2 ก.พ. 2022 เวลา 02:40 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
EP.3 Open house…มหาวิทยาลัยสตรีโฮซู : ชวนมาดูคนเกาหลียุค 80s ผ่าน Snowdrop
(ขอความกรุณาไม่คัดลอก ดัดแปลง หรือนำเนื้อหาในบทความต่อไปนี้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ หากต้องการนำเนื้อหาไปใช้รบกวนอ้างอิง หรือให้เครดิตหน่อยนะคะ ขอบคุณค่ะ)
새해 福 많이 받으세요. สวัสดีวันตรุษจีนและตรุษเกาหลีปี 2022 คุณผู้อ่านทุกท่านค่ะ หลังจาก Snowdrop อำลาจอไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ในใจมีทั้งความเศร้า ความอิ่มเอม ความฟิน ความตื่นเต้นที่ได้ลุ้นไปกับตัวละครในเรื่อง นักเล่าเรื่องซอขอยกให้ละครเรื่องนี้เป็นอีกเรื่องในดวงใจ เพราะองค์ประกอบภาพ แสงสี เพลง นักแสดง เนื้อเรื่องสวยงาม น่าจดจำเลยต้องขอเขียน Blog ถึง Snowdrop อีกสัก EP เพราะในละครยังมี element ที่ชวนแกะรอย น่าเม้ามอยตามสไตล์เกา ๆ ของเพจเรา
และอย่างเช่นเคย เพจเราการันตีไม่สปอลย์เนื้อหาส่วนสำคัญ และตอนจบของละคร บทความที่จะได้อ่านต่อไปนี้กล่าวถึงเนื้อเรื่องบางส่วนใน Snowdrop EP.1 เล็กน้อย เป็นการป้ายยาให้คุณผู้อ่านที่ยังไม่ได้ดู มาขึ้นเครื่องบินกระดาษแล้วชิปไปกับพระนาง #HAESOO กันค่ะ
ก่อนจะเริ่ม ใครที่ยังไม่ได้ติดตาม “EP.2 ความรักบนเส้นขนานที่ 38 : ประชาธิปไตยเกาหลีใต้ที่กำลังเบ่งบานเฉกเช่น Snowdrop” จิ้มลิงก์ด้านล่างนี้แล้วไปอ่านเพื่อเพิ่มอรรถรสใน EP.3 กันได้ค่ะ
ฝั่งสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ช่วงทศวรรษที่ 80
การประท้วงหน้าโรงเรียนสตรีซุนซอง ปี1899
Topic แรกที่ต้องพูดก่อนเลยคือ “มหาวิทยาลัยสตรีโฮซู” สถานที่สมมติในละครที่ใช้เป็นฉากสำคัญของเรื่อง หลายคนอาจจะสงสัยว่าในยุคนั้นเกาหลีมีมหาวิทยาลัยสำหรับผู้หญิงหรือไม่ ผู้เขียนบทได้ไอเดียของโลเคชั่นมาจากไหน…ซอจะมาเม้าให้ฟังค่ะ ต้องเท้าความก่อนว่าผู้หญิงเกาหลีเริ่มเคลื่อนไหว เรียกร้องสิทธิ์ในการเรียนหนังสือในปี 1899 โรงเรียนสตรีซุนซองเป็นโรงเรียนหญิงแห่งแรกในยุคโซซอนที่ผู้หญิงวัย 7-13 ปีจะได้เข้าเรียนหลักสูตร “ทงมงซอนซึบ” (동몽선습; 童蒙先習) หรือตำราพื้นฐานสำหรับเด็ก ภายในมีเนื้อหาประวัติศาสตร์ของจีนและเกาหลี หลักพื้นฐานศีลธรรมห้าข้อ และตัวหนังสือจีนหนึ่งพันตัว เป็นต้น
รูปบน มหาวิทยาลัยสตรีโฮซูในปี 1987 ภาพจากละคร Snowdrop // รูปล่าง มหาวิทยาลัยสตรีอีฮวาในปี 1975 ภาพถ่ายจริง
มหาวิทยาลัยสตรีโฮซู นักเขียนบท Snowdrop คุณยูฮยอนมีน่าจะได้แรงบันดาลใจมาจาก “มหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา” ในกรุงโซล เพราะเธอสำเร็จการศึกษาที่นี่…ใครเคยไปเที่ยวเกาหลี น่าจะแวะไปถ่ายรูปที่ทางลาดอาคารกระจก (Ewha Campus Complex : ตึก ECC) จุดไฮไลท์ที่นักท่องเที่ยวไทยไม่เคยพลาด...จุดเริ่มต้นของมหาวิทยาลัยอีฮวาเกิดขึ้นเมื่อมิชชันนารีหญิงชาวอเมริกัน Mary F. Scranton ก่อตั้งสำนักวิชาอีฮวาขึ้นในปี 1886 เน้นสอนวิชาการแพทย์และพยาบาล (ถ้าใครที่ดูละคร Snowdrop แล้วจะสังเกตเห็นรูปปั้นมิชชันนารีหญิงที่ทางเข้าหอพักค่ะ ^^) ภายหลังในปี 1945 ได้ยกสถานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย
1
บริเวณทางลาด ตึก ECC ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมไปถ่ายรูป ขอบคุณภาพจาก https://inglewood-bloods.com/archives/493
รูปบน ตราประจำมหาวิทยาลัยสตรีโฮซู ในละคร Snowdrop // รูปล่าง ตราประจำมหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา
นอกจากบรรยากาศบริเวณประตูหน้ามหาวิทยาลัยโฮซูใน snowdrop หรือฉากที่มีสถานีรถไฟประจำมหาวิทยาลัย…จุดที่ทำให้ผู้เขียนคิดว่ามหาวิทยาลัยสตรีโฮซู น่าจะเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา คือชื่อมหาวิทยาลัยโฮซูในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “womans” ซึ่งเอกลักษณ์นี้เป็นของมหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา กล่าวคือ พันธกิจของอีฮวาในฐานะสถาบันศึกษาต้องการเห็นผู้หญิงเติบโตไปอย่างมีคุณภาพในฐานะปัจเจกบุคคล (ในสมัยก่อนผู้หญิงเกาหลีค่อนข้างจะถูกกดขี่ ไม่มีแม้แต่ชื่อเป็นของตัวเอง มีเพียงหมายเลขลำดับเกิด) มีความสามารถ และความโดดเด่นเฉพาะตัว อีฮวาจึงตัดสินใจแหวกขนบไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ ด้วยการใช้คำว่า "woman" แทน women ในชื่อภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัย เพราะต้องการเน้นความเป็นปัจเจกและเอกลักษณ์ของผู้หญิงแต่ละคน
ป้ายของนศ.ใน Snowdrop "โฮซูเป็นอิสระ, ชาวโฮซู,โฮซูสามัคคีรวมใจ"
พร็อพประกอบฉากSnowdrop ปรากฎคำ '해방' (แฮ-บัง) แปลว่าการได้รับอิสระ
นอกจากนี้พร็อพต่าง ๆ ที่ปรากฏในฉาก Snowdrop Ep.1 เราจะเห็นป้ายแคมเปญการเมืองของนักศึกษาถูกผูกไว้ตามจุดต่าง ๆ บริเวณมหาวิทยาลัย หนึ่งในพาดหัวที่น่าสนใจคือ คำว่า "แฮบัง" (해방; 解放) แปลว่าการได้รับอิสระ คำนี้นักศึกษามหาวิทยาลัยอีฮวาใช้เดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยในยุค 80s ร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล มหาวิทยาลัยย็อนเซ และมหาวิทยาลัยโคเรีย ซึ่งในปี 1987 (Timeline ในละคร snowdrop) มีการประท้วง ชุมนุมใหญ่ของนักศึกษาในกรุงโซล นักศึกษาของอีฮวาก็ได้เข้าร่วมด้วยเช่นกัน
แคมเปญ เดินขบวนประท้วงของสี่มหาวิทยาลัย (ม.โซล ม.ยอนเซ ม.โคเรีย และ ม.อีฮวาในยุค 80s
นักศึกษาอีฮวาถือระเบิดขวดเข้าร่วมเดินขบวนภายในมหาวิทยาลัย เรียกร้องประชาธิปไตย ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และระบบพักการเรียนของนักศึกษาที่ถูกไล่ออก
….นี่เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ Snowdrop ถูกคว่ำบาตรในช่วงแรกที่ออนแอร์ เพราะคนดูบางกลุ่มต่างไม่พอใจที่นักเขียนบท คุณยู-ฮยอนมี สำเร็จการศึกษาที่อีฮวาในปี 1988 มีประสบการณ์ตรงในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ในปี 1987 แต่กลับถ่ายทอดให้พระเอกที่เป็นสายลับเกาหลีเหนือเข้าไปเอี่ยวกับกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัย..ส่อเค้าแววจะบิดเบือนประวัติศาสตร์ที่เพิ่งผ่านไปได้ 35 ปี
1
Stock shot หอพักมหาวิทยาลัยสตรีโฮซู
ก่อนจะเข้าสู่ topic ต่อไปแอบเม้านิดนึงว่า Stock shot หอพักมหาวิทยาลัยสตรีโฮซูในเรื่อง สถานที่จริงคือมหาวิทยาลัยซอนมุน วิทยาเขตชอ-นัน ( Sun Moon University — Cheonan Campus) ตั้งอยู่ที่จังหวัดชุงช็องใต้ ถ้าใครเป็นแฟนคลับทนายวินเซนโซ่ น่าจะจำฉากที่พระเอกกับนางเอกไปขึ้นศาล แล้วมีนักข่าวมารอทำข่าวได้ค่ะ ^^ โลเคชั่นนี้เลย
ภาพจากละครเรื่อง Vincenzo (2021)
ในช่วงสงครามเย็น เยอรมันตะวันตก และกรุงเบอร์ลินตะวันตกจะอยู่ในการดูแลของประเทศฝั่งเสรีประชาธิปไตย ส่วนเยอรมันตะวันออก และกรุงเบอร์ลินตะวันออกจะอยู่ในการดูแลของสหภาพโซเวียต
Topic ต่อมาที่อยากเม้าคือการส่งชาวเกาหลีไปเยอรมนีค่ะ…เยอรมนีในช่วงสงครามเย็นถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ให้อยู่ในความดูแลของสหภาพโซเวียต อังกฤษ อเมริกา และฝรั่งเศส นครเบอร์ลินซึ่งเป็นเมืองหลวงก็ถูกแบ่งเป็นสัดส่วนเช่นเดียวกัน นอกจากเราจะได้เห็นตัวละครใน Snowdrop ได้รับทุนการศึกษาไปเรียนที่เบอร์ลินแล้ว… เดิมทีก่อนหน้าในสมัยรัฐบาลพัคจองฮีมีนโยบายเปลี่ยน “บุคคล” ให้เป็น “ชาติ ด้วยการคัดเลือกและส่งชาวเกาหลีไปทำงานที่เยอรมนีเช่นกัน โดยผู้ชายมักจะทำงานขุดแร่ ส่วนผู้หญิงจะไปทำงานเป็นพยาบาล (파독광부와 파독간호사) ซึ่งจากบันทึก ช่วงปี 1965-1975 แรงงานต่างชาติและชาวเกาหลีโพ้นทะเลได้ทำงานส่งเงินกลับบ้านเกิดในจำนวนประมาณ 1.09 ล้านวอน เพื่อพัฒนาประเทศให้ทันสมัย
การปราบปรามจากรัฐ ห้ามไว้ผมยาว และนุ่งกระโปรงสั้น
Topic ประเด็นท้ายในฝั่งเกาหลีใต้ที่อยากชวนเม้าคือวัฒนธรรมกระแสนิยมที่ collab กับการเมืองเบา ๆ ขอเริ่มที่ทศวรรษ 1970 ก่อนค่ะ ในเวลานั้นปรากฏเพลงที่มีเนื้อหาต่อต้านระบอบเผด็จการ และรัฐธรรมนูญยูชินของพัคจองฮี (เพลงของผู้ชุมนุมที่ต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริง) ผู้คนหันมาเล่นกีต้าโปร่ง เกิดดนตรีโฟล์ค และดนตรีร็อคแนวเกาหลี ด้านการแต่งกาย เริ่มมีการไว้ผมยาว และนุ่ง miniskirt ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนโลกใบใหม่ (ช่วง 70s ผู้ชายจะถูกห้ามไว้ผมยาว ส่วนผู้หญิงจะถูกห้ามนุ่งกระโปรงสั้น รัฐบาลต้องการให้ประชาชนแต่งกายตาม uniform เพื่อให้ประเทศดูเป็นสากลนิยม)
วัฒนธรรมเพลง และการแต่งกายในเกาหลียุค 70s
วัยรุ่นหันมาสวมกางเกงยีนส์มากขึ้น ด้านผู้หญิงนิยมสวมชุดสูทกางเกง (เดิมทีเป็นชุดสำหรับผู้ชาย) ในขณะที่ผู้ชายหันมาใส่เสื้อกางเกงที่มีสีสัน และลวดลายหลากหลาย (เดิมทีเป็นองค์ประกอบในชุดผู้หญิง) แฟชั่นลักษณะดังกล่าวเรียกว่า Unisex fashion โดยรวมแฟชั่นในยุค 70s แสดงให้เห็นเสรีภาพที่เบ่งบานท่ามกลางบรรยากาศการเมืองที่บีบบังคับ
แวะมาดูพระเอกเล่นกีต้าสักนิด อาหารบำรุงสายตานักอ่าน ^^
แฟชั่นเกาหลีในยุค 80s ภาพจากละคร Reply 1988 (2015-2016)
ถัดมาในทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็น Timeline ใน Snowdrop ยุคนี้เป็นยุคที่ทีวีสีเข้ามาในเกาหลี เกิดรายการเพลงในหมู่วัยรุ่น แนวเพลงที่ได้รับความนิยมในยุคนี้คือเพลงแดนซ์และเพลงบัลลาด (เพลงรัก-เศร้าสไตล์ช้า ๆ) ดังที่เราจะได้งานเปิดหอพักสตรีโฮซูใน snowdrop บรรดานักศึกษาพากันมาสับขาเต้นรำ หรือโกฮเยรยองขับร้องเพลงสไตล์บัลลาด นอกจากนี้ยังมีเทศกาลดนตรีสำหรับคนทั่วไป และนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ถ้าใครที่ดู Reply 1988 จะจำได้ว่ามีฉากประกวดร้องเพลงในมหาวิทยาลัยในหน้าจอทีวี (MBC 대학가요제) ด้านแฟชั่นและการแต่งกาย สืบเนื่องจาก GNP เพิ่มขึ้น ความต้องการจับจ่ายใช้เงินของชาวเกาหลีก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เกาหลีได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันระดับนานาชาติ ทั้งเอเชียนเกมในปี 1986 และกีฬาโอลิมปิคในปี 1988 ชุดกีฬา (sport wear) เลยกลายเป็นเทรนด์แฟชั่นที่สำคัญ
ซูโฮกับยองโนเต้นรำกันในความฝัน ❤️
หมวกทรงกลมแบนไม่มีปีก (หมวกเบเร่ต์) เริ่มนิยมตั้งแต่ยุค 70s ภาพจากละคร Snowdrop (2021)
ข้ามมาที่ฝั่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ) ช่วงทศวรรษที่ 80
สัญลักษณ์ของพรรคแรงงานประกอบด้วย ค้อน สื่อถึงแรงงาน // พู่กัน สื่อถึงปัญญาชน // เคียว สื่อถึงชาวนา
ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 1960-1970 เกาหลีเหนือปกครองประเทศด้วยระบบสังคมนิยม โดยในปี 1972 เกิดรัฐธรรมนูญให้อำนาจสูงสุดกับคิมอิลจ็อง ผู้นำหนึ่งเดียวได้ดำเนินการบริหารประเทศภายใต้พรรคการเมืองเดี่ยว หรือ “พรรคแรงงานแห่งเกาหลี” (조선로동당) เพราะฉะนั้นตลอดการดำเนินเราเลยจะได้ยินตัวละครฝั่งพระเอกพูดถึงคำว่า “พรรค” อยู่หลายครั้ง การตั้งคิมอิลซ็องเป็นผู้นำที่มีอำนาจสูงสุดส่งผลให้เกิดนโยบายการพึ่งพาตนเอง และเชื่อมั่นพลังของตัวเอง หรือที่เรียกว่าอุดมการณ์ “ชูเช่” (주체; 主體) ประกอบไปด้วยแนวคิดหลัก 3 ประการย่อยคือ ความเป็นอิสระทางการเมือง (자주) การพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ (자립) และการปกป้องตนเองทางทหาร (자위)
ความเป็นอิสระทางการเมือง จะเห็นได้ว่าเกาหลีเหนือไม่มีพรรคฝ่ายค้าน มีการส่งอำนาจผู้นำผ่านไปยังรุ่นลูก ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเน้นสร้างสมดุลระหว่างจีนกับโซเวียต เพราะเกาหลีเหนือต้องการเงินทุน ในการพัฒนาประเทศหลังสงครามเกาหลี (1950-1953) การพึ่งตนเองในด้านเศรษฐกิจ เกิดขึ้นเพราะในช่วงแรกที่สถาปนาประเทศ เกาหลีเหนือต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากประเทศสังคมนิยมมาโดยตลอด แต่คิมอิลซ็องต้องการให้คนไม่งอมืองอเท้า เลยผลักดันให้ประชาชนทำเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และกิจการเหมืองแร่ เศรษฐกิจเกาหลีเหนือในช่วงทศวรรษ 50-60 เลยบูมมาก (GNP ของเกาหลีเหนือก่อนจะเข้ายุค 80s สูงกว่าเกาหลีใต้) ส่วนการปกป้องตัวเองทางทหาร ไม่ต้องแปลกใจ เพราะเกาหลีเหนือระดมทุนไปที่กองทัพมากที่สุด คล้ายกับบางประเทศที่เอะอะก็ซื้อรถถัง และเรือดำน้ำ 😆
1
การประชุมลับของฝั่งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ที่กรุงปักกิ่ง ภาพจาก Snowdrop Ep3
เข้าสู่ทศวรรษ 80 เศรษฐกิจของเกาหลีเหนือเริ่มประสบปัญหา และอยู่ในช่วงขาลง เพราะแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่สอง (1978-1985) ไม่ได้ผลตามที่ตั้งเป้า อีกทั้งประเทศสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกที่จัดหาวัตถุดิบและเงินทุนให้ความช่วยเหลือเกาหลีเหนือน้อยลง ส่วนจีนแม้การเมืองจะเผด็จการ แต่ก็เริ่มเดินเกมเศรษฐกิจแบบทุนนิยมแทน เกาหลีเหนือที่เน้นพึ่งพาตัวเอง และยึดติดอยู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีทำให้ภาคอุตสาหกรรมมาถึงทางตัน สูญเสียโอกาสในการแข่งขันเศรษฐกิจในเวทีนานาชาติ เมื่อการส่งออกดูไปต่อไม่ไหว ทำให้ไม่มีเงินจากต่างชาติไหลเข้าประเทศ การนำเข้าเชื้อเพลิง และทรัพยากรอื่น ๆ จึงหยุดชะงัก
แม้พรรคแรงงานจะนโยบายล่อซื้อ ให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนด้วยการมอบผลประโยชน์ แต่การจัดการเศรษฐกิจแบบชูเช่ยังฝังรากอยู่ ทำให้นโยบายนี้ไม่สำเร็จเท่าที่ควร ดังนั้นใน Snowdrop เราจึงเห็นตัวละครรัฐบาลฝั่งเกาหลีเหนือ พยายามดีลกับรัฐบาลเกาหลีใต้ เพื่อขอเงินทุนก้อนใหญ่ เพราะเศรษฐกิจในยุคนี้เริ่มวิกฤตหนัก
1
อีก Topic ที่น่าสนใจในเกาหลีเหนือ...หลายครั้งเราจะได้ยินคำว่า “เผด็จการ” (독재; 獨裁) ในประเทศนี้ แต่เผด็จการของเกาหลีเหนือนั้นมีลักษณะเป็นเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ (totalitarianism; 전체주의) คือนอกจากการปกครองแบบอำนาจนิยม (authoritarianism) กำจัดคนเห็นต่าง ใช้โฆษณาชวนเชือ และลิดรอนสิทธิ เสรีภาพบางประการให้อยู่ในขอบเขตแล้ว ผู้นำสูงสุดจะควบคุมประชาชนในทุกมิติของชีวิต รวมถึงสื่อมวลชน ทุกคนต้องเชิดชูคอมมิวนิสต์ และกรี๊ดอวยผู้นำ (Fascism) ใครต่อต้านหรือเห็นต่างต้องโดนปราบปรามไม่ได้ผุดได้เกิด อย่างที่เราจะเห็นตัวละครฝั่งเกาหลีเหนือใน Snowdrop กลัวการถูกส่งไปค่ายกักกัน หรือถูกลงโทษด้วยการประหารชีวิต
เดิมที...เผด็จการแบบเบ็ดเสร็จเริ่มเป็นที่นิยมในพรรคนาซีของเยอรมนี และฟาสซิสต์ที่อิตาลีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ภายหลังพัฒนาเป็นลัทธิสตาร์ลินในสหภาพโซเวียต และลัทธิเหมาเจ๋อตุงในจีน ซึ่งคิมอิลซ็องก็รับระบบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ มาใช้ในอุมการณ์ชูเช่ มีสโลแกนว่า “One for all, all for one” (하나는 전체를 위하여, 전체는 하나를 위하여.) เราต้องมอบชีวิตของเราเพื่อการปฏิวัติและรวมประเทศเป็นหนึ่ง (1 ใน หลัก 10 ประการของ One-Ideology System)
แม่น้ำแทดงในกรุงเปียงยาง
Topic สุดท้ายในฝั่งเกาหลีเหนือที่อยากชวนเม้า คือโค้ดเนมของสายลับเกาหลีเหนือที่เข้าไปจารกรรมข้อมูลในฝั่งใต้ เริ่มที่ "แทดงกัง หมายเลข 1" (대동강 1호) แทดงกังในที่นี้คือ แม่น้ำแทดง (대동강; 大同江) แม่น้ำสายหลักในเกาหลีเหนือ ไหลจากทางตอนเหนือของประเทศลงสู่อ่าวเกาหลี ที่สำคัญยังไหลผ่านกรุงพย็องยาง (เปียงยาง) เมืองหลวงของประเทศอีกด้วย แม่น้ำสายนี้ใช้ในการขนส่ง และเป็นแหล่งประปาขนาดใหญ่ของประเทศ มีการสร้างสะพานข้าม ชื่อสะพานแทดง (ถ้าใครไปเกาหลีใต้ หรือดูละครอาจจะได้ยินคำว่า "ฮันกัง" (한강; 漢江) หรือแม่น้ำฮัน แม่น้ำสายสำคัญในกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ ทางฝั่งเหนือก็มีสายสำคัญของเขาเช่นกันค่ะ)
1
โมรันบงในฤดูใบไม้ผลิ ถ้ายังจำกันได้ คำว่า "บง" (봉) มาจากตัวฮันจา 峰 ที่แปลว่ายอดเขา ซึ่งนักเล่าเรื่องซอเคยพูดถึง โอ-บง หรือยอดเขา 5 ลูก ใน Blog ep.1 ก่อนหน้า
ถัดมาคือ "โมรันบง" (모란봉; 牡丹峰) หรือ ยอดเขา “โมรัน” (ดอกโบตั๋น) ชื่อของสวนสาธารณะที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงพย็องยาง เมื่อเดินขึ้นไปบนเนินจะพบว่ายอดเขามีลักษณะคล้ายกับดอกโบตั๋น จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก ด้านทิศตะวันออกติดกับแม่น้ำแทดง ซึ่งหากมองจากเนินเขาก็จะสามารถชมวิวของแม่น้ำแทดงได้อย่างสวยงาม ที่ยอดเขาโมรันเป็นที่ตั้งของอนุสรณ์สำคัญหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นประตูชัย คิมอิลซ็องสเตเดี้ยม หรืออนุสรณ์สถานปฏิวัติแคซอน (สถานที่ที่คิมอิลซ็องประกาศเอกราชของเกาหลีในปี 1945) ปัจจุบันชื่อของ "โมรันบง" ยังนำมาใช้เป็นชื่อวงเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลีเหนือซึ่งตั้งขึ้นในปี 2012 เน้นเพลงสไตล์ป๊อป ร็อค และฟิวชั่น สมาชิกในวงจะได้รับเลือกจากท่านผู้นำ คิม จ็อง-อึน
สมาชิกวงโมรันบง
และโค้ดเนมสุดท้าย “แฮกึมซอง” (해금성) โค้ดเนมนี้เดายากที่สุด เท่าที่ลองหาข้อมูล พบว่าไม่ใช่ชื่อสถานที่ เหมือนสองชื่อแรก ผู้เขียนเลยเดาว่า “แฮกึม” ในที่นี้มาจากเครื่องดนตรีพื้นเมืองเกาหลีประเภทเครื่องสาย (ซอชนิดหนึ่ง) รูปร่างคล้ายซอด้วงของไทย (해금; 奚琴) ส่วน “ซอง” (성) ผู้เขียนคิดว่าน่าจะมาจากตัวฮันจา 聲 ที่แปลได้ทั้ง เสียง เพลง หรือ ชื่อ รวมกันแล้วได้ความหมายว่า “เสียงของซอ”...ว่ากันว่า เครื่องสายแฮกึมเป็นเครื่องดนตรีที่ต้องใช้เวลาหลายเดือนในการฝึกฝนให้ได้เสียงและโทนที่ถูกจังหวะ ไพเราะ เพราะโทนเสียงของเครื่องสายประเภทนี้ควบคุมให้คงที่ได้ยาก
เครื่องดนตรีพื้นเมืองประเภทเครื่องสาย 'แฮกึม'
ตัวละครไหนใช้โค้ดเนมว่าอะไร แล้วใครเป็นใคร จะสับขาหลอก หักมุมยังไงต้องไปติดตามกันต่อในละครนะคะ 🤫
ผู้เขียนขอจบ Blog แหวกขนบสปอยล์ ชวนเม้ามอยสไตล์เกาไว้เท่านี้ หวังหว่าคอนเทนต์ใน Ep.3 นี้จะช่วยเพิ่มอรรถรส และความเข้าใจในการชมละครของเกาหลีของคุณผู้อ่านมากขึ้น และชวนให้คุณผู้อ่านที่ยังไม่ได้ชม Snowdrop ต้องรีบไปมาราธอน ยิงยาวตอน 1-16 ณ วันที่เขียน blog นี้ละครอวสานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องลงแดง ดูกันได้ยาว ๆ เลยค่า รับชมละครเรื่อง Snowdrop ซับไทยแบบถูกลิขสิทธิ์ในทางแอปพลิเคชัน Disney + Hotstar นะคะ
วันนี้ขอลาไปด้วยคลิปเพลง Intro ที่ใช้เป็น BGM Opening เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ Open house ของ Blog นี้ ☺️
2022년 2월 2일 - 서지혜 쓴 글.
Fun Facts about Korean (Bonus as an Epilogue)
การนัดบอดแบบจับกลุ่มใน Snowdrop
  • การนัดบอดแบบกลุ่ม หรือ “พัง-ทิ่ง” (방팅) เราจะได้เห็นสาวหอในม.สตรีโฮซูเดทกับชายหนุ่มในบ้านพักแบบฮาซุกจิบ (บ้านพักกินนอนที่ต้องจ่ายเงินตามกำหนด) การเดทแบบนี้ฝั่งชาย-ฝั่งหญิงจะจับกลุ่มจำนวนเท่า ๆ กันจากรูมเมทในห้อง (คำว่า “พัง” 방 หมายถึงห้อง) แล้วนัดพบทำกิจกรรม เพื่อสานสัมพันธ์...เดิมทีเกาหลีมีวัฒนธรรมการนัดบอดแบบตัวต่อตัว หรือ “โซ-แก-ทิ่ง” (소개팅) มาจากคำว่า “โซ-แก” (소개; 紹介) ซึ่งแปลว่าการแนะนำ หรือทำให้รู้จัก ผสมกับคำว่า “ทิ่ง” (팅) ซึ่งมาจาก meeting ในภาษาอังกฤษ
1
  • ชาวเกาหลีใต้ในละคร Snowdrop มักจะเรียกคนเกาหลีเหนือในลักษณะที่ค่อนข้างหยาบ ดังที่เราจะเห็นในซับไทยว่า “ไอ้โสมแดง” หรือ “ปัล-แก-งี” (빨갱이) มีความหมายว่าพวกคอมมิวนิสต์ สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “ปัล-ชิ่-ซัน” (빨치산 / partisan) แปลว่าหน่วยรบแบบกองโจรของโซเวียต หรือน่าจะมาจากคำว่า “ปัล-กัง” (빨강) ที่แปลว่าสีแดง สีของประเทศคอมมิวนิสต์
  • ชาวเกาหลีเหนือ มักจะเรียกคนเกาหลีใต้ ว่าพวก “นัม-โช-ซ็อน” (남조선) เพราะชื่อประเทศเกาหลีเหนือในภาษาเกาหลี จะใช้คำว่า “โช-ซ็อน” (조선) ซึ่งมาจากชื่ออาณาจักรและราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองเกาหลีมานานกว่า 500 ปี โดยคำว่า “นัม” (남) หมายถึงทิศใต้ เมื่อนำมารวมกันจึงหมายถึง “พวกโชซ็อนใต้” หรือเกาหลีใต้นั่นเอง อีกคำที่เราจะได้ยินในละครเรื่อง Crash Landing on You คือ “อา-เร็ด-ตง-เน หรือ อา-แร-ตง-เน” (아랫동네) มาจากคำว่า “อาเร็ด” (아랫) ที่แปลว่า ด้านล่าง และ “ทง-เน” (동네) ที่แปลว่าหมู่บ้าน หรือละแวกบ้าน เมื่อนำมารวมกันจึงหมายถึง หมู่บ้านด้านล่าง ซึ่งก็คือเกาหลีใต้
References
ภาษาไทย
  • ชำนาญ จันทร์เรือง. (2553). เผด็จการหรือไม่ ดูตรงไหน. https://prachatai.com/journal/2010/08/30674
  • อนุช อาภาภิรม (2564). ลัทธิจูเช่ เครื่องมือที่ผู้นำตระกูลคิมใช้สร้างชาติเกาหลีเหนือ. https://www.silpa-mag.com/history/article_75651
ภาษาอังกฤษ
ภาษาเกาหลี
โฆษณา