31 มี.ค. 2022 เวลา 04:22 • ประวัติศาสตร์
"เราได้ทราบมาว่า ชาวโปรตุเกส ชาวสยาม และชาวกัมพูชาซึ่งเข้ามาค้าขายยังประเทศแห่งนี้ได้ซื้อชาวญี่ปุ่นกลับไปเป็นจำนวนมาก พรากพวกเขาไปจากแผ่นดินเกิด ครอบครัว ลูกหลาน และญาติมิตร การกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องยอมรับไม่ได้อย่างยิ่ง
เราขอให้ภราดารับประกันด้วยว่าจะนำคนญี่ปุ่นซึ่งถูกพาออกไปนอกประเทศเหล่านั้นกลับมายังญี่ปุ่น หากว่าการนำตัวกลับมาไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากเขาเหล่านั้นถูกพาตัวไปยังดินแดนอันไกลห่างเสียแล้ว อย่างน้อยต้องให้ชาวโปรตุเกสปล่อยตัวชาวญี่ปุ่นที่ถูกซื้อตัวเอาในขณะนี้ทั้งหมด เราจะเตรียมเงินสำหรับค่าใช้จ่ายในกรณีนี้เอาไว้ให้"
- จดหมายจากโทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ถึง ภราดากาสปาร์ โคเอลโฮ, (Gaspar Coelho) รองอธิการคณะเยซูอิตในญี่ปุ่น ใน Historia de Japam โดย หลุยส์ ฟรอยส์
"การค้าทาสในญี่ปุ่น"
เป็นธุรกิจอย่างหนึ่งที่เฟื่องฟูขึ้นในยุคสงครามกลางเมือง (เซนโงคุ) เดิมทีอาจเป็นการจับคนไปขายของโจรหรือโจรสลัดตามพื้นที่ห่างไกล แต่ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นเข้ายุคสงครามกลางเมือง ไดเมียวเจ้าแคว้นก็เข้ามามีส่วนในเครือข่ายธุรกิจดังกล่าวมากยิ่งขึ้น โดยปกติแล้วบรรดาไดเมียวจะห้ามไม่ให้มีการขายคนในบังคับหรือในดินแดนของตนออกไป แต่คำสั่งห้ามดังกล่าวไม่มีผลกับคนที่ไปลักพาตัวหรือกวาดต้อนมาจากแคว้นอื่น
ธุรกิจดังกล่าวขยายตัวขึ้นเมื่อญี่ปุ่นเชื่อมเข้ากับเส้นทางการค้าของชาวตะวันตก ซึ่งนำตัวชาวญี่ปุ่นออกไปเป็นทาสเพื่อรองรับชุมชนเมืองท่าต่าง ๆ ที่ขยายตัวขึ้นตามเส้นทางการค้า ผู้ชายมักถูกนำไปเป็นคนรับใช้หรือใช้แรงงาน ส่วนผู้หญิงมักถูกขายไปเป็นเมียน้อยหรือลงเอยตามหอนางโลมที่ผุดขึ้นตามเมืองท่าเพื่อรองรับบรรดากะลาสีจากทั้งทางยุโรปและเอเชีย
ราชสำนักโปรตุเกสและสเปนไม่ค่อยพอใจกับการค้าทาสในลักษณะดังกล่าว บรรดาพระที่ออกมาเผยแพร่ศาสนาในเอเชียเองก็ต่อต้านพฤติกรรมดังกล่าว ทั้งยังกลัวว่าการค้าชาวญี่ปุ่นจะทำให้กระทบกับความสัมพันธ์กับราชสำนักญี่ปุ่น มีการออกประกาศทั้งของทางราชสำนักและข้อเรียกร้องของบรรดาพระต่อเรื่องดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง
แต่พวกพ่อค้าไอบีเรียมักอ้างว่าตนเองจ่ายเงินซื้อมาอย่างถูกต้อง (ส่วนพ่อค้าชาวเอเชียก็ไม่คิดจะแคร์กับข้อเรียกร้องดังกล่าว) ภายหลังเมื่อญี่ปุ่นรวมประเทศได้ และสงครามภายในเริ่มลดลง รัฐบาลญี่ปุ่นจึงเริ่มกดดันให้เลิกนำชาวญี่ปุ่นออกนอกประเทศ
การค้าทาสชาวญี่ปุ่นในช่วงศตวรรษที่ 17 ลดลงเพราะกฎหมายในประเทศเป็นปัจจัยหนึ่ง แต่ยังมีปัจจัยหลักอีก 2 ประการที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญ ประการหนึ่งคือการที่ข้าหลวงกวางตุ้ง-กวางสีในจีนประกาศห้ามไม่ให้เรือโปรตุเกสที่มีชาวญี่ปุ่นติดเรือมาเข้ามาใกล้ฝั่ง (อยู่ในช่วงต่อต้านโจรสลัดญี่ปุ่น)
1
และขู่ว่าจะปิดมาเก๊าหากตรวจพบว่ามีชาวญี่ปุ่นเข้ามาอยู่ไม่ว่าจะในฐานะใดก็ตาม อีกปัจจัยหนึ่งคือเนื่องจากญี่ปุ่นในสมัยฮิเดโยชิบุกเกาหลีและสามารถกวาดต้อนคนมาได้เป็นจำนวนมาก จึงนำคนเหล่านั้นมาขายเป็นทาสตอบสนองอุปสงค์ของตลาดแทน.
****ภราดากาสปาร์ โคเอลโฮ เคยเข้าพบฮิเดโยชิพร้อมกับไดเมียวคริสตัง โอโตโมะ โซริน (Otomo Sorin) เพื่อขอกำลังสนับสนุนในการทำสงครามกับไดเมียวแห่งแคว้นซัทสึมะ โดยสัญญาว่าจะให้การสนับสนุนฮิเดโยชิ ขยายอำนาจลงไปยังคิวชู
ฮิเดโยชิให้การต้อนรับโคเอลโฮอย่างดี ยังออกหนังสือมอบสิทธิให้บาทหลวงตั้งถิ่นฐานและประกาศศาสนาได้ “ทั่วญี่ปุ่น” ไม่ต้องเกณฑ์ทหาร และยกเว้นจากการทำราชการอื่นๆ ให้โคเอลโฮด้วย เพื่อให้แน่ใจได้ว่าฮิเดโยชิจะได้รับการสนับสนุนจากคริสตัง โดยความช่วยเหลือของไดเมียวคริสตังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ฮิเดโยชิสามารถพิชิตคิวชูได้
.
แต่ฮิเดโยชิไม่ได้ไว้วางใจต่อศาสนาคริสต์เท่าโนบุนางะ คงได้เห็นอิทธิพลศาสนาคริสต์ในคิวชู ทำให้ฮิเดโยชิระแวงเหล่าคริสตังว่าอาจกลายเป็นขุมกำลังที่อันตรายกว่ากลุ่ม “อิกโก” ของพระสงฆ์นิกายโจโดะชินชูที่ถูกโนบุนางะปราบปรามในอดีต นอกจากนี้เชื่อว่าฮิเดโยชิยังระแวงชาติต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะสเปนที่กลายเป็นมหาอำนาจทางทะเลและสามารถยึดฟิลิปปินส์ไว้ในอำนาจเมื่อไม่นานมานี้
.
ดังนั้น วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๕๘๗ ฮิเดโยชิได้ออกกฤษฎีกาเนรเทศบาทหลวง (バテレン追放令 Bateren-tsuiho-rei)* ประณามศาสนาคริสต์ว่าเป็น “คำสอนที่เป็นอันตราย” ให้ขับไล่มิชชันนารีคณะเยซูอิตออกจากญี่ปุ่นทั้งหมดภายในเวลา ๒๐ วัน
รวมถึงห้ามไม่ให้ไดเมียวบีบบังคับบริวารให้เข้ารีต นับได้ว่าเป็นประกาศฉบับแรกเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ที่มีผลบังคับใช้ทั่วแผ่นดิน (แต่ไม่ได้มีผลบังคับใช้ต่อพ่อค้าชาวโปรตุเกสเพราะฮิเดโยชิยังคงต้องการค้าขายกับต่างประเทศ)
* บาเตเร็น (バテレン) มาจากคำว่า Padre ในภาษาโปรตุเกส หมายถึงบาทหลวง
.
แถมด้วยบังคับให้ไดเมียวคริสตังในปกครองของตนให้ละทิ้งความศรัทธา (แต่ส่วนใหญ่ยังแอบนับถือคริสต์อย่างลับๆ) และปลดคนที่ยังศรัทธาออกจากตำแหน่ง
นอกจากนี้ยังแต่งตั้งข้าหลวงไปปกครองเมืองนางาซากิที่ไดเมียวคริสตังเคยมอบให้เป็นสิทธิขาดคณะเยซูอิตเพื่อดึงอำนาจบริหารกลับมาสู่ส่วนกลาง แต่ไม่สามารถลบล้างอิทธิพลของคริสตังไปจากนางาซากิ แต่คณะเยซูอิตก็เสียผลประโยชน์ในการควบคุมเมืองท่าทางการค้าให้ฮิเดโยชิ
.
อย่างไรก็ตาม ฮิเดโยชิไม่ได้ขับไล่ชาวคริสต์อย่างจริงจัง แม้จะทำลายโบสถ์บางแห่งและบีบให้มิชชันนารีต้องลดกิจกรรมทางศาสนาลง แต่ก็ไม่สามารถขับไล่มิชชันนารีออกไปจากญี่ปุ่นได้อย่างถาวร มีเพียงมิชชันนารีไม่กี่คนเท่านั้นที่ออกนอกประเทศ ที่เหลือยังคงหลบซ่อนตัวและแอบสอนศาสนาอยู่ลับๆ นอกจากนี้ยังปรากฏว่าใน ค.ศ. ๑๕๙๓ ฮิเดโยชิยังต้อนรับบาทหลวงคณะฟรานซิสกันจากฟิลิปปินส์ และให้เผยแผ่ศาสนาอยู่ที่เกียวโตได้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา