3 ม.ค. 2022 เวลา 12:15 • ประวัติศาสตร์
การกินอยู่ของคนในสมัยอยุธยา ตอนที่ 2
“พริกไทย” สินค้าเปลี่ยนโลก
“ขนมปัง” อาหาร #อินเตอร์ สมัยอยุธยา
1
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดกำแพง เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ที่มา: ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนัง สถาบันไทยคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์
  • เท้าความเดิมตอนที่แล้ว (ตอน 1) สรุป คือ “ข้าว” กับ “ปลา” เป็นอาหารหลักของคนในสมัยอยุธยา
1
• ข้าวที่นิยมปลูกเพื่อทานเป็นข้าวเจ้า (แต่เดิมเป็นข้าวเหนียวตั้งแต่สมัยทวารวดี)
• ปลาที่จับได้ในแม่น้ำลำคลอง ยิ่งมีมากในฤดูน้ำหลาก ทำให้คนสมัยอยุธยานิยมปลูกบ้านทรงสูงแล้วผูกเรือไว้กับเสาใต้ชาน
• สำรับและวัฒนธรรมการกินของคนอยุธยาเป็นแบบเรียบง่าย ต้มหรือนึ่งให้ร้อนจนได้ที่หรือแกง ใช้ปลาแห้งตกแต่งเป็นกับข้าวได้หลายสำรับ
[“พริกไทย” สินค้าเปลี่ยนโลก]
...
  • พริกไทย เป็นเครื่องเทศที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสมัยอยุธยา เรียกได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจซึ่งมีดีมานด์ทั่วโลก ลักษณะเป็นพืชไม้เถา มีรากงอกตามข้อต่อของเถา สำหรับประวัติความเป็นมาของพริกไทยในสมัยอยุธยา มีอยู่ 2 ทฤษฎี คือ
2
1. เป็นพืชพื้นเมืองดั้งเดิมขึ้นตามป่าเขตร้อนในแถบอินเดียและอุษาคเนย์ ชาวอาหรับนำเอาไปขายที่ยุโรป
  • แต่เมื่อเกิดสงครามครูเสด ทำให้ชาวยุโรปต้องแสวงหาเครื่องเทศจากแหล่งอื่นแทน โดยต้องไม่ใช้เส้นทางผ่านอาหรับ จนมาค้นพบเครื่องเทศในอุษาคเนย์ โดยปลูกแพร่หลายและเป็นของไม่มีราคา พริกไทยจึงกลายเป็นสินค้าส่งออกระดับโลก
5
2. ไม่ใช่พืชพื้นเมืองเดิมของอุษาคเนย์ ชาวโปรตุเกสต่างหากเป็นผู้นำมาจากแถบอเมริกาใต้ เข้ามาปลูกและแพร่หลายในอุษาคเนย์
1
  • เมื่อชาวยุโรปเดินทางเข้ามายังอุษาคเนย์ ก็ได้ทำการค้านำพริกไทยและเครื่องเทศอื่นๆ กลับไปขายยังยุโรป โดยโปรตุเกสเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่ประสบความสำเร็จในการเดินทางค้าเครื่องเทศ โดยมีจุดเริ่มต้นในศตวรรษที่ 16
3
ภาพลายเส้น พืชเครื่องเทศหลากหลายชนิดที่ชาวโปรตุเกสพบในเอเชีย เครดิตภาพ: หนังสือ The Portuguese Empire, 1415-1808: A world on the move, A.J.R. Russell-Wood, July 31, 1998
  • พริกไทยมีคุณค่าทางอาหารน้อยมาก เมื่อเทียบกับอาหารอย่างอื่น แต่มีประโยชน์ด้านอื่น คือ
• ช่วยทำให้กลิ่นและรสชาติอาหารดีขึ้น
• ตกแต่งอาหารให้น่าทาน
• เป็นยารักษาโรค โดยเฉพาะอาการหวัด พริกไทยจึงเป็นของมีค่าในดินแดนที่หนาวเย็นยาวนานอย่างยุโรป
3
• ใช้ในการรักษาศพไม่ให้เน่าเปื่อย โดยบรรจุใส่ในช่องท้องของศพ พบได้ตามหลักฐานของชนพื้นเมืองโบราณ จึงเป็นส่วนหนึ่งในพิธีกรรมตามแนวคิดเรื่องชีวิตหลังความตายและการกลับฟื้นคืนชีวิตเพื่อฟังคำตัดสินพิพากษาของพระเจ้า ที่มีมาตั้งแต่อียิปต์โบราณตกทอดมายังชาวคริสต์
3
[พริกไทย - Made in Ayutthaya]
...
  • จากจดหมายเหตุราชวงศ์หมิง (Tai Ming Shih-lu) และเอกสารพ่อค้าริวกิว (Ryukyuan traders documents) ปรากฏมีสินค้า 3 อย่าง ในรายการสินค้าบรรณาการที่ส่งไปจีนและญี่ปุ่น คือ ไม้ฝาง หนังกวาง และพริกไทย
  • แต่สำหรับหลักฐานที่ชาวอยุธยาบันทึกเอง กลับไม่พูดถึงพริกไทยเท่าไหร่ อาจเป็นไปได้ว่านโยบายการค้าผูกขาดที่เริ่มในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ส่งผลทำให้พริกไทยในอยุธยาถูกเก็บรวบเข้าในพระคลังสินค้า เพื่อเตรียมส่งออกไปขายต่างชาติ ส่วนที่เหลือเล็ดลอดนั้น ถ้าไม่ใช่การลักลอบขาย ก็อยู่ในสินค้าประเภทยารักษาโรค
2
  • ข้อมูลจาก คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง ระบุเกี่ยวกับสินค้าที่ขายอยู่ตลาดป่ายา ตอนหนึ่งว่า “มีร้านขายเครื่องเทศเครื่องไทย ครบสรรพคุณยาทุกสิ่ง”
  • “เครื่องเทศเครื่องไทย” จากข้อความข้างต้น เหมือนบอกเป็นนัยว่า มีของไทยกับของต่างประเทศ
“ของไทย” ก็น่าจะหมายถึงพริกไทยและเครื่องเทศที่ปลูกในอุษาคเนย์ มีหลากหลายชนิดตามแต่ละท้องถิ่น ซึ่งพ่อค้าชาวยุโรปคงเรียกเหมารวมกันทั้งหมดหมายถึงเครื่องปรุงรสเผ็ดหรือเครื่องเทศนั่นเอง
ภาพวาดพริกไทย สินค้าเครื่องเทศสำคัญในสมัยอยุธยา เครดิตภาพ: CC BY 4.0, Wellcome Library
[“ขนมปัง” อาหาร #อินเตอร์ สมัยอยุธยา]
...
  • “ขนมปัง” เป็นอาหารฝรั่งที่คาดว่าเข้ามาในสังคมไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา มีหลายข้อสันนิษฐานคือ
• อาจจะรับมาจากฝรั่งเศส เพราะชาวฝรั่งเศสออกเสียงเรียกว่า “แปง” (Le pain เลอแปง) ข้อนี้มีความเป็นไปได้น้อย
2
• รับมาจากโปรตุเกส เพราะชาวโปรตุเกสออกเสียงเรียกว่า “เปา” (pão) ข้อนี้เป็นไปได้มากกว่า เพราะชาวโปรตุเกสเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งชุมชนอาศัยในอยุธยา
2
...
  • คริสต์ศตวรรษที่ 19 มีข้อมูลหลักฐานว่า ชาวอยุธยารู้จักขนมปังและมีสูตรทำจากข้าวสาลีที่ปลูกด้วยตนเอง เพราะในอยุธยามีชุมชนชาวยุโรปหลายแห่ง เช่น บ้านโปรตุเกส บ้านฮอลันดา ชุมชนอังกฤษ และชุมชนฝรั่งเศส
ที่บ้านโปรตุเกสและชุมชนชาวฝรั่งเศสที่บ้านญวน (ใกล้วัดพุทไธศวรรย์) ศูนย์กลางชุมชนเป็นโบสถ์คริสต์
...
  • ขนมปังกับไวน์เป็นสิ่งสำคัญในงานพิธีของชาวคริสต์ เพราะเป็นสัญลักษณ์แทนการเสียสละไถ่บาปแก่มนุษย์ของพระเยซู ขนมปังแทนพระมังสา ไวน์แทนพระโลหิต ด้วยความเชื่อนี้ทำให้บาทหลวงมิชชันนารีและคณะที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาในอยุธยา จึงต้องมีการผลิตขนมปังคู่กับไวน์ในอยุธยา
3
ภาพวาดโรงอบขนมปังในยุโรป เครดิตภาพ: CC BY 4.0, Wellcome Library
[รีวิว “ขนมปัง” จากมุมมองฝรั่ง ในสมัยอยุธยา]
...
  • บันทึกของ ลา ลูแบร์ (อีกเช่นเคย) ได้มีเขียนไว้ว่า
“อนึ่ง ขนมปังสดที่พระเจ้ากรุงสยามโปรดพระราชทานแก่พวกเรานั้นผากเกินไป กระทั่งว่าข้าวสวยที่หุงด้วยน้ำบริสุทธิ์นั้นมาตรว่าจะจืดชืดสักเพียงไร ข้าพเจ้าก็ยังเห็นว่าน่าบริโภคมากกว่าตั้งเป็นกอง
… แม้กระนั้นก็ยังมีขาวยุโรปยืนยันแก่ข้าพเจ้าว่า ขนมปังสดข้าวสาลีของประเทศสยามนั้นดีและที่พวกเรารู้สึกว่าผากไปบ้างนั้น อาจเป็นเพราะเขาได้ปนแป้งข้าวเจ้าเข้าไปด้วยกับแป้งข้าวสาลีเพื่อการประหยัดหรือเกรงว่าขนมปังสด (ที่ทำด้วยแป้งสาลีล้วนๆ) จะขาดมือก็ได้”
...
  • จากข้อความหรือที่อาจเรียกว่ารีวิวด้านบน แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่ว่าขนมปังจะเป็นของที่มีทำแต่ในชุมชนชาวต่างชาติต่างๆเท่านั้น อย่างน้อยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (สมัยที่ ลา ลูแบร์ เข้ามา) ก็มีรู้จักการทำขนมปังและมีสูตรของตนเอง เป็นของพระราชทานให้แก่คณะทูตที่เดินทางเข้ามาในอยุธยา เพื่อใช้เป็นเสบียงในการเดินข้ามทะเลนั่นเอง
2
...
  • บันทึกของแชร์แวส ระบุไว้ว่า
“คนไทยเห็นว่าข้าวนั้นกินอร่อยกว่าขนมปัง ซึ่งในประเทศก็มิได้ขาดแคลนเลย แม้ว่าเขาจะได้ปลูกข้าวสาลี และสร้างโรงสีลมขึ้น แต่ครั้นถึงคราวที่เขาอยากจะกินขนมปังขึ้นมา ก็ใช้ทาส 4-5 คน ช่วยกันบด ในวันหนึ่งจะได้แป้งสาลีรวมกันสักลิตรเดียวก็ทั้งยาก ต้องใช้หวายกระหน่ำหลังเร่งกันไปทีเดียว”
2
...
  • จากข้อความหรือรีวิวด้านบน แสดงให้เห็นว่า กรรมวิธีการผลิตขนมปังในอยุธยานั้นมีความยากลำบาก ถึงแม้จะมีข้าวสาลีนำมาใช้ผลิตขนมปังได้เพียงพอก็ตาม ต้องใช้แรงงานทาสเข้าช่วย
...
  • ขนมปังถือว่าเป็นอาหารอินเตอร์ของชาวอยุธยาสมัยนั้น แสดงถึงความพิเศษที่ต้องการความแตกต่างจากมื้ออาหารทั่วไป แต่อย่างไรก็ตามขนมปังก็ไม่ได้รับความนิยมในหมู่คนอยุธยาสมัยนั้นมากนัก ด้วยเหตุผลที่ว่า
• โรงอบขนมปัง ต้องใช้คนงานในการทำขนมปังมาก ทั้งคนอบ คนนวดแป้ง หลายขั้นตอน
1
• เทียบกับข้าวของคนอยุธยา เพียงแค่นำข้าวสารมาหุงก็เป็นข้าวพร้อมทานได้แล้ว
1
จบแล้ว ตอนที่ 2
ติดตามได้ในตอนต่อไป…
...
แหล่งที่มาอ้างอิง:
Plubplueng Kongchana, “The secret of ‘Phrik’ (Chilli) in Ayutthaya history,” in Reflexions on 500 years of the Thai-Portuguese relations, Natthanan Kunnamas and Pornsan Watanagura, ed. (Bangkok: Centre of European Studies at Chulalongkorn University, 2015), pp. 156-174
Suthachai Yimprasert, “Portugese Lancados in Asia in the sixteenth and seventeenth centuries” (Ph.D. Dissertation, University of Bristol, 1998) in Chapter 2; Maria da Conceio Flores (Bangkok: Centre of European Studies at Chulalongkorn University, 2015), pp. 17-31
Yoneo Ishii, “Religious pattern and economic change in Siam in the sixteenth and seventeenth centuries,” in Southeast Asia in the early modern era: Trade, power and belief, Anthony Reid, ed. (Ithaca: Cornell University press, 1993), pp. 181-183
คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง (นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2555) หน้า 20
เดอ ลา ลูแบร์, จดหมายเหตุลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม, แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร, หน้า 65
เรื่องเดียวกัน, หน้า 66-67
นิโกลาส์ แชรแวส, ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม, แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร, หน้า 100
โฆษณา