20 ม.ค. 2022 เวลา 23:08 • ประวัติศาสตร์
💰เจนนี เจโรม “เจ้าหญิงดอลลาร์” มารดาของวินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ
ในช่วง “ยุคฉาบทอง-Gilded Age” ของสหรัฐฯ ระหว่างปลายปี 1860-1890 เป็นห้วงเวลาช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่เศรษฐกิจอเมริกันเฟื่องฟูอย่างมหาศาลจนมีเศรษฐีเกิดใหม่ผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด
ครอบครัวเศรษฐีใหม่ชาวอเมริกันนั้น “มีสินแต่ไร้ศักดิ์” จึงอยากยกสถานะทางสังคมของครอบครัวตัวเองขึ้นมา วิธีที่นิยมกันในยามนั้นคือการให้ “เจ้าหญิงดอลลาร์-Dollar Princess” คือทายาทสาวของเศรษฐีอเมริกันได้หาทางแต่งงานไปกับขุนน้ำขุนนางอังกฤษเพื่อยกระดับสถานะทางสังคมให้สูงขึ้น ซึ่งบรรดาผู้มีเชื้อสายขุนนางที่มียศฐาบรรดาศักดิ์ชาวอังกฤษในเวลานั้นก็มักจะ “มีศักดิ์แต่ไร้สิน”
เมื่ออุปสงค์กับอุปทานสอดคล้องพ้องกันเช่นนี้ จึงเกิดปรากฏการณ์เจ้าหญิงดอลลาร์ข้ามน้ำข้ามทะเลมหาสมุทรแอตแลนติกมาแต่งงานกับขุนนางอังกฤษที่ฐานะการเงินย่ำแย่จำนวนมาก เพื่อจะได้รับยศฐาบรรดาศักดิ์ตามสามีอย่างที่ประสงค์ไว้ เพราะครอบครัวเศรษฐีใหม่อเมริกันบ้านไหน ๆ ก็อยากมีลูกสาวมีบรรดาศักดิ์เป็น “ดัชเชส” ไว้ประดับเพิ่มหน้าตาในสังคมให้กับตระกูล จะเรียกว่าเป็นการขายลูกสาวแลกตำแหน่งแห่งที่ในสังคมก็คงไม่ผิดนักเพื่อเป็นทางลัดในการให้ได้รับการยอมรับในวงสังคมของตัวเอง
ในบรรดาเจ้าหญิงดอลลาร์ที่มีอยู่นั้น วันนี้อยากจะมาเล่าเรื่องของเจนนี เจโรม (Jennie Jerome) เจ้าหญิงดอลลาร์ผู้มีชีวิตที่มีสีสันอย่างน่าทึ่ง เธอเป็นบุคคลแรก ๆ ที่สร้างกระแสเจ้าสาวดอลลาร์ให้เกิดขึ้นจนเป็นต้นแบบให้คนอื่น ๆ ทำต่อ ๆ มา เธอหอบเงินนับล้านดอลลาร์ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมาเพื่อแต่งงานกับลอร์ดแรนดอล์ฟ เชอร์ชิลล์ (Lord Randolph Churchill) และเป็นมารดาของนายกรัฐมนตรีอังกฤษเซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Sir Winston Churchill)
1
ที่มา: Wikipedia
💰น้องมีสินพี่มีศักดิ์
เมื่อลอร์ดแรนดอล์ฟ เชอร์ชิลล์ ประกาศการหมั้นหมายกับเจนนี เจโรม ลูกสาวเศรษฐีอเมริกันในปี 1874 บิดามารดาของฝ่ายชายต่างรู้สึกขนพองสยองเกล้า
แม้ฝ่ายหญิงจะเป็นสาวสังคมอเมริกันมีฐานะมั่งคั่งร่ำรวยจากเมืองบรู้กลิน นิวยอร์ก แต่เจนนีไม่ได้มาจากตระกูลขุนนางอังกฤษตามที่ควรจะเป็น บิดาของเธอเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีชื่อเสียว่าเป็นทั้งเสือผู้หญิงและนักไต่เต้าทางสังคม ซึ่งต้นตระกูลถือว่าต่ำต้อยในสายตาครอบครัวตระกูลเชอร์ชิลล์ที่เป็นขุนนางเก่าแก่ของอังกฤษ
ส่วนตัวของเจนนีนั้นก็ “เปรี้ยวเข็ดฟัน” จนเหลือทน ลำพังแค่รู้ว่าทั้งคู่รู้จักกันได้แค่เพียง 3 วันก็ทำเอาบิดามารดาของฝ่ายชายตกตะลึงแล้ว เธอยังมีรอยสัก ใช่แล้ว เธอสักรูปงูสีดำขดเลื้อยรอบข้อมือข้างซ้ายของตัวเอง สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องที่ตระกูลขุนนางเก่าแก่ในอังกฤษจะทำใจยอมรับได้ง่าย ๆ เพราะในเวลานั้นผู้หญิงสูงศักดิ์น้อยคนนักที่จะทำอะไรเช่นนี้
ด้วยเหตุนี้ บิดามารดาของฝ่ายชายจึงพยายามหาทางสกัดกั้นขัดขวางมิให้การแต่งงานนี้เกิดขึ้นการแต่งงานจึงช้าไปหลายเดือนเพราะบิดามารดาของทั้งสองฝ่ายโต้แย้งหาข้อตกลงกันเรื่องสมบัติและเงิน ๆ ทอง ๆ
1
แต่กลิ่นเงินนั้นหอมหวนยวนใจยิ่งนัก ลอร์ดแรนดอล์ฟมีรายได้อันน้อยนิดจากบิดา ส่วนบิดาของฝ่ายหญิงยินดีที่จะจ่ายค่าสินสอดจำนวนมหาศาล สุดท้ายบิดามารดาของฝ่ายชายจึงกัดฟันยอมให้การแต่งงานนี้เกิดขึ้นที่สถานทูตอังกฤษในกรุงปารีส ในปี 1874 ตอนที่เจนนีมีอายุได้ 20 ปี
ภาพถ่ายของลอร์ดและเลดี้แรนดอล์ฟ เชอร์ชิลล์ ที่ปารีสในปี 1874 ที่มา: Wikipedia
💰เจ้าสาวดอลลาร์
เจนนี เจโรม เป็นบุตรสาวของเลียวนาร์ด เจโรม (Leonard Jerome) เศรษฐีอเมริกันผู้มั่งคั่ง และมารดาที่ทะเยอทะยาน ด้วยฐานะที่มีทำให้เธอสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้อย่างสบาย ๆ ดังนั้นในปี 1873 มารดาของเจนนีได้นำเธอและพี่น้องอีก 2 คนเดินทางมาท่องเที่ยวที่ยุโรปเพื่อหลบลี้จากเรื่องนอกลู่นอกทางที่บิดาเธอก่อขึ้นและพาลูกสาวมาแนะนำให้เป็นที่รู้จักในสังคมชั้นสูงของยุโรป
ระหว่างที่เดินทางมาเยือนอังกฤษ เจนนีได้พบกับลอร์ดแรนดอล์ฟ เชอร์ชิลล์ บุตรชายคนที่ 3 ของดยุกแห่งมาร์ลเบอเรอะ บนเกาะไวท์ (Isle of Wight) ซึ่งหลังจากที่เกี้ยวพาราสีกันได้ 3 วันเจนนีก็ถูกขอแต่งงาน และเธอก็ตอบรับการขอแต่งงานนี้ทันที
ด้วยทรัพย์สินที่ติดตัวมา การแต่งงานกับเจนนีจึงทำให้ลอร์ดแรนดอล์ฟพลิกสถานะการเงินอันง่อนแง่นเป็นงอกงามทันที ในวันแต่งงานลอร์ดแรนดอล์ฟได้รับเงินจากบิดาของฝ่ายหญิงจำนวน 50,000 ปอนด์ คิดเป็นเงินในปัจจุบันก็ประมาณ 4.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
แต่แวดวงสังคมอังกฤษก็มีเรื่องให้ซุบซิบนินทา เพราะหลังจากแต่งงานได้ 7 เดือน เจนนีก็คลอดบุตรชายคนแรกชื่อว่าวินสตัน เลียวนาร์ด เชอร์ชิลล์ (Winston Leonard Churchill) ที่ปราสาทเบล็นนิมประจำตระกูล ในมณฑลออกซ์ฟอร์ดไชร์ โดยเธอให้เหตุผลว่าเป็นการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งยากที่จะทำให้แวดวงสังคมอังกฤษเชื่อคำพูดนี้เพราะบุตรชายแรกเกิดของเธอดูแข็งแรงสมบูรณ์ดีไม่เหมือนเด็กคลอดก่อนกำหนด และบุตรชายคนนี้ของเธอก็คือว่าที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษในกาลต่อมา แต่คนก็กังขาว่าลอร์ดแรนดอล์ฟเป็นบิดาที่แท้จริงของเด็กคนนี้หรือไม่ แม้กระทั่งพี่น้องของเธอยังเชื่อว่าเธอท้องกับคนอื่น
เจนนีมีบุตรชายคนที่ 2 เมื่อปี 1880 โดยตั้งชื่อว่าจอห์น สเตรงจ์ สเปนเซอร์ เชอร์ชิลล์ (John Strange Spencer Churchill) ด้วยสถานะทางสังคมในเวลานั้นเจนนีมิได้เลี้ยงดูลูก ๆ อย่างใกล้ชิด หน้าที่การเลี้ยงดูเป็นของพี่เลี้ยง แต่วินสตัน เชอร์ชิลล์ ก็รักและเทิดทูนมารดาของเขามาตั้งแต่ยังเด็ก
เมื่อแต่งงานแล้ว เจนนีถูกเรียกว่า “เลดี้ แรนดอล์ฟ เชอร์ชิลล์” และกลายเป็นดาวเด่นผู้ทรงเสน่ห์ในวงสังคมชั้นสูงอังกฤษ เธอเหมือนกับผู้หญิงคนอื่น ๆ ที่ชอบแต่งตัวสวย ๆ แต่เธอมีรสนิยมที่ฟู่ฟ่ากว่าปกติเพราะชอบแต่งกายเลียนแบบจักรพรรดินีธีโอดอร่าแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์
แม้กระทั่งเจ้าชายแห่งเวลส์ผู้ต่อมาคือกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 7 ก็ทรงโปรดปรานที่ได้พบปะคบค้ากับเธอในวงสังคม ด้วยความมีชีวิตชีวาตามแบบสาวอเมริกัน หน้าตาที่สวยงามและบุคลิกงามสง่า เป็นสาวทรงเสน่ห์ มีไหวพริบ เล่นเปียโนได้ดี และเป็นนักอ่านที่รอบรู้โดยเฉพาะการมีความกระตือรือร้นในการอ่านนวนิยาย ซึ่งถือว่าครบเครื่องเรื่องเข้าวงสังคม ณ เวลานั้น
แต่ชีวิตการแต่งงานนั้นไร้สุข เล่าลือกันว่าเธอมีความสัมพันธ์นอกสมรสและมีชู้รักมากมาย ซึ่งล้วนเป็นชายชั้นสูงในวงสังคมยุโรป เจ้าชายแห่งเวลส์คือหนึ่งในนั้น ซึ่งลอร์ดแรนดอล์ฟสามีของเจนนีก็มีอายุไม่ยืนยาวนักเสียชีวิตไปเมื่อปี 1895 ด้วยวัย 45 ปี
ภาพถ่ายเจนนีกับลูกชายทั้งสองของเธอ คนโตขวามือคือวินสตัน เชอร์ชิลล์ ที่มา: Universal History Archive/UIG/Getty Images
💰ม่ายทรงเสน่ห์
หลังจากที่ลอร์ดแรนดอล์ฟสิ้นชีพ เลดี้ แรนดอล์ฟ เชอร์ชิลล์ มีกิจวัตรในการร่อนไปในงานพบปะปาร์ตี้ของวงสังคม ทำงานการกุศล ลงมือทำนิตยสารบ้าง เขียนหนังสือและบทละครหลายเรื่องบ้าง และใช้เครือข่ายทางสังคมและอิทธิพลที่เธอมีในการส่งเสริมหน้าที่การงานในเส้นทางการเมืองให้กับวินสตันบุตรชายคนโต
แต่หลังจากสามีจากไปได้เพียง 5 ปี เลดี้ แรนดอล์ฟ เชอร์ชิลล์ ก็สร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงสังคมอังกฤษเมื่อเธอไปแต่งงานกับชายหนุ่มที่มีอายุอานามน้อยกว่าเธอถึง 20 ปี โดยเขาเกิดในปีเดียวกับที่เธอแต่งงาน แถมมิหนำซ้ำยังเป็นเพื่อนสนิทของบุตรชายของตัวเองอีกด้วย
สามีหนุ่มของเลดี้ แรนดอล์ฟ เชอร์ชิลล์ คนนี้มีนามว่า จอร์จ คอร์นวอลลิส เวสต์ (George Cornwallis West) ได้ชื่อว่าเป็นชายหนุ่มที่รูปหล่อที่สุดบนเกาะอังกฤษ มีอาชีพการงานเป็นทหารยามรักษาการที่สก็อตแลนด์ แต่การแต่งงานรอบสองนี้ก็มิได้ดีงามเพราะสามีหนุ่มของเธอนั้นนอกใจ แถมเธอยังพบว่าจริง ๆ แล้วเขานั้นเป็นคนถังแตกสิ้นเนื้อประดาตัว ด้วยเหตุนี่จึงแยกทางและเลิกรากันไป
แต่เลดี้ แรนดอล์ฟ เชอร์ชิลล์ ก็ไม่ได้เข็ดกับการแต่งงานแต่ประการใด หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ผ่านพ้นไป เมื่อปี 1918 ในวัย 64 ปี เธอก็ได้แต่งงานเป็นครั้งที่สาม กับชายที่มีอายุน้อยกว่าลูกชายคนโตของเธอเพียง 3 ปีเท่านั้นเอง เขามีชื่อว่ามองตากิว พอร์ช (Montagu Porch) เป็นข้าราชการอังกฤษประจำไนจีเรีย
1
3 ปีหลังจากแต่งงานเป็นครั้งที่ 3 ในปี 1921 ในระหว่างที่สามีคนที่ 3 เดินทางไปแอฟริกา เลดี้ แรนดอล์ฟ เชอร์ชิลล์ ก็ประสบอุบัติเหตุตกจากบันไดในระหว่างที่ไปเยื่ยมเยียนมิตรสหาย ในวันนั้นเธอสวมรองเท้าส้นสูงคู่ใหม่ในระหว่างที่เดินบันได จึงทำให้ตกลงมาข้อเท้าหัก ขาซ้ายของเธอต้องถูกตัดออก ซึ่งในปีเดียวกันนั้นเธอก็เสียชีวิตที่บ้านของตัวเองที่กรุงลอนดอนจากอาการแทรกซ้อนเนื่องจากถูกตัดขา
ร่างของเลดี้ แรนดอล์ฟ เชอร์ชิลล์ ถูกฝังไว้ข้างสามีคนแรกที่สุสานของตระกูลเชอร์ชิลล์
เลดี้ แรนดอล์ฟ เชอร์ชิลล์ ในงานเลี้ยงแต่งกายเป็นจักรพรรดินีธีโอดอร่า ที่มา: The Lafayette Negative Archive
อ้างอิง:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา