13 ก.พ. 2022 เวลา 05:08 • ปรัชญา
เช้าวันทำงานที่ยอดเยี่ยมด้วย "การไม่ขับรถ" ไปที่ทำงานเอง
ไม่ว่าจะเป็นคนทำงาน นักเรียน หรือนักศึกษา ต่างก็อยากจะทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือ Productive นั่นเอง
นิยามของ Productive คือ “ปริมาณของงานที่ทำ” หารด้วย “เวลา” ครับ ซึ่งก็คือในเวลาหนึ่งเราสามารถทำงานสำเร็จไปปริมาณเท่าไหร่ครับ
ศาสตร์แห่งความ Productive เป็นอะไรที่นักศึกษาเภสัชอย่างผมต้องการเรียนรู้มาก ๆ ครับ (หัวเราะ)
ในช่วงหนึ่งที่มหาวิทยาลัยของผมยังไม่มีประกาศมาตราการควบคุมโรคระบาดโควิด-19 บางครั้งผมจะขับรถไปเรียน บางครั้งผมจะติดรถคุณแม่ไปครับ ผมรู้สึกว่าการที่ไม่ได้ขับไปเองมันมีข้อดีอยู่ดังนี้ครับ:
  • มีเวลาเตรียมตัวก่อนเข้าเรียน/ทำงาน
  • ลด Decision fatigue (ความเหนื่อยล้าจากการตัดสินใจ
ภาพจาก unsplash.com
เวลาบนรถระหว่างทางจากบ้านไปที่ทำงานครึ่งชั่วโมงหรืออาจจะมากกว่านั้นสามารถทำอะไรได้เยอะกว่าที่คิดเชียวนะครับ
จากหนังสือเล่มโปรดของผม “วันๆ เขาทําอะไรถึงได้เป็นประธานบริษัท” เขียนโดยท่านประธานบริษัทโนโบรุ โคยาม่า ซึ่งเป็นหนังสือที่รวมเคล็ดลับเกี่ยวกับการเป็นประธานบริษัทที่ดีผ่านการเล่าเรื่องชีวิตประจำวันของคุณโนโบรุครับ
คุณโนโบรุเป็นประธานบริษัทที่ไม่เหมือนคนอื่นที่มักจะนั่งบัญชาการจากห้องทำงานประธานบริษัทอันกว้างขวาง แต่เขามักจะลงพื้นที่ไปเป็นนักขายเองอยู่บ่อยๆ ขนาดที่ห้องทำงานเขาไม่มีเก้าอี้เลยล่ะครับ เพราะมันเป็นทริคที่เขาจะได้ออกเปิดขายนอกบริษัท
ชีวิตการเป็นผู้บริหารของเขาจึงมีส่วนร่วมกับระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟ กับแท็กซี่ คุณโนโบรุจะมีงานที่เขาชอบทำระหว่างนั่งเป็นผู้โดยสารอย่างเช่น อ่านเอกสาร เขียนการ์ดขอบคุณลูกค้า และฟังว๊อยซ์เมล์
พนักงานทั่วไปทำงานเป็น [วัน] ฝ่ายบริหารทำงานเป็น [ชั่วโมง] สุดยอดประธานบริษัททำงานเป็น [วินาที]
โนโบรุ โคยาม่า
นอกจากการไม่ได้นั่งที่คนขับจะทำให้เรามีเวลาเตรียมตัวมากขึ้นแล้ว ยังทำให้เราไม่เครียดอีกด้วย
หนังสือ “Who Not How: The Formula to Achieve Bigger Goals Through Accelerating Teamwork” ถ่ายทอดจากมันสมองของโค้ชแดน ซัลลี่แวน (Dan Sullivan) ผ่านปลายปากกาของนักเขียนและนักจิตวิทยาชื่อดัง, ดร. เบนจามิน ฮาร์ดี้ (Dr. Benjamin Hardy) โค้ชแดนไม่เห็นด้วยกับการขับรถไปทำงานด้วยตัวเอง เพราะเขาเห็นว่าการใช้บริการแท็กซี่นั้นสามารถเป็นจุดเริ่มต้นของวันที่ดีในการทำงานให้กับคนๆ นึงได้
โค้ชแดนยกตัวอย่างถึงคุณเจคอบ มอนที (Jacob Monty) ที่เป็นทนายความด้านแรงงานและการย้ายถิ่นฐานที่เมืองฮิวสตัน, รัฐเท็กซัส หลังจากที่คุณเจคอบได้นำวิชาของแดนมาปรับใช้ ประสิทธิภาพการทำงานของชายคนนี้จึงเปลี่ยนไปเพราะมีเวลาถึง 90 นาทีที่นั่งโดยสารบนแท็กซี่ คุณเจคอบไม่ต้องเร่งรีบ เขาสามารถทำงานบนรถได้ และไม่เสียเวลาวนหาที่จอดรถด้วย ระดับความเครียด (Stress level) ของเขาลดต่ำลงจากเมื่อก่อน
ในทางจิตวิทยามีคอนเซปต์นึงที่เรียกว่า Decision fatigue (อาการเหนื่อยล้าจากการตัดสินใจ) ซึ่งมันคือความเครียดที่เกิดจากการตัดสินใจที่แม้เล็กน้อย แต่มันสะสมไปเรื่อยๆ เช่นการกระวนกระวายว่าจะไปทำงานสาย หรือการวนหาที่จอดรถ
อย่างไรก็ตามหากคุณอยู่อาศัยในพื้นที่ที่ไม่มีระบบขนส่งสารธารณะ มันคงไม่ง่ายที่จะหาคนมาขับรถให้คุณไปทำงานในทุกๆเช้า (ยกเว้นคุณจะเป็นคนที่มีตำแหน่งหรือคุณมีเพื่อนที่ใจกว้างสุดๆน่ะนะ) หรือถ้านั่งแท็กซี่ก็มีค่าใช้จ่ายตามมาอีกครับ
ภาพจาก unsplash.com
สิ่งที่สำคัญคือ Do what you can (ทำอะไรที่คุณทำได้) คุณอาจจะเริ่มจากอะไรที่คุณพอจะทำได้ เช่นนอนเร็วตื่นเช้าขึ้น หรือแบ่งเวลาอย่างเป็นระบบเป็นต้นครับ เพราะการเริ่มต้นยามเช้าที่ดีนั้นมีหลากหลายวิธีมากกว่านั้น และทั้งหมดนั้นล้วนขึ้นอยู่กับวินัยครับ
หวังว่าบทความนี้สามารถนำปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อ่านทุกคนครับ ขอบคุณที่อ่านบทความนี้ครับ
References
  • 1.
    วัน ๆ เขาทำอะไรถึงได้เป็นประธานบริษัท เขียนโดย Noboru Koyama
  • 2.
    Who Not How: The Formula to Achieve Bigger Goals Through Accelerating Teamwork by Dan Sullivan

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา