23 ม.ค. 2022 เวลา 23:00 • ธุรกิจ
การคุ้มครองผู้บริโภคจากอันตรายของ PFAS ในสหรัฐอเมริกา
PFAS (Per-and Polyfluoroalkyl substance) หรือ สารเคมีตลอดกาล (forever chemicals) เป็นกลุ่มสารเคมีที่ถูกผลิตเพื่อใช้ในสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าสำหรับผู้บริโภคทั่วไป เช่น เครื่องครัวที่เป็น non-stick เสื้อผ้ากันน้ำ ผ้าและพรมที่มีคุณสมบัติกันเปื้อน เครื่องสำอางบางรายการ โฟมดับเพลิง สินค้าที่กันคราบน้ำมัน (grease) น้ำ น้ำมัน และความร้อน เช่น บรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร (food packaging, food package) เป็นต้น สารเคมีกลุ่ม PFAS ที่กำลังถูกศึกษามากที่สุดในขณะนี้คือ PFOA (perfluorooctanoic acid), PFOS (perfluorohexane sulfonic acid), PFHxS (perfluorohexane sulfonic acid และ PFNA (perfluorononanoic acid) สารเคมีกลุ่มนี้ที่สหรัฐฯ อยู่ในระหว่างการเลิกใช้ (phase out) คือ PFOA และ PFOS
PFAS เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ รวมถึงมีผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย (immune system) ที่สร้างความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิดได้โดยง่าย ภาครัฐบาล เอกชน และประชาชนทั่วไปในสหรัฐฯ เริ่มให้ความสนใจและกังวลถึงอันตรายของ PFAS ในสินค้าสำหรับผู้บริโภค โดยเฉพาะในอาหารและเครื่องสำอาง ทั้งนี้ ปัจจุบัน เครื่องสำอางเป็นเป้าหมายอันดับ 2 รองจากน้ำที่ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากอันตรายของ PFAS ที่มีผสมอยู่ในสินค้า บริษัทเครื่องสำอางที่ถูกฟ้องร้องในขณะนี้คือ Shiseido และ CoverGirl
ความพยายามของหน่วยงานภาครัฐของสหรัฐฯ เพื่อป้องกันผู้บริโภคจากอันตรายจาก PFAS
ระดับรัฐบาลกลางสหรัฐฯ: วันที่ 18 ตุลาคม 2021 ทำเนียบขาวได้ออกหนังสือระบุความพยายามของรัฐบาลกลางเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคสหรัฐฯ จาก PFAS โดยระบุให้เป็นหน้าที่ของ 8 หน่วยงานรัฐบาลกลาง คือ
Environment Protection Agency (EPA)
Department of Defense (DOD)
Food and Drug Administration (FDA)
• เดือนพฤศจิกายน 2016 ประกาศห้ามการใช้ PFOA และ PFOS ในภาชนะใดๆ ที่สัมผัสอาหาร
• 31 กรกฎาคม 2020 ทำความตกลงกับโรงงานผลิต PFAS ที่ใช้ในบรรจุภัณฑ์อาหาร ให้เริ่มลดไปจนถึงการเลิกใช้ (phase-out) การขายสินค้าที่ผลิตจาก short-chain PFAS ด้วยความสมัครใจ เริ่มต้นเดือนมกราคม 2021 เวลา phase-out จะสิ้นสุด มกราคม 2024 และโรงงานจะยุติการจำหน่ายสินค้าดังกล่าว
• ขยายขอบเขตการทดสอบแหล่งอุปทานอาหาร โดยจะเน้นไปในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาหารทะเล
Department of Agriculture (USDA)
Department of Homeland Security (DHS) รวมถึงหน่วยงาน Federal Emergency Management Agency (FEMA)
Department of Health and Human Services (DHHS) ที่รวมถึงหน่วยงาน Agency for Toxic Substances and Disease Registry (ATSDR) สังกัด Centers for Disease Prevention and Control (CDC)
Federal Aviation Administration (FAA)
White House Council on Environmental Quality (CEQ)
ระดับรัฐบาลมลรัฐ: ปัจจุบัน 7 มลรัฐ คือ California, New York, Maine, Vermont, Washington, Connecticut และ Minnesota ที่มีกฎหมายห้ามใช้ PFAS ในบรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร (อีก 10 รัฐอยู่ในระหว่างการนำเสนอกฎหมาย Arizona, Oregon, Iowa, Wisconsin, Michigan, Virginia, Maryland, Pennsylvania, Rhode Island และ Massachusetts)
กฎหมายของมลรัฐเหล่านี้โดยสรุปจะเป็นไปในแนวทางเดียวกันคือ ห้ามแจกจ่าย ขาย หรือเสนอขายสินค้าบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่อาหารที่ตั้งใจใช้ PFAS ในการผลิต หรือบางมลรัฐจะรวมถึงที่ไม่ได้ตั้งใจใช้ในการผลิต แต่มีความเสี่ยงสูงที่สินค้าจะถูกปนเปื้อนจาก PFAS ธรรมชาติ โดยมีความแตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อย เช่น คำจำกัดความของคำว่า “บรรจุภัณฑ์สำหรับใส่อาหาร” เป็นต้น วันที่ที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ คือ
- Maine วันที่ 1 มกราคม 2022 หรือ 2 ปีหลังจากมีการระบุวันที่ที่มีการค้นพบ “ทางเลือกอื่นที่ปลอดภัยกว่า – safer alternative” ขึ้นอยู่กับว่าวันที่ใดจะเกิดขึ้นก่อน
- New York วันที่ 31 ธันวาคม 2022
 
- California วันที่ 1 มกราคม 2023
- Washington เดือนกุมภาพันธ์ 2023
- Vermont วันที่ 1 กรกฎาคม 2023
- Connecticut วันที่ 31 ธันวาคม 2023
- Minnesota วันที่ 1 มกราคม 2024
ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ในการจัดทำกฎระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับ PFAS และการคุ้มครองผู้บริโภคดำเนินไปอย่างรวดเร็ว เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2021 สมาชิกสภาสูงสหรัฐฯ 7 ราย ได้ร่วมกันจัดทำร่างกฎหมาย No PFAS in Cosmetic Act 2021 นำเสนอต่อสภาสูงสหรัฐฯ เป้าหมายเพื่อห้ามใช้ PFAS ในเครื่องสำอาง ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่มีการใช้ PFAS ในกระบวนการผลิตสินค้าแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจแต่มีความเสี่ยงสูงที่สินค้าจะถูกปนเปื้อนจาก PFAS ธรรมชาติ (จากน้ำ อากาศ และดิน) ควรติดตามความเคลื่อนไหวต่อกฎระเบียบและข้อกำหนดของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด และหาทางปรับเปลี่ยนการผลิตโดยลด/ระงับการใช้ PFAS และทำงานร่วมกับผู้ผลิตทั้งระบบห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้การส่งสินค้ามายังสหรัฐฯ สอดคล้องกับข้อกำหนดและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดจากการฟ้องร้องของผู้บริโภค
โฆษณา