18 เม.ย. 2022 เวลา 00:00 • ปรัชญา
ฆรีเอติวิถี ตอน 4
ความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่เรื่องของคนทำงานในวงการสร้างสรรค์เท่านั้น
Blockdit Originals ซีรีส์บทความพิเศษ
ประโยคต่อไปนี้เป็นความจริงไหม?
1 “ครูรู้ทุกอย่าง”
เราถูกสอนมาให้เชื่อทุกอย่างที่ครูสอน เพราะครูรู้ทุกเรื่อง แต่ความจริงคือครูไม่รู้ทุกเรื่อง หรือไม่ใช่ครูทุกคนที่รู้ทุกเรื่อง
1
2 “ผู้ใหญ่รู้มากกว่าเด็ก”
ความจริงคือผู้ใหญ่ไม่น้อยไม่รู้อะไรเลย แก่เพราะกินข้าวจริงๆ ก็มีมาก
6
3 “จบปริญญาเก่งกว่าจบ ป. 4”
1
ความจริงคือระดับการเรียนในระบบเป็นคนละเรื่องกับความเก่งหรือความฉลาด
2
4 “คนรวยชอบรังแกคนจน”
ความจริงคือฐานะกับนิสัยเป็นคนละเรื่องกัน คนรวยที่รังแกคนจนก็มี แต่คนรวยที่ช่วยเหลือคนจนมากมายมหาศาลก็มีเช่นกัน
1
5 “ทุนนิยมเป็นสิ่งเลวร้าย”
1
มองได้หลายมุม ความจริงในมุมหนึ่งคือหากปราศจากระบบทุนนิยม ชาวโลกอาจจะลำบากกว่านี้ เพราะราคาสินค้าจะสูงขึ้นหลายเท่า
2
ฯลฯ
ประโยคตัวอย่างข้างต้นเหล่านี้คือ perception ที่คนส่วนใหญ่มีกัน และเป็นเรื่องที่ lateral thinking ต้องการเปลี่ยน
อะไรคือ perception?
เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน ผู้เขียนเรื่อง Lateral Thinking บอกว่า หัวใจของ lateral thinking คือการเปลี่ยน concept และ perception แบบที่เราคุ้นชิน
concept หรือมโนทัศน์ คือแนวคิด หรือแก่นของความคิดหนึ่งๆ
ส่วน perception แปลเป็นไทยว่าญาณ สัมผัสรู้ แปลแบบนี้อาจงงกว่าเดิม อาจารย์ฝรั่งวิชาการตลาดของผมแปลแบบง่ายๆ ว่า perception ก็คือวิธีการมองของคุณ
1
“Perception is how you see.”
พ่อค้าผลิตเสื้ออย่างประณีต ใช้วัสดุที่ดีที่สุด ราคาทุนคือ 500 บาท ตั้งราคาขายไว้ 2,000 บาท แต่คนซื้อคิดว่ามันไม่น่ามีราคาเกิน 200 บาท
200 บาทคือ perception
perception จึงไม่เกี่ยวกับความจริง มันมีเรื่องความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวด้วย นักการตลาดที่ไม่รู้จักเรื่องความรู้สึกของผู้บริโภค จึงยากจะประสบความสำเร็จในระดับสูง
3
perception ไม่ใช่เรื่องเฉพาะในวงการตลาด มันเกี่ยวข้องกับชีวิตเรามากกว่าที่เราคาด ถ้าเราเข้าใจก็อาจช่วยให้เราก้าวพ้นกรอบคิดเดิมได้ง่ายขึ้น
การคิดแนวข้างสามารถเปลี่ยน perception ได้
ในชีวิตเรา บางเรื่องมองด้วยมุมเดิมไม่ได้หรือไม่ชัด การมองนอกกรอบก็ทำให้เราใช้ชีวิตแบบเข้าใจสถานการณ์และเหตุการณ์ต่างๆ ดีขึ้น
ยกตัวอย่าง เช่น เราเห็นคนขับรถที่แตะเบรกอยู่เรื่อยโดยไม่จำเป็น เราอาจคิดว่าเขาเป็นพวกมือใหม่หัดขับ แต่ lateral thinking ชี้ว่าอาจมีคำอธิบายอื่นๆ อีก
เป็นไปได้ไหมว่าเขาเป็นโรคประสาทที่เท้า ทำให้กระตุกและเหยียบเบรกโดยคุมไม่ได้ เป็นไปได้ไหมว่าเบรกรถมีปัญหา เป็นไปได้ไหมว่ารองเท้าของเขามีตะปูตำ หรือกระทั่งเป็นเหตุผลที่เราคาดไม่ถึง คือเขาตั้งใจ!
2
สมมุติว่าใครคนหนึ่งถามเขาว่า “ทำไมคุณแตะเบรกบ่อย ทั้งที่ไม่จำเป็นเลย ไม่มีรถข้างหน้าคุณเลยนี่นา”
คนขับยิ้ม ตอบว่า “ถูกแล้ว ไม่มีรถข้างหน้า แต่มีรถข้างหลัง รถที่ตามหลังผมมาชอบขับมาจ่อใกล้ๆ และชอบเบรกกะทันหัน คนขับยังพูดมือถือด้วย ขับแบบนี้อันตราย เขาอาจขับรถเสยท้ายผมได้ ผมจึงใช้แตะเบรกโดยไม่มีเหตุผล ทำไปสองสามครั้ง เพื่อให้เขาเชื่อว่าผมขับรถไม่เป็นและเป็นมือใหม่ เขาก็จะระวังขึ้น ไม่ขับมาจ่อท้ายผมอีก ไม่มีใครอยากอยู่ใกล้มือใหม่”
7
ในการแก้ปัญหา วิธีคิดแบบ lateral thinking จะหาต้นเหตุของปัญหาและใช้ความคิดสร้างสรรค์หาทางเลือกมากทางที่สุดในการแก้ปัญหา ยกตัวอย่างเช่น เมื่อผลผลิตสินค้าของโรงงานลดลงจาก 1,000 ชิ้นต่อวันเป็น 700 ชิ้น การคิดแบบตรรกะจะบอกว่า ผู้บริหารจะต้องหาทางทำให้ตัวเลขกลับคืนมาเหมือนเดิม อาจโดยเพิ่มเวลาทำงาน เปลี่ยนคนงาน ฯลฯ
1
แต่ lateral thinking อาจมองปัญหาในมุมมองอื่นด้วย ท้ายที่สุดก็อาจไปแก้ปัญหาที่จุดอื่น ไม่ใช่ที่สายพานผลิตดังที่คิดไว้ล่วงหน้า (pre-conceived idea)​ เช่น เมื่อเราเห็นว่าผลผลิตลดลงเพราะพนักงานหญิงส่วนมากมาทำงานสาย เนื่องจากต้องดูแลเด็กอ่อน ทางแก้ก็อาจตั้งแผนกดูแลเด็กเล็กในโรงงาน พนักงานก็จะได้เวลามากขึ้น ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และผลผลิตก็กลับมาเป็น 1,000 ชิ้นต่อวันตามเดิม หรืออาจเพิ่มขึ้นด้วย
3
ในโจทย์ข้อเดียวกัน lateral thinking อาจทำให้พบว่า การลดการผลิตจาก 1,000 เป็น 700 ชิ้นต่อวันเป็นสิ่งที่ดีแล้ว เพราะมันทำให้งานมีคุณภาพมากขึ้น ลูกค้าคืนสินค้าน้อยลง พนักงานมีความสุขขึ้น คนลาออกน้อยลง เสียเวลาไปกับการจ้างคนใหม่น้อยลงหรือไม่เสียเลย เสียเวลากับการรับสินค้าและคืนของใหม่ให้น้อยลงหรือไม่เสียเลย ในตอนท้ายผลตอบแทนของบริษัทก็สูงขึ้น มีกำไรมากขึ้น แม้ผลผลิตต่อวันจะลดลง
2
เป็นเรื่องปกติที่เราด่วนสรุปและมองแบบทางเดียว (one-track mind) เราถูกปลูกฝังมาอย่างนี้ เมื่อได้ยินว่าอาหาร ก. มีประโยชน์ ทุกคนก็เฮโลไปซื้อมากิน เมื่อได้ยินว่าอาหาร ข. มีโทษ ก็ไม่มีใครกล้ากิน
1
ครั้งหนึ่งผมไปหาหมอ หมอจ่ายยาเป็นมันฝรั่งกรอบ ใช่! อาหารขยะที่มีแต่โซเดียมนั่นแหละ! กินมากๆ ไตอาจมีปัญหา
แต่หมอให้กินเพราะความดันโลหิตของผมตอนนั้นต่ำไป ควรกินโซเดียมเพื่อเพิ่มความดัน และอาหารขยะก็มีโซเดียมเยอะ
ใครเล่าจะไปนึกว่าอาหารขยะก็ใช้เป็นยาได้?
1
เรามักมีความคิดสำเร็จรูปที่ฝังหัวมานาน เช่น ผู้หญิงขับรถสู้ผู้ชายไม่ได้ สามีได้เงินเดือนสูงกว่าภรรยา คนแก่อายุเกิน 100 น่าจะตายเมื่อไรก็ได้ ฯลฯ
1
ผู้สื่อข่าวหนุ่มคนหนึ่งไปสัมภาษณ์ชายชราอายุ 109 ปี หลังจบการสัมภาษณ์ เขาบอกชายชราว่า “ผมหวังว่าปีหน้าผมจะได้กลับมาสัมภาษณ์คุณอีก เมื่อคุณอายุ 110”
1
ชายชรายิ้มตอบว่า “ท่าทางคุณก็ดูสุขภาพดีอยู่นะ ทำไมจึงคิดว่าปีหน้าคุณจะไม่ได้มาล่ะ?
8
นี่ก็คือมุมมอง perception ของคนหนุ่มไม่แน่ใจว่าชายชราจะรอดถึง 110 ปีไหม แต่ใน perception ของคนแก่ กลับมองอีกแบบหนึ่ง (บางทีเพราะมองอีกแบบจึงอายุยืนก็ได้!)
1
แม่บอกลูกชายสามขวบว่า “เวลากัดแอ๊ปเปิล ระวังกัดถูกหนอนนะ” ลูกชายตอบว่า “ทำไมผมต้องระวัง หนอนต่างหากที่ต้องระวังตัวเอง”
5
นี่ก็คือมุมมอง และมุมมองที่แตกต่างก็คือรากของ lateral thinking
ลองตอบคำถามนี้ หั่นเค้กกลมหนึ่งลูกอย่างไรให้ได้เค้กแปดชิ้นเท่าๆ กัน โดยการลงมีดตรงๆ เพียงสามครั้ง?
วิธีตัดเค้กของคนทั่วไปคือหั่นทางตั้งจากด้านบนลงมา ชิ้นเค้กหน้าตาปกติคือทรงสามเหลี่ยม ปลายแหลม ก้นโค้ง แต่ด้วยวิธีนี้ การลงมีดสามครั้งจะได้เค้กเพียงหกชิ้น
1
วิธีคิดแบบ lateral thinking คือมองข้ามการตัดเค้กแบบปกติ เราอาจตัดครั้งที่หนึ่งหั่นทางตั้ง จะได้เค้กครึ่งวงกลมสองชิ้น ตัดครั้งที่สองทางตั้ง จะได้เค้กสี่ชิ้นเท่าๆ กัน ตัดครั้งที่สาม ใช้มีดหั่นเค้กตรงกลางทางขวาง จะได้เค้กที่ความหนาเหลือครึ่งเดียว รวมแปดชิ้น หน้าตาเค้กต่างจากเดิม แต่ได้แปดชิ้นเท่าๆ กัน
แต่นี่ก็มิใช่วิธีเดียวในการตอบโจทย์ ยังมีทางเลือกการตัดวิธีอื่นๆ เช่น หั่นเค้กทางตั้งสองครั้งได้เค้กสี่ชิ้น นำทั้งสี่ชิ้นมาซ้อนกันแล้วหั่นอีกหนึ่งครั้ง ก็จะได้เค้กแปดชิ้น รูปร่างเค้กแต่ละชิ้นผอมไปหน่อย แต่ก็ได้แปดชิ้นเท่าๆ กัน
อีกวิธีคือหั่นเค้กทางขวาง จะได้เค้กกลมสองชิ้น แยกเค้กกลมสองชิ้นออกมาวางชิดกัน หั่นครึ่งทางขวางอีกครั้งโดยให้มีดผ่านเค้กทั้งสองในทีเดียว จะได้เค้กกลมแบนๆ สี่ชิ้น นำเค้กกลมแบนทั้งสี่ชิ้นมาซ้อนกัน หั่นทางตั้งหนึ่งครั้ง ก็จะได้เค้กครึ่งวงกลมแปดชิ้น
ดังนั้นจะเห็นว่า แค่ละวางกรอบคิดและความเคยชินเดิมชั่วคราว ก็อาจเปิดหน้าต่างความคิด มองได้กว้างขึ้น และแก้ปัญหายากๆ ที่แก้ด้วยวิธีการเดิมไม่ได้
2
ลองคิดง่ายๆ หากมีโจทย์ให้ออกแบบรถยนต์ คนส่วนใหญ่จะนึกว่าพาหนะที่มีสี่ล้อ ขับโดยมนุษย์ หรือโดยปัญญาประดิษฐ์
ยังไม่หนีจากกรอบคิดว่าพาหนะต้องมีสี่ล้อ
ถ้าก้าวพ้นกรอบคิด ก็จะเป็นอิสระในการคิดมากขึ้น เช่น ยานพาหนะที่ใช้แรงแม่เหล็กยกลอยขึ้น โดยไม่ต้องมีล้อ เป็นต้น
สมมุติว่าคุณเป็นผู้บริหารบริษัทค่ายเพลง คุณสร้างสรรค์เพลงออกมาหลายชุดแล้วมีคนก็อบปี้ไปฟัง เท่านั้นยังไม่พอ ยังใจดีส่งไฟล์เพลงต่อให้คนทั้งโลก คุณจะแก้ปัญหาอย่างไร?
ถ้าคุณปรึกษาทนายความ ก็จะได้รับคำแนะนำคือฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย
แต่คุณจะฟ้องร้องคนหลายร้อยล้านคนทั่วโลกได้อย่างไร?
นี่คือเรื่องจริง สมัยเมื่อเพลงเริ่มเปลี่ยนเป็นระบบดิจิตัล การก๊อบปี้เพลงเป็นปัญหาใหญ่ของค่ายเพลง ค่ายเพลงต้องสูญเสียรายได้ที่ควรได้รับไปจำนวนมาก พวกเขาแก้ปัญหาโดยฟ้องร้องคนที่ขโมยเพลง หากคิดตามตรรกะหรือกรอบคิดเดิม ก็ถูกต้อง เมื่อทำผิดก็ใช้ระบบยุติธรรมแก้ไข แต่การฟ้องร้องคนนับหลายร้อยล้านคนทั่วโลกยุ่งยากเกินไป
วันหนึ่งชายคนหนึ่งไปหาค่ายเพลงใหญ่ๆ เสนอให้ค่ายเพลงทั้งหมดขายเพลงในราคาเพลงละเพียง 99 เซ็นต์ มองเผินๆ รายได้ของค่ายเพลงลดลงมหาศาล แต่ในภาพรวม ราคาเพลงถูกจนไม่รู้จะขโมยทำไม ราคา 99 เซ็นต์ก็ถูกพอที่ทำให้พวกเขาเปลี่ยนมาซื้อของแท้ และถูกกฎหมายด้วย
2
ชายคนนั้นคือ สตีฟ จ็อบส์ เขามองข้ามช็อตไปไกลว่า ปัญหาบางเรื่องแก้ด้วยวิธีแก้เดิมๆ ไม่ได้ ยังมีทางที่ 2, 3, 4... แค่กล้าสลัดกรอบคิดเดิมออกบ้าง
การเปลี่ยนมุมมองและโลกทัศน์นำพาเราออกจากกะลาที่ครอบอยู่ได้
1
ใจกว้าง มองมุมกว้าง มองต่างมุม เปลี่ยนมุมมองบ้าง
ในปี 1962 บริษัทรถเช่า Avis ยังไม่สามารถขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของตลาดรถเช่าได้ พวกเขาเดินตามหลังบริษัท Hertz อยู่ห่างๆ Avis ขาดทุนต่อเนื่องหลายปี
2
พวกเขาต้องการก้าวพ้นจากภาวะขาดทุน และยังหวังจะแซงคู่แข่งหมายเลข 1
บริษัทโฆษณาของ Avis คิดคอนเส็ปต์แหวกแนวออกมา คอนเส็ปต์คือแทนที่จะแข่งเป็นที่หนึ่ง กลับขอเป็นหมายเลขสอง
เป็นที่มาของแคมเปญโฆษณา We are number 2
2
สโลแกนคือ “We are number 2, we try harder.” (เราเป็นหมายเลขสอง เราจึงพยายามหนักขึ้น)
2
สโลแกนนี้เขียนโดย พอลลา กรีน มันบอกทางอ้อมว่า “ใช้บริการของเราสิ เพราะเราทำงานหนักกว่าหมายเลขหนึ่ง” แปลว่าเป็นหมายเลขเท่าไรไม่สำคัญ สำคัญที่ใครทำงานหนักกว่า แปลต่อได้ว่าทำงานหนักกว่าแปลว่าการบริการดีกว่า
3
ทันใดนั้นสโลแกนนี้ก็ติดหูผู้คน ใครๆ ก็จำได้ เพราะแปลก ทลายกรอบเดิมที่ทุกคนชอบโฆษณาว่าสินค้าของตนดีที่สุด
2
โฆษณานี้ได้ผล เพราะนอกจากแปลก ฉีกแนว มันยังแฝงความเป็น emotional แทรกอยู่ คล้ายบอกว่า “ขอโอกาสฉันเถอะ” และ “ฉันไม่ใช่คนเก่งที่สุด แต่ฉันทำเต็มที่เลยนะ”
หลังจากขาดทุนต่อกันหลายปี การคิดแบบ lateral นี้ช่วยให้ Avis ได้กำไรเป็นครั้งแรก และเบียดคู่แข่งหลัก ก้าวขึ้นสู่หมายเลข 1
2
ร่มโบราณของญี่ปุ่นที่เรียกว่า วางาสะ มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับพันปี เป็นร่มที่ทำด้วยกระดาษ โครงไม้ไผ่ กระดาษเคลือบน้ำมัน โครงร่มชนิดนี้ประกอบด้วยแกนไม้ไผ่ 30-70 ชิ้น ขณะที่ร่มตะวันตกมีเพียง 8 แกนเท่านั้น ร่มวางาสะต้องทำด้วยมืออย่างประณีตร่มชนิดนี้นิยมใช้ในกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น เช่น พวกเกอิชาและคนรุ่นเก่า
4
เช่นเดียวกับสินค้าโบราณอื่นๆ วางาสะก็ถูก ‘ดิสรัปต์’ ด้วยร่มสมัยใหม่ที่มีราคาถูกกว่าหลายเท่า ผลคือร้านขายร่มวางาสะค่อยๆ ทยอยกันปิดกิจการไปทีละร้านสองร้าน
1
ร้านทำร่มวางาสะร้านหนึ่งในเกียวโตก็ประสบปัญหาเดียวกัน เกือบปิดกิจการรอมร่อ แต่ในลมหายใจเฮือกสุดท้าย เจ้าของร้านกลับเปลี่ยนแผน แปลงร่มเป็นโคมไฟ โดยคงแกนและโครงสร้างแบบร่มทุกอย่าง เพียงแต่ติดไฟเข้าไป โคมไฟใหม่นี้มีหน้าตาแปลก ให้แสงสว่างที่สวยไปอีกแบบ เป็นที่นิยมมาก ผลก็คือแทนที่ร้านจะเจ๊ง กลับมีรายได้เพิ่มถึงสี่สิบเท่า
2
นี่คือการใช้ความคิดสร้างสรรค์ พลิกแพลง มองข้ามช็อต พลิกแพลงต่อยอดงานเดิมออกไปอีกทิศทางหนึ่ง
2
หากคนทำร่มมองแต่ว่ามันเป็นร่ม และจมอยู่ในกรอบคิดของร่ม ก็จะแก้ปัญหาด้วยกรอบคิดของการทำร่ม ยากจะผ่าทางตันและประสบความสำเร็จได้
มีแต่การมองต่างมุม พ้นจากความเคยชิน จึงจะพบทางสายใหม่ หรือไอเดียใหม่
2
ราวสามสิบปีก่อน นิตยสารสตรีเล่มหนึ่งในเมืองไทยยอดขายตกมาก ขายไม่ได้ แทนที่จะลดราคา กลับขึ้นราคา เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายใหม่ นิตยสารเปลี่ยนโฉมและประสบความสำเร็จ นี่เป็นการมองออกจากกรอบคิดเดิม
ในตลาดกางเกงยีนส์ก็เช่นกัน หากมองว่าต้องผลิตกางเกงยีนส์ใหม่สู่ตลาด ก็จะทำอย่างนั้นไปเรื่อยๆ แต่มองต่างมุม ทำไมต้องขายกางเกงใหม่ ทำไมไม่ขายกางเกงยีนส์เก่าใช้แล้ว หรือในสภาพเก่าขาด?
นี่เป็นการมองพ้นกรอบคิดเดิมโดยสิ้นเชิง ผู้ค้ารายหนึ่งขายความเก่าของกางเกงยีนส์ และยังขาย ‘เรื่อง’ ด้วย พวกเขาไปซื้อกางเกงยีนส์เก่าๆ จากชาวไร่ชาวนา คนใช้แรงงาน แล้วเขียนประวัติที่มาของกางเกงยีนส์เหล่านั้น ว่ามีที่มาอย่างไร ผ่านงานอะไรมาบ้าง (แน่ละ ย่อมใส่สีตีไข่ลงไปพอประมาณ) เพื่อทำให้มันเป็นกางเกงยีนส์ที่มี ‘ประวัติศาสตร์’ ติดตัว เป็นมูลค่าเพิ่มให้สินค้า
1
การก้าวพ้นกรอบคิดอย่างหนึ่งคือการพลิกแพลงไปตามสถานการณ์ ในทศวรรษ 1990 ห้องทดลองของบริษัท Pfizer ที่อังกฤษทดลองสังเคราะห์ยา Sildenafil เพื่อรักษาโรคความดันโลหิตสูงและอาการโรคหัวใจ Angina Pectoris ผลการทดสอบยาพบว่า ยามีผลข้างเคียงอย่างหนึ่งคือทำให้อวัยวะเพศชายแข็งตัว บริษัทยาเปลี่ยนแผนเปลี่ยนทิศทันที แนที่จะขายยาแก้โรคหัวใจ กลับไปขายยาเพิ่มสมรรถนะทางเพศ เป็นที่มาของยาไวอะกราที่ทำรายได้มหาศาลกว่าที่ตั้งใจไว้ทีแรก
2
การพลิกแพลงจึงเป็นเรื่องสำคัญ บางครั้งผลที่ได้อาจต่างจากที่ตั้งใจ แต่จะพลิกแพลงได้ ก็ต้องรู้จักมองนอกกรอบคิดเดิม
2
ในวงการหนังสือก็เช่นกัน บ่อยครั้งผมเคยเขียนเรื่องสั้นและนวนิยาย โดยวางคอนเส็ปต์ไว้ชัดเจน แต่เมื่อลงมือเขียนจริง มันเปิดช่องให้ไปอีกทิศทางหนึ่งที่สนุกและดีกว่าเดิม ก็เปลี่ยนแผน และพัฒนาไปทางใหม่เป็นเรื่องใหม่ (วงการเรียกว่า happy accident)
2
หลายคนมีความคิดฝังหัวว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องของคนทำงานในวงการสร้างสรรค์ นักโฆษณา นักเขียน ฯลฯ ความจริงคือเราทุกคนไม่ว่ามีอาชีพใด ก็ควรหัดคิดนอกกรอบเพราะปัญหาหลายเรื่องในชีวิตเราจำต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์แก้ไข
องค์กรทางธุรกิจจำนวนมากทำงานตามกรอบคิดเดิม ความเคยชินเดิม ทำกันมาอย่างไร ก็ทำอย่างนั้นไป ผลดีคือมันสร้างความเชี่ยวชาญในสายนั้น ผลเสียคือมันเป็นกรอบคิดที่ทำให้ไม่สามารถพลิกแพลงต่อยอดสู่ไอเดียใหม่ๆ
2
ยกตัวอย่าง เช่น ธุรกิจโรงแรมคือให้เช่าห้องพัก แต่มีโรงแรมบางแห่งติดป้ายราคาเฟอร์นิเจอร์ในห้องพักด้วย หากลูกค้าที่มาพักใช้งานจริงแล้วชอบใจ ก็ซื้อได้
3
เช่นกัน ร้านอาหารบางแห่งติดภาพเขียนบนผนัง เป็นเครื่องประดับร้าน แต่หากแขกชอบ ก็สามารถซื้อภาพได้ จะว่าไปแล้ว การแสดงภาพอย่างนี้ได้ผลไม่แพ้แกลเลอรีศิลปะ เพราะแขกมีเวลาดูภาพนานกว่าเดินดูภาพ กินอาหารไป ดูภาพไป ขณะเดียวกันร้านก็ได้เปลี่ยนอารมณ์ห้องด้วยภาพใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ
3
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ผู้คิดค้นทฤษฎียากๆ และระดับสุดยอด บอกว่า “ข้าพเจ้าไม่เคยค้นพบอะไรด้วยวิธีคิดแบบมีเหตุมีผลเลย”
1
ลิซา โกลเดนเบิร์ก นักธุรกิจอุตสาหกรรมเหล็กสหรัฐฯกล่าวว่า “คนที่พูดถึงการคิดนอกกรอบยังมองเห็นกรอบ คนที่ไม่รู้จักการดำรงอยู่ของกรอบต่างหากที่เป็นนักคิดนวัตกรรม”
3
เอาละ เราคงพอเห็นประโยชน์ของ lateral thinking แล้ว
ข่าวดีคือ lateral thinking เป็นทักษะที่เรียนรู้ได้ เราสามารถฝึกให้คิดแบบใหม่ได้
อีกข่าวดีคือ เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน บอกว่า การคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่ความสามารถพิเศษที่ลึกลับอะไร มันเป็นทักษะที่ฝึกหัดและบ่มเพาะกันได้
1
แล้วจะฝึกให้คิดแบบ lateral thinking อย่างไร?
บางทีสิ่งแรกคือล้างสมองให้ว่างก่อน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา