม่พึงประสงค์เมื่อใช้ยาที่มีความแรงสูงและใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่วนใหญ่เป็นอาการที่เกิดเฉพาะที่ มีเป็นส่วนน้อยที่เกิดกับระบบภายในร่างกาย
อาการที่เกิดเฉพาะที่ เช่น
แพ้ยาตรงบริเวณที่สัมผัสยา (อาจแพ้ต่อตัวยาสเตียรอยด์หรือสารอื่นในตำรับ)​
ทำให้แผลที่เป็นอยู่หายช้า
ยาสเตียรอยด์​มีฤทธิ์​กดภูมิคุ้มกัน​ ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา นอกจากนี้ยาอาจบดบังอาการติดเชื้อจนทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงในภายหลัง
ผิวหนังบริเวณที่ทายาบางลง มีเส้นเลือดฝอยขยาย ผิวแดง ร้อน มีริ้วลาย เหี่ยวลีบ ฟกช้ำง่าย อาจเกิดรอยแผลตรงเป็นบริเวณที่ทายา การทาบริเวณหน้าอาจเกิดผื่นแดงและตุ่มแดงคล้ายสิว นอกจากนี้อาจพบผิวด่างเนื่องจากการที่มีเม็ดสีน้อยลง
🔴การใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกมีข้อควรคำนึงในการใช้ยาดังนี้
ก่อนใช้ยาต้องมั่นใจว่าผิวหนังบริเวณนั้นไม่เป็นโรคติดเชื้อ
ไม่ใช้เพื่อรักษาโรคหน้าแดง (rosacea) ปากแตก สิว โรคผิวหนังที่มีการติดเชื้อ
ใช้เฉพาะกับโรคผิวหนังอักเสบที่ตอบสนองดีต่อยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก
ไม่ควรใช้ชนิดที่มีความแรงสูงกับผิวหนังที่บาง เช่น ใบหน้า เปลือกตา ซอกพับ อวัยวะเพศ และผิวทารก รวมถึงบริเวณผิวหนังเปิด เช่น ผิวถลอก เนื่องจากผิวที่บริเวณดังกล่าวจะมีการดูดซึมยาได้มากขึ้น
ควรหลีกเลี่ยงการทายาแบบมีสิ่งปิดทับ เนื่องจากการทาแบบนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ที่มีความคุ้นเคยกับการให้ยาวิธีดังกล่าว
ไม่ควรใช้ชนิดที่มีความแรงสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน
ยาอาจกดการทำงานของต่อมหมวกไต หากใช้ชนิดที่มีความแรงสูงและใช้เป็นบริเวณกว้าง ดังนั้นจึงควรหยุดใช้ยาเป็นช่วงๆ โดยทั่วไปมักใช้ติดต่อกันไม่เกิน 2 สัปดาห์
การใช้ยาที่มีความแรงสูงเป็นเวลานาน หากจะลดขนาดยาควรลดอย่างช้าๆ การลดขนาดยาเร็วเกินไปอาจทำให้โรคกำเริบ
หลีกเลี่ยงการใช้ในสตรีมีครรภ์ หากจำเป็นต้องใช้ยาควรเลือกชนิดที่มีความแรงต่ำจนถึงความแรงปานกลางเท่านั้น และใช้เป็นเวลาสั้นๆ
.
.
💢
เนื้อหาจาก
ยาทาสเตียรอยด์สำหรับโรคผิวหนัง
รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
.
ภาพจาก
Selection of an effective topical corticosteroid
AJGP > 2021 Volume 50, Issue 9, September 2021
ภาพจาก https://gmmmg.nhs.uk/guidance/clinical-guidance-and-pathways/gm-steroid-ladder/
🏵️ลักษณะของรอยโรค :
↗️โรคผิวหนังที่มีการอักเสบเฉียบพลัน
มักมีลักษณะรอยโรคที่ไม่หนามาก เช่น
ผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส (Contact Dermatitis)
ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis)
จะตอบสนองได้ดีต่อยาสเตียรอยด์ชนิด Medium to High Potency
อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีอาจใช้
ยาสเตียรอยด์ที่มีความแรงสูง ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เมื่อเริ่มต้นการรักษาได้
↗️โรคผิวหนังชนิดเรื้อรัง รอยโรคมักเป็นผื่นหนา เช่น สะเก็ดเงิน
จะตอบสนองได้ดีต่อยาสเตียรอยด์ชนิดทาภายนอกที่มีความแรงสูง
🏵️ตำแหน่งรอยโรค​ :
↗️ผิวหนังที่มีความบาง ได้แก่ ใบหน้า รอบดวงตา บั้นท้าย ซอกพับ (เช่น รักแร้ ขาหนีบใต้ราวนม อวัยวะเพศ) ควรเลือกใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดทาภายนอกที่มีความแรงต่ำหรือปานกลาง โดยจำกัดปริมาณการใช้และและระยะเวลาการใช้ยา
หากใช้ยาที่มีความแรงสูงขึ้นควรจำกัดการใช้ไม่เกิน 2 สัปดาห์ ยกเว้นผื่นที่เป็นเรื้อรังหรือโรคบางอย่างที่จำเป็น
↗️ผิวหนังที่มีความหนา เช่น ฝ่ามือ ฝ่าเท้า มักจะต้องใช้ยาที่มีความแรงสูงถึงสูงมาก
กรณีที่รอยโรคเป็นบริเวณกว้างควรเลือกใช้ยาสเตียรอยด์ชนิด
ทาภายนอกที่มีความแรงต่ำจนถึงปานกลาง เพื่อลด
ปริมาณการดูดซึมยาเข้าสู่กระแสเลือด
🏵️ปริมาณยาที่ทา :
โดยทั่วไป ยาทา 30 กรัม สามารถครอบคลุมพื้นที่ผิวผู้ใหญ่ทั่วทั้งตัว
ในขณะที่การทายาทั่วทั้งตัวใน
ทารก 6เดือน​ - 1ปี​ จะใช้ปริมาณยาประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ใหญ่
เด็ก จะใช้ปริมาณยาประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่​
​ส่วนวัยรุ่นจะใช้ยา 2 ใน 3 ส่วนของผู้ใหญ่
โดยยาที่มีความแรงสูงถึงสูงมาก ไม่ควรใช้เกินสัปดาห์ละ 45 กรัม
เช่น ยา Clobetasol Propionate ไม่ควรใช้เกิน 45 กรัมต่อสัปดาห์
ส่วนยาที่มีความแรงต่ำถึงปานกลางไม่ควรใช้เกินสัปดาห์ละ 100 กรัม
🏵️ความถี่และวิธีทายา :
ควรพิจารณาความแรงยาและตำแหน่งของรอยโรคร่วมด้วย
โดยทั่วไปควรทายาไม่เกินวันละ 2 ครั้ง เนื่องจากการทายาที่บ่อยครั้งกว่านี้ ไม่เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและอาจเพิ่มผลข้างเคียงจากยาได้​
(ยกเว้นยาทาสเตียรอยด์​บางชนิดที่กำหนดให้ทาเพียงวันละครั้ง)
🦇ภาวะดื้อต่อสเตียรอยด์เฉียบพลัน (Tachyphylaxis)
เป็นผลโดยตรงจากการลดการตอบสนองต่อฤทธิ์ที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว (Vasoconstriction) ซึ่งมักพบในกรณีที่ใช้ยาชนิดที่มีความแรงสูงวันละ 3 ครั้ง ต่อเนื่องเป็นเวลา 4 วันขึ้นไป
ดังนั้นหากพบภาวะการตอบสนองต่อยาลดลงอาจพิจารณาหยุดยา 4 - 7 วัน แล้วเริ่มต้นให้การรักษาใหม่
.
💢
อ่านเพิ่มเติม
การบริบาลทางเภสัชกรรมในโรคผิวหนังอักเสบ -
Chiangrai Prachanukroh Hospital
ภาพจาก https://twitter.com/srrezaie/status/958232856370741248
POSTED 2021.12.18
UPDATED 2022.03.18
💥💥
บทความอื่น
👽ผิวหนังอักเสบ(Dermatitis)
ATOPIC DERMATITIS
ECZEMA
ผิวหนังแค่แพ้หรือติดเชื้อดูแลรักษาอย่างไร
ผดร้อน.
ผื่นผิวหนังโควิด
โฆษณา