29 มี.ค. 2022 เวลา 04:56 • ประวัติศาสตร์
"นโม วุทฺธาย นิรฺมฺมาณ ธรฺมฺมสามฺโภคมูรฺตฺตเย
ภาวาภาวทฺวยาตีโต ทฺวยาตฺมาโยนิราตฺมกะ
ไภษชฺยคุรุไวฑูรฺยฺย ปฺรภาราชชินนฺเม
เกฺษมาโรคฺยาณิชนฺยนฺเต เยนนามาปิศฤณฺวตามฺ”
-ขอความนอบน้อมจงมีแก่พระพุทธเจ้าผู้มีนิรมาณกาย ธรรมกาย และสัมโภคกาย ผู้ล่วงพ้นภาวะและอภาวะทั้งสอง ผู้มีอาตมันและหาอาตมันมิได้
-ข้าพเจ้าขอนมัสการพระชินะ ผู้เป็นพระราชาแห่งรัศมี คือ พระไภษัชยคุรุไวฑูรย์ เพราะพระองค์จึงเกิดความเกษมและความไม่มีโรคแก่ประชาชนผู้ฟังอยู่แม้เพียงชื่อของพระองค์
1
[จารึกอโรคายาศาล (อาโรคยาศาล) บทสรรเสริญพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า โดย ชัยวรมันที่ 7, กษัตริย์เขมร]
(ถอดคำโดย: ชะเอม แก้วคล้าย)
.
.
-โรคระบาดเกิดขึ้นในสมัยนี้ เราก็พยายามหาทางรักษากันด้วยวิธีต่างๆ แม้กระทั่งขอให้ไหว้พระขอให้ท่านช่วย
ซึ่งมีมานานนมแล้ว พระที่สมัยโบราณกราบไหว้ทางแถบอุษาคเนย์ซึ่งได้อิทธิพลจากพุทธมหายานจากจีนคือ
“พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคต”
คือพระพุทธเจ้าที่ปรากฏในศาสนาพุทธนิกายมหายาน นับถือกันว่าเป็นผู้ช่วยให้สัตว์โลกพ้นจากความทุกข์คือโรคทั้งปวงได้
-พระพุทธรูปของพระไภษัชยคุรุนั้นพบและกระจายตัวอยู่มากในพื้นที่แถบอีสานตอนใต้ของไทย
สาเหตุเป็นเพราะพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นเขตอิทธิพลของจักรวรรดิเขมรมาก่อน (ซึ่งนับถือพุทธนิกายมหายานที่มาจากจีนอีกที)
แต่เดิมอาจไม่ได้มีการเคารพหรือตั้งพระพุทธรูปของพระไภษัชยคุรุกันอย่างกว้างขวาง เพราะพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เองก็มักแสดงภาพของตนผ่านพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรมากกว่า (อย่างในนครธม)
-แต่เพราะในยุคของชัยวรมันที่ 7 เกิดโรคระบาดและประชาชนเดือดร้อน ชัยวรมันที่ 7 จึงให้ตั้งสถานพยาบาลขึ้นตามพื้นที่ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก (รู้จักกันในชื่อ "อโรคยาศาล" มี 102 แห่ง) และเพราะพระไภษัชยคุรุเป็นที่นับถือกันในฐานะผู้รักษา จึงมีการตั้งพระพุทธรูปขึ้นในสถานพยาบาลดังกล่าวด้วย และทำให้พระพุทธรูปของพระไภษัชยคุรุสามารถพบได้ในพื้นที่หลายแห่งของอดีตจักรวรรดิเขมร
-อโรคยาศาลนั้นนอกจากพระพุทธรูปของพระไภษัชยคุรุแล้ว ยังมีจารึกในแต่ละที่ โดยมักมีเนื้อหาคล้าย ๆ กัน แตกต่างกันบ้างในส่วนของรายละเอียดปลีกย่อย คือมีบทสรรเสริญพระไภษัชยคุรุ, เนื้อหาว่าทำไมจึงตั้งอโรคยาศาลขึ้น (เขียนราว ๆ ว่า เพราะความเจ็บป่วยของราษฎรก็คือความทุกข์ของพระราชา จึงตั้งสถานพยาบาลขึ้น), เนื้อหาถึงการบริจาคทานและข้ากัลปนาให้สถานพยาบาล และเนื้อหาถึงเจ้าหน้าที่ประจำสถานี
-สันนิษฐานกันว่า อโรคยาศาลน่าจะเริ่มถูกทิ้งร้างลงในช่วงหลังชัยวรมันที่ 7 สวรรคตและจักรวรรดิเขมรเสื่อมอำนาจ สถานะของอโรคยาศาลในแง่สถานพยาบาลเริ่มหายไปเมื่อเจ้าพนักงานเริ่มทิ้งถิ่นฐานและกลายเป็นแค่พุทธสถานไปในภายหลัง และเมื่อพุทธมหายานในพื้นที่เริ่มเสื่อมลง (แทนที่ด้วยพุทธเถรวาท) ความหมายของอโรคยาศาลและการบูชาพระไภษัชยคุรุก็เริ่มจางหายไปจากพื้นที่และภูมิภาค
-อย่างไรก็ตาม ตัวตนของพระไภษัชยคุรุไม่ได้หายไปจากพื้นที่ของอุษาคเนย์ไปเสียทั้งหมด เข้าใจว่า "พระกริ่ง" ที่สร้างเป็นพระพุทธรูปปางหมอยาแล้วนับถือบูชากันก็น่าจะได้ต้นแบบมาจากพระไภษัชยคุรุเช่นกัน แต่นั่นออกจะไปทางเรื่องเครื่องรางของขลังและเป็นความเชื่อในช่วงปลายยุคจารีตแล้ว
-รูปลักษณ์ทั่วไปตามความเชื่อมหายาน เป็นพระปางสมาธิในมือถือเจดีย์ไม่ก็กระปุกยา ถ้าในจีนถือเห็ดหลินจือก็มี มีกายสีน้ำเงินเข้ม
ถ้าอยากเจอพระไภษัชยคุรุแบบง่ายๆก็ที่อุโบสถของวัดเล่งเน่ยยี่ หันหน้าเข้าพระประธาน
มีพระพุทธรูปประธาน 3 องค์ ประกอบด้วย
พระศรีศากยมุนี’ (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) อยู่ตรงกลาง
ฝั่งซ้ายเป็น ‘พระอมิตาภพุทธเจ้า’ พระธยานิพุทธเจ้าผู้สถิตอยู่ในดินแดนสุขาวดี
(และเป็นที่มาของการพูด “อามิตาพุทธ” ที่พระถังซำจั๋งชอบพูด)
ส่วนฝั่งขวาเป็น ‘พระไภษัชยคุรุประภาตถาคต’ นั่นเองงงง งงง งง
หวังว่าไปสวดแล้วจะป้องกันโรคได้บ้างนะตามศรัทธา
ปล.ถ่ายรูปไม่สวยเลยแฮะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา