12 เม.ย. 2022 เวลา 11:10 • ประวัติศาสตร์
“บิสมาร์ค (Bismarck)” มหาศึกการทูตแห่งยุโรป
ทฤษฎีเกม (Game Theory) คือ รูปแบบการตัดสินใจที่เกิดขึ้นของผู้เล่นหลายฝ่าย ซึ่งกำหนดผลประโยชน์ที่จะได้รับในแต่ละทางเลือก ภายใต้เงื่อนไขหรือกฎบางอย่าง โดยรูปแบบการตัดสินใจนั้น ผู้เล่นต้องได้รับผลประโยชน์ให้มากที่สุด และเสียผลประโยชน์ให้น้อยที่สุด...
1
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โลกได้เข้าสู่จุดที่การตัดสินใจในแต่ละทางเลือก จะส่งผลต่อการเกิดสันติภาพอันยั่งยืนหรือความขัดแย้งอันรุนแรง...
ภาวะความตึงเครียดเหล่านี้ได้เกิดขึ้นจากกระแสชาตินิยม การล่าอาณานิคม และการเกิดมหาอำนาจใหม่อย่างจักรวรรดิเยอรมัน...
ทำให้การทูตเป็นรูปแบบการตัดสินใจที่เหล่ามหาอำนาจเลือกใช้เดินเกมในสภาวะเหล่านี้...
ทุกท่านครับ และนี่คือเรื่องราวต่อเนื่องจากการรวมชาติเยอรมันภายใต้ชายที่ชื่อว่า "ออตโต ฟอน บิสมาร์ค (Otto Von Bismarck)"
กลวิธีทางการทูตของบิสมาร์ค ที่นำไปสู่การเกิดจักรวรรดิเยอรมัน ได้สร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ให้แก่เหล่ามหาอำนาจในยุโรป...
เหล่ามหาอำนาจนั้นได้กลายมาเป็นผู้เล่นในเกมที่ต้องเลือกรูปแบบการตัดสินใจอย่างละเอียดรอบคอบ...
สันนิบาตสามจักรพรรดิ...
สนธิสัญญาลับ...
การสร้างระบบพันธมิตร...
ความหวาดกลัวของบิสมาร์ค...
การลอบสังหาร...
รูปแบบการตัดสินใจเหล่านี้อยู่ภายใต้เกมแห่งอำนาจที่จะเป็นตัวชี้ชะตาของโลกทั้งใบ...
และนี่ คือเรื่องราว "มหาศึกการทูตแห่งยุโรป"
โปรดนั่งลงเถิดครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง...
หลังจากที่บิสมาร์คได้รวมชาติเยอรมันเป็นหนึ่งเดียวภายใต้จักรวรรดิเยอรมันได้สำเร็จจากการทำสงครามสุดท้ายกับฝรั่งเศส ซึ่งทำให้ฝรั่งเศสจากที่เป็นมหาอำนาจนั้น เริ่มถูกแทนที่โดยจักรวรรดิเยอรมัน
1
คราวนี้ หลังจากเรื่องภายนอกได้ซาลง บิสมาร์คก็มาจัดการเรื่องภายในของประเทศที่เกิดขึ้นใหม่ โดยการเน้นพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก มีการวางโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศทั้งรถไฟ ไปรษณีย์ และโทรเลข เพื่อรองรับแผนการสร้างฐานอุตสาหกรรมในอนาคต
1
ซึ่งตัวของบิสมาร์คก็เริ่มเน้นให้ประเทศเข้าสู่อุตสาหกรรมอย่างช้าๆ โดยการซัพพอร์ตกรรมกรแบบเต็มที่ ทั้งการให้หยุดงานทุกวันอาทิตย์ ห้ามใช้แรงงานผู้หญิงและเด็ก รวมถึงการให้บำนาญกับกรรมกร
1
หลังจากเรื่องภายในเริ่มเข้าที่เข้าทาง บิสมาร์คก็ได้เริ่มมองเรื่องภายนอก โดยคิดว่า "เยอรมันที่เพิ่งเกิดใหม่ ย่อมต้องใช้เวลาในการเติบโต" จึงมีการเดินหมากการทูตกันเอาไว้ อย่างการติดต่อและทำสัญญาไม่รุกรานกันกับประเทศต่างๆ ในยุโรป
3
โดยบิสมาร์คได้เล็งไปที่มหาอำนาจอย่างรัสเซีย รวมถึงอดีตคู่แข่งอย่างออสเตรีย (ตอนนี้คือออสเตรีย - ฮังการี) ซึ่งได้มีการประชุมกันของกษัตริย์ทั้งสามประเทศ แล้วสุดท้ายก็คลอดออกมาเป็นสัญญาที่ทั้งเยอรมัน ออสเตรีย - ฮังการี และรัสเซียจะร่วมมือป้องกันซึ่งกันและกันหากมีการรุกรานจากประเทศอื่น...
1
ภายใต้ชื่อ "สันนิบาตสามจักรพรรดิ (League of three Emperors)"
1
ซึ่งสัญญานี้ก็ได้เกิดขั้วอำนาจขนาดใหญ่ขึ้น และเป็นตัวเร่งให้ประเทศต่างๆ ในยุโรป เริ่มอยากเดินเกมสร้างพันธมิตรของตัวเองบ้าง...
ภาพจาก NZ History (จักรวรรดิเยอรมัน)
ภาพจาก Alcheton (สันนิบาตสามจักรพรรดิ)
ใน ค.ศ.1875 ฝรั่งเศสที่แพ้สงครามนั้นก็ได้จ่ายค่าปฏิกรรมสงครามครบหมดจดเรียบร้อยแล้ว ทำให้หลังจากนั้นฝรั่งเศสได้มีการปรับปรุง ฟื้นฟู และเพิ่มกำลังทหารครั้งใหญ่
ท่าทีของฝรั่งเศสทำให้บิสมาร์คเริ่มระแวงแบบสุดๆ ว่า "ฝรั่งเศสกำลังเตรียมการล้างแค้นเยอรมัน" และเริ่มได้กลิ่นตุๆ ของสงครามในอนาคต
ว่าแล้วก็มีการสั่งให้ลงหนังสือพิมพ์แล้วพาดหัวข่าวว่า "หรือสงครามกำลังจะเริ่มขึ้น" ที่มีการเพ่งเล็งไปที่ฝรั่งเศสเป็นสำคัญ โดยให้ประชาชนมีการระวังและเฝ้าจับตามองฝรั่งเศสให้ดีๆ
การพาดหัวข่าวนี้ ทำให้ทั้งฝรั่งเศส อังกฤษ และรัสเซียต่างส่งผู้แทนไปเบรกความตีตนไปก่อนไข้ของบิสมาร์คว่า "อย่าเพิ่งรีบด่วนสรุปไปเอง!" ทำให้ บิสมาร์คเริ่มใจเย็นลง แต่ทว่า ยังจับตามองความเคลื่อนไหวของฝรั่งเศสอยู่ตลอดและพยายามเดินเกมการทูตทุกวิถีทางไม่ให้ฝรั่งเศสสร้างพันธมิตรกับมหาอำนาจอื่นๆ ได้...
เมื่อเรื่องฝรั่งเศสเริ่มซาลง ก็ได้เกิดความวุ่นวายในแถบบอลข่านขึ้น เมื่อจักรวรรดิออตโตมันได้แผ่อำนาจเข้ามาแล้วบังคับให้ประชาชนที่เป็นชาวสลาฟในบอสเนีย เฮอร์เซโกวินา และบัลเกเรียมานับถืออิสลาม
คราวนี้ประชาชนในแถบนี้ก็เริ่มไม่พอใจแล้วทำการจราจลต่อต้านออตโตมันขึ้น ซึ่งออตโตมันก็ตอบแทนด้วยการส่งกองทัพเข้าปราบประชาชนอย่างทารุณ
ฝ่ายรัสเซียซึ่งไม่ถูกกับออตโตมันและอยากมีอำนาจในแถบบอลข่านอยู่แล้ว ก็เข้าแทรกแซงปกป้องชาวสลาฟในบอลข่าน
แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าออสเตรีย - ฮังการี ก็ดันสนใจอยากมีอำนาจในบอลข่านเหมือนกัน เมื่อเห็นอีกฝ่ายเข้าไปตัดหน้าก่อนแบบนี้ ทำให้เริ่มระแวงว่า "รัสเซียจะฮุบเอาบอลข่านไปเป็นของตัวเองจนหมด"
ว่าแล้วออสเตรีย - ฮังการี ที่พึ่งทำสันนิบาตสามจักรพรรดิกับรัสเซียไปหยกๆ ก็ไปเข้าข้างสนับสนุนออตโตมันหน้าตาเฉย!
รัสเซียที่งงๆ และเริ่มไม่พอใจก็ไปคุยกับเยอรมันว่า "หากรัสเซียต้องบวกกับออสเตรีย - ฮังการีจริงๆ ให้เยอรมันวางตัวเป็นกลางเอาไว้"
แต่บิสมาร์คที่พยายามจะดุลอำนาจ และไม่อยากให้สันนิบาตสามจักรพรรดิต้องสั่นคลอน จึงตอบกลับไปว่า "รัสเซียกับออสเตรีย - ฮังการี อย่าตีกันเลยดีกว่า แต่หากรัสเซียจะตีกับออตโตมัน เยอรมันก็จะวางตัวเป็นกลาง"
ซึ่งคำตอบของบิสมาร์คทำให้รัสเซียยิ่งไม่พอใจเข้าไปใหญ่ และมองว่าเยอรมันเข้าข้างออสเตรีย - ฮังการีมากกว่าตัวเอง และเริ่มไม่ไว้ใจบิสมาร์ค ทำให้รัสเซียต้องเดินเกมการทูตใหม่โดยการติดต่อกับออสเตรีย - ฮังการีว่า "หากรัสเซียจะบวกกับออตโตมัน ให้ออสเตรียวางตัวเป็นกลาง แล้วจะยกบอสเนียกับเฮอร์เซโกวินาให้"
ออสเตรียซึ่งตาลุกวาวกับผลประโยชน์ที่รัสเซียจะให้ ก็ตอบรับข้อเสนอทันที ว่าแล้วรัสเซียก็เปิดฉากสงครามกับออตโตมัน ด้วยความสบายใจว่าจะไม่มีใครเข้ามายุ่มย่าม และท้ายที่สุดรัสเซียก็ได้รับชัยชนะในสงครามครั้งนี้
ชัยชนะได้ทำให้รัสเซียมีอำนาจในบอลข่านแทบทั้งหมด ซึ่งออสเตรีย - ฮังการีก็ได้มาทวงสัญญากับรัสเซีย
แต่ดูเหมือนว่า รัสเซียจะทำเป็นหูทวนลมและไม่สนใจต่อคำสัญญาที่เคยให้ไว้กับออสเตรีย - ฮังการีเลยซักนิด
3
ภาพจาก Timewise Traveller (บอลข่าน ค.ศ.1870)
ภาพจาก Wikipedia (สงครามรัสเซีย - ออตโตมัน)
การเฉยของรัสเซีย ทำให้ออสเตรีย - ฮังการีเรียกร้องและดึงเอามหาอำนาจอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมันเข้ามาประชุมไกล่เกลี่ยกดดันรัสเซียยกดินแดนให้ตัวเอง...
ฝ่ายรัสเซียเมื่อเห็นแบบนั้น จึงพยายามไม่ให้จัดประชุมที่เวียนนาซึ่งเป็นเมืองของออสเตรียเพราะกลัวจะเสียเปรียบ แต่ผลักดันให้ประชุมที่เบอร์ลินแทนเพราะถึงจะไม่ไว้ใจบิสมาร์ค แต่ก็ยังเชื่อว่าเยอรมันที่เป็นมิตรมาอย่างยาวนานจะเข้าข้างรัสเซียบ้าง
ว่าแล้ว ก็มีการประชุมกันที่เบอร์ลิน โดยมีบิสมาร์คเป็นประธาน ซึ่งอังกฤษกับฝรั่งเศสนั้นไม่อยากให้รัสเซียมีอำนาจมากเกินไปในบอลข่าน จึงเรียกร้องให้รัสเซียยกดินแดนให้ออสเตรีย - ฮังการี...
ตัวของบิสมาร์คมีท่าทีเห็นด้วยกับอังกฤษและฝรั่งเศส เพราะการที่รัสเซียมีอำนาจมากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่ออาณานิคมในแอฟริกาของเหล่ามหาอำนาจยุโรปได้ ซึ่งหากมีปัญหากันจริงๆ อาจเกิดสงครามขนาดใหญ่ที่จะเป็นตัวทำลายสันติภาพของยุโรปลง
ดังนั้น บิสมาร์คจึงตัดสินให้ออสเตรีย - ฮังการีได้บอสเนียและเฮอร์เซโกวินาไปปกครองแบบสมใจ และแน่นอนว่าการตัดสินนี้ทำให้รัสเซียเดือดสุดๆ และแทบหมดความเชื่อใจในตัวบิสมาร์ค พร้อมออกหนังสือพิมพ์โจมตีว่า "บิสมาร์คไม่รู้จักบุญคุณของรัสเซียที่เคยช่วยให้รวมชาติเยอรมันได้!"
2
บิสมาร์คที่เห็นว่า ความสัมพันธ์กับรัสเซียเริ่มดูท่าจะไม่ดี จึงเดินเกมเจรจากับออสเตรีย - ฮังการี ทำสัญญาลับซ้อนกับสันนิบาตสามจักรพรรดิอีกทีว่า "หากประเทศใดประเทศหนึ่ง ต้องทำสงครามกับรัสเซีย อีกประเทศต้องเข้ามาช่วยทันที!"
1
แต่แล้ว ภายในรัสเซียก็เกิดปัญหาขึ้น เมื่อซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ของรัสเซียโดนลอบปาระเบิดจนสวรรคตกะทันหัน ทำให้การเมืองภายในเริ่มคลอนแคลน
บิสมาร์คจึงใช้โอกาสนี้ เจรจากับรัสเซียเพื่อต่อสัญญาสันนิบาตสามจักรพรรดิ ซึ่งก็สำเร็จอย่างงดงาม เพราะระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่าน รัสเซียต้องมีหลักประกันความปลอดภัยของตัวเองด้วย
และระหว่างนั้นก็เกิดเรื่องวุ่นขึ้นมาอีก เมื่อฝรั่งเศสส่งกองทัพเข้ายึดเมือง "ทูนิส (Tunis)" เป็นอาณานิคมในแอฟริกาเหนือ ซึ่งเผอิญว่าเมืองทูนิสดันเป็นเมืองที่อิตาลีเล็งมานานแล้ว แต่กลับโดนฝรั่งเศสตัดหน้าไปก่อน
ฝ่ายอิตาลีเห็นแบบนั้นเลยเจรจากับเยอรมันและออสเตรีย - ฮังการีให้มาทำสัญญาเป็นพันธมิตรกันว่า "หากอิตาลีต้องรบกับฝรั่งเศส ทั้งสองประเทศต้องเข้ามาช่วย" ซึ่งบิสมาร์คที่จับตาดูฝรั่งเศสอยู่แล้วจึงตกลงทำสัญญาในทันที
1
ด้านฝรั่งเศสที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นมาแล้ว ก็พยายามเดินเกมทางการทูตบ้างโดยการพยายามสร้างพันธมิตรกับมหาอำนาจอย่างรัสเซีย
บิสมาร์คเห็นท่าไม่ดี มองว่าฝรั่งเศสเริ่มพยายามวางหมากล้อมกรอบเยอรมัน จึงโยกงบมาลงกับกองทัพมากขึ้น ทำให้เงินที่คอยช่วยเหลือรัสเซียนั้นลดลง
ฝรั่งเศสเห็นแบบนั้นจึงเจรจากับรัสเซียว่า "จะให้เงินช่วยเหลือสนับสนุน หากรัสเซียยอมเป็นมิตรกับฝรั่งเศส" ซึ่งรัสเซียที่ไม่พอใจบิสมาร์คเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงยอมตกลงกับฝรั่งเศสในที่สุด
1
การเป็นมิตรของฝรั่งเศสกับรัสเซีย ทำให้อิตาลีเริ่มกลัวว่ารัสเซียและฝรั่งเศสอาจมีอำนาจมากเกินไปในบริเวณบอลข่านและทะเลเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงของอิตาลีแบบสุดๆ
ว่าแล้วอิตาลีก็เจรจากับออสเตรีย - ฮังการี ทำสัญญาว่า "หากมีประเทศไหนเริ่มบุกยึดประเทศต่างๆ ในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทั้งสองประเทศจะร่วมกันเปิดสงครามกับประเทศนั้นทันที!"
ซึ่งบิสมาร์คที่พยายามกีดกันฝรั่งเศสไม่ให้สร้างพันธมิตรได้ ก็เริ่มรู้ว่าตัวเองเดินเกมพลาดไปหลายสเตป แต่มันยังอยู่ในจุดที่แก้ไขได้เพราะความสัมพันธ์ของเยอรมันกับรัสเซียยังมีสันนิบาตสามจักรพรรดิค้ำคออยู่
1
และในช่วง ค.ศ.1887 ที่สันนิบาตสามจักรพรรดิได้จบลง บิสมาร์คก็ได้เดินเกมอีกครั้ง โดยทำสัญญากับรัสเซีย เกิดเป็นสนธิสัญญาที่ชื่อว่า "อินชัวรันส์" ที่มีใจความว่า "หากเยอรมันรบกับฝรั่งเศส รัสเซียจะต้องไม่เข้ามาช่วยฝรั่งเศส แลกกับการที่เยอรมันสนับสนุนอำนาจรัสเซียในแถบบอลข่าน"
1
โดยเป็นการหนุนความมั่นคงให้กับเยอรมันและรักษาความสัมพันธ์กับรัสเซีย (แต่อีกด้านหนึ่งก็เหมือนตลบหลังออสเตรีย - ฮังการีและอิตาลีไปด้วย)
เรียกได้ว่า การทำสนธิสัญญาของเหล่ามหาอำนาจในตอนนี้มีหลายชั้นซ้อนกันไปซ้อนกันมาชวนสับสนงุนงงแบบสุดๆ ไปเลยล่ะครับ...
ซึ่งบิสมาร์คคาดว่า "อินชัวรันส์" เป็นลมหายใจที่จะคงสันติภาพให้กับเยอรมันต่อไป และป้องกันเรื่องคอขาดบาดตายอย่างการที่ฝรั่งเศสกับรัสเซียจับมือกันรุมยำเยอรมัน
และหากบิสมาร์คเดินเกมฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัสเซีย แล้วต่อสัญญาไปเรื่อยๆ แบบนี้ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาร้ายแรงอะไร
1
แต่ทว่า บิสมาร์คดันไม่มีโอกาสได้ทำแบบนั้นน่ะสิครับ เมื่อไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 1 เกิดสวรรคต แล้วเปลี่ยนผ่านไปสู่โอรสคือฟรีดริชซ์ที่ 3 แต่ก็ป่วยออดๆ แอดๆ อยู่บนบัลลังก์ได้แค่ 99 วัน ก็สวรรคตตามไปอีกคน
ทำให้เจ้าชายวิลเฮล์มซึ่งเป็นโอรสของฟริดริชซ์ที่ 3 ได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิต่อภายใต้ชื่อ "ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2" ซึ่งเผอิญว่าบุคลิก ความคิด ทัศนคติ และนโยบายนั้นแตกต่างจากบิสมาร์คโดยสิ้นเชิง...
2
ภาพจาก PBase (การลอบปาระเบิดปลงพระชนม์ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2)
ภาพจาก DW (ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2)
การขึ้นมาของไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 ทำให้บิสมาร์คทำงานได้ยากลำบากกว่าแต่ก่อน เนื่องจากวิลเฮล์มที่ 2 ไม่ต้องการให้บิสมาร์คมามีอำนาจและเป็นคนกำหนดนโยบายของเยอรมันเหนือกว่าจักรพรรดิ...
อีกทั้งยังมีการลดบทบาทหน้าที่ของบิสมาร์คลง โดยมีการให้ประสานงานต่างๆ กับวิลเฮล์มที่ 2 โดยตรง ไม่ต้องส่งเรื่องผ่านบิสมาร์คเหมือนแต่ก่อน
ความขัดแย้งของทั้งสองเริ่มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของอุดมการณ์ในการสร้างเยอรมันที่แตกต่างกัน...
ฝ่ายวิลเฮล์มที่ 2 ไม่เข้าใจว่า "ทำไมบิสมาร์คต้องมาปวดหัวทำสนธิสัญญาเยอะแยะมากมายกับประเทศต่างๆ สู้เอาเวลามาพัฒนากองทัพ ล่าอาณานิคม และสร้างเยอรมันให้เป็นจักรวรรดิมหาอำนาจจะดีกว่า!"
โดยฝ่ายบิสมาร์ค มีการโต้ว่า "การทำสัญญาเป็นพันธมิตรก็เพื่อรักษาความมั่นคงของเยอรมันและยุโรปเอาไว้ ซึ่งการแผ่ขยายอำนาจไปทั่วโลก จะยิ่งทำให้เยอรมันเจอกับเรื่องราววุ่นวายไม่จบไม่สิ้น และเสี่ยงที่จะต้องขัดแย้งอย่างรุนแรงกับมหาอำนาจอื่นๆ ในยุโรป!"
1
เมื่อทัศนคติในการสร้างชาติแตกต่างกัน บิสมาร์คจึงต้องจำใจลาออกใน ค.ศ.1890 และเสียชีวิตเมื่อ ค.ศ.1898 ตอนอายุ 83 ปี โดยในช่วงบั้นปลาย บิสมาร์คก็ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของวิลเฮล์มที่ 2 อยู่ตลอดเวลา
และยังคงยึดหลักการของตนเองจนวาระสุดท้ายว่า "เยอรมันควรจะเป็นศูนย์กลางความสงบเพื่อรักษาดุลอำนาจและสันติภาพในยุโรป มากกว่าการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง"
1
ภาพจาก akg (วาระสุดท้ายของบิสมาร์ค)
หลังบิสมาร์คลาออก แนวนโยบายทั้งหมดของเยอรมันก็อยู่ภายใต้ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 ซึ่งเริ่มสร้างเยอรมันให้เป็นมหาอำนาจโดยการขยายอิทธิพลออกไปในทวีปอื่นๆ เพื่อล่าอาณานิคม
ทั้งการเข้าแทรกแซงการเมืองของโมรอคโก...
หรือการเข้าไปเช่าเมืองเกียวเจาของจีน...
ท่าทีของเยอรมันที่เปลี่ยนไป ทำให้มหาอำนาจในยุโรปเริ่มพร้อมใจประสานตามามองเยอรมันอย่างตึงเครียด
พร้อมๆ กับใน ค.ศ.1890 สนธิสัญญา "อินชัวรันส์" ได้หมดอายุลง รัสเซียก็ได้พยายามเข้ามาเจรจาต่อสัญญา แต่วิลเฮล์มที่ 2 คิดว่า "เยอรมันควรที่จะมีผลประโยชน์ในแถบบอลข่านด้วย ดังนั้น การร่วมมือกับออสเตรีย - ฮังการีเพื่อรักษาผลประโยชน์ในแถบบอลข่านเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการให้รัสเซียคุมทั้งหมด"
สุดท้าย เยอรมันก็ปฏิเสธการต่อสัญญากับรัสเซีย ซึ่งทำให้รัสเซียมองว่า "เยอรมันอาจร่วมมือกับออสเตรียตลบหลังรัสเซียก็ได้"
ซึ่งก็เป็นแบบนั้นจริงๆ เมื่อเยอรมันได้เจรจากับออสเตรีย - ฮังการี และอิตาลี ให้มาร่วมทำสัญญา เพื่อป้องกันรัสเซียและรักษาผลประโยชน์ในแถบบอลข่าน จนกลายเป็นสัญญาลับที่เรียกว่า "พันธมิตรไตรมิตร (Triple Alliance)"
ทางด้านรัสเซีย ก็ได้หันหน้าไปทางฝรั่งเศสแล้วเจรจาทำสัญญาเป็นพันธมิตรกันในที่สุด ซึ่งในภายหลังก็ได้ขยายไปเป็นสัญญาลับทางทหารที่ว่า
1
"หากฝรั่งเศสถูกอิตาลีตีโดยมีเยอรมันหนุนหลัง รัสเซียต้องเข้าตีเยอรมันทันที! และหากรัสเซียโดนออสเตรียตีโดยมีเยอรมันหนุนหลัง ฝรั่งเศสก็ต้องเข้าตีเยอรมันทันทีเหมือนกัน!"
1
และแล้วสิ่งที่บิสมาร์คหวาดกลัวมากที่สุดอย่างการร่วมมือของรัสเซียและฝรั่งเศสเพื่อต่อต้านเยอรมันก็ได้เกิดขึ้นในที่สุด อีกทั้งสัญญานี้ยังเป็นการแบ่งขั้วอำนาจของยุโรปออกเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน...
ระหว่างขั้วของเยอรมัน ออสเตรีย - ฮังการี อิตาลี
และขั้วของรัสเซีย ฝรั่งเศส
ซึ่งจิ๊กซอว์สำคัญตัวสุดท้ายอย่างอังกฤษ ก็เริ่มเดินหน้าค้นหาพันธมิตรด้วยเช่นกัน...
ภาพจาก euatlas (แผนที่ประเทศในยุโรป ค.ศ.1900)
ในช่วงที่มหาอำนาจต่างๆ เดินเกมการทูตทำสัญญาลับและสร้างพันธมิตรตลบหลังกันอย่างดุเดือดอยู่นั้น อังกฤษเป็นมหาอำนาจที่แทบวางตัวแบบโดดเดี่ยว
แต่การขยายอาณานิคมของมหาอำนาจในยุโรปนั้นมีการขัดแข้งขัดขากันมากขึ้นทุกที ทำให้อังกฤษเริ่มอยากเดินเกมทางการทูตหาพันธมิตรบ้างเพื่อหนุนอำนาจของตัวเอง ซึ่งตัวเลือกแรกของอังกฤษนั้นไม่ใช่ฝรั่งเศสที่เป็นคู่กัดมาตั้งแต่อดีตแน่นอน แต่มีการเล็งไปที่เยอรมัน...
โดยอังกฤษก็ได้เดินเกมเจรจากับเยอรมันเพื่อทำสัญญาพันธมิตรใน ค.ศ.1901 แต่เยอรมันนั้นดันมองอังกฤษเป็นคู่แข่งที่สำคัญในการล่าอาณานิคม เลยปัดข้อเสนอของอังกฤษทิ้งไป!
อีกทั้งเยอรมันได้มีการเดินหน้าพัฒนาทัพเรือของตัวเองแล้วพยายามขยายอำนาจครอบครองน่านน้ำในแถบยุโรป ซึ่งเป็นจุดที่สั่นคลอนอำนาจทางทะเลของอังกฤษแบบสุดๆ
ดังนั้น อังกฤษยิ่งต้องรีบเดินหน้าหาพันธมิตร และก็ได้เริ่มจับมือกับมหาอำนาจเกิดใหม่จากโพ้นทะเลอย่างญี่ปุ่น
อีกทั้ง การขยายอิทธิพลทางน่านน้ำของเยอรมันแบบไม่หยุดหย่อน ทำให้อังกฤษต้องหันหน้าเข้าหาคู่กัดตลอดกาลอย่างฝรั่งเศสแล้วเจรจาทำสัญญาเป็นพันธมิตรกันในที่สุด
ซึ่งพอทำสัญญากับฝรั่งเศสแล้ว ก็ลามไปทำสัญญากับรัสเซียด้วย โดยทั้งสามต่างมองร่วมกันแล้วว่า "เยอรมันคือศัตรูสำคัญที่ต้องระวังมากที่สุด!"
ว่าแล้วก็เกิดเป็นสัญญาพันธมิตรลับของอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย ภายใต้กลุ่ม "ข้อตกลงไตรภาคี (Triple Entente)"
ภาพจาก Quora (กลุ่มอำนาจ 2 กลุ่ม ของยุโรป)
การเดินหมากในสนามรบทางการทูตของมหาอำนาจในยุโรป เริ่มเข้าสู่จุดพีคและตึงเครียดจนอาจกลายสภาพเป็นสนามรบที่ใช้อาวุธเข้าห้ำหั่นกันจริงๆ...
โดยในที่สุดสลักระเบิดก็ถูกดึงออก เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1914 อาร์คดยุคฟรานซ์ เฟอร์ดินาน ทายาทบัลลังก์ออสเตรีย - ฮังการี พร้อมชายา ได้เดินทางไปซาราเจโวที่อยู่ในบอสเนีย (ดินแดนที่ได้มาจากการตกลงกับรัสเซีย)
1
แล้วเหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นเมื่อชายคนหนึ่งที่รู้ภายหลังว่าชื่อ "กัฟริโล ปรินซิป" แหวกฝูงชนเข้ามาแล้วอัดกระสุนเข้าใส่ฟรานซ์เฟอร์ดินานและชายาจนสิ้นพระชนม์คู่
ตัวของกัฟริโลที่ถูกจับได้ก็โดนสอบสวน จนทางออสเตรียได้มีการประกาศออกมาว่า "การลอบสังหารในครั้งนี้ มีเซอร์เบียหนุนหลังอยู่!"
โดยในช่วงนั้นกระแสชาตินิยมค่อนข้างรุนแรงเอามากๆ เลยล่ะครับ ดินแดนในแถบบอลข่านจะมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวสลาฟ รวมถึงบอสเนียและเฮอร์เซโกวินาที่ออสเตรียได้ไป
1
แน่นอนว่าคนสลาฟย่อมอยากอยู่กับคนสลาฟด้วยกัน ฝ่ายบอสเนียก็พยายามแยกตัวจากออสเตรียอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมีเซอร์เบียเป็นผู้สนับสนุนหลัก...
การที่ออสเตรีย - ฮังการีเพ่งเล็งไปที่เซอร์เบียนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร (แต่เซอร์เบียมีส่วนเอี่ยวในการลอบสังหารจริงๆ หรือไม่ ยังคงเป็นปริศนา)
ซึ่งนำไปสู่การที่ออสเตรีย - ฮังการีตัดสินใจประกาศสงครามกับเซอร์เบีย แล้วยกทัพเข้าถล่มในที่สุด...
ฝ่ายรัสเซียที่เป็นสลาฟ เมื่อเห็นสลาฟด้วยกันโดนยำย่อมต้องยื่นเท้าเข้ามาร่วมด้วย ส่งกองทัพเข้าช่วยเซอร์เบียพร้อมประกาศสงครามกับออสเตรีย - ฮังการี
กลายเป็นว่า 2 ขั้วอำนาจของยุโรปได้มาปะทะกันแล้ว ซึ่งเยอรมันเมื่อเห็นแบบนั้นก็ได้ดูท่าทีของฝรั่งเศสและมีการเจรจาว่าจะเอายังไง
โดยคำตอบที่ได้คือ "ฝรั่งเศสจะเข้าช่วยเหลือรัสเซียแน่นอน!" เยอรมันเลยชิงประกาศสงครามกับฝรั่งเศสแล้วระดมทัพเข้าโจมตีทันที!
ซึ่งอังกฤษที่ระแวงเยอรมันอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีสัญญาพันธมิตรกับฝรั่งเศสและรัสเซีย จึงประกาศสงครามกับเยอรมันและออสเตรีย - ฮังการี แล้วเข้าไปร่วมตะลุมบอนในที่สุด
เหล่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกทั้งที่เป็นอาณานิคมและไม่เป็นอาณานิคมก็ต่างต้องเลือกข้างใดข้างหนึ่ง...
เกมการทูตของเหล่ามหาอำนาจในยุโรปก็ได้เดินทางมาสู่จุดจบใน ค.ศ.1914
รูปแบบการตัดสินใจในท้ายที่สุด ก็ได้เปลี่ยนมหาศึกแห่งการทูตกลายเป็นมหาสงคราม (Great War) แห่งมวลมนุษยชาติ
ซึ่งกลายเป็นความขัดแย้งและความสูญเสียลากยาวร่วมศตวรรษ
และสร้างความเปลี่ยนแปลงมากมายมหาศาลให้กับโลกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนภายใต้เหตุการณ์ที่เรียกว่า "สงครามโลก (World War)"
ภาพจาก All That’ Interesting
References
Albrecht-Carrie, Rene. A Diplomatic History of Europe Since the Congress of Vienna. New York : Harpercollins College Div, 1973.
Craig, Gordon. Europe 1815 - 1914. Illinois : The Dryden Press, 1972.
Steinberg, Jonathan. Bismarck : A Life. Oxford : Oxford University Press, 2012.
Stollberg-Rilinger, Barbara. The Holy Roman Empire: A Short History. New York : Princeton University Press, 2018.
Taylor, A.J.P. Bismarck: The Man and Statesman. New York : Vintage First Paperback edition, 1967.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา