26 ม.ค. 2022 เวลา 10:19 • ประวัติศาสตร์
• คอนซูเอโล แวนเดอร์บิลท์ จากเจ้าหญิงแห่งอเมริกา สู่เจ้าหญิงดอลลาร์ ผู้ถูกจับให้แต่งงานเพื่อเป็นดัชเชส
ไม่มีใครไม่รู้จักตระกูลแวนเดอร์บิลท์ (Vanderbilt) ที่เคยร่ำรวยมากที่สุดในประเทศ ในยุค “ฉาบทอง” ที่เฟื่องฟูของอเมริกา ที่สร้างความมั่งคั่งให้กับตระกูลจากอาณาจักรธุรกิจขนส่งและทางรถไฟ
คอนซูเอโล แวนเดอร์บิลท์ (Consuelo Vanderbilt) คือทายาทสาวที่เกิดมาในตระกูลอันมั่งคั่งนี้ เธอถูกเลี้ยงดูประดุจดั่งเจ้าหญิงของอเมริกา และด้วยฐานะเช่นนี้เธอจึงกลายเป็น “เจ้าหญิงดอลลาร์” ที่ถูกจับให้แต่งงานกับขุนนางอังกฤษเพื่อที่จะได้เป็น “ดัชเชส” เพื่อสมน้ำสมเนื้อกับความร่ำรวยมหาศาลที่ตระกูลของเธอมี โดยยศถาบรรดาศักดิ์อันเป็น “ดัชเชส“ นี้แลกมาด้วยน้ำตาของคอนซูเอโลและเงินสินสอดจำนวนมหาศาลที่ครอบครัวของเธอจ่ายให้กับเจ้าบ่าว ดยุกแห่งมาร์ลเบอเรอะคนที่ 9 ผู้มีศักดิ์สูงแต่แทบไม่มีสิน ที่แต่งงานกับคอนซูเอโลเพื่อนำเงินไปซ่อมพระราชวังเบลนนิม (Blenheim Palace) ของตระกูลเชอร์ชิลล์ (Churchill)
ที่อังกฤษ เมื่อเวลาผ่านไปความมั่งคั่งของตระกูลขุนนางเก่าของอังกฤษก็ลดน้อยถอยลงเป็นผลสืบเนื่องมาจากการใช้ชีวิตอันหรูหราและรายได้จากการเก็บเงินค่าที่ดินลดลงเพราะปัญหาการผลิตพืชผลทางการเกษตร เป็นการยากที่จะพยุงฐานะเดิมของตระกูลไว้ได้ ตัวช่วยของขุนนางเหล่านี้คือลูกสาวเศรษฐีจากอเมริกาที่ต้องการมียศศักดิ์
เจ้าหญิงดอลลาร์กลายเป็นกระแสที่นำเงินมาสู่เกาะอังกฤษ เฉพาะช่วงทศวรรษที่ 1930 มีทายาทสาวชาวอเมริกันนับ 350 คนที่แต่งเข้าตระกูลขุนนางในอังกฤษ และประมาณการณ์กันว่าได้นำเม็ดเงินสู่เกาะอังกฤษคิดเป็นจำนวนเงินในปัจจุบันมากถึงหนึ่งพันล้านปอนด์ กล่าวได้ว่า ตระกูลขุนนางในอังกฤษอยู่รอดได้เพราะน้ำเงินจากเจ้าหญิงดอลลาร์ชาวอเมริกัน
ดัชเชสแห่งมาร์ลเบอเรอะในชุดที่สวมเข้าร่วมพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์อังกฤษ ที่มา Wikimedia
• เจ้าหญิงแห่งอเมริกา
คอนซูเอโล แวนเดอร์บิลท์ เกิดเมื่อปี 1877 ที่แมนฮัตตัน นิวยอร์ก เธอเป็นบุตรสาวคนโตคนแรกของวิลเลียม คิสแซม แวนเดอร์บิลท์ (William Kissam Vanderbilt) ลูกชายคนหนึ่งของวิลเลียม เฮนรี แวนเดอร์บิลท์ (William Henry Vanderbilt) บุตรชายคนโตผู้เป็นทายาทผู้รับมรดกของคอร์เนเลียส แวนเดอร์บิลท์ (Cornelius Vanderbilt) มหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดของอเมริกา พูดง่าย ๆ ว่าคอนซูเอโลมีปู่และทวดที่เป็นคนที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศ
แม้พอมาในรุ่นบิดาของเธอความมั่งคั่งจะถูกหารออกไปตามจำนวนพี่น้องของบิดา แต่เรียกได้ว่าตระกูลของเธอในเวลานั้นแทบจะเป็นราชวงศ์หนึ่งของอเมริกา ดังนั้นเมื่อลืมตาเกิดมาดูโลกคอนซูเอโลจึงเป็นยิ่งกว่าคนที่คาบช้อนทองช้อนเงินมาเกิด ที่คนธรรมดาอย่างเรา ๆ จะสามารถจินตนาการได้ว่าเธอเกิดมาท่ามกลางความหรูหรามั่งคั่งขนาดไหน
แอลวา (Alva Vanderbilt) มารดาของเธอคาดหวังในตัวลูกสาวคนแรกสูงมาก คอนซูเอโลจึงถูกเลี้ยงดูมาอย่างเข้มงวดขั้นสุด น้องชายทั้งสองของเธอถูกส่งไปโรงเรียนในขณะคอนซูเอโลเรียนที่บ้านกับครูสอนพิเศษโดยมีมารดาคอยควบคุมดูแล เธอต้องเรียนรู้ทั้งภาษาต่างประเทศ ดนตรี ศิลปะ วัฒนธรรม รวมถึงกิริยามารยาททุกอย่างตามแบบยุโรป เพราะมารดาของเธอ “เตรียมพร้อม” ให้เธอถูกส่งตัวเข้าสู่วงสังคมชั้นสูงของยุโรป
แอลวาครอบงำชีวิตคอนซูเอโลมาโดยตลอด เธอต้องแต่งเนื้อแต่งตัวตามที่มารดาสั่ง หากทำอะไรที่เป็นเพียงความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ เธอจะถูกเฆี่ยนด้วยแส้เฆี่ยนม้า และเพื่อให้กิริยาท่าทางของบุตรสาวสง่างาม คอนซูเอโลถูกบังคับให้สวมแท่งเหล็กที่ตรึงหลังของเธอให้ตั้งตรงโดยมีที่รัดกับตัวทั้งตรงเอวและไหล่
1
พอคอนซูเอโลเติบโตขึ้นมาเป็นสาวมีอายุได้ 18 ปี เธอจึงกลายเป็นหญิงสาวที่สมบูรณ์แบบเพียบพร้อมไปด้วยความรู้ กิริยามารยาท ทรัพย์สมบัติ และหน้าตาที่งดงาม เธอมีชีวิตประดุจดั่งเจ้าหญิงของอเมริกา และเพื่อให้สมฐานะ แอลวาจึงมีทัศนะว่าคู่ครองของลูกสาวจะต้องเป็นบุคคลชั้นสูงในระดับขุนนางชั้นดยุกเท่านั้นจึงจะสมน้ำสมเนื้อกัน สำหรับแอลวาแล้วบุตรสาวของเธอจะต้องมีคู่ครองที่มีสถานะอย่างน้อยที่สุดคือต้องเป็นตำแหน่งดยุกเท่านั้น จะต่ำกว่านี้ไม่ได้
1
ชื่อของคอนซูเอโลเป็นภาษาสเปน ซึ่งตั้งชื่อตามแม่ทูนหัวของเธอที่เป็นสาวสังคมครึ่งอเมริกันกับคิวบา ผู้ซึ่งแต่งงานไปกับทายาทของดยุกแห่งแมนเชสเตอร์ ดังนั้นแอลวาจึงคาดหวังให้บุตรสาวดำเนินรอยเท้าตามแม่ทูนหัวคนนี้
ดังนั้น แอลวาจึงหมายตาให้ลูกสาวแต่งงานกับขุนนางลำดับชั้นสูงสุดของอังกฤษคือดยุก เพื่อให้บุตรสาวได้มีสถานะเป็น “ดัชเชส” จะได้เป็นบุคคลที่สำคัญเกินกว่าใครในวงสังคมอเมริกัน
คอนซูเอโลในวัยเด็ก ที่มา: Library of Congress
คอนซูเอโลในวัยแรกแย้ม ที่มา: Southamptonhistory.org
• สู่เจ้าหญิงดอลลาร์
พอโตเป็นสาวแรกรุ่น คอนซูเอโลมีทั้งทรัพย์สมบัติและรูปสมบัติเป็นที่เลื่องลือจนนักเขียนผู้แต่งเรื่องปีเตอร์แพนเขียนสรรเสริญความงามของเธอโดยเปรียบเปรยว่าเขายอมยืนรออยู่บนถนนทั้งวันเพียงเพื่อที่จะได้ยลโฉมยามที่คอนซูเอโลเดินขึ้นรถม้าไป ด้วยสองสิ่งสำคัญนี้ เธอจึงถูกหมายตาโดยบรรดาขุนน้ำขุนนางผู้มีตำแหน่งจำนวนมากจากยุโรปที่กระเหี้ยนกระหือรือที่จะแลกสถานะตำแหน่งทางสังคมกับเงินโดยการแต่งงานกับทายาทมหาเศรษฐีแห่งตระกูลแวนเดอร์บิลท์แห่งสหรัฐอเมริกา
อย่างน้อยที่สุด มีจดหมายส่งมาถึงแอลวาเพื่อเขียนมาขอคอนซูเอโลแต่งงานอย่างน้อย 5 ฉบับ มีเพียงฉบับเดียวที่แอลวารับพิจารณาแล้วอนุญาตให้บุตรสาวพิจารณา คือจดหมายจากเจ้าชายฟรานซิส โจเซฟ แห่งแบทเทนเบิร์ก (Prince Francis Joseph of Battenberg) ญาติห่าง ๆ ของสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย แต่คอนซูเอโลก็มิได้พึงใจกับเจ้าชายคนนี้ที่เคยพบกันเมื่อปี 1894 และปฏิเสธคำขอแต่งงาน
เพื่อให้มั่นใจว่าคอนซูเอโลจะได้คู่ครองที่มียศสูงที่สุด ในอันที่จะเน้นย้ำความสูงส่งของตระกูลแวนเดอร์บิลท์เหนือตระกูลอื่นใดในวงสังคมนิวยอร์ก แอลวาจึงจัดแจงให้คอนซูเอโลได้เจอหน้าเจอตากับดยุกคนที่ 9 แห่งมาร์ลเบอเรอะ คือชาร์ลส์ สเปนเซอร์-เชอร์ชิลล์ (Charles Spencer-Churchill, 9th Duke of Marlborough) โดยผ่านแม่สื่อที่คอยหาคู่พวกขุนน้ำขุนนางฝั่งอังกฤษกับบรรดาทายาทสาวชาวอเมริกัน ซึ่งแอลวาหมายตาขุนนางผู้นี้ให้กับบุตรสาวตัวเอง
ดยุกแห่งมาร์ลเบอเรอะเป็นผู้สืบทอดมรดกที่กำลังจะล้มละลายอยู่รอมร่อ เขาจึงมีหนี้สินล้นพ้นตัว และกำลังมองหาเจ้าสาวที่จะช่วยให้เขาพ้นจากหนี้สินและมีเงินไปซ่อมแซมฟื้นฟูพระราชวังพระราชวังเบลนนิมที่ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ซึ่งคอนซูเอโลแห่งตระกูลแวนเดอร์บิลท์เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเขา แต่คอนซูเอโลมิได้มีความสนใจใคร่ดีในตัวดยุกผู้สูงส่งคนนี้เลยแม้แต่น้อย เหตุเพราะเธอมีคนรักอยู่แล้ว และแอบหมั้นหมายกันไว้อย่างลับ ๆ กับวินธร็อป รูเธอร์เฟิร์ด (Winthrop Rutherfurd) หนุ่มสังคมของนิวยอร์ก
1
แอลวาทำทุกวิถีทางให้บุตรสาวเข้าพิธีสมรสกับดยุกแห่งมาร์ลเบอเรอะ ทั้งขอร้อง ปลอมประโลม ขู่เข็ญ ไปจนบังคับ แต่มิพักคอนซูเอโลก็ไม่ยินยอมทำตามแถมมีแผนจะหนีตามชายคนรักไป จนถูกแอลวาขังไว้ในห้องไม่ให้ออกไปไหนได้และขู่ว่าจะฆ่ารูเธอร์เฟิร์ด แต่คอนซูเอโลก็ยังแน่วแน่ที่จะไม่ยอมแต่งงานตามที่มารดาต้องการ
สุดท้าย แอลวาใช้ไม้ตายแสร้งว่าป่วยหนักเป็นโรคหัวใจและสุขภาพแย่ลงเรื่อย ๆ เพราะความหัวดื้อของคอนซูเอโล ความตายดูเหมือนจะมารอคอยแอลวาอยู่ตรงหน้าประตูแล้ว คอนซูเอโลจึงตัดใจจากชายคนรักยินยอมทำตามที่มารดาต้องการ ส่วนมารดาผู้ป่วยปางตายจู่ ๆ ก็หายราวกับปาฏิหาริย์เมื่อบุตรสาวยอมหมั้นหมายกับดยุกแห่งมาร์ลเบอเรอะและมีการประกาศการหมั้นกับสื่อ
แอลวามีความสุขกับการปล่อยข่าวกับสื่อเรื่องการแต่งงานของบุตรสาวตั้งแต่เรื่องชุดแต่งงานยันชุดซับใน เพื่อสร้างกระแสให้สาธารณชนตื่นตาตื่นใจกับงานแต่งที่กำลังจะมาถึง
คอนซูเอโลเข้าพิธีแต่งงานกับดยุกแห่งมาร์ลเบอเรอะที่โบสถ์ในนิวยอร์กเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 1895 คอนซูเอโลเอาแต่ร้องไห้น้ำตานองตลอดวันแต่งงานของตัวเอง เธอเหมือนหุ่นยนต์ที่เข้าพิธีแต่งงานไปเพียงเพื่อให้มารดาพอใจ
จากการแต่งงานนี้ ดยุกแห่งมาร์ลเบอเรอะได้สินสอดจำนวนมหาศาลเป็นเงินถึง 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเท่ากับค่าเงินในปี 2019 ประมาณ 75.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเขานำเงินนี้ไปทุ่มใช้ในการบูรณะฟื้นฟูพระราชวังเบลนนิม ต้องขอบคุณเม็ดเงินตรงนี้เพราะพระราชวังเบลนนิมได้เป็น UNESCO World Heritage Site ในปี 1987
นอกจากนี้ บิดาของคอนซูเอโลยังให้เงินประจำปีกับบุตรสาวและสามีของเธอเป็นจำนวนเงินคนละ 1 แสนปอนด์ต่อปีไปจนตลอดชีวิต อีกทั้งยังสร้างคฤหาสน์ให้กับบุตรสาวของตนเป็นของขวัญแต่งงานที่เขตเมย์แฟร์ในกรุงลอนดอน โดยตั้งชื่อว่า บ้านซันเดอร์แลนด์ (Sunderland House)
คอนซูเอโลกับมารดา ที่มา: Bettmann/CORBIS
คอนซูเอโลกับชุดแต่งงาน ที่มา: Boyer Writes
• ชีวิตในปราสาทที่ผุพัง
ในตอนก่อนที่เล่าถึงชีวิตแต่งงานของผู้ริเริ่มเทรนด์เจ้าสาวดอลลาร์อย่างเจนนี เจโรม ว่าเต็มไปด้วยความไร้รักไร้สุขฉันใด ชีวิตแต่งงานของเจ้าสาวดอลลาร์ในยุคต่อมาของคอนซูเอโลนั้นก็มีสภาพไม่ต่างกัน
แค่เริ่มต้นแต่งงานด้วยเหตุมารดาบังคับก็แย่แล้ว มิหนำซ้ำดยุกแห่งมาร์ลเบอเรอะยังกระทำสิ่งที่โหดร้ายกับเธอซ้ำเติมความเจ็บช้ำนี้โดยแจ้งกับเธอในช่วงฮันนีมูนว่าเขาตกลงแต่งงานกับเธอเพียงเพราะต้องการรักษาพระราชวังเบลนนิมของบรรพบุรุษเอาไว้ให้ได้โดยใช้เงินของเธอ เขาจะไม่กลับไปอเมริกาอีก และเขาดูหมิ่นทุกอย่างที่ไม่ใช่อังกฤษ
เท่านั้นยังไม่พอ นิสัยใจคอของทั้งสองคนยังเข้ากันไม่ได้เลย ดยุกแห่งมาร์ลเบอเรอะอุทิศตนต่อหน้าที่ที่เราสืบทอดมาคือการรักษาหน้าตาและสมบัติพัสถานของตระกูลเอาไว้ให้ได้ ซึ่งคอนซูเอโลเห็นว่าสามีของเธอนั้นนิสัยเย็นชา เย่อหยิ่งหลงตัวเอง และหมกมุ่นกับเรื่องภาพลักษณ์
ดัชเชสแห่งมาร์ลเบอเรอะย้ายเข้าไปอาศัยอยู่ที่พระราชวังเบลนนิมในมณฑลออกซ์ฟอร์ดไชร์ เธอพบว่าสภาพของที่พำนักแห่งตระกูลขุนนางใหญ่ของอังกฤษแห่งนี้ห่างไกลจากความสะดวกสบายอย่างที่เธอเคยได้รับตอนที่อยู่บ้านของตัวเองในอเมริกา เธอบ่นว่าพระราชวังแห่งนี้ไร้ซึ่งเครื่องทำความร้อนรวมและน้ำอุ่น แถมเธอไปอยู่ฝั่งที่มองเห็นสระน้ำที่คนรับใช้จมน้ำตาย
ดัชเชสแห่งมาร์ลเบอเรอะมีปัญหาในการปรับตัวในการใช้ชีวิตแบบขุนนางอังกฤษ ถึงแม้เธอจะถูกเตรียมการไว้มาแล้วก็ตาม แต่พอมาใช้ชีวิตจริงมีหลายสิ่งที่เธอไม่เข้าใจและห่างไกลจากวิถีแบบคนอเมริกัน มารดาของสามีก็เอาแต่พร่ำถามว่าเธอนั้นปรับตัวกลายเป็นส่วนหนึ่งของตระกูลได้หรือยัง
ดัชเชสแห่งมาร์ลเบอเรอะผลิตทายาทผู้สืบทอดตระกูลเป็นบุตรชาย 2 คน คือ จอห์น ที่สืบทอดตำแหน่งดยุกคนที่ 10 (John Spencer-Churchill) และอิวอร์ (Lord Ivor Spencer-Churchill) แต่ความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาก็เลวร้ายลงเรื่อย ๆ ดยุกแห่งมาร์ลเบอเรอะกลับมาเป็นเสือผู้หญิงอีกครั้ง เขาไปมีความสัมพันธ์กับหญิงสาวชาวอเมริกันอีกคนชื่อว่าแกลดีส ดีคอน (Gladys Deacon) แต่สถานะทางสังคมและการเงินนั้นเทียบไม่ได้กับคอนซูเอโลเลยแม้แต่น้อย
ส่วนดัชเชสแห่งมาร์ลเบอเรอะก็หาความรักและปลอบประโลมใจจากคนอื่นแทน และในช่วงหนึ่งก็ไปสนิทชิดเชื้อกับลูกพี่ลูกน้องของดยุกแห่งมาร์ลเบอเรอะ แต่ความสัมพันธ์นี้เกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ชั่วยาม จากนั้นเธอก็หันไปสนใจเรื่องงานการกุศลโดยช่วยเหลือคนยากไร้ที่เป็นผู้เช่าที่ดินของสามีจนกลายเป็นที่รักของคนเหล่านั้น และเธอยังให้ความสนใจในเรื่องแม่และเด็กเป็นพิเศษ
1
พระราชวังเบลนนิม ที่มา: Wikipedia
รูปวาดครอบครัวดยุกและดัชเชสแห่งมาร์ลเบอเรอะกับลูก ๆ ที่มา: Wikipedia
• แยกทางและแต่งงานใหม่
ถึงแม้ชีวิตคู่จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ดัชเชสแห่งมาร์ลเบอเรอะก็ประสบความสำเร็จในวงสังคมของชนชั้นผู้ดีอังกฤษและในหมู่สมาชิกราชวงศ์ของอังกฤษเป็นอย่างยิ่ง
รอยร้าวในชีวิตแต่งงานนั้นลึกจนยากจะประสาน จนดยุกและดัชเชสแห่งมาร์ลเบอเรอะแยกกันอยู่ใครอยู่มันในปี 1906 จากนั้นก็หย่าขาดกันในปี 1921 และดยุกแห่งมาร์ลเบอเรอะร้องขอให้การแต่งงานเป็นโมฆะโดยสำนักวาติกันในปี 1926 เหตุเพราะเขาต้องการเปลี่ยนนิกายที่นับถือเป็นคาทอลิก และจะได้แต่งงานใหม่กับแกลดีสได้
แอลวาเป็นผู้มาช่วยให้การพิสูจน์ว่าการแต่งงานนี้เกิดขึ้นเพราะเธอเป็นคนบังคับบุตรสาวเอง เพื่ออำนวยความสะดวกให้สำนักวาติกันประกาศให้การแต่งงานเป็นโมฆะ ซึ่งการที่แอลวามาช่วยให้การแต่งงานยุติลงได้ในที่สุดจึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับบุตรสาวดีขึ้นในเวลาต่อมา
ต้องบอกว่าบิดามารดาของคอนซูเอโล คือแอลวากับวิลเลียมก็หย่ากัน และต่างคนต่างก็ไปแต่งงานใหม่
ถึงแม้ว่าจะหย่ากับดยุกแห่งมาร์ลเบอเรอะ คอนซูเอโลก็ยังรักษาความสัมพันธ์อันดีกับคนในตระกูลของอดีตสามีอยู่อย่างเช่นกับบุตรชายของเจนนีคือวินสตัน เชอร์ชิลล์ ซึ่งเขามักแวะไปเยี่ยมเธอ ณ ที่พำนักที่อยู่ที่ฝรั่งเศสบ่อยครั้ง
หลังจากที่เดินเรื่องหย่าขาดสำเร็จได้ไม่นาน คอนซูเอโลก็แต่งงานใหม่กับชากส์ บัลซัน (Jacques Balsan) นักการบินชาวฝรั่งเศสที่เคยได้ร่วมงานกับพี่น้องตระกูลไรท์ ซึ่งการแต่งงานรอบสองนี้ชีวิตของเธอมีความสุขขึ้นมาก โดยทั้งคู่ย้ายจากฝรั่งเศสไปอาศัยอยู่ที่ฟลอริดา สามีคนที่ 2 ของเธอไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ แต่เขาก็มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวยไม่น้อย เพราะเป็นทายาทผู้ผลิตสิ่งทอของฝรั่งเศส และพี่ชายของเขาก็เคยเป็นอดีตคู่รักคนแรก ๆ ของโคโค่ ชาแนล ด้วย
คอนซูเอโลเสียชีวิตในปี 1964 ที่นิวยอร์ก รวมอายุได้ 87 ปี โดยเธอขอให้นำศพไปฝังไว้เคียงข้างศพของลูกชายคนที่สองของเธอที่เสียชีวิตก่อนเธอ ณ โบสถ์เซนต์มาร์ติน ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับพระราชวังเบลนนิม สถานที่แห่งเดียวของอังกฤษที่มิใช่ที่พำนักของราชวงศ์อังกฤษแต่ใช้คำว่าพระราชวัง
ดยุกและดัชเชสแห่งมาร์ลเบอเรอะ ที่มา: Bettmann Archive/Nypost
คอนซูเอโลกับชากส์ บัลซัน สามีคนที่สอง ที่มา: Southamptonhistory.org
อ้างอิง:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา