2 เม.ย. 2022 เวลา 04:16 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
EP.4 ยุคสมัยอาจพรากสิ่งสำคัญไป แต่ “ไฟ” ในการพัฒนายังคงลุกโชน: ฝ่าวิกฤต หาโอกาส มองค่านิยมเกาหลีใต้ยุค 90s ผ่าน Twenty Five Twenty One
(ขอความกรุณาไม่คัดลอก ดัดแปลง หรือนำเนื้อหาในบทความต่อไปนี้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ หากต้องการนำเนื้อหาไปใช้รบกวนอ้างอิง หรือให้เครดิตหน่อยนะคะ ขอบคุณค่ะ)
สวัสดีค่ะ ผู้อ่าน และแฟนๆ ละครเกาหลีทุกท่าน นักเล่าซอหายไปเกือบสองเดือน เพราะงานหนัก เรียนเหนื่อย แถมมีช่วงสุขภาพแย่อีก…อย่าเพิ่งลืมกันไปนะคะ ช่วงนี้ละครที่ต้องพูดถึง และขอแหกกฎสปอยล์ ชวนเม้ามอยสไตล์เกา(หลี) คงไม่พ้นเรื่อง Twenty Five-Twenty One (25-21) ที่กำลังจะอำลาจอไปในสุดสัปดาห์นี้ คนเขียนกลัวมากว่าจะอัพ blog ไม่ทันก่อนละครจบ
topic ที่จะชวนเม้าก็คิดยากมากค่ะ เพราะหลายเพจก็เม้ากันเกือบหมด หวังว่าเนื้อหาสไตล์เกา ๆ ของซอใน EPนี้จะช่วยเพิ่มอรรถรสในการรับชมละครที่หลายคนประทับใจ และช่วยปรุงรสชาติเกา ๆ ในสื่อบันเทิงเกาหลีเรื่องอื่นให้อินกว่าเดิมนะคะ ^^
เช่นเดิมค่ะ คอนเซปต์ของนักเล่าซอคือจะไม่เปิดเผย Climax ของเรื่อง หรือสปอยล์เนื้อหาส่วนสำคัญ ใครไม่เคยดู 25-21 ก็สามารถอ่านได้นะคะ บางช่วงอาจกล่าวถึงเนื้อหาบางตอนในละครเพื่อเชื่อมโยงกับสภาพสังคมจริงให้ผู้อ่านเข้าใจมากขึ้น ต้องขออภัยล่วงหน้าด้วยค่ะ
ถ้านักอ่านท่านใด อยากอินเหมือนหลุดเข้าไปในยุค 90s ขออนุญาตป้ายยาคอนเทนต์ EP.2 ของซอ ซึ่งพาเม้าการเมืองและเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในช่วงทศวรรษ 1950-1980 รับรองว่าจะอ่าน EP.4 ได้สนุกขึ้นแน่นอนค่ะ คลิก ⬆️
ย้อนรอยต้มยำกุ้งดีซิส: จุดกำเนิดของวิกฤตทางการเงินในเอเชียปี 1997
ประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย ปี1997
ในช่วงปลายทศวรรษ 90 ไทยต้องการเป็นศูนย์กลางทางการเงินในอาเซียน เลยใช้นโยบาย BIBF (Bangkok International Banking Facilities) เพื่อให้สถาบันการเงินกู้เงินจากต่างประเทศ มาปล่อยกู้คนในประเทศสะดวกขึ้น ซึ่งช่วงนั้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่างประเทศค่อนข้างต่ำ สวนทางกับอัตราเงินกู้ในประเทศพอสมควร ยิ่งแบงก์ชาติตรึงค่าเงินไว้ 1$ = 25฿ นักลงทุนที่ชอบกู้เงินยิ่งไม่ต้องกังวล วางแผนหมุนเงินได้ง่าย ๆ
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐ($)พุ่งสูง เงินบาทเลยค่อย ๆ อ่อนค่าลง แต่แบงก์ชาติก็โป๊ะเงินเข้าไปตลอด เพื่อรักษาให้เรตคงที่ (โมเดลนี้ไม่ใช่แค่ไทยทำ แต่อังกฤษก็เคยทำด้วยค่ะ แล้วก็เจ๊งในที่สุด)
ขอบคุณภาพจาก The Standard https://thestandard.co/tom-yum-kung-crisis/
พอสถาบันการเงินกู้เงินกันได้ง่าย ก็เริ่มปล่อยให้นักลงทุนในประเทศกู้กันแบบหละหลวม เน้นให้สินเชื่อกลุ่มตลาดหุ้น และอสังหริมทรัพย์เป็นหลัก จนหุ้นและที่ดินถูกเก็งกำไร เมื่อธุรกิจสองประเภทนี้ทำกำไรได้ง่าย ความต้องการที่ดินก็สูงตามมา ส่งผลให้ราคาที่ดินสูงเกินจริง(สภาวะฟองสบู่)
อีกด้านหนึ่งคนไทยรายได้มากขึ้น ก็ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย นำเข้าสินค้าต่างประเทศเป็นว่าเล่น เพราะเรตเงินถูก ส่งผลดุลการค้าขาดดุล (นำเข้า > ส่งออก) นักลงทุนต่างชาติบางกลุ่มเริ่มไม่แน่ใจว่าลูกหนี้ไทยมีรายได้จริงมั้ย ทำให้พากันถอนทุน ขณะที่ความต้องการเงิน $ ในไทยพุ่งสูงต่อเนื่อง กลุ่มนักธุรกิจ นักวิเคราะห์ค่าเงินก็หันมาโจมตีค่าเงินบาท กล่าวคือ เอาเงินบาทที่ตุนไว้ไปแลกเงิน $ ที่เรตคงที่ แล้วนำเงิน $ ได้ไปขายเป็นเงิน ฿ ในราคาจริงเพื่อเอากำไรส่วนต่าง
แบงก์ชาติที่คอยเอาทุนสำรองระหว่างประเทศรักษาค่าเงินให้อยู่ที่ 1$ = 25฿ ก็ไปต่อไม่ไหว เงินทุนเกลี้ยงคลัง มิหนำซ้ำมีหนี้ค้างชำระบานเบอะ ในที่สุดเดือนก.ค. ปี40 ก็ประกาศลอยตัวค่าเงินบาทภายใต้การจัดการ ปล่อยให้ค่าเงินวิ่งตามอุปสงค์ อุปทาน ถ้าเห็นค่าเงินผิดปกติ แบงก์ชาติก็จะเข้าไปแทรกแซง เพื่อทำให้สมดุล แต่ไม่ขอตรึงแบบคราวก่อน
ภาพข่าวรัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท พ.ศ. 2540 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี”
ผลลัพธ์เกิดอะไรขึ้น...ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวมานานแล้วก็หลอกดาวไม่ได้อีกต่อไป คนที่กู้เงิน $ 1 ล้านเหรียญ จากเดิมมีหนี้ในไทย 25 ล้านบาท เช้าวันใหม่ตื่นขึ้นมาก็มีหนี้ 40-50 ล้าน ทันที แล้วตอนนั้นไทยไม่ได้กู้มานิดเดียวนะคะ แต่ประมาณการไว้ถึง 70,000 ล้านเหรียญ ธุรกิจที่ใช้หนี้ไม่ได้ก็ต้องปิดกิจการ เลิกจ้างพนักงาน ทรัพย์สินโดยเฉพาะที่ดินที่เก็งราคาไว้ก็ราคาตก ขายไม่ออก รวมถึงสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ก็เจ๊งไปด้วย เพราะลูกหนี้ไม่มีปัญญาใช้หนี้คืน
วิกฤตต้มยำกุ้งของไทยกระทบไปทั่วเอเชีย โดยประเทศที่หนักสุด หลัก ๆ ก็มีไทย อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ พอนักลงทุนต่างชาติหมดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของเอเชีย ก็เริ่มถอนเงินออก ทำให้ค่าเงินของแต่ละประเทศอ่อนตัวลงมาก โมเดล นโยบายการเงินที่ไทยใช้ และเผชิญปัญหานั้นใกล้เคียงกับเกาหลีใต้มาก ๆ เลยค่ะ ต่อจากนี้จะพาผู้อ่านบินตรงไปกรุงโซลในปี 1997 เพื่อดูว่าชีวิตของแพค-อีจิน และนาฮีโดได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้อย่างไร
ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ IMF ในปี 1997: วันอัปยศของชาติที่ผู้นำเกาหลีใต้ไม่เคยลืม
ถ้าใครที่ตามนักเล่าซอมาตั้งแต่ EP.2 จะจำได้ว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในช่วงปลาย 80s ยุคของประธานาธิบดีช็อนดู-ฮวาน ตอนนั้นเศรษฐกิจเกาหลีไปไกลมาก ๆ มีการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการต่อเรือ ภาครัฐร่วมลงทุนกับกลุ่มเอกชนแชบอล (재벌) หรือธุรกิจครอบครัวเศรษฐีระดับบิ๊กของประเทศ เช่น บริษัทรถฮุนได ส่งผลให้ต้นทศวรรษ 90 ชนชั้นกลางเกาหลีมีกำลังซื้อมากขึ้น
และในปี 1996 เกาหลีก็เข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม OECD (องค์กรความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจ) นับเป็นชาติที่ 2 หลังญี่ปุ่นที่สามารถขึ้นมาเป็นมหาอำนาจด้านอุตสาหกรรม แต่อย่าลืมความสำเร็จทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนี้เกิดขึ้นแบบกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มแชบอลกลุ่มเดียว เพราะเขามีเงินทุนที่จะรักษาฐานอำนาจไว้ด้วยการติดสินบนนักการเมือง แลกกับการได้ผูกขาดกิจการ
"คิม ย็อง-ซัม" ประธานาธิบดีคนที่ 7 ของสาธารณรัฐเกาหลี
หลังจากที่คู่หูรัฐบาลทหารช็อนดูฮวาน และโนแทอูหมดวาระไป คิม ย็อง-ซัมขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี สายพลเรือนคนแรกในปี 1993 ช่วงนี้นักลงทุนต่างชาติเริ่มหันไปลงทุนที่ประเทศอื่น เพราะแรงงานเกาหลีใต้ไม่ได้ราคาถูกเหมือนเดิม ราคาสินค้าส่งออกก็ต่ำลง เกิดภาวะขาดดุลการค้า
แม้รัฐบาลจะหากลยุทธ์มาสู้ ไม่ว่าจะเป็นระงับการขึ้นเดือนของข้าราชการ ควบคุมการใช้จ่ายของฝ่ายบริหาร หรือเอาเงินอุดหนุนภาคเอกเชน แต่ก็เหมือนจะไม่เป็นผล เนื่องจากระบบเศรษฐกิจของเกาหลีมีช่องโหว่อยู่ที่กลุ่มแชบอล ที่ผ่านมารัฐยังคงสนับสนุนแต่ธุรกิจภาคอุตสาหกรรม(แชบอล) ให้ธนาคารพาณิชย์โปรยเงินกู้ โดยไม่ควบคุมการขยายกิจการของกลุ่มแชบอล ทำให้กลุ่มแชบอลกู้เงินได้ง่าย เกิดการเก็งกำไรหุ้นและที่ดิน จนราคาสินทรัพย์สูงขึ้นอยู่ในสภาวะฟองสบู่ไม่ต่างจากไทย
พอกู้เงินง่าย แชบอลก็ทุ่มเงินซื้อกิจการต่าง ๆ ที่เป็น SMEs (ปลาใหญ่กินปลาเล็ก) จนนำไปสู่การผูกขาดในปี 1996 ซึ่งภายหลังความเลินเล่อของรัฐ ทำให้ธนาคารต้องเจ๊ง ลูกค้ารีบแห่ไปถอนเงิน เงินที่ปล่อยกู้เอกชนไปก็ยังจ่ายหนี้ไม่หมด สุดท้ายเจ๊งทั้งเอกชนและธนาคาร อย่างที่เราเห็นกันในละคร EP.1 ธนาคารพาณิชย์บางแห่งปิดตัว มีการประกาศควบรวมกิจการกันในตอนที่นาฮีโดวิ่งไปโรงเรียนแทยังเพื่อแอบดูยูริมซ้อมฟันดาบวันเสาร์
Logo บริษัทกลุ่มแชบอล(재벌) ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน
การที่ภาคธุรกิจเอกชน หรือกลุ่มแชบอลเน้นกู้เงินจากสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ นำไปสู่การเติบโตทางเงินที่ติดลบ (Debt-Financed Growth) กล่าวคือเงินทุนส่วนใหญ่ในบริษัทไม่ได้มาจากการระดุมทุน เช่น ออกหุ้นไปขายในตลาดหลักทรัพย์ แต่เลือกจะกู้เงิน หรือออกตราสารหนี้อย่างเดียว สิ่งที่ตามมาคือภาวะหนี้สินมากขึ้น ภายหลังปลายปี 1997 อัตราส่วนหนี้ต่อทุนของเกาหลีใต้อยู่ที่ 400% (ทุนที่ประกอบด้วยหุ้น หรือกำไรสะสม 1 ส่วน มีหนี้อยู่ 400 ส่วน)
ในขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศเริ่มร่อยหรอ ค่าเงินวอนอ่อนตัวลง จากเดิมที่ 1$ อยู่ที่ประมาณ 850 วอน ก็พุ่งกลายเป็น 1290วอน เพราะงั้นตื่นมาวันใหม่ เอาส่วนต่างค่าเงินคูณจำนวนหนี้ที่ต้องชำระเพิ่มไปได้เลยจ้า…พอบริษัทล้มละลาย ธนาคารที่ให้กู้ก็เจ๊งไปแล้ว พนักงานทุกภาคส่วนเลยพากันตกงาน แถมอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นอีก คนในครอบครัวบางคนที่เรียนอยู่ต้องยุติการเรียน ออกมาหางานทำ
ข่าวจากช่อง MBC บริษัทหลายแห่งร้องขอให้ช่วยเหลือด้านการเงิน ในช่วงวิกฤต IMF ปี1997
ร่ายยาวมาขนาดนี้…คำตอบคือบริษัทของพ่อแพคอีจีนจัดเป็นกลุ่มแชบอล ประเภทธุรกิจก่อสร้าง จึงได้รับผลกระทบจากวิกฤตไปเต็ม ๆ เช่นเดียวกับบริษัทฮันโบเหล็กกล้า (한보 철강) บริษัททัวร์อนนูรี (온누리 여행사) และบริษัทหลักทรัพย์โครยอ (고려 증권사) ที่ประกาศล้มละลาย (3บริษัทหลังมีอยู่จริงนะคะ) ตามข่าวในทีวีที่แพคอีจินได้ดูในวันที่มีหมายจากกรมให้ปลดประจำการ ออกมาหางานทำ เพื่อดูแลน้องที่ยังอยู่ในวัยม.ต้น และพาพ่อกับแม่ที่แยกกันอยู่กลับมาเป็นครอบครัวเดียวกันอีกครั้ง
สภาพอาคารบริษัทฮันโบเหล็กกล้า (한보철강) ที่ต้องถูกรื้อถอน เพราะขาดสภาพคล่องทางการเงินในช่วงวิกฤต IMF ถัดมาบริษัทฯ ปิดตัวลงในปี 2009
นอกจากนี้บริษัทกลุ่มแชบอลก่อนหน้าจะเจ๊ง ได้ทำธุรกิจบริษัทแม่-บริษัทลูก ธุรกิจในเครือบางอย่างที่ไปกว้านซื้อมา ถูกโอนไปยังอีกบริษัทหนึ่ง เพราะฉะนั้นเวลาเจ๊งที จะกระทบเป็นลูกโซ่เลยค่ะ ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไมกลุ่มลูกจ้างของพ่ออีจีน จึงตามไปทวงเงินค่าจ้างกับแพคอีฮยอน น้องชายของอีจินที่โรงเรียน หรือทำไมพ่อกับแม่อีจินต้องแกล้งหย่ากันหลอก ๆ เพราะพ่อได้โอนธุรกิจในเครือย่อยไปเป็นชื่อของภรรยาหรือทายาทแทน
อดีตลูกจ้าง พนักงานบริษัทของพ่ออีจีน ตามทวงเงินเดือน หลังพ่ออีจินหายตัวไป
ชาวเกาหลีเกิดความเครียดกับสภาวะการเงินของตัวเอง และขาดความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะจัดการกับปัญหาได้ มีรายงานว่าชาวเกาหลีประมาณ 30% หันไปพึ่งยาเสพติด เริ่มดื่มเหล้าเพราะตกงานและมีปัญหาการเงิน เราจะได้เห็นฉากที่อีจินทะเลาะกับน้องชาย แพคอีฮยอน เพราะน้องอายที่มีพี่ชายเป็นคนขายปลาในตลาดสด จนอีจินต้องแอบไปสูบบุหรี่นอกบ้าน แอบก๊งเหล้า แล้วอาที่เป็นญาติฝ่ายแม่เข้ามาถามไถ่
ในเดือนธันวาคมปี 1997 รัฐบาลเกาหลีเจรจาขอกู้เงิน 57,000 $ จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คนเกาหลีเรียกวิกฤตการเงินที่ลุกลามไปทั่วเอเชียครั้งนี้ว่า “วิกฤต IMF” เพราะประเทศต้องแบกหน้าไปขอกู้เงินจาก IMF นับเป็นบาดแผลที่เจ็บปวดไม่ต่างจากสงครามเกาหลี ถึงขนาดที่ประธานาธิบดีคิมย็องซัมบอกประชาชนทางทีวีว่า “เขาโบยตัวเองทุกวัน” เพราะอับอายที่ต้องทำให้ประเทศต้องอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้
หาโอกาสฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจ: การก้าวสู่ประเทศผู้นำด้าน Soft power
คิมแดจุง(ซ้าย) ปธน.คนที่8 ซึ่งเข้ามาแก้ไขปัญหา IMF VS. คิมย็องซัม(ขวา) ปธน.คนที่7 ทั้งคู่เป็นผู้นำสายพลเรือน
ตัวละครที่ขอเปิดตัวเพิ่มในพาร์ทนี้ ขอยกให้ “ประธานาธิบดีคิมแดจุง” เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดคิมย็องซัม อดีตปธน.คนก่อน สองคนนี้เคยร่วมแรงร่วมใจ ทำหน้าที่พรรคฝ่ายค้านต่อต้านรัฐบาลของพัคจองฮี และช็อน-ดูฮวานมาก่อน (แอบเม้าว่าคิมแดจุง เคยวิจารณ์ ต่อต้านรัฐบาลทหารจนต้องหนีตายมาแล้วถึง 2 ครั้ง)
โนแทอู(ซ้าย) ปธน.คนที่ 6 และ ช็อน-ดูฮวาน(ขวา) ปธน.คนที่5 ทั้งคู่เป็นผู้นำสายทหาร
ถ้าใครจำได้...ช่วงสาธารณรัฐที่ 5 รัฐบาลช็อนดูฮวาน ไปต่อไม่ไหว เลยส่งโนแทอู นักการเมืองทหารเพื่อนซี้ มาสืบอำนาจต่อ ซึ่งจริง ๆ แล้วการเลือกตั้งในปี 1988 ชัยชนะควรจะเป็นของพรรคฝ่ายค้าน เพราะคนต่อต้านรัฐบาลทหารสุดขีด แต่สุดท้ายคิมย็องซัมกับคิมยองแดดันมาเปิดศึก แย่งฐานเสียงกันเอง ทำให้สุดท้ายโนแทอูชนะการเลือกตั้งไป
อย่างไรก็ตาม ในปี 1998 ช่วงที่คิมแดจุงยังไม่รับตำแหน่งปธน. อย่างเป็นทางการ ต้องกลับมาจับมือ แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจร่วมกับคิมย็องซัม สภาพประเทศเกาหลีตอนนั้นจะล้มละลายเมื่อไรก็ได้ เพราะภาระหนี้สินของประเทศมีมากถึง 200,000 ล้าน$ คิมแดจุงไม่มีทางเลือก นอกจากต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามแนวทางของ IMF กล่าวคือยกเลิกระบบผูกขาดกลุ่มแชบอล รวมทั้งปรับโครงสร้างภาคการเงินและการตรวจสอบบัญชี ตลอดจนเน้นการลงทุนจากต่างประเทศโดยให้เสรีการลงทุนกับนักธุรกิจต่างชาติ (เพราะก่อนหน้านี้เกาหลีแอนตี้คนนอกประเทศมาก ๆ)
หนึ่งในนโยบายที่ต้องทำให้สำเร็จคือการปฏิรูปธุรกิจแชบอลที่เป็นต้นเหตุของวิกฤตครั้งนี้ แชบอลดำเนินธุรกิจกระจุกตัวอยู่ไม่เพียงกี่ตระกูล อีกทั้งยังแอบสนับสนุนกันเองอย่างผิดกฎหมายด้วย รัฐบาลจึงพยายามลดขนาดองค์กร ยุบการดำเนินงานธุรกิจย่อยในเครือทิ้งไป รวมถึงลดสาขาการผลิตที่ซ้ำซ้อนกัน ที่สำคัญระงับการปล่อยกู้และกำหนดอัตราสินเชื่ออย่างเข้มงวด ถ้าแชบอลมีโครงสร้างธุรกิจที่เล็กลง จะลดภาระหนี้สิ้นได้มากขึ้น
โค้ชโรงเรียนเก่าฮีโดกล่าวว่า “ฉันไม่ได้พรากความฝันของเธอไป แต่เป็นยุคสมัยต่างหาก”
ขณะเดียวกันรัฐก็สนับสนุนตั้งธุรกิจ SMEs ใหม่เพื่อให้เจ้าของเดิมรวมตัวกันซื้อธุรกิจของตัวเองคืน และให้ SMEs กู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำแทน การปรับโครงสร้างธุรกิจ และลดขนาดองค์กรแชบอลนี้เอง ทำให้บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เคยสปอนเซอร์วงการกีฬาต้องหยุดชะงักไป บางรายก็ยกเลิกการสนับสนุนนักกีฬาไปโดยปริยาย เหมือนที่ยูริมเคยได้รับเงินสนับสนุนจากครอบครัวของอีจิน ส่วนนาฮีโดที่สังกัดชมรมฟันดาบไม่ได้ป๊อปปูล่าเท่าโรงเรียนแทยัง ก็ต้องถูกตัดงบ ยุบชมรมไปดื้อ ๆ
นอกจากนี้รัฐบาลยังริเริ่มโครงการ “ทองคำเพื่อชาติ” (금모으기 운동) รณรงค์ให้ภาคประชาชนบริจาคทองคำเพื่อเสริมทุนสำรองของทางการและชำระหนี้สินของประเทศ ซึ่งรวบรวมได้มากถึง 2.2 พันล้าน$ ในละคร EP.1 เราก็จะได้นักข่าวชินแจกยอง แม่ของนาฮีโดร่วมลงขันในครั้งนี้ด้วย
ชาวเกาหลีร่วมด้วยช่วยกันลงขันบริจาคทอง สังเกตว่าคุณป้าชุดชมพูที่อุ้มน้องมาด้วยนั้น กำลังสวม "โพแดกี" (포대기) ผ้าห่อเด็กที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเกาหลี พ่อแม่สามารถทำงานได้สะดวก โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าลูกน้อยจะมากวนใจ
ใน 25-21 อีจินแสนอบอุ่นก็เคยสาธิต วิธีการใช้โพแดกีให้กรรมการกีฬาฟันดาบค่ะ
อีกหนึ่งนโยบายของปธน.คิมแดจุงที่ต้องพูดถึงให้ได้คือการโปรโมทภาพลักษณ์ประเทศ ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ในยุคนี้อินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามามีบทบาท ทำให้เกิดโลกไร้พรมแดน หรือ Globalization) และวัฒนธรรมกระแสนิยม (Pop culture as soft power) วันที่คิมแดจุงก้าวเท้าเข้าทำเนียบรัฐบาล เขาไม่ได้แก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจเบื้องหน้าอย่างเดียว แต่ยังเดินเกมโทรหาบริษัทประชาสัมพันธ์ระดับโลกอย่าง Edelman ให้ออกข่าวว่า “เกาหลีจะเข้าร่วมตลาดโลกแล้วนะ”
คิมแดจุงพลิกคำว่า “วิกฤต” ให้เป็นโอกาส เน้นความเชื่อที่ว่าเกาหลีเก่งเรื่องการต่อกรกับวิกฤตมาโดยตลอด และครั้งนี้วิกฤตก็จะดึงศักยภาพของคนออกมา คิมให้นัก PR ส่งสารถึงนักลงทุนต่างชาติผ่านหนังสือที่บอกเล่า ปสก.ของคนเกาหลีที่เคยว่างงาน แล้วหันมาสร้างชีวิตใหม่ แรงโฆษณา PR ครั้งนี้ยังส่งเสริมให้คนหนุ่มสาวที่เดิมเป็นนักศึกษา หรือนักเรียนฝันอยากจะเป็นผู้ประกอบการอีกด้วย
ที่ผ่านมาเกาหลีใต้ไม่ได้ทุ่มเทให้กับเทคโนโลยีทางการทหารมากเท่าเกาหลีเหนือ เพราะติดสนธิสัญญาที่ทำกับสหรัฐในปี 1953 เกาหลีจึงไม่สามารถแข่งกับประเทศที่มีเทคโนโลยีชั้นนำได้ รัฐบาลเริ่มหันไปมอง “วัฒนธรรมกระแสนิยม” ก่อนหน้านั้นเกาหลีได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมจากสหรัฐอเมริกา ทั้งเสื้อผ้า ดนตรีร็อคแอนด์โรลล์ กีฬาเบสบอล หนัง Hollywood ตลอดจนเนื้อสแปม แฮมกระป๋อง
คิมแดจุงเริ่มสังเกต ตั้งคำถามกับรายได้ที่สหรัฐได้จากหนัง และรายได้ที่อังกฤษได้จากละครเวที ต่อมาจึงคิมตัดสินใจใช้โมเดลอุตสาหกรรมวัฒนธรรมของสองประเทศข้างต้น สร้างกระแสเกาหลี (Korean wave; 한류; 韓流) วิกฤต IMF ทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจเกาหลีพึ่งพาธุรกิจแชบอลมากเกินไป ถ้าแชบอลล้ม ประเทศก็ล้มตามไปด้วย ในขณะที่เพลงป๊อบ ละคร หนัง เกมไม่ต้องใช้สาธารณูปโภคเท่าธุรกิจภาคอุตสาหกรรมก็สร้างรายได้ที่มหศาลได้
กระทรวงวัฒนธรรมตั้งขึ้นครั้งแรกในปี 1998 ภายหลังในปี 2008 เปลี่ยนชื่อเป็น กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว
เมื่อเกาหลีใต้มองวัฒนธรรมเป็นหนทางในการสร้างรายได้ใหม่ รัฐบาลก็ตั้งกระทรวงวัฒนธรรมขึ้นมาเพื่อค้นคว้า พัฒนา และโปรโมทเทคโนโลยีด้านวัฒนธรรม ภายในกระทรวงมีแผนกคอนเทนต์ 3 แผนก คือ เกม ทีวี และนโยบายอุตสาหกรรมวัฒนธรรม ซึ่งมีการวางแผน 5 ปีเหมือนแผนพัฒนาเศรษฐกิจเลยค่ะ
แผนกคอนเทนต์ด้านวัฒนธรรม ในช่วงปลาย 90s สำนักงานคอนเทนต์มีงบประมาณอยู่ที่ 50 ล้าน$ ต่อในช่วงปี 2010 งบเพิ่มมาประมาณ 500 ล้าน$ ปัจจุบันจากที่ตามข่าวล่าสุดคาดว่าอยู่ที่ประมาณ 70,000 ล้าน$ หรือ 2,200,000 ล้าน฿
ภาพรวมเงินทุนในหน่วยงานวัฒนธรรม ผู้อำนวยการแผนกอุตสาหกรรมวัฒนธรรมช่วงปี 2010s รายงานว่า 20-30% มาจากรัฐบาล ส่วนที่เหลือมาจากบริษัทเอกชนอย่างค่ายเพลง และบรรษัทเพื่อการร่วมลงทุนแห่งชาติเกาหลี KVIC สถิติในปี 2012 รายงานว่าเกาหลีใต้มีรายได้จากสินค้าวัฒนธรรมถึง 5,000 พันล้าน$
ขอบคุณข่าวจาก Thai PBS https://youtu.be/bjTizc0up9I
ผู้อำนวยการแผนกฯ กล่าวย้ำว่าอนาคตของกระแสวัฒนธรรมเกาหลี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลเกาหลี แต่ขึ้นอยู่กับคนเกาหลี และภาคเอกชน ซอเลยอยากชวนบริษัทเอกชนภาคอุตสาหกรรมบันเทิงไทยเปลี่ยนมุมคิดดู บางครั้งเราไม่สามารถโทษ หรือโยนความผิดไปที่ภาครัฐฝ่ายเดียวว่าเขาไม่สนับสนุน แต่ Soft power ไทยน่าจะหันมาเริ่มจากตัวผู้ผลิต และเจ้าของสื่อเองด้วยอีกแรง
ในปี 2001 คิมแดจุงได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าเกาหลีใต้พ้นจากวิกฤตนี้แล้ว สามารถชำระหนี้สินที่ยืมมาภายใน 3 ปีก่อนถึงกำหนดชำระ
เกาหลีใต้ไม่เพียงแต่ใช้วิกฤตขับเคลื่อนประเทศให้ไปต่อ แต่ยังใช้ “การแข่งขันกีฬานานาชาติ” (โอลิมปิก หรือเอเชียนเกมส์) เป็นเวทีเสนอภาพลักษณ์เชิงบวกด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของตัวเองสู่สายตาชาวโลก ซอจะไม่ได้เจาะไปที่กีฬาฟันดาบ (fencing) กีฬาโปรด และ passion ของนาฮีโดนะคะ แต่จะชวนมองในภาพรวมว่าเกาหลีใช้เกมกีฬา และการเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับชาติพัฒนาประเทศอย่างไร
ภาพจาก 25-21 Ep.7 การแข่งกีฬาฟันดับ ระดับเอเชียนเกมส์
จุดเริ่มต้นของกีฬาในเกาหลีใต้ ต้องย้อนกลับไปสมัยยุค
ปธน.พัคจองฮี นักการเมืองทหารที่มองกีฬาเป็นจิตวิญญาณการต่อสู้ และการเข้าสังคม พัคจองฮีนำกีฬามาใช้ในวัตถุประสงค์สร้างอัตลักษณ์ และความภาคภูมิใจของคนในชาติ ในช่วงทศวรรษ 70 รัฐบาลผลักดันกฎหมายสนับสนุนกีฬาแห่งชาติ มีสโลแกนว่า “Physical fitness is national power.” สร้างศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ เพิ่มระบบเงินบำนาญให้อดีตนักกีฬาทีมชาติ และสนับสนุนการตั้งหมู่บ้านนักกีฬา
ในละครเราจะได้เห็นว่านาฮีโด และโกยูริมใช้หมู่บ้านนักกีฬาเป็นสถานที่เก็บตัวและฝึกซ้อมก่อนลงแข่งทีมชาติ ถัดมาในช่วงทศวรรษ 70 รัฐบาลเร่งพัฒนากีฬาในระดับโรงเรียน จัดทีมกีฬาแต่ละสถาบัน และตั้งสภากีฬาแห่งชาติ
เกาหลีใต้เคยขอเป็นเจ้าภาพจัดงานกีฬาเอเชียนเกมส์ในปี 1970 แต่สุดท้ายฝันก็ต้องสลาย เพราะการเมืองกำลังคุกรุ่นกับเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้เสนอตัวขอเป็นเจ้าภาพจัดงานอีกครั้ง จนในที่สุด กรุงโซลถูกเสนอชื่อเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกในปี 1988 ภายใต้สโลแกน “From Seoul to the World and from the World to Seoul” รัฐบาลเกาหลีในยุคของช็อน-ดูฮวานได้อาศัยการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งนี้ ลบภาพลักษณ์ที่ทั่วโลกมองเกาหลีเป็นดินแดนสงคราม และฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศคู่ขัดแย้งอย่างกลุ่มคอมมิวนิสต์
ต้องเม้าเพิ่มนิดนึงว่าในช่วงสงครามเย็น ความเห็นต่างทางการเมืองส่งผลต่อวงการกีฬามากค่ะ ถ้าประเทศประชาธิปไตยเป็นเจ้าภาพ ประเทศคอมมิวนิสต์ก็จะไม่ส่งนักกีฬามาแข่ง ส่วนถ้าประเทศคอมฯ เป็นเจ้าภาพ ประเทศปชธ. ก็พร้อมเทเช่นกัน ท้ายที่สุดเกาหลีใต้สามารถดีลกับโซเวียตและจีนให้ส่งนักกีฬาร่วมงาน ยกเว้นเกาหลีเหนือ ทำให้เกาหลีได้เข้าไปลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และการก่อสร้างในโซเวียต และได้ส่งออกสินค้าไปจีนมากขึ้นกว่าเดิม
บรรยากาศงานโอลิมปีในปี 1988 จัดขึ้นที่กรุงโซล จากละครเรื่อง Reply 1988 (2015-2016)
หลังงานโอลิมปิกในปี 1988 เกาหลีใต้รุดหน้าวงการกีฬาต่อด้วยการเสนอขอเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลโลก (FIFA) ในปี 2002 แต่ครั้งนี้ไม่ง่ายเลยเพราะมีญี่ปุ่น กับเม็กซิโกเป็นคู่แข่ง สุดท้ายสมาคมฟุตบอลตัดเม็กซิโกไป เกาหลีหวังจะได้รับเลือก เพราะคู่แข่งครั้งนี้คือญี่ปุ่นซึ่งเป็นคู่อริในหน้าประวัติศาสตร์ แต่สมาคมฯ ดันมารักพี่เสียดายน้อง จากการที่ทั้งเกาและญี่ต่างมีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน ในเมื่อเลือกไม่ได้ก็เลยให้ทั้งคู่เป็นเจ้าภาพร่วมแทน ในระหว่างการแข่งขัน
นอกจากเกาและญี่จะทะเลาะตบตีเรื่องการตั้งชื่องานแล้ว นักแข่งเริ่มหงุดหงิดต้องบินไปบินกลับ เพราะบางนัดจัดที่ญี่ปุ่น บางนัดจัดที่เกาหลี ภายหลังในปี 2004สมาคม FIFA เลยออกกฎไม่ให้หลายประเทศเป็นเจ้าภาพร่วมกัน
ชื่องานเถียงกันแทบตายว่าจะเอา Korea หรือ Japan ขึ้นก่อนดี สุดท้ายเกาหลีก็ชนะไปจ้า
การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี2002 เกาหลีหวังจะใช้ประเทศตัวเองเป็นโชว์รูมเผยแพร่สินค้าอุตสาหกรรมและอิเล็กทรอนิกซ์ (ซัมซุงและแอลจี) รวมถึงแสดงศักยภาพว่าประเทศพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเครือข่าย 3G ความเร็วสูง ที่สำคัญยังต้องการส่งเสียงไปยังประชาคมโลกว่าเกาหลีใต้กลับมาเป็นหนึ่งในประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ หลังวิกฤต IMF ในปี 1997
หลังจากนั้นเกาหลีก็ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาเอเชียนเกมส์ที่ปูซานในปี 2002 และ
เอเชียนเกมส์ที่อินชอนในปี 2014 ตามลำดับ ซึ่งในปี 2014 เกาหลียังคงใช้เวทีเจ้าภาพแข่งกีฬาเผยแพร่สินค้าประเภทวัฒนธรรมสมัยนิยม หรือ soft power ให้ทั่วโลกรู้จักมากขึ้น
มองค่านิยมที่ฝังรากลึกในสังคมเกาหลี: ร่องรอยความคิดจากสมัยโชซอน
ปัญหาปวดตับที่แฟนละคร 25-21 พบเหมือนกันคือใครเป็นพ่อของคิมมินแช ใช่มั้ยคะ? จนถึงวันนี้ละครเดินทางมาถึง EP15 แล้ว หลายคนก็ยังเดา ทายกันจนเป็นเสน่ห์ของเรื่องไปเลย...แอนนี่เวย์หยุดสงสัยเรื่องใครคือพ่อที่แท้จริงกันสักครู่ แล้วมาถกกันดีกว่าว่าทำไมลูกสาวถึงต้องใช้นามสกุลพ่อ และภรรยาถึงไปใช้นามสกุลสามีไม่ได้?
ชีวิตสตรีที่แสวงหาความเท่าเทียม: สิทธิ์ที่ถูกจำกัด แม้แต่นามสกุลของ “สามี” ก็ห้ามเปลี่ยนตาม
หลักปฏิบัติ 3 ประการ / พันธะ 3 ประการ (삼강)
ชีวิตของคนเกาหลีตั้งแต่เกิด เติบโต แต่งงาน จนกระทั่งตายล้วนผูกพันกับคำสอนขงจื๊อของจีน หัวใจหลักที่ถือเป็นคตินิยมมาตั้งแต่สมัยโชซอน ธรรมเนียมที่คนเกาหลีเคร่งครัด ต้องปฏิบัติตามคือ “ซัมกัง-โอ-รยุน (삼강오륜; 三綱五倫)” หรือ หลักปฏิบัติ 3 ประการ และจริยธรรม 5 ประการ (คล้ายกับหลักธรรม ทิศ 6 ในศาสนาพุทธ) เพื่อรักษาความเรียบร้อยในสังคมให้เป็นระเบียบ หลักปฏิบัติ 3 ข้อ ประกอบไปด้วย
  • 1.
    ข้าราชการต้องภักดีต่อกษัตริย์
  • 2.
    ภรรยาต้องดูแลสามี
  • 3.
    ลูกชายต้องเลี้ยงดูพ่อ
จริยธรรม 5 ประการ / ความสัมพันธ์ 5 แบบ (오륜)
ส่วนจริยธรรม 5 ข้อนั้น ระบุถึงความสัมพันธ์ของคนในสังคมไว้ดังนี้
  • 1.
    กษัตริย์กับข้าราชบริพารพึงต้องมีคุณธรรมต่อกัน (กษัตริย์ให้เกียรติข้าราชบริพาร และข้าราชบริพารจงรักภักดีต่อกษัตริย์)
  • 2.
    พ่อกับลูกๆพึงต้องใกล้ชิด สนิทสนมกัน (พ่อต้องเลี้ยงดูลูก ลูกต้องกตัญญูต่อพ่อ)
  • 3.
    สามีภรรยาพึงต้องมีการแบ่งแยก (ทำหน้าที่ของตัวเองให้เหมาะสม)
  • 4.
    ผู้อาวุโสและผู้น้อยพึงต้องมีลำดับ (ทั้งคู่ต่างต้องเคารพซึ่งกันและกัน)
  • 5.
    สหายต่างต้องเชื่อใจ ไว้ใจซึ่งกันและกัน
นอกจากธรรมเนียมข้างต้นที่สังคมโชซอนเคร่งครัดแล้ว ยังมี “กฎการสร้างเผ่าพันธุ์” (종법; 宗法) ซึ่งกำหนดให้บุตรชายที่เกิดจากภรรยาที่สมรสคนแรกเป็นผู้สืบทอดวงศ์ตระกูล และ “กฎการแบ่งแยกในสังคม”(내외; 內外) ซึ่งพูดถึงการแบ่งแยกเพศชาย-หญิง (นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่เกาหลีไม่ยอมรับกลุ่ม LGBTQIA++ ค่ะ) ลูกชาย-ลูกสาว ลูกที่เกิดจากภรรยาคนแรก-ภรรยาคนต่อมา การแบ่งแยกนี้นำไปสู่ระบบชายเป็นใหญ่ หรือสังคมปิตาธิปไตย (가부장제; 家父長制 ) ในเวลาต่อมา
เมื่อพิจารณากฎและธรรมเนียมดังกล่าว จะทำให้เราเห็นภาพของสังคมเกาหลีชัดขึ้นว่า พ่อและสามีที่เป็นผู้ชายคือบุคคลสำคัญในสังคม เปรียบเสมือนผืนฟ้า ส่วนภรรยาและแม่ที่เป็นผู้หญิง เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา เปรียบเสมือนผืนดิน ชีวิตของผู้หญิงในยุคโชซอนจะไม่ได้รับอิสระ เป็นเหมือนสมบัติของสามีที่เป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องเชื่อฟังเคารพสามี ถ้ามีลูกชายก็ต้องเชื่อฟังลูกชายด้วย
ภาพแทนผู้หญิงในยุคโครยอ จากละคร Moon Lover (2016)
ถ้าใครได้ดูละครเรื่อง Moon Lovers: Scarlet Heart Ryeo (2016) ซึ่งเล่าสภาพสังคมในสมัยโครยอ (ปี 918-1392) จะพบว่าองค์หญิงยอน-ฮวามีสิทธิ์ทำพิธีไหว้บรรพบุรุษ จัดการกิจภายในวัง รวมถึงมีสิทธิ์เท่าเทียมในการสืบทอด รับมรดก ขึ้นเป็นหัวหน้าตระกูลได้เหมือนองค์ชาย ทั้งนี้ก็เพราะในยุคโครยอยึดพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำอาณาจักร และมีระบบสืบทอดสองฝ่าย (양계제; 兩系制) ไม่ได้ให้สำคัญแค่ฝั่งพ่อฝั่งเดียว แต่มีสัมพันธ์กับญาติฝั่งแม่ด้วย เมื่อผู้ชายแต่งงานก็ต้องอยู่บ้านภรรยาก่อน ช่วยครอบครัวภรรยาปลูกพืช ทำสวน
ในขณะที่สมัยโชซอน (ปี 1392-1897) พุทธศาสนาเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โครยอล่มสลาย อี ซ็อง-กเย หรือพระเจ้าแทโจ ปฐมกษัตริย์ของโชซอน จึงเลือกรับแนวคิดขงจื๊อมาเป็นหลักปฏิบัติในอาณาจักรแทน (ยุคโชซอน เกาหลีไม่มีศาสนาแล้วนะคะ) ระบบสืบทอดเลยเปลี่ยนมาเน้นที่ฝั่งพ่อเป็นสำคัญ (부계제; 父系制) ตามกฎการสร้างเผ่าพันธุ์ ดังนั้นสายเลือดในตระกูลไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงล้วนต้องใช้นามสกุลของพ่อ (성씨; 姓氏) นี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไม หนูมินแช จึงต้องใช้นามสกุล“คิม” ของชายปริศนา แทนที่จะใช้สกุล “นา” ของแม่
ภาพยนตร์ คิมจียอง เกิดปี 1982 (2019) ดัดแปลงจากนิยาย million seller ชื่อเรื่องเดียวกัน ของนักเขียน โชนัมจู รับชมซับไทย ถูกลิขสิทธิ์ ได้ทาง VIU และ Netflix
นอกจากนี้เมื่อลูกสาวในตระกูลถึงคราวออกเรือน ผู้หญิงจะเป็นฝ่ายแต่งเข้าครอบครัวสามีไป บทบาทหลังแต่งงานผู้หญิงต้องเป็นภรรยาและแม่ที่ดี ต้องทำหน้าที่ดูแลพ่อแม่ของสามีให้ดีกว่าพ่อแม่ของตัวเอง มีครอบครัวสามีเป็นศูนย์กลางของชีวิต (เทศกาลชูช็อก หรือวันไหว้พระจันทร์ของเกาหลี ผู้หญิงยังต้องเลือกไปเยี่ยมบ้านพ่อแม่สามี แทนที่จะได้ไปเยี่ยมพ่อแม่ของตัวเอง) แนะนำให้ดูหนังเรื่อง Kim Ji-young: Born 1982 (2019) เลยค่ะจะเข้าใจชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกธรรมเนียมขงจื๊อกดทับจนขาดอิสระในการใช้ชีวิต 😢
1
ส่วนอีกคำถามที่หลายคนสงสัยคือทำไมผู้หญิงเกาหลีส่วนใหญ่แต่งงานไปแล้ว ถึงอุตริเปลี่ยนไปใช้นามสกุลสามีไม่ได้ คำตอบก็คือ สังคมเกาหลีให้ความสำคัญกับ “พ่อ” ในฐานะหัวหน้าครอบครัว และผู้สืบทอดตระกูล ลูกสาวที่เกิดมาในตระกูล แม้แต่งงานออกเรือนไปเป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัวสามี แต่ยังคงต้องใช้นามสกุลเดิมของพ่อ เพื่อแสดงความเคารพสายเลือดฝั่งบรรพบุรุษ นามสกุลที่สืบเชื้อสายจากพ่อจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เกิดจนตาย
ตัวอย่างเอกสารโฮจ๊อก (호적) หรือบันทึกรายชื่อคนในตระกูล
ทั้งนี้ก็เพราะเกาหลีมีสมุดบันทึกตระกูลหรือ เรียกว่า “โฮจ๊อก” (호적; 戶籍) อยู่ สมาชิกในตระกูลที่เกิดจากภรรยาที่แต่งงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกคน ไม่ว่าจะเพศอะไร หากเป็นคนเกาหลีแท้ (ไม่ใช่ลูกครึ่ง) จะถูกบันทึกชื่อลงในโฮจ๊อก เพื่อระบุตัวตน การเป็นพลเมืองเกาหลี ในกรณีที่คุณเป็นลูกนอกสมรส หรือลูกครึ่ง ก็จะหมดสิทธิ์มีชื่อในโฮจ๊อก ถูกมองเป็นคนชายขอบ หางานทำยาก ที่สำคัญไม่มีสิทธิ์รับมรดกอีกด้วย
จางกึนซู ใน Itaewon Class (2020) รับบทโดย คิมดงฮี
โทนี่ ใน Itaewon Class (2020) รับบทโดย Chris Lyon
แฟนๆละคร Itaewon Class (2020) น่าจะจำได้ว่าชาง-กึนซู ที่แอบรักอีซอนั้นเป็นลูกเมียน้อยที่ไม่ได้รับการจดทะเบียนให้ถูกต้อง จึงหมดสิทธิ์ที่จะขึ้นเป็นผู้นำของบริษัทชางกาได้ เช่นเดียวกับ คิมโทนี่ ลูกครึ่งเกาหลี-กีนี ที่ต้องตระเวนหางาน ถูกคนเกาหลีดูถูกสารพัด ถึงขนาดโดนไล่ออกจากผับ
ในปี 2005 เกาหลีก็เริ่มแก้ เปลี่ยนธรรมเนียมโฮจ๊อกตามออสเตรเลียที่ให้สิทธิ์ และศักดิ์ศรีความเป็นคนอย่างเท่าเทียมกัน (ออสเตรเลียเคยมีกฎหมายคล้าย ๆ ธรรมเนียมโฮจ๊อก) ซึ่งเกาหลีแก้ไขกฎหมายเสร็จ และประกาศบังคับใช้พ.ร.บ. จดทะเบียนความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ฉบับใหม่ในปี 2008 อย่างไรก็ตาม ความคิด ค่านิยมของคนเกาหลีบางกลุ่มที่เป็นรุ่น baby boomer หรือ early gen x ก็ยังยึดติดธรรมเนียมโฮจ๊อกอยู่ ทำให้เรายังเห็นการเหยียดลูกนอกสมรส หรือลูกครึ่งในสังคมปัจจุบัน
ระบบผู้อาวุโส (seniority) : ผู้น้อยที่ยอมก้มหัวให้ผู้ใหญ่อย่างเลี่ยงไม่ได้
ประเด็นสุดท้ายที่จะชวนเม้าในblog นี้ คือระบบผู้อาวุโสในสังคมเกาหลีค่ะ คนที่รับชม 25-21 ไปถึงประมาณกลางเรื่องจะเห็นว่าทำไม จี-ซึงวาน ถึงแสดงท่าที อ่อนน้อม ถ่อมตัวทันทีเมื่อรู้ว่าอีจีน เป็นรุ่นพี่ชมรมกระจายเสียงของโรงเรียนแทยัง รวมถึงมุน-จีอุงที่ตอนแรกดูหมั่น ๆ พระเอกของเรา แต่พออีจีนร้องเพลงประจำชมรมเจ้าชายแห่งผืนป่า มุน-จีอุงก็กลายเป็นหมาน้อย เชื่อง ๆ ยอมทำตามที่อีจีนขอทุกอย่างเลย
หรือฉากที่จิ๊ด เจ็บใจคนดูคงต้องยกให้สถานการณ์ที่สถานี UBS พระเอกอีจินของเรา มีปากเสียงกับรุ่นพี่โปรดิวเซอร์ ทั้ง ๆ ที่โปรดิวเซอร์เป็นฝ่ายผิด แต่สุดท้ายอีจีนต้องเลือกไปขอโทษเขาก่อน เหตุการณ์ข้างต้นนี้อธิบายได้จากหนึ่งในจริยธรรม 5 ข้อที่กล่าวไว้ว่า “ผู้อาวุโสและผู้น้อยต่างต้องเคารพซึ่งกันและกัน”
ดังนั้นสังคมเกาหลีที่ให้ความสำคัญเคร่งระบบผู้อาวุโสมาก ๆ จึงมองว่าการถามอายุอีกฝ่ายไม่ใช่เรื่องหยาบคาย แต่อายุจะบ่งบอกให้แต่ละฝ่ายปฏิบัติตัวตามสถานะให้ถูกต้อง ขงจื๊อสอนให้ทุกคนรู้สถานะของตัวเองในสังคม ผู้น้อยต้องเคารพผู้อาวุโส…นี่คือกฎพื้นฐาน
ระบบผู้อาวุโสมีให้เห็นตั้งแต่ในในโรงเรียน มหาวิทยาลัย จนถึงที่ทำงาน แฟน ๆ ละครเกาหลีคงเคยได้ยินคำว่า “ซอน-เบ” (선배; 先輩) หมายถึง รุ่นพี่ หรือ “ซอน-เบ-นิม” (เติม “นิม” ท้ายคำเพื่อยกย่อง) จากปากตัวละครที่อ่อนกว่าคู่สนทนากันบ่อย ๆ ในขณะที่รุ่นน้อง ภาษาเกาหลีใช้คำว่า “ฮู-เบ” (후배; 後輩) แต่ในทางปฏิบัติ รุ่นพี่จะไม่เรียกรุ่นน้องว่าฮูเบค่ะ แต่จะเรียกเป็นสรรพนาม หรือชื่ออีกฝ่ายแทนมากกว่า
ซออยากชวนให้นักอ่านทุกคนมองว่า ค่านิยมที่ฝังรากมาจากยุคสมัยโชซอน (รวมถึงประเทศอื่น ๆ ในเอเชียที่รับอิทธิพลแนวคิดมาจากจีน) แม้จะมีข้อดีทำให้สังคมเรียบร้อย สมาชิกไม่เกิดความสับสน วุ่นวาย แต่ในอีกแง่หนึ่ง โลกและยุคสมัยกำลังก้าวไปข้างหน้า ค่านิยมเหล่านี้กลับฉุดรั้ง ให้คนในสังคมไม่เท่าเทียมกันทั้งในแง่ของเพศสภาพและบทบาทในชีวิตประจำวัน
รับชมละครเรื่อง Twenty Five Twenty One ซับไทย แบบถูกลิขสิทธิ์ได้ทาง Netflix
นักเล่าซอขอจบ Blog แหกกฎสปอยล์ ชวนเม้ามอยสไตล์เกาไว้เท่านี้ EPถัดไปจะพยายามซอยแบ่งตอนมากขึ้น ไม่ทำให้ผู้อ่านทรมาน ใช้เวลาอ่านนานแล้วค่ะ 🙏🏻 อยากโพสให้ถี่กว่านี้ แต่ไม่ค่อยมีเวลาเขียนเลยค่ะ มาเขียนทั้งทีก็เล่นท่ายาก เลือกประเด็นที่ต้องศึกษาลงลึก ถ้าผู้อ่านมีฟีดแบค รู้สึกว่าสาระทางวัฒนธรรมหนักไป อยากให้เม้าเรื่องข้อคิด หรือวิเคราะห์เส้นเรื่องความรักก็คอมเมนต์บอกกันได้นะคะ จะพยายามบาลานซ์ให้ดีกว่านี้ค่ะ
แล้วพบกันใหม่ใน Ep.5 นะคะ หลายๆ คนกลัวว่า 25-21 จะจบเศร้า น้ำตาแตก จนต้องไปเผาช่อง TVN แต่ซอคิดว่านักเขียนบทคงไม่ใจร้ายเกินไป เพราะโทนของเรื่องที่ผ่านมาค่อนข้างฟีลกู๊ด ให้กำลังใจวัยรุ่น และคนรุ่นใหม่ในยุคโควิด-19 ที่อาจประสบปัญหาเช่นเดียวกับอดีตวัยรุ่นที่เกิดช่วง 80s (ละครเกาหลีน้อยเรื่องมาก ๆ ที่จะเลือกเล่า และพูดถึงสถานการณ์โควิด-19 ตรง ๆ)
วันนี้ซอขอลาไปด้วยเพลง Resolver (해결사) ของวง "ชิน-ฮวา" บอยแบรนด์ที่เดบิวต์ในปี 1998 เพลงนี้...โค้ชยางชานมี มอบหมายให้ฮีโดไปฝึกเต้น เพื่อปรับใช้กับการฟันดาบ จังหวะของเพลงไม่ได้แค่ชวนเต้นอย่างเดียว แต่ความหมายของเนื้อร้องยังส่งใจเชียร์วัยรุ่นที่ล้ม ให้ลุกขึ้นมาสู้ใหม่อีกครั้ง...อย่ายอมแพ้ ✌🏻
2022년 4월 2일 - 서지혜 쓴 글.
Bonus as an Epilogue
Focus facts through drama
โกจองซุน นักกีฬาฟันดาบหญิง ประเภทแข่งเดี่ยว épée ได้รับเหรียญทอง ในงาน the 1998 Asian Games
📍ในเรื่อง 25-21 Ep.6 การแข่งขันเอเชียนเกมส์ปี 1999 ที่คยองจูเกาหลีใต้ นาฮีโด โกยูริม นักกีฬาเกาหลีต้องมาแข่งกันเองนั้นเป็นเรื่องสมมติในละครค่ะ ถ้าเทียบกับไทม์ไลน์จริงแล้ว การแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งนี้เกิดขึ้นในปี 1998 จัดที่กรุงเทพฯ ค่ะ โดยนักกีฬาฟันดาบหญิง ชาวเกาหลีใต้ที่คว้าเหรียญทองไปได้นั้นมีตัวตนอยู่จริง ชื่อว่า "โก-จอง-ซุน" ในขณะนั้นเธอมีอายุ 28 ปี (นับแบบเกาหลี) และในปี 2009 เธอเป็นโค้ชอาชีพ รับเทรนด์นักกีฬาฟันดาบรุ่นเยาวชนค่ะ
ชินอารัม นักกีฬาฟันดาบหญิง ประเภทแข่งเดี่ยว épée ในงาน the 2012 Summer Olympics
📍ใน Ep.7 มีนักกีฬาหญิงคนหนึ่งทักท้วงผลการตัดสินว่ามีกรรมการตัดสินผิด (กีฬาฟันดาบ เวลานับแต้ม นักกีฬาต้องแกว่งดาบไปถึงตัวอีกฝ่ายให้เร็วกว่าอีกฝ่าย จึงยากที่จะตัดสินในบางครั้ง) เหตุการณ์ในละครนี้ ชาวเน็ตเกาหลีสันนิษฐานว่าน่าจะได้ไอเดียมาจากการแข่งกีฬาโอลิมปิกที่ลอนดอนในปี 2012 ค่ะ ชิน-อารัม นักกีฬาฟันดาบหญิง ชาวเกาหลี อายุ 27 (นับแบบเกาหลี) ปี ได้ปะทะนักกีฬาหญิงชาวเยอรมันในรอบรองชนะเลิศ เสมอแต้ม 5-5 มีการต่อเวลาการแข่งขัน เพื่อหาผู้ชนะ
📍ชินอารัมพยายามสะกัดคู่แข่งถึงสามครั้ง แต่ครั้งที่ 4 เธอก็พลาดท่า ทำให้ถูกตัดสินแพ้ คิมแจซอง โค้ชของเธอคัดค้านการตัดสิน ไปขอดูวิดีโอที่บันทึกไว้ (แต่ในละครปี 1999 ยังไม่มีการบันทึก) เพื่อเช็คว่าใครทำแต้มได้ ผลสุดท้าย...คำตัดสินไม่เปลี่ยนแปลง นักกีฬาหญิงชาวเยอรมันเป็นฝ่ายชนะ
Fun Facts about Korean
📍คนเกาหลีมีวัฒนธรรมการเรียกคู่สนทนา หรือ “โฮ-ชิ่ง” อยู่ค่ะ (호칭; 呼稱) ในชีวิตจริงหรือในละครเราจะเห็นคนไปซื้อข้าวตามร้านอาหาร เรียกป้าเจ้าของร้านว่า “อา-จู-มอ-นี”(아주머니) หรือที่คนไทยเรียกว่าอาจุมม่า ถ้าเป็นเถ้าแก่ผู้ชาย ก็จะเรียกว่า “ซา-จัง-นิม”(사장님)
📍ผู้หญิงเรียกพี่ชายว่า “โอ-ป้า”(오빠) ส่วนน้องชายเรียกพี่สาวว่า “นู-น่า”(누나) และน้องชายเรียกพี่ชายว่า "ฮยอง"(형) ทั้งหมดนี้คือโฮชิ่งหมดเลยค่ะ
📍ใน 25-21 สังเกตกันมั้ยคะว่าเราไม่รู้ชื่อตัวละครพ่อแม่ของบางคนเลย เพื่อนบ้านเรียกแม่ของยูริมว่า “ยูริม-ออมม่า” (유림 엄마) ครูที่โรงเรียนเรียกแม่ของซึงวานว่า “ซึงวาน-ออ-มอ-นี”(승완 어머니) เพราะคนเกาหลีมักจะเรียกคนที่มีลูกแล้ว ด้วยชื่อลูกของคนนั้นแล้วตามด้วยสถานะในครอบครัวค่ะ
📍ในEp.1 ถ้าใครจำได้ตอนที่อีจินมาขอเช่าบ้านแม่ของซึงวาน แล้วถูกแม่ซึงวานซักไซ้ประวัติ จนรู้ว่าอีจีนเป็นคุณหนูที่บ้านล้มละลาย จึงพูดขึ้นว่า “ฉันเกือบจะไม่ปล่อยให้เช่าแล้วเชียว นึกว่าเป็นพวกไฮโซนิสัยเสีย” ไฮโซนิสัยเสียนี้เป็นศัพท์บัญญัติในยุค 90s ค่ะ ภาษาเกาหลีใช้คำว่า “ครอบครัวส้ม” หรือ โอ-เรน-จี-จก (오렌지족) มาจากคำว่า orange ที่แปลว่าส้ม (ผลไม้) ในภาษาอังกฤษ กับคำว่า “คา-จก” (가족; 家族)ที่แปลว่าครอบครัว
📍ครอบครัวส้มใช้เรียกลูกหลานตระกูลแชบอล หรือคนรวยในย่านกังนัม หรืออัพกูจอง (เกิดในยุค80s ปจบ.เป็นคนรุ่น Gen X) เพราะลูกคุณหนูส่วนใหญ่ถูกพ่อแม่ส่งไปเรียนต่างประเทศ แล้วรับวัฒนธรรมตะวันตกกลับมา ชอบใช้ของแบรนด์เนม ดื่มไวน์แพง ๆ ขับรถยนต์นำเข้า เหมือนที่อีจีนขับรถหรูไปอัพกูจอง แล้วมีสาวส่งมือถือมาให้
📍วัยรุ่นคุณหนูพวกนี้มักรวมตัวกันเที่ยวกลางคืน ชอบสร้างปัญหาวิวาท พอมีการเรียกสอบสวนจากตำรวจ พ่อแม่ก็ใช้เงินจัดการ ปฏิเสธความผิด ส่วนสาเหตุที่ใช้ "ส้ม" แทนภาพลักษณ์วัยรุ่นคุณหนูนั้นเพราะในยุคก่อน ส้มเป็นผลไม้ที่หายาก และราคาแพง ต้องนำเข้าจากต่างประเทศค่ะ จริง ๆ คนเกาหลีก็มีส้มที่ปลูกได้ในประเทศ และดังที่เกาะเชจูนะคะ แต่เป็นส้มผลเล็ก ๆ หรือส้มแมนดาริน เรียกว่า "กยู" 귤; 橘) ค่ะ
References
Special Thank to my friend 'Pakkard' ❤️ สาวไฟแนนซ์จาก Citi Bank ที่ช่วยอธิบายศัพท์ในวิกฤตการเงินให้ง่ายเหมือนใช้วุ้นแปลภาษา 👍🏻
ภาษาไทย
  • รู้จริงเศรษฐกิจไทย. (2560). วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เกิดขึ้นได้อย่างไร. [Youtube]. https://youtu.be/vMfD8gq7aSc
  • อภิเชษฐ กาญจนดิฐ (2560). การเป็นเจ้าภาพกีฬานานาชาติของเกาหลีใต้: นัยพินิจทางการเมือง เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ค.ศ. 1970-2014). Thai Journal of East Asian Studies, 21(1), 21-47.
  • อเนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ (2543). ภาวะผู้นำกับการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของเกาหลีใต้. วารสารสังคมศาสตร์, 31(1), 87-108
  • Euny Hong. (2560). กำเนิดกระแสเกาหลี. (วิลาส วศินสังวร, แปล). โอ เอส พริ้นติ้ง.
  • Hyun Ah Moon. (2560.) การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจเกาหลี และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัวเกาหลี. (พรรนิภา ซอง, แปล). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • Ki Soo Eun (2559). ค่านิยมของชาวเกาหลีใต้. (พรรนิภา ซอง, แปล). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • NATSUO (2559). [เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย Moon Lovers] สังคมวัฒนธรรมในสมัยโครยอ และคู่ครองของเหล่าองค์ชายตามประวัติศาสตร์ค่ะ. https://pantip.com/topic/35643067
  • Voice Online. (2563). ย้อนรอย วิกฤตต้มยำกุ้ง ตอน 1-3. [Youtube]. https://youtu.be/N8ZpqPn8k4s
ภาษาอังกฤษ
  • The Association of Korean History Teachers. (2010). A Korean History for International Readers. Translated by Michelle Seo, Humanist.
ภาษาเกาหลี
  • 나무위키. [n.d.] 오렌지족. https://bit.ly/3xe5IWv
  • 애옹신. (2022). [드라마] 스물다섯 스물하나 나희도 고유림이 출전하는 펜싱 99년 아시안 게임 금메달 실제 주인공은?. [Blog Naver]. https://bit.ly/35zzmdg
  • 애옹신. (2022). [드라마] 스물다섯 스물하나 나희도 고유림 펜싱 시비 런던 올림픽 신아람 선수는?. [Blog Naver]. https://bit.ly/3K2cGBn
  • 한국민족문화대백과사전. [n.d.]. 호적. https://bit.ly/3iVBP4D
โฆษณา