4 ก.พ. 2022 เวลา 05:55 • สุขภาพ
โควิดกำลังจะกลายเป็น “โรคประจำถิ่น” จริงหรือ?
ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์
สรุปย่อเนื้อหา:
 มีผู้คาดหมายว่า “โอมิครอน” อาจเป็นตัวปิดเกมสำหรับโควิด-19 และทำให้เป็นโรคประจำถิ่น
 มีแนวคิดของผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้จริง แต่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่
 ประเทศต่างๆ และภูมิภาคต่างๆ อาจจะตอบสนองต่อโอมิครอนแตกต่างกันทั้งเรื่องรูปแบบการระบาด, จำนวนผู้ป่วย และผลลัพธ์หลังการระบาด
 แม้เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ก็ไม่ได้แปลว่าไม่สำคัญ ยังต้องกังวลและมีแผนรับมืออยู่ต่อไป
Photo by Fusion Medical Animation on Unsplash
เริ่มมีเสียงร่ำลือกันไปทั่วว่า “โอมิครอน” จะเป็นเชื้อฟ้าประทานที่ช่วยปิดจบสงครามกับโควิด-19 และทำให้มันกลายเป็น “โรคประจำถิ่น (endemic disease)” เหมือนโรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ ที่เราไม่ต้องปิดเมือง ปิดหน้าปิดตากันอีกต่อไป
เรื่องนี้จริงแค่ไหน?
ก่อนจะตอบคำถามนี้ ต้องอธิบายกันให้ชัดเจนก่อนว่า ไอ้เจ้า “โรคประจำถิ่น” นี้คืออะไรกันแน่?
มันแปลว่า ไม่น่ากลัว ไม่ต้องระวังตัวกันอีกต่อไปแล้ว หรืออย่างไร?
ภาพจาก https://www.bbc.com/news/health-59970281
จากรูปจะเห็นได้ว่ามีคำศัพท์สำคัญอยู่ 3 คำคือ endemic, epidemic และ pandemic diseases
endemic disease นี่ก็คือ โรคประจำถิ่นที่พูดๆ กันอยู่ ขณะที่ epidemic disease ก็คือ โรคระบาด และ pandemic disease คือ โรคระบาดที่ไปทั่วถึงกันทั้งโลกหรือเกือบทั้งโลก
ลักษณะของโรคประจำถิ่นคือ พบอยู่เรื่อยๆ ตามถิ่นฐานจำเพาะและมักระบาดไปไม่มากในแต่ละครั้ง ขณะที่โรคระบาดจะพบในคนจำนวนมากกว่าและเกิดขึ้นอย่างปุบปับ ส่วนโรคระบาดใหญ่ก็จะไปทั่วยังหลายๆ ทวีปทั่วโลก
ข้อสรุปแรกคือ โรคประจำถิ่นมันจะไม่หนีหายไปไหน แต่ยังกลับมาติดกันได้เป็นระยะๆ ใน “บางพื้นที่”
ดังนั้น โดยนิยามของมันก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับความรุนแรงของโรคนะครับ
ยกตัวอย่าง ไข้หวัดใหญ่ก็ถือเป็นโรคประจำถิ่นที่กลับมาระบาดกันทุกปี องค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ราว 290,000–650,00 คนในแต่ละปี [2] เรียกว่า ปีที่ตายมากนี่เทียบกับสถิติของมาลาเรียที่เป็นโรคประจำถิ่นอีกโรคหนึ่ง ซึ่งมีผู้เสียชีวิตราว 600,000 คนต่อปี ทีเดียว [1]
ข้อสรุปต่อมาจึงว่า ต่อให้เป็นโรคประจำถิ่น ก็ไม่ได้แปลว่าคนจะติดน้อย ป่วยน้อยลง หรือตายน้อยลง ยังมีปัจจัยอื่นที่ต้องนำมาพิจารณาเพิ่มอีกในแต่ละโรคไปครับ
ดังนั้น อย่าเพิ่งไปหลงเชื่อตามว่า พอเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว เราก็ไม่ต้องกังวลใจอะไรกันมากนักอีกต่อไป กลับไปใช้ชีวิตตามปรกติได้ 100%
เพราะนั่นอาจจะไม่จริง และยังอาจมีคนป่วยและเสียชีวิตอยู่จำนวนหนึ่งซึ่ง...อาจจะไม่น้อย ต้องติดตามกันต่อไป
คำถามต่อไปจึงเป็นว่า ทำไมถึงมีคนเชื่อว่าสงครามยาวนานกว่า 2 ปีกับโควิด-19 ใกล้จะเสร็จสิ้น?
“การทำนาย” ความเป็นไปได้แบบนี้มาจากผู้เชี่ยวชาญหลายคนครับ
ยกตัวอย่าง ศ.จูเลียน ฮิสค็อกซ์ (Julian Hiscox) ที่เป็นประธานด้านการติดเชื้อและอนามัยโลกของมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ให้ความเห็นว่า
“เราเกือบจะถึงเป้าหมายแล้ว นี่คือการเริ่มต้นของจุดจบ อย่างน้อยก็ในอังกฤษ ... ผมคิดว่าในปี 2022 ชีวิตเราน่าจะแทบกลับไปเป็นเหมือนก่อนการระบาดใหญ่ทั่วโลก”
อีกคนที่ให้ความเห็นทำนองเดียวกันก็คือ ดร.ฮันส์ คลูจ (Hans Kulge) ที่เป็นผู้อำนวยการภูมิภาคยุโรปของ WHO ซึ่งมองว่า เรากำลังเข้าสู่เฟสใหม่ของโรคโควิด-19 โดยสายพันธุ์โอมิครอนกำลังเข้าแทนที่สายพันธุ์เดลต้าที่รุนแรงกว่า ด้วยอัตราเร็วอย่างน่าทึ่ง โดยปลายเดือนมกราคม 2022 เป็นสายพันธุ์ที่ติดมากถึง 1/3 ของการติดเชื้อโรคนี้ในยุโรป
“ยังอีกนานและการระบาดใหญ่ยังไม่สิ้นสุด แต่ผมหวังว่าเราจะสามารถยุติเฟสฉุกเฉินในปี 2022 นี้ได้ ... เป็นไปได้ว่า ภูมิภาคนี้กำลังเดินหน้าเข้าสู่จุดจบของการระบาดใหญ่แล้ว” เขาชี้แจงว่ามีแบบจำลองที่ชี้ว่า โอมิครอนจะแทนที่สายพันธุ์อื่นๆ ในยุโรปถึงราว 60% ในราวเดือนมีนาคมนี้
แต่ถึงอย่างนั้นก็อาจจะยังต้องนานอีกหลายเดือนว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันไปทั่วโลก ทั้งจากการฉีดวัคซีนและจากการติดเชื้อโอมิครอนนี้ รวมกับผลจากอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นกว่าก่อนหน้านี้ ซึ่งมีอากาศหนาวเย็นกว่า ทำให้การระบาดเกิดขึ้นได้ดีมากกว่า
“เราคาดว่าโควิดจะสงบลงได้ระดับหนึ่ง ก่อนที่อาจจะกลับมาอีกครั้งในตอนปลายปี แต่การระบาดใหญ่อาจจะไม่เกิดขึ้นอีกก็เป็นได้” ดร.คลูจ ชี้ไว้
แต่เขาก็กล่าวอย่างระมัดระวังเช่นกันว่า “ไวรัสชนิดนี้ทำให้เราประหลาดใจมามากกว่าหนึ่งครั้ง และเราก็จำเป็นต้องระมัดระวังในการสรุปอะไรเป็นอย่างยิ่ง” [3]
สรุปตรงนี้ก่อนว่า เรื่องแนวโน้มว่าโอมิครอนจะเป็นสายพันธุ์ที่มา “ปิดเกม” นั้น มีผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศและระดับโลกให้ความเห็นอยู่ ไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้อเดากันไปเอง
แต่ก็ต้องระมัดระวัง เพราะ “การฟันธง” เรื่องที่ยังไม่เคยมีข้อมูลที่ใช้เปรียบเทียบได้อยู่ก่อน ไม่ใช่เรื่องทางวิทยาศาสตร์สักเท่าไหร่
คำแนะนำจึงเป็นว่า ในระดับประเทศยังคงต้องระมัดระวังและทำให้ระบบสาธารณสุข และเศรษฐกิจเดินหน้า และอาจรวมถึงระบบการศึกษา เดินหน้าต่อไปได้อย่างระมัดระวัง
การตัดสินใจแบบ “เดนมาร์ก” ที่เปิดให้ตึกสาธารณะต่างๆ ทำการได้ แม้ว่าจะมีอัตราการติดเชื้อสูงสุดเท่าที่มีมา หรือ “ฝรั่งเศส” ที่ประกาศจะผ่อนปรนมาตรการต่างๆ มากขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ และ “สเปน” ที่ประกาศพร้อมจะขยับสับเปลี่ยนโควิดให้เป็นโรคประจำถิ่น จึงมีความเสี่ยงไม่น้อย
Photo by Tim Mossholder on Unsplash
สำหรับประเทศไทย ก็เห็นข่าวคราวทำนองเดียวกันอยู่ ดูน่าเป็นห่วงไม่น้อย
ข้ามฟากมาทางทวีปอเมริกาและแอฟริกา ขณะที่เขียนอยู่นี้ จำนวนผู้ป่วยในสหรัฐอเมริกาและแอฟริกาจากโอมิครอนก็เริ่มลดลงแล้ว คลื่นการระบาดรอบ 4 ในแอฟริกาซึ่งมีเชื้อโอมิครอนเป็นหลัก ก็เพิ่มมากที่สุดจนปลายเดือนมกราคมเริ่มลดลง
โดยมีคนเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลและคนที่เสียชีวิตลดลงทั้งคู่
มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 0.68% ซึ่งน้อยกว่าเฉลี่ย 2.4% ในคลื่นการระบาด 3 ครั้งแรก
 
ขอปิดท้ายด้วยคำกล่าวของผู้อำนวยการ WHO ที่ว่า
“ยังอันตรายเกินกว่าจะคาดว่า โอมิครอนจะเป็นเชื้อกลายพันธุ์ชนิดสุดท้าย หรือเราใกล้จะปิดจบโรคนี้ได้แล้ว ... ในทางตรงกันข้าม สภาวะทั่วโลกตอนนี้ถือว่าเหมาะสมมากที่จะเกิดสายพันธุ์ใหม่”
การเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด ไม่ได้หมายความว่า เราควรปล่อยไม่ทำอะไรเลยกับไวรัสนี้ ... เราไม่ควรยอมรับอัตราการเสียชีวิต 50,000 คนต่อสัปดาห์จากโรคที่ป้องกันและรักษาได้ [4]
เราอาจจะหยุดยั้งการระบาดอย่างฉับพลัน ลดผู้ป่วยจำนวนมากมายจากภาวะฉุกเฉินจากโควิด1-19 ได้ “ภายในปีนี้” แต่การสู้รบปรบมือกับมันคงไม่จบลงง่ายๆ แค่นี้
 
แม้ว่าโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะนิ่งนอนใจ ไม่ทำอะไร ปล่อยเลยตามเลยได้.
Photo by Adam Nieścioruk on Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา