1 ก.พ. 2022 เวลา 10:00 • สุขภาพ
ควรฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 หรือไม่?
วัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 จำเป็นหรือไม่? เพราะอะไร? Photo by Daniel Schludi on Unsplash
เชื่อว่าหลายคนคงมีคำถามคาใจว่า “เราควรได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (booster) หรือไม่?” แม้ว่าหลายคนจะเลยจากเข็ม 3 ไปเข็ม 4 (หรือมากกว่า!) แล้วก็ตาม
มีบทความชื่อ Should you get a booster? (คุณควรรับวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือไม่) ในนิตยสาร New Scientist ฉบับวันที่ 2 ตุลาคม 2021 ที่เขียนโดย เกรแฮม ลอว์ตัน (Graham Lawton) ซึ่งผมว่าตอบคำถามได้ค่อนข้างชัดเจนดี เลยจะขอเก็บความมาเรียบเรียงให้เข้าใจง่ายๆ ครับ
ขณะที่ผู้เขียนเขียนบทความนี้ รัฐบาลอังกฤษประกาศว่ามีแผนเตรียมวัคซีน 30 ล้านโดส ไว้ฉีดเป็นเข็มกระตุ้น (booster) ให้กับคนอังกฤษ จึงก่อให้เกิดคำถามมากมายว่า มีความจำเป็นแค่ไหน? หรือจะมีอันตรายหรือไม่?
อย่างไรก็ดี ไม่ได้มีแต่ประเทศอังกฤษที่วางแผนนี้ สหรัฐอเมริกาโดย CDC ก็มีแผนฉีดเข็มกระตุ้นให้คนอายุ 65 ปีขึ้นไป หรือผู้มีสภาวะร่างกายที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อแล้วป่วยรุนแรง รวมไปถึงบุคลากรที่เสี่ยงจะได้รับเชื้อไวรัสเช่นกัน
ประเทศแรกที่ฉีดเข็มกระตุ้นคือ อิสราเอล ซึ่งภายหลังการฉีดซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว อัตราผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลซึ่งพุ่งขึ้นสูงก่อนหน้านั้น ลดลงอย่างชัดเจน
รัฐบาลอังกฤษตัดสินใจประกาศเช่นนี้ อาศัยพื้นฐานข้อมูลอะไร? จากที่ไหน?
1
คำตอบคือ ดูจากรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษที่แสดงให้เห็นว่า ภายหลังจากการวัคซีนไป ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่ป้องกันไม่ให้ป่วย จะเริ่มลดลงตามเวลาหลังจากฉีดเข็ม 2 ไปแล้ว 10 สัปดาห์ และหลังจาก 20 สัปดาห์ (หรือ 5 เดือน) ภูมิคุ้มกันจะลดลงจาก 90% เป็น 70% ในกรณีของไฟเซอร์ และจาก 65% เป็น 50% ในกรณีของแอสตราเซเนกา
ความสามารถในการป้องกันไม่ให้ป่วยมากจนต้องเข้าโรงพยาบาล ก็ลดลงเล็กน้อยเช่นกัน ยิ่งมีอายุมากก็ยิ่งเห็นผลกระทบชัดเจนมากกว่า
มีหลักฐานอะไรบ้างว่า การฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 เป็นเรื่องดี? Photo by Daniel Schludi on Unsplash
ข้อมูลอีกชุดหนึ่งได้มาจากคำแนะนำของ คณะกรรมการร่วมการฉีดวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกัน (The Joint Committee on Vaccination and Immunisation, JCVI) ซึ่งตัวคณะกรรมการร่วมอ้างอิงจากการทดลองทางคลินิกที่ดำเนินการอยู่ที่มีชื่อว่า คอฟ-บูสต์ (COV-Boost) ซึ่งมหาวิทยาลัยแห่งโรงพยาบาลเซาธ์แธมตัน เอ็นเอชเอส ฟาวเดชั่นทรัสต์ ทำอยู่
การทดลองคอฟ-บูสต์ เริ่มรับอาสาสมัครเข้าร่วมทดลองตั้งเดือนมิถุนายปีที่แล้ว โดยได้มา 2,833 คน มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป และมีอยู่ราวครึ่งหนึ่งที่อายุมากกว่า 70 ปี ทั้งหมดนี้ได้รับวัคซีนไปแล้ว 2 เข็ม เนื่องจากเป็นประเทศอังกฤษ ก็อาจจะได้ไฟเซอร์หรือแอสตราเซเนกา โดยแบ่งคร่าวๆ ได้ครึ่งๆ
แต่สำหรับเข็ม 3 ที่จะฉีด ทางคณะนักวิจัยเลือกมาทดสอบมากถึง 7 ชนิดด้วยกัน แต่ละคนจะได้รับวัคซีนอย่างใดอย่างหนึ่งจากกลุ่มนี้ คือ (1) ไฟเซอร์ (2) แอสตราเซเนกา (3) โมเดอร์นา (4) โนวาแวกซ์ (5) วัลนีวา (Valneva) (6) แจนส์เซน (Janssen) หรือ (7) เคียวแวค (Curevac) โดยชนิดสุดท้ายนี้เป็นกลุ่มควบคุมไว้สำหรับใช้เปรียบเทียบผล เพราะอันที่จริงแล้วเป็นวัคซีนสำหรับโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
ผู้วิจัยเก็บข้อมูลนาน 4 สัปดาห์หลังการฉีด โดยให้อาสาสมัครเก็บข้อมูลผลข้างเคียงต่างๆ และเมื่อครบเวลาก็มาตรวจเลือดวัดระดับภูมิคุ้มกัน การตอบสนองของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันคือ ที-เซลล์ และยังวัด killing assay คือ ดูความสามารถของเลือดว่า ทำให้ไวรัสหมดฤทธิ์ได้มากน้อยแค่ไหน
ผลที่ได้คือ วัคซีนหลายชนิดทำให้ระดับแอนติบอดีเพิ่มขึ้น “หลายเท่าตัว” และเพิ่มการตอบสนองของที-เซลล์อีกด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าช่วยทำให้ป้องกันโรคได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับใครที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ไปเจาะลึกต่อได้ที่เว็บนี้นะครับ
สรุปว่าการตัดสินใจของรัฐบาลอังกฤษ อ้างอิงจาก (1) ข้อเท็จจริงและสถิติที่กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษรวบรวม และ (2) ผลการทดลองเบื้องต้นที่มีอาสาสมัครจำนวนเยอะพอสมควร
โดยสนับสนุนให้ฉีดหลังวัคซีนเข็ม 2 ไปแล้วนาน 6 เดือนขึ้นไป กรณีของไฟเซอร์เข็ม 3 อาจลดโดสลงเหลือแค่ 1/2 โดส และคนที่ร่างกายไม่เหมาะสมจะรับวัคซีนแบบ mRNA ก็อาจฉีดแอสตราเซเนกาเป็นเข็มกระตุ้นแทนได้
แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของรัฐบาลอังกฤษ โดยมองว่ามีความปลอดภัยมากพอ และมีความเสี่ยงน้อย
คนที่มีความกังวลใจเกี่ยวกับวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ในทางวิชาการ กังวลอะไรกันแน่ Photo by Braňo on Unsplash
แต่ยังมีอีกหลายคำถามที่มีผู้สงสัยค้างคาใจอยู่ ได้แก่
คำถามแรก ด้วยจำนวนอาสาสมัครที่น้อย อาจจะยังไม่พบผู้ป่วยหนักจากเส้นเลือดอุดตันได้หรือไม่? (เป็นผลข้างเคียงที่พบได้เป็นครั้งคราวสำหรับวัคซีนแอสตราเซเนกา) ข้อมูลที่ใช้ประกอบการพิจารณาจึงยังไม่ได้ตอบคำถามนี้อย่างสมบูรณ์
ข้อสงสัยที่ 2 คือ วัคซีนที่ใช้กันอยู่อาจใช้ป้องกันสายพันธุ์เดลต้า (ที่ระบาดหนักในอังกฤษขณะนั้น) ไม่ได้ดีนัก เรื่องนี้คุณแชรอน พีค็อก ผู้อำนวยการ Genomics UK Consortium ระบุว่า “วัคซีนที่ใช้กันอยู่มีประสิทธิภาพดีกับสายพันธุ์ต่างๆ ที่ติดต่อกันอยู่” และความกังวลทำนองนี้ ไม่จำเป็นมากเท่าไหร่
ข้อกังวลต่อไปคือ เป็นไปได้ไหมที่จะเกิดปรากฏการณ์ทางภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า “บาปแรกกำเนิดแอนติเจน (original antigenic sin)” กล่าวคือ วัคซีนใหม่แทนที่จะไปกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันใหม่ขึ้น กลับไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันเก่าที่มีอยู่เดิม ผลก็คือทำให้วัคซีนชนิดใหม่ที่ออกแบบให้ใช้กับไวรัสกลายพันธุ์ กลับกลายเป็นไม่มีประสิทธิภาพ
แต่ผลการศึกษาถึงปัจจุบัน ยังยืนยันว่าวัคซีนที่ใช้กันอยู่ ยังใช้การได้ดีพอสมควรกับสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมา
สำหรับข้อที่ 4 คือ มีผู้กังวลใจว่าการได้รับวัคซีนชนิดไวรัลเว็กเตอร์ (เช่น วัคซีนแอสตราเซเนกา) อย่างซ้ำๆ จะไปทำให้เกิดภูมิคุ้มกันที่เป็นอันตรายกับคนได้รับวัคซีนไวรัลเว็กเตอร์อยู่แล้วก่อนหน้าได้ แต่เท่าที่เก็บข้อมูลมา ยังไม่พบปัญหาทำนองนี้
ข้อกังวลใจข้อที่ 5 ซึ่งเป็นข้อสุดท้ายที่บทความนี้กล่าวถึงคือ มีผู้กังวลว่าหากตัวเองรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 จะไปทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมรุนแรงขึ้นอีก เพราะยังมีคนไม่ได้รับเข็ม 1 หรือเข็ม 2 อยู่เลย
ตัวเลขในประเทศรายได้น้อยคือ ยังมีแค่ 2.2% ของประชากรที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม
สำหรับเรื่องนี้ ทางผู้สนับสนุนการฉีดเข็ม 3 บอกว่า ต่อให้คุณปฏิเสธเข็ม 3 มันก็ไม่ไปยังประเทศอื่นหรือกลุ่มประชากรอื่นอยู่ดี การกระจายวัคซีนเป็นเรื่องทางการเมืองสำหรับผู้บริหารประเทศมั่งคั่ง มากกว่าจะสะท้อนความต้องการของประชากรในประเทศเหล่านั้นตรงๆ
ผู้เขียนสรุปปิดท้ายว่า เมื่อพิจารณาจากข้อมูลทั้งหมดข้างต้นแล้ว น่าจะสรุปว่า “ถ้ามีโอกาสจะได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ก็ฉีดเถอะ”
เพราะมันไม่ได้แค่กระตุ้นภูมิคุ้มกันรายบุคคล แต่ยังช่วยปกป้องระบบสาธารณสุข ไม่ให้ต้องรับมือกับผู้ป่วยจำนวนมากพร้อมๆ กันได้อีกด้วย.
วัคซีน หนึ่งในอาวุธสำคัญที่ใช้ต่อกรกับโควิด-19 Photo by Ivan Diaz on Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา