13 ก.พ. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“เนลสัน แมนเดลา” มหาบุรุษแห่งแอฟริกาใต้ผู้ยืนหยัดเพื่อความเสมอภาค Blockdit Originals by Bnomics
“ทุกอย่างมักจะดูจะเป็นไปไม่ได้เสมอแหละ จนกว่าวันที่มันสำเร็จ”
(It always seems impossible until it’s done)
3
ในอดีตที่ผ่านมา จะมีสักกี่คนที่มีเรื่องราวชีวิตโลดโผนและพลิกผัน จากแกนนำการประท้วงนโยบายแบ่งแยกสีผิว สู่นักโทษจองจำกว่า 27 ปี แล้วไต่ขึ้นไปสู่การเป็นประธานาธิบดี จนกลายเป็นมหาบุรุษของแอฟริกาใต้ ที่ถูกจดจำในฐานะสัญลักษณ์ของการต่อต้านการเหยียดสีผิวในแอฟริกาใต้ และเป็นผู้ส่งเสริมความเสมอภาคจวบจนลมหายใจสุดท้าย
1
วันนี้ Bnomics จะมาเล่าเรื่องของคุณเนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของแอฟริกา ผู้พลิกโฉมแอฟริกาสู่ยุคใหม่แห่งประชาธิปไตยและความเสมอภาค
📌 วันวานในวัยเยาว์…แอฟริกาที่เต็มไปด้วยการแบ่งแยกสีผิว
คุณเนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) เกิดในปี 1918 เขาใช้ชีวิตเติบโตมาในยุคที่แอฟริกันมีนโยบายการแบ่งแยกสีผิว (Apartheid) โดยจะแบ่งเป็นกลุ่มคนออกเป็น กลุ่มแอฟริกันผิวดำ, คนผิวสี, คนผิวขาว, และสุดท้ายคือ กลุ่มคนเอเชีย (อินเดียและปากีสถาน)
2
ในยุคนั้นไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย หรือภาคส่วนธุรกิจ ก็จะถูกแบ่งแยกไปตามแต่ละกลุ่มสีผิว และแน่นอนว่ากลุ่มคนผิวดำ ผิวสี รวมถึงคนเอเชีย ถูกกีดกันออกจากงานที่ถูกมองว่าเป็นอาชีพของคนผิวขาว โรงเรียนก็มีการแบ่งแยกมาตรฐานการสอนให้แตกต่างกันระหว่างสีผิวเพื่อที่เด็กจะได้เติบโตไปทำอาชีพที่รัฐคิดว่าเหมาะแก่สีผิวของเขา
ที่ดินกว่า 80% ในแอฟริกาถูกสงวนไว้ให้เป็นคนของผิวขาว และเพื่อป้องกันไม่ให้คนผิวดำเข้าไปในพื้นที่ของคนผิวขาว ทางรัฐบาลได้กำหนดให้คนผิวดำต้องมีเอกสารอนุญาต เมื่อจะเข้าไปในเขตพื้นที่ของคนผิวขาว
1
คุณเนลสัน แมนเดลา ที่เรียนจบกฎหมายจาก University of the Witwatersrand ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกมนุษย์ด้วยสีผิวเช่นนี้
ในปี 1944 เขาจึงได้ออกมาร่วมเคลื่อนไหวกับสมัชชาแห่งชาติแอฟริกัน (African National Congress : ANC) จนกลายมาเป็นผู้นำสันนิบาตเยาวชนของพรรค และยังเป็นผู้นำในระดับชาติของพรรคในเวลาต่อมาอีกด้วย เขาออกเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อหวังที่จะสร้างแรงสนับสนุนต่อสมัชชาและต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวของพรรครัฐบาลแห่งชาติอย่างสันติวิธี
แต่เรื่องราวมันไม่ได้ง่ายและโรยด้วยกลีบกุหลาบเช่นนั้น เพราะคุณเนลสัน แมนเดลา ได้ตกเป็นเป้าหมายการจับกุมจากรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งในปี 1964 ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตจากข้อหาก่อวินาศกรรม
📌 แม้ตัวถูกกักขังไป แต่จิตใจที่สู้เพื่อความเสมอภาคยังคงโบยบิน
1
คุณเนลสัน แมนเดลา ถูกจำคุกอยู่นานถึง 27 ปี โดยช่วงเวลากว่า 18 ปี ถูกใช้ไปในคุกที่เกาะโรบเบิน นอกชายฝั่งเคปทาวน์ เขาถูกคุมขังในห้องเล็กๆ ที่ไม่มีเตียง หรือระบบท่อประปา ถูกบังคับให้ทำงานหนักๆ ในเหมืองหิน โดยได้รับอนุญาตให้เขียนและรับจดหมายได้ทุกๆ 6 เดือน สามารถเจอกับผู้ที่มาเยี่ยมได้เพียงปีละครั้ง ครั้งละ 30 นาทีเท่านั้น
3
ถึงอย่างนั้นคุณเนลสัน แมนเดลากลับไม่เคยย่อท้อ เขากลายเป็นหัวหอกในการเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการปรับปรุงสภาพเกาะโรบเบินให้ดีขึ้น และยังคงเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวมาโดยตลอด
2
ตลอดช่วงเวลาที่ถูกคุมขัง เขาได้รับแรงสนับสนุนและกำลังใจอย่างกว้างขวางทั้งจากประชาชนผิวดำชาวแอฟริกัน และจากนานาชาติ การถูกจำคุกของเขาได้กลายเป็นประเด็นให้ประชาคมระหว่างประเทศประณามการแบ่งแยกสีผิว และเรียกร้องให้ทางการแอฟริกาปล่อยตัวคุณเนลสัน แมนเดลา
จนกระทั่งในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1989 คุณเฟรเดอริก วิลเลิม เดอ แกลร์ก (F.W. de Klerk) ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาได้ยกเลิกการแบนสมัชชาแห่งแอฟริกัน และนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมือง คุณเนลสัน แมนเดลา จึงได้รับอิสรภาพนับตั้งแต่นั้น ในวัย 71 ปี…
หลังจากที่หลุดพ้นจากการจองจำอันยาวนานถึง 27 ปี คุณเนลสัน แมนเดลา ก็ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคสมัชชาแห่งแอฟริกัน จากนั้นเขาจึงเริ่มต้นบทบาทใหม่ในการเจรจาต่อรองกับประธานาธิบดีเดอ แกลร์ก เพื่อที่จะยุติการแบ่งแยกสีผิว และทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติหรือสีผิว ส่งผลให้คุณเนลสัน แมนเดลา และคุณเฟรเดอริก วิลเลิม เดอ แกลร์ก ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกันในปี 1993
📌 ผู้พลิกโฉมแอฟริกาใต้สู่ยุคใหม่แห่งประชาธิปไตยและความเสมอภาค
และแล้วช่วงเวลาแห่งประชาธิปไตยเบ่งบานก็มาถึง ในการเลือกตั้งปี 1994 พรรคของคุณเนลสัน แมนเดลา ได้ชนะการเลือกตั้งซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการลงคะแนนเสียงแบบสากล เปิดโอกาสให้คนทุกสีผิวได้ออกเสียงอย่างเท่าเทียม เขาจึงได้เข้าสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของแอฟริกาที่มาจากการเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง
1
ตลอดระยะเวลา 4 ปีในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี คุณเนลสัน แมนเดลา อุทิศตัวเองให้กับการฟื้นฟูและแก้ปัญหาความไม่เสมอภาคในสังคมที่เกิดขึ้นจากนโยบายแบ่งแยกสีผิว เนื่องการแบ่งแยกทางการศึกษา, การเข้าถึงบริการสาธารณสุข, สวัสดิการ, การขนส่ง, และการทำงาน ได้ทิ้งรอยแผลของความไม่เท่าเทียมและเศรษฐกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพเอาไว้
1
ในด้านของการพาณิชย์และอุตสาหกรรมต่างๆ กลุ่มก้อนบริษัทใหญ่ๆ ที่มีอำนาจควบคุมประเทศเกือบทั้งหมดก็อยู่ในมือคนขาว อีกทั้งนโยบายแรงงานราคาถูกและการแบ่งแยกอาชีพคนจากสีผิว ก็ส่งผลให้แรงงานผิวขาวเป็นกลุ่มที่มีทักษะสูงกว่า
ในขณะที่แรงงานผิวดำมักไม่ถูกสอนทักษะ จึงไม่อาจตามทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ธุรกิจขนาดกลางและเล็กไม่ค่อยได้รับการพัฒนา ในขณะที่อุตสาหกรรมที่รัฐปกป้อง ก็ไม่ค่อยมีการลงทุนในงานวิจัยและพัฒนาอะไรเลย
คุณเนลสัน แมนเดลา จึงริเริ่มนโยบาย Reconstruction and Development Programme (RDP) เพื่อมุ่งหวังที่จะขจัดความยากจนในประเทศ แต่การจะขจัดความยากจนได้นั้น ก็ต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจไปด้วย ดังนั้นในนโยบาย RDP จึงครอบคลุมไปถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การจำกัดการใช้จ่ายภาครัฐ, คงระดับหรือลดระดับอัตราภาษี, ลดหนี้สาธารณะ และเปิดเสรีทางการค้า
1
นอกจากนี้ เขายังริเริ่มโครงการที่ช่วยแก้ปัญหาทางสังคมในหลายด้าน อาทิ
  • 1.
    พัฒนาที่อยู่อาศัย โดยรัฐบาลสนับสนุนบ้านราคาถูกเพื่อช่วยเหลือประชาชนมีบ้านอยู่อย่างเหมาะสม
  • 2.
    พัฒนาระบบไฟฟ้าและประปา ให้ประชาชนนับล้านคนมีไฟฟ้าใช้และเข้าถึงน้ำสะอาดได้
  • 3.
    ปฏิรูปที่ดิน
  • 4.
    พัฒนาให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง ริเริ่มโครงการฉีดวัคซีนโปลิโอ-ตับอักเสบ ให้แก่เด็กเล็ก
  • 5.
    พัฒนาการศึกษา
  • 6.
    สร้างการจ้างงานให้คนกว่า 2 แสนคน ในโครงการสร้างถนนและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
1
ถึงแม้ว่าระยะเวลาที่คุณเนลสัน แมนเดลา ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี จะสั้นเพียงแค่สมัยเดียว แต่กลับสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แอฟริกาเป็นดินแดนที่มีความเท่าเทียมมากขึ้น สมดังความตั้งใจตลอดชีวิตของเขาที่ต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเสมอภาคของคนทุกสีผิว แม้ว่าจะต้องแลกด้วยอิสรภาพของเขาและต้องใช้เวลานานมากแค่ไหนก็ตาม…
1
แด่…มหาบุรุษ ที่อุทิศตนเพื่อความเสมอภาคของเพื่อนมนุษย์
4
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:
เครดิตภาพ : Mirrorpix / Everett Collection via Britannica และ Udo Weitz / AP via Global Citizen
โฆษณา