1 ม.ค. 2022 เวลา 02:54 • ประวัติศาสตร์
🎉 ประวัติศาสตร์ของ New Year’s Resolution
เมื่อปีใหม่ย่างกรายมาเยือน วันที่ 1 จึงถือว่าเป็นวันที่ฤกษ์งามยามดี เป็นวันสำคัญที่คนทั่วโลกจำนวนมากถือเอาโอกาสนี้เริ่มต้นทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ดีสำหรับตัวเองและคนรอบข้าง หรือเริ่มต้นปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม แล้วแต่ว่าแต่ละคนจะตั้งใจทำอะไร เช่น ออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก รักษาสุขภาพ หาแฟนให้ได้ เก็บเงินให้มากขึ้น ลดการช็อปปิ้ง ฯลฯ
สิ่งนี้ในภาษาอังกฤษเรียกว่า New Year’s Resolution หรืออาจจะแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า ปณิธานปีใหม่ แต่ผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า ธรรมเนียมนี้ไม่ใช่เพิ่งมาทำกันเมื่อไม่นานมานี้ แต่แท้จริงแล้ว New Year’s Resolution นี้มีมานานมากกว่า 4,000 ปีเลยทีเดียว
1
🎉 จุดกำเนิดแรกเริ่มสุด
ในอดีตกาลอันนานโพ้นนับได้เกินกว่า 4,000 ปีมาแล้ว ชาวบาบิโลเนียโบราณเป็นชนกลุ่มแรกที่เริ่มต้นมีธรรมเนียมปณิธานปีใหม่ พวกเขาจะเริ่มต้นชีวิตในแต่ละปีด้วยการสัญญากับเทพเจ้าว่าพวกเขาจะใช้หนี้ที่กู้ยืมมา และจะส่งคืนข้าวของที่หยิบยืมมาอีกด้วย
ชาวบาบิโลเนียโบราณยังเป็นชนกลุ่มแรกที่มีหลักฐานบันทึกว่ามีการเฉลิมฉลองในวันปัใหม่ ถึงแม้ว่าวันปีใหม่ของพวกเขาจะไม่ใช่วันที่ 1 มกราคมเหมือนชาวเรา แต่เป็นกลางเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เริ่มต้นทำการเพาะปลูก
ในวาระวันปีใหม่ที่เรียกว่า อาคิตู (Akitu) นี้ที่มีการเฉลิมฉลองทางศาสนาติดต่อกันนาน 12 วัน นอกจากจะสัญญากับพระเจ้าว่าพวกเขาจะจ่ายหนี้และคืนสิ่งของซึ่งเป็นเครื่องไม้เครื่องมือทางการเกษตรที่ยืมมาแล้ว ชาวบาบิโลเนียโบราณจะใช้วาระนี้สถาปนากษัตริย์องค์ใหม่หรือไม่ก็ปฏิญาณความจงรักภักดีแก่กษัตริย์ที่กำลังปกครองพวกเขาอยู่
การสัญญาต่อพระเจ้าเช่นนี้ ถือว่าชาวบาบิโลเนียโบราณเป็นผู้บุกเบิกธรรมเนียมการตั้งปณิธานปีใหม่รุ่นแรกสุด ซึ่งเชื่อกันว่าหากพวกเขาทำตามที่สัญญาไว้ พระเจ้าก็จะโปรดปรานแล้วประทานรางวัลแด่พวกเขาในปีต่อไป แต่ถ้าไม่ทำตามที่สัญญาแล้วล่ะก็พระเจ้าก็จะไม่โปรด ซึ่งคนในเวลานั้นไม่กล้าทำตัวให้ไม่เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า
ภาพสลักพิธีอาคิตูของชาวบาบิโลเนียโบราณบนตราประทับทรงกระบอก ที่มา: DailyHistory
🎉 ปณิธานปีใหม่ในยุคโรมันโบราณ
ในกาลต่อมา ธรรมเนียมปฏิบัตินี้ก็ได้กระทำเช่นเดียวกันในหมู่ชนชาวโรมันโบราณ
เมื่อประมาณ 46 ปีก่อนคริสต์ศักราช จักรพรรดิจูเลียส ซีซาร์ ผู้ปกครองผู้มีหัวปฏิรูปได้พยายามปรับปรุงปฏิทินและสถาปนาวันที่ 1 มกราคมเป็นวันเริ่มต้นของปี พระองค์ตั้งชื่อเดือนแรกของปีตามตามเทพสองหน้านามว่าแจนนัส (Janus) ซึ่งวิญญาณของเทพตนนี้จะสิงสู่อยู่ตามทางเข้าประตูหรือซุ้มโค้ง จึงถือว่าเป็นเทพผู้พิทักษ์ประตูและซุ้มโค้ง
เดือนมกราคมจึงมีความสำคัญสำหรับชาวโรมันมาก ด้วยความที่เชื่อว่าเทพแจนนัสเป็นสัญลักษณ์แห่งการมองย้อนหลังไปที่ปีที่ผ่านมาเพื่อสะท้อนกลับแล้วแก้ไขและมองไปข้างหน้าในอนาคตเพื่อเริ่มต้นใหม่ ชาวโรมันจึงทำการบูชาเทพและทำการสัญญากับเทพว่าจะประพฤติตนให้ดีในปีที่กำลังจะมาถึงนี้
จากข้อมูลนี้ก็แสดงให้เห็นว่าชาวโรมันก็มีธรรมเนียมปณิธานปีใหม่เช่นเดียวกัน
รูปปั้นเทพแจนนัสที่มี 2 หน้า ที่มา: Wikipedia
🎉 ในยุคกลาง
สำหรับยุคกลาง ธรรมเนียมปณิธานปีใหม่สะท้อนให้เห็นจากธรรมเนียมปฏิบัติของเหล่าอัศวินผู้กล้าหาญชาญชัย
เหล่าอัศวินจะทำการสัตย์ปฏิญาณตนเพื่อเกียรติยศและความกล้าหาญในฐานะอัศวินใหม่โดยวางมือไว้บนนกยูง ซึ่งพิธีปฏิญาณนกยูง (Peacock Vow) นี้จะกระทำกันตอนทุกสิ้นปี เพื่อแสดงความแน่วแน่ตั้งมั่นที่จะดำรงไว้ซึ่งคุณค่าแห่งความเป็นอัศวิน
ภาพงานเลี้ยงในพิธีปฏิญาณนกยูง ที่มา: Wikipedia
🎉 สำหรับชาวคริสต์
สำหรับชาวคริสต์ในยุคแรกเริ่ม วันแรกของปีใหม่ได้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ต้องพึงกระทำโดยต้องมาคิดใคร่ครวญถึงความผิดพลาดที่เคยทำมาแล้วพิจารณาหาทางแก้ไขและทำให้ดีขึ้นต่อไปในอนาคต
ในปี 1740 พระชาวอังกฤษนามว่า จอห์น เวสลีย์ (John Wesley) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งนิกายเมธอดิสต์ได้ริเริ่มพิธีกรรมที่เรียกว่า Covenant Renewal Service อารมณ์ประมาณเป็นพิธีทำข้อตกลงแห่งการเริ่มต้นใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่โดยทั่วไปจะจัดขึ้นในวันก่อนปีใหม่หรือไม่ก็ในวันขึ้นปีใหม่เลย ซึ่งจะมีทั้งการอ่านพระคัมภีร์ไบเบิล การร้องเพลงสวดสรรเสริญหรือขอบคุณพระเจ้า และทำพิธีทางจิตวิญญาณเป็นทางเลือกแทนการเฉลิมฉลองที่เสียงดังเอะอะมะเทิ่งอย่างที่ทำกันเมื่อปีใหม่กำลังจะมาถึง พิธีกรรมในตอนค่ำในคืนก่อนวันขึ้นปีใหม่จะเป็นการสวดมนต์และตั้งปณิธานสำหรับปีที่กำลังจะมาถึง
พิธีกรรมในตอนค่ำในคืนก่อนวันขึ้นปีใหม่แพร่หลายอย่างมากในหมู่ชาวแอฟริกัน-อเมริกันดังรูปที่พวกเขากำลังรอคอยเวลาเที่ยงคืนในปี 1862 ที่มา: Wikipedia
🎉 ที่มาของคำว่า New Year’s Resolution
เมื่อปี 1813 หนังสือพิมพ์ของเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา ได้เริ่มใช้วลี New Year resolution เป็นครั้งแรกในบทความสั้น ๆ ชื่อว่า “The Friday Lecture”
บทความนี้เขียนลงหนังสือพิมพ์ในวันที่ 1 มกราคม ซึ่งมีเนื้อหาเขียนในเชิงตลกขบขันถึงพฤติกรรมของผู้คนที่ใช้ New Year’s resolution เพื่อเป็นข้ออ้างในการทำตัวอีลุ่ยฉุยแฉกได้ตามใจจนก่อนจะถึงวันปีใหม่ โดยบทความมีเนื้อหาประมาณว่า
คนจำนวนมากชินกับการรับแนวปฏิบัติของ New Year’s resolution จึงทำบาปตลอดเดือนธันวาคมแล้วตั้งใจอย่างแน่วแน่จริงจังว่าจะเริ่มต้นปีใหม่ด้วยความตั้งใจใหม่และทำตัวใหม่ โดยมีความเชื่ออย่างเต็มเปี่ยมว่าพวกเขาจะล้างบาปและชะล้างความผิดที่กระทำมาก่อนหน้านี้ได้
หนังสือพิมพ์ฉบับที่น่าจะเป็นฉบับที่เริ่มใช้คำว่า New Year’s Resolution ที่มา: Brewminate
🎉 ส่งท้าย
ดังนั้น ปณิธานปีใหม่จึงมีรากเหง้ามาจากศาสนา ในอดีตเป็นการสัญญาต่อพระเจ้า และพัฒนามาเป็นความแน่วแน่ตั้งใจในทางศาสนาหรือจิตวิญญาณเพื่อพัฒนาศีลธรรมให้เข้มแข็งขึ้น แต่ในปัจจุบันแทบจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เป็นการสัญญาเพื่อพัฒนาตัวเองล้วน ๆ หรือสัญญากับคนใกล้ตัว ยกเว้นคนที่ตั้งใจว่าปีใหม่แล้วจะไหว้พระสวดมนต์ทุกวัน ไปวัดทุกวัน หรือจะรักษาศีล ไม่ทำบาปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต งดสุรานารี ไม่เล่นการพนัน ฯลฯ ซึ่งพอจะออกไปทางศาสนาหน่อย
ปณิธานปีใหม่ที่เรา ๆ ทำกันในทุกวันนี้มีนักสังคมวิทยาวิเคราะห์ว่ามันได้สะท้อนให้เห็นถึงประเด็นเรื่องของสถานะ ความมั่งคั่งทางการเงินความรับผิดชอบ และวินัยส่วนตน
แล้วพอคนยุคปัจจุบันไม่ทำสัญญากับพระเจ้า สิ่งที่ตามมาคือปณิธานปีใหม่จึงเป็นสิ่งที่มักทำกันไม่ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ เพราะเมื่อสัญญิงสัญญากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์คนมักจะไม่กล้าบิดพริ้ว แต่ถ้ากับตัวเองก็ตั้งไปเถิด…ล้มตลอด (ผู้เขียนก็เป็น ทำไม่เคยได้เลยจนได้เลิกตั้งปณิธานปีใหม่มานานหลายปีแล้ว เพราะปีไหน ๆ ก็มีแต่เห่า ฮา-ฮา)
มีข้อมูลงานวิจัยเฉพาะของคนอเมริกันพบว่า ชาวอเมริกันคิดเป็นสัดส่วน 45% โดยปกติแล้วจะตั้งปณิธานปีใหม่เป็นประจำ แต่มีเพียง 8% เท่านั้นที่ทำได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
ตัวเลขที่น่าหดหู่ใจเช่นนี้คงไม่มีผลอะไรต่อการตั้งปณิธานปีใหม่ของคนทั่วโลก เพราะปีต่อ ๆ ไปก็คงจะตั้งกันใหม่ไปเรื่อย ๆ มิฉะนั้นมนุษยชาติคงไม่พยายามทำกันมามากเกินกว่า 4,000 ปีมาแล้ว
สวัสดีปีใหม่ ขอให้ผู้อ่านจงประสบความสำเร็จในการทำตามปณิธานปีใหม่ให้บรรลุผลกันถ้วนหน้าเทอญ สาธุ 🤣
การ์ตูนล้อเลียนปณิธานปีใหม่ ที่มา: CleanPNG

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา