20 มี.ค. 2022 เวลา 16:20 • ประวัติศาสตร์
เคยได้ยินหรือไม่ ? “คณะองคมนตรีในแบบสหราชอาณาจักร”
โดยปกติแล้วเราในฐานะคนไทย ตั้งแต่เกิดมาย่อมได้ยินคำว่า "พระมหากษัตริย์" อยู่แล้ว อาจด้วยประวัติศาสตร์ไทย (ที่เพิ่งสร้างขึ้น) หรืออะไรก็ตามแต่
แต่ทว่า.. สิ่งที่เราจะได้ยินควบคู่กับพระมหากษัตริย์มาโดยตลอดนั่นก็คือ "องคมนตรี" ซึ่งไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งประธานหรือแต่งตั้งใครก็ตามมาอยู่ในคณะองคมนตรีย่อมสร้างความสนใจให้กับสังคมไม่น้อย..
ตัวอย่างล่าสุดข่าวร้อนเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ที่ราชกิจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเหล้าฯ แต่งตั้ง “นุรักษ์ มาประณีต” เป็น “องคมนตรี” โดย นุรักษ์ เป็นอดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญคนล่าสุดที่เพิ่งหมดวาระไปเมื่อปลายมีนาคมในปี 63
อีกทั้งรู้จักในนาม “ธานอส” ผู้ดีดนิ้วสลายพรรคการเมือง เพราะตลอดเวลาที่ ธานอสแห่งตุลาการไทยผู้นี้ดำรงตำแหน่งมาทั้งหมด 13 ปี เขาได้เป็นตุลาการที่ร่วมพิจารณาการตัดสินในคดียุบพรรคการเมืองมาทุกคดี ตั้งแต่ปีพ.ศ.2549 รวมตัดสินคดียุบพรรคการเมืองมาแล้วทั้งหมด 29 พรรคการเมือง ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย จนมาถึงพรรคน้องใหม่อย่างอนาคตใหม่
อย่างไรก็ตาม บทความในวันนี้ ไม้ขีดไฟ ใคร่จะพาผู้อ่านทุกคนไปสำรวจ ค้นหา "องคมนตรี" หรือ “องค์กรที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของต่างประเทศ” ซึ่งจะเน้นไปที่รูปแบบคณะองคมนตรีใน “สหราชอาณาจักร”
Arms of the United Kingdom with Crown and Garter from: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Royal_Arms_of_the_United_Kingdom_(Crown_%26_Garter).svg
“คณะองคมนตรีในแบบสหราชอาณาจักร” - Her Majesty's Most Honourable Privy Council
“คณะองคมนตรี” (Privy council) หากทุกคนได้ยินก็จะรู้ทีว่าองค์กรนี้ทำหน้าที่คอยให้คำปรึกษาสำหรับประมุขของรัฐ (พระมหากษัตริย์/สมเด็จพระราชินีนาถ) โดยคำว่า “privy” หมายถึง “ส่วนตัว” (private) หรือ “ความลับ” (secret) เพราะฉะนั้นคณะองคมนตรีจึงเป็นองค์กรที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ที่ใกล้ชิดเพื่อประชุม ปรึกษาหารือเกี่ยวกับกิจการต่าง ๆ ของรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยังคงมีประเทศที่มี “คณะองคมนตรี” อยู่ประมาณ 12 ประเทศด้วยกัน ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น
แต่เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า “สหราชอาณาจักร” ถือเป็นแม่แบบของระบบการปกครองรอบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีกฎหมายรัฐธรรมนูญแบบไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่ง “คณะองคมนตรี” สำหรับสหราชอาณาจักร นับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญและมีบทบาทอย่างมากในการช่วยเหลือ รวมถึงประสานงานกันระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐบาล
1
Queen Victoria convened her first Privy Council on the day of her accession in 1837
คณะองคมนตรีนั้นถือเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 13-14 โดยงานวิจัยคณะองคมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ของ ปิติภัทร อัจฉราวรรณ ได้ชี้ให้เห็นว่า แม้ก่อนหน้านั้นภายใต้ระบอบศักดิดา (Feudalism) จะมีสภาที่ปรึกษากษัตริย์ (The Curia Regis) แต่ภายหลังจากที่สภาดังกล่าวแตกตัวออกไปเป็นสถาบันต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงการคลัง ศาลคอมมอนลอว์ ศาลชานส์เซอรี่ เป็นต้นนั้น สภาที่ปรึกษาก็สิ้นสุดลงแล้ว
แน่นอนว่า “คณะองคมนตรี” ที่เกิดขึ้นใหม่นั้น ต้องถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของรัฐบาลของราชวงศ์อังกฤษ โดยเฉพาะในช่วงชองราชวงศ์ทิวดอร์ (The Tudors) โดยในรัชสมัยของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการแบ่งแยกกันระหว่าง “สมาชิกสภาสามัญ” (Ordinary Councilors) ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยนักกฎหมายกับนักปกครอง กับ “สมาชิกคณะองคมนตรี” (Privy Councilors) ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มชนชั้นสูงที่คอยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับพระมหากษัตริย์
Tudor Rose: House of Tudor
นอกจากนี้คณะองคมนตรียังมีแนวโน้มแยกตัวออกจากชนชั้นระดับล่างในสังคมมากขึ้น โดยคณะองคมนตรีคือการประชุมระหว่างกษัตริย์และสมาชิกองคมนตรีในคฤหาสน์หรือพระราชวัง ซึ่งทรงเกียรติ มีศักดิ์ศรี และเป็นที่เคารพ ซึ่งการประชุมโดยส่วนใหญ่จะเป็นการปรึกษาหารือและนำแนะระหว่างกันเพื่อประโยชน์ของชาติ รวมถึงการป้องกันและความมั่นคงของประเทศ
ในปีค.ศ.2015 สำนักข่าว BBC ของอังกฤษรายงานว่า สมาชิกของคณะองคมนตรีของสหราชอาณาจักรมีจำนวนประมาณ 600 คน อันประกอบไปด้วยบุคคลผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งที่สำคัญของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักกฎหมายระดับสูง ขุนนาง พระผู้มีฐานันดรศักดิ์ รวมไปถึงผู้ที่มีความโดดเด่นในแต่ละสายวิชาชีพ ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะได้รับการแต่งตั้งโดยหนังสือตราตั้ง (Letter Patent)
คงต้องกล่าวเอาไว้ด้วยว่า คณะองคมนตรีในอังกฤษได้กลายมาเป็นองค์กรที่มีความคล่องตัวต่ำมาก โดยในคริสต์ศตวรรษที่ 18 คณะองคมนตรีได้สูญเสียอำนาจในการเป็นเครื่องมือของรัฐบาล อันเนื่องมาจากการพัฒนาและปรับเปลี่ยนให้คณะรัฐมนตรีเข้ามามีบทบาทหลักในการกำหนดนโยบาย ซึ่งส่งผลต่ออำนาจหน้าที่และบทบาทของคณะองคมนตรีในอังกฤษ โดยเฉพาะการให้คำปรึกษาและการบริหารงานเกือบทั้งหมด
ในปัจจุบันงานของ ปิติภัทร ชี้ให้เห็นว่า คณะองคมนตรีของสหราชอาณาจักรกลายมาเป็นเพียงองค์กรที่มีบทบาทอย่างเป็นทางการบางอย่างเท่านั้น ซึ่งการ กระทำหรือบทบาทของคณะองคมนตรีจะอยู่ภายใต้พระราชอำนาจหรือกฎหมาย โดยคำแนะนำต่าง ๆ ของคณะองคมนตรีต่อสมเด็จพระราชินีนาถที่ซึ่งองค์ราชินีกระทำออกมานั้นจะอยู่ในรูปของคำแถลง (Proclamation) เช่น คำแถลงปิดการประชุมรัฐสภา บุยสภา ประกาศหรือยุติสงคราม งานศาสนา ซึ่งคำสั่งหรือบทบาทของคณะองคมนตรีจะกระทำภายใต้สิทธิของสมเด็กพระราชินีนาถหรือภายใต้อำนาจตามกฎหมาย
แต่อย่างไรก็ตามคณะองคมนตรีก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในการประสานงาน ดูแลและแนะนำความสัมพันธ์ระหว่างประมุขของรัฐกับรัฐบาล โดยการถวายคำแนะนำในการใช้พระราชอำนาจและหน้าที่บางประการแด่สมเด็จพระราชินีนาถนั้นทางรัฐสภาจะเป็นผู้ออกกฎหมายกำหนดอำนาจและหน้าที่ของคณะองคมนตรีเอาไว้นั่นเอง
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นคงจะพอมองเห็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์ และบทบาทหน้าที่ของคณะองคมนตรีสำหรับสหราชอาณาจักรกันแล้ว โดยบทความนี้เป็นเพียงการตามรอยและยกตัวอย่างแค่ตัวอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ผู้เขียนคิดว่าประเด็นเรื่ององคมนตรียังคงมีมิติทางอำนาจ การเมือง และสังคมอีกจำนวนมากที่จะต้องพูดคุยกันในภายภาคหน้า โดยเฉพาะการถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาพื้นที่ทางการเมืองของประมุขของรัฐ (ไทย) ผู้ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเพียงแต่ในทางนิตินัย หาได้ใช้ในทางพฤตินัยไม่ ..
1
อ่านเพิ่มเติมได้ที่: 1. ปิติภัทร อัจฉราวรรณ. (2558). คณะองคมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย. (วิทยานิพนธ์ปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิต, คณะนิติศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย).
โฆษณา