16 มี.ค. 2022 เวลา 05:36 • ไลฟ์สไตล์
ส่องโลกของ "สตรอว์เบอร์รี (Strawberry)" หนึ่งในผลไม้ดับกระหาย ประจำฤดูร้อน
ช่วงนี้อากาศเริ่มร้อนแล้ว เพื่อน ๆ หลายคนคงเริ่มหาของกินที่สดชื่นชุ่มฉ่ำมาทานกัน
โดยเฉพาะผลไม้ ที่ตอนนี้มะยงชิดก็กำลังแย่งพื้นที่บนโต๊ะทานอาหารของเราไปกัน
แต่ในวันนี้ พวกเรา InfoStory อยากชวนเพื่อน ๆ มารู้จักกับผลไม้ที่ให้ความสดชื่นและชุ่มฉ่ำไม่แพ้กัน นั่นคือ “สตรอว์เบอร์รี (Strawberry)” นั่นเองงง !
ถ้าพร้อมแล้ว ขอเชิญเพื่อน ๆ ไปรับชมกับภาพอินโฟกราฟิกสุดสบายตาเหมือนเช่นเคย 🙂
[ต้นกำเนิดของสตรอว์เบอร์รี… สรุปว่ามาจากยุโรปหรืออเมริกากันแน่นะ ?]
พอพูดถึงเรื่องต้นกำเนิดของสรรพสิ่งที่ไร…
เราก็จะต้องฟังหูไว้หูกันทุกที เพราะแต่ละเรื่องราวที่ถูกบันทึก ก็จะมาจากมือของผู้ชนะในสงครามการรบหรือสงครามการค้าขายกันทั้งนั้น
ไม่เว้นกับเรื่องราวของของผลไม้สีแดงสุดสดใสอย่าง “สตรอว์เบอร์รี”
📜 ต้นกำเนิดของสตรอว์เบอร์รี เขาก็ว่ากันว่ากำเนิดในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา หรือ ยุคเรอแนซ็องส์ (Renaissance) ในช่วงศตวรรษที่ 15 ในทวีปยุโรป 🌍🇪🇺
โดยมีบันทึกไว้ว่าสวนฟาร์มที่เพาะปลูกสตรอว์เบอร์รีแห่งแรกของโลกก็จะอยู่แคว้นบริตทานี (Brittany) ประเทศฝรั่งเศส 🇫🇷
(อันที่จริงแล้ว เราว่าต้องใช้คำว่า “เวลาที่มนุษย์เริ่มเพาะปลูกสตรอว์เบอร์รีจะดีกว่า” เพราะเราว่าเจ้าผลไม้นี้อาจมีอยู่มานานกว่านั้น)
ซึ่งในสมัยนั้นเนี่ย ชาวยุโรปค่อนข้างจะตื่นตาตื่นใจกับเจ้าผลไม้สตรอว์เบอร์รีเอาเสียมาก ๆ
นั่นก็เพราะมันเป็นผลไม้ชนิดแรก ๆ ที่มีเมล็ดอยู่เปลือกข้างนอก
จริง ๆ แล้ว ก่อนหน้าที่ชาวยุโรปจะนิยมปลูกสตรอว์เบอร์รีกันในยุคเรอแนซ็องส์เนี่ย
📜 ก็มีอีกตำนานหนึ่ง…ที่เล่ากันว่า “สตรอว์เบอร์รี” ถูกค้นพบตั้งแต่เมื่อราว ๆ ศตวรรษที่ 10 โดยเริ่มจากที่ประเทศฝรั่งเศส พบภาพวาดเป็นภาพประสูติของพระเยซู มีภาพของพระบิดาโจเซฟ ยืนถือถาดสตรอว์เบอรี และอีกภาพเป็นภาพพระนางแมรี่อุ้มพระเยซู และมีนางฟ้าถือถาดสตรอว์เบอร์รี
จนในยุคต่อมาอย่างในยุคสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา ภาพเขียนศิลปะช่วงนั้นก็จะได้แรงบันดาลใจมาจากยุคกลาง โดยที่ภาพของเหล่าเทพจะต้องถือถาดผลไม้ (และส่วนใหญ่ว่ากันว่าเป็นสตรอว์เบอร์รีเป็นส่วนประกอบของภาพเกือบทุกภาพ)
ขออนุญาตนำภาพวาดของวิถีชีวิตผู้คนของชาวยุโรปที่ถูกวาดสะท้อนออกมา ก็จะสังเกตเห็นถาดผลไม้ที่เด่นชัดเจน
สำหรับต้นกำเนิดในทวีปอเมริกา 🇺🇸
พวกเราค่อนข้างมั่นใจว่าเพื่อน ๆ หลายคน น่าจะพอคุ้นเคยกับพลอตเรื่องที่ชอบเล่าว่า “ก็คงมาจากผู้อพยพชาวยุโรป ที่นำต้นสตรอว์เบอร์รีไปปลูกอีกละสิ…?”
จริง ๆ ก็ไม่เชิงนะ เพราะเจ้าสตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์ป่า (Wild variety) ก็ว่ากันว่าเติบโตในทวีปอเมริกา(เหนือ) อยู่แล้วละนะ
Wild variety strawberry
อีกทั้งหลาย ๆ ตำราก็ยังบอกเถียงกลับมาว่า..ตรงกันข้ามเลยละ แต่สตอรว์เบอร์รีของยุโรป มันถูกแพร่ขยายมาจากอเมริกาตะหากละ..
📝 คือมีเรื่องราวหนึ่ง ที่กล่าวถึงสายพันธุ์ของสตรอว์เบอร์รีที่มีฉายาว่าเป็นพ่อทุกสถาบัน ก็คือ “สายพันธุ์ เอฟ เวอจิเนียน่า (Fragaria virginiana)” ที่มีถิ่นกำเนิดจากอเมริกาเหนือ
จนมาถึงศตวรรษที่ 17 มีการนำสตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์เอฟ เวอจิเนียน่า จากสหรัฐอเมริกาก็ถูกนำเข้ามาในยุโรป จนมีฉายาให้กับสตรอว์เบอร์รีพันธุ์นี้ ว่าเป็นบิดาของสตรอว์เบอร์รียุโรปในยุคปัจจุบัน 🍓
สายพันธุ์ เอฟ เวอจิเนียน่า (Fragaria virginiana)
(ต้องนานาจิตตังกันไป ทางพวกเราเองก็ย่อยข้อมูลมาจากหลายแหล่งอ้างอิง ซึ่งส่วนใหญ่จะกล่าวถึงเรื่องราวของสายพันธุ์อเมริกาที่เข้ามาเป็นที่นิยมในยุโรป)
📝 เพราะอีกเรื่องราวหนึ่งที่ถูกเคลมกันต่อมาอีกทอดนึง
ก็จะกล่าวว่า เจ้าสายพันธุ์ เอฟ เวอจิเนียน่า มันเป็นสายพันธุ์ที่นักล่าอาณานิคมชาวสเปนนำสตรอว์เบอร์รีของชนเผ่ามาปูเช (Mapuche) ที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศชิลี 🇨🇱 นำมาค้าขายต่อให้กับชาวอเมริกัน ตะหากละ…
ชนเผ่ามาปูเช (Mapuche)
เอาละ..ทีนี้ก็เคลมกันไปกันมาชวนสับสนเลย
[ขอแทรกสักนิด : ✏️🔍]
จากที่พวกเรานั่งอ่านเรื่องราวเพิ่มเติมมาอีก (ของทางฝั่งที่มีการบันทึกว่ากำเนิดจากอเมริกา)
ก็พบว่าอันที่จริงแล้วสตรอว์เบอร์รี ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากมือของชาวอเมริกันในยุคใหม่แต่อย่างใด..
หากแต่ว่า เป็นผลผลิตมาจาก ชนเผ่าพื้นเมือง (Indigenous peoples) ที่เป็นชนกลุ่มน้อย ทางแถบอเมริกาเหนือที่เขาได้เพาะปลูกกันมาตั้งนานแล้วตะหากละ
ชนเผ่าพื้นเมือง (Indigenous peoples) ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอินเดียนแดง
จนกระทั่ง ผู้อพยพชาวยุโรปและอาณานิคมของชาวอังกฤษนี่ละ… ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานและออกตัวเคลมว่า พวกเขาเองเป็นคนค้นพบผลไม้สีแดงที่มีเมล็ดอยู่นอกผลอย่าง “สตรอว์เบอร์รี”
แต่ในช่วงแรกเลย (ปีค.ศ. 1600) ที่ชาวยุโรปที่อพยพมา (ที่สุดท้ายเราเรียกพวกเขาว่าชาวอเมริกัน) ก็ยังไม่สามารถเพาะปลูกสตรอว์เบอร์รีได้นะ สุดท้ายแล้วสตรอว์เบอร์รีก็ค่อย ๆ ล้มตายหายไป พร้อม ๆ กับชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มน้อยที่โดนชาวอเมริกันรุกราน…
จนต่อมา อีกประมาณ 200 ปี หรือในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ที่ชาวอเมริกันเริ่มรู้วืธีการเพาะปลูกต้นสตรอว์เบอร์รี ซึ่งก็จะเริ่มนิยมปลูกในรัฐแคลิฟอร์เนีย แล้วค่อย ๆ ขยายไปยังรัฐเท็กซัส รัฐอาร์คันซอ (ซึ่งจะมีอากาศอบอุ่น)
จนกระทั่งต่อมากระแสการบริโภคสตรอว์เบอร์รีคู่กับของหวานอย่างเช่น ครีม, ขนมเค้ก หรือนำมาใช้ผลิตเป็นแยมก็ค่อย ๆ เริ่มนิยมมากขึ้น นั่นเอง 🧃🍰🍹
[ว่าแต่…สตรอว์เบอร์รีที่มีมากกว่า 600 สายพันธุ์ มันถูกแบ่งออกเป็นกี่กลุ่มกันนะ ?] 🍓🍓
ตรงนี้ เขาก็จะแบ่งกลุ่มง่าย ๆ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
ที่เราว่าเพื่อน ๆ อาจจะพอคุ้นชื่อกันบ้าง
1. สตรอว์เบอร์รีกลุ่มเดือนมิถุนา (June Bearing)
กลุ่มที่สามารถพบได้ทั่วไปในสภาพธรรมชาติ โดยปกติดอกจะออกประมาณเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน
- ตัวอย่างเช่น สายพันธุ์ Chandler มีผลใหญ่และสายพันธุ์ Earliglow (2 สายพันธุ์นี้มาจากอเมริกาจ้า)
2. สตรอว์เบอร์รีกลุ่มกลางวัน (Day neutral)
กลุ่มที่จะเติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้นมาหน่อย คือประมาณ 90 องศาฟาเรนไฮต์หรือ 32 องศาเซลเซียส มีฤดูเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมิถุนายน - สิงหาคม
- ตัวอย่างเช่น สายพันธุ์ Albion ผลใหญ่และสีแดงสด, สายพันธุ์ Tribute สายพันธุ์ Seascape
3. สตรอว์เบอร์รีกลุ่มตลอดปี (Everbearing)
กลุ่มที่สามารถผลผลิตถึง 2-3 รอบในฤดูกาลเก็บเกี่ยว จนไปถึงสามารถให้ผลผลิตได้เกือบตลอดทั้งปี (ทั้งต้นฤดูร้อนและปลายฤดูร้อน)
- ตัวอย่างเช่น สายพันธุ์ Ozard Beauty, Fort Laramie, Quinault
[ทราบไหมว่า ? ในช่วงปลายปีทีผ่านมา (2021) สตรอว์เบอร์รีกำลังมีราคาสูงขึ้นและขาดตลาดในบางพื้นที่ของสหรัฐอเมริกาและนิวซีแลนด์ 😲]
ฟังดูแล้วก็อาจจะตลกดี เพราะว่าสตรอว์เบอร์รี คือหนึ่งในผลไม้ที่หาพบได้ง่ายมาก แล้วมันจะไปขาดตลาดได้ยังไง ?
เผอิญว่าเราไปอ่านเจอข่าวหนึ่งเมื่อช่วงกลางปี 2021 ที่พูดถึงเรื่องของ “Strawberry Shortage” ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งพอเสิร์ชเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็เจอปัญหาเดียวกันที่ประเทศนิวซีแลนด์ แต่จะเป็นอารมณ์ว่า สตรอว์เบอร์รีกำลังขาดตลาดในคริสต์มาสนี้…
แหล่งเพาะปลูกสตรอว์เบอร์รีในรัฐแคลฟอร์เนีย
ป้ายประกาศว่าสตรอว์เบอร์รีขาดตลาด!
✏️ สาเหตุที่อธิบายได้ง่ายที่สุด คือ
- ก็เพราะสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น(มาก)
จึงทำให้เกิดภาวะภัยแล้งและยังมีภัยไฟป่าอีก
โดยเฉพาะพื้นที่ของรัฐแคลิฟอร์เนียที่เป็นพื้นที่ยอดนิยมในการปลูกสตรอว์เบอร์รี
- วิกฤติโรคระบาดโควิด 19 ที่ทำให้การผลิตหยุดชะงัก และเจ้าของฟาร์มหลายรายมีปัญหาเรื่องเงินทุน
- สภาพอากาศที่ย่ำแย่ (ฝนตกหนัก น้ำท่วมขัง) โดยในเฉพาะในรัฐแคลิฟอร์เนียและเท็กซัสในช่วงเดือนตุลา
สาเหตุที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในทั้ง 2 ประเทศ
ก็คือเรื่องของสภาพอากาศที่แปรปรวนและเลวร้าย
ต้องอย่าลืมว่า ถึงแม้สตรอว์เบอร์รีจะไม่ได้ปลูกยากมาก แถมเป็นผลไม้ที่ทนทานต่อโรคของพืชและทนต่อสภาพอากาศได้ดี
แต่ว่า…สตรอว์เบอร์รีเอง เค้าก็คือหนึ่งในผลไม้ที่ชอบอากาศเย็นและไม่แปรปรวนนะ
ส่วนตัวเราคิดว่าตอนนี้สภาพอากาศของโลกเราบวกกับเรื่องของโลกร้อน ก็เริ่มจะแย่ลงขึ้นไปทุกที
ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ก็คงไม่ใช่เรื่องดีนักเนอะ
อ้าวทำไมมาซึมเฉยเลย… ฮ่า ๆ
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
เพื่อน ๆ ทราบไหมว่า ประเทศใดที่เป็นผู้ผลิตสตรอว์เบอร์รีมากที่สุดในโลก 3 อันดับ ?
อ้างอิงจากสถิติประจำปี 2020
อันดับที่ 1 จีน 🇨🇳 มีส่วนแบ่ง 36%
อันดับที่ 2 สหรัฐอเมริกา 🇺🇸 มีส่วนแบ่ง 11%
อันดับที่ 3 เม็กซิโก 🇲🇽 มีส่วนแบ่ง 10%
ก็พอหอมปากหอมคอกันไปเช่นเคย
งั้นพวกเราขอตัวไปทานสตรอว์เบอร์รีเกาหลีให้พอชุ่มฉ่ำใจก่อนนะคร้าบบ
แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม
เล่มรายงาน “สตรอว์เบอร์รี” เรียบเรียงโดย ดร.ทินน์ พรหมโชติ
โฆษณา