12 เม.ย. 2022 เวลา 13:00 • หนังสือ
พลังที่แฝงอยู่ในข้อความคืออะไรครับ?
ผมอยากให้ทุกคนหลับตาและนึกภาพ “ผู้หญิงหรือผู้ชายที่ดูดีที่สุดในโลกสำหรับคุณ” คุณจะนึกถึงใครครับ อาจจะเป็นตัวละครในซีรีย์ ไอดอล หรือศิลปินก็ได้ นึกออกหรือยังครับ?
ใช่แล้วครับ พลังของข้อความคือการทำให้ผู้อ่านเกิดจินตนาการนั่นเอง
ทุกคนสามารถจินตนาการถึงคนที่มีหน้าตางดงามหรือหล่อเหลา โดยที่ผมไม่จำเป็นต้องอธิบายถึงรายละเอียดของคนๆนั้น
การที่ผู้อ่านเกิดจินตนาการว่า “ถ้าซื้อมาใช้ต้องดีมากแน่ๆเลย” “ถ้าชวนเขาไปเขาต้องดีใจแน่นอน” การจินตนาการแบบนี้จะทำให้ผู้อ่านเกิดการลงมือทำ เป็นพลังที่แฝงอยู่ในข้อความครับ
จุดประสงค์ของหนังสือเล่มจึงเป็นการเขียนข้อความเพื่อดึงจินตนาการของผู้อ่านและใช้ประโยชน์จากจินตนาการนั้นนั่นเองครับ
สำหรับผมแล้ว หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่เจ๋งมากครับ มีเทคนิคในการเขียนโน้มน้าวจิตใจคนที่เขียนโดย Mentalist DaiGo นักเขียนด้านจิตวิทยาอันดับ 1 ของญี่ปุ่น เอาไปใช้เขียนถึงหัวหน้า เพื่อน จีบผู้หญิง ขายของ สารพัดประโยชน์ที่มีตัวหนังสืออยู่ในนั้น รับรองว่าคนอ่านต้องมีเคลิ้มกันบ้างแหละครับ!
เพราะเป็นเล่มหนึ่งที่มีประโยชน์และผมก็ชอบมากๆจึงอยากนำข้อคิดที่ได้ 3 ข้อมาแบ่งปันให้กับทุกคนครับ
1. หาเป้าหมายของการเขียน
การเขียนโน้มน้าว แน่นอนว่าเราไม่ได้ต้องการแค่ให้เขาเข้าใจ แต่ต้องการให้เขาลงมือทำในสิ่งที่เราต้องการ เพราะฉะนั้นเราต้องรู้ก่อนว่าต้องการให้เขาทำอะไร และพยายามเขียนให้เขารู้สึกว่า “อยากลองทำดู” เช่น เราต้องการขอความช่วยเหลือจากเขา สิ่งที่เราต้องการคือให้เขาช่วยงาน แต่สิ่งที่เราเขียนจะสื่อให้เขารู้สึกว่า “มีเพียงเราคนเดียวที่ช่วยเขาได้ ช่วยเขาหน่อยแล้วกัน”
การเขียนที่ทำให้ผู้อ่านอยากลองลงมือทำก็มีหลายวิธีครับ เช่น
การทำให้เขารู้สึกเป็นคนสำคัญ
วิธีนี้จะทำให้เขารู้สึกว่าตัวเขานั้นมีความสำคัญ มีคนยอมรับในตัวตนของเขา และรู้สึกว่ามีเพียงเขาคนเดียวที่ทำได้ อาจจะใช้คำพูดที่ว่า “สำหรับสมาชิกพิเศษอย่างคุณเท่านั้น” “เป็นครั้งแรกเลยนะครับที่เจอคนที่มีมุมมองน่าสนใจแบบนี้” การเขียนแบบนี้ก็จะทำให้เขารู้สึกว่า “ลองซื้อดูหน่อยดีไหม” “เราพิเศษสำหรับเขา ครั้งหน้านำเรื่องใหม่ๆไปคุยกับเขาอีกดีกว่า”
การทำเขารู้สึกขาดทุน
คนเรามีแนวโน้มที่จะรู้สึก “เสียใจเมื่อขาดทุน” มากกว่า “ดีใจเมื่อได้กำไร” ดังนั้นการทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าถ้าไม่ทำสิ่งนี้จะขาดทุน เช่น “ซื้อสินค้าตอนนี้จะได้รับประกันคืนสินค้าฟรี 1 ปี” ผู้อ่านจะรู้สึกว่าขาดทุนหากไม่ซื้อสินค้าในตอนนี้ เป็นต้น
2. ไม่ยึดมุมมองตัวเอง
การเขียนโดยยึดมุมมองตัวเองเป็นหลัก เขียนโดยไม่รู้ว่าใครจะเป็นผู้อ่าน หรือเขียนๆไปก่อนเดี๋ยวก็มีคนเข้ามาอ่านเอง ความคิดแบบนี้ไม่ได้ทำให้การเขียนของเราดึงดูดผู้อ่านได้
ก่อนที่เราจะเริ่มเขียนนั้น นอกจากต้องรู้ว่าอยากให้ผู้อ่านทำอะไร เราต้องรู้ก่อนว่าผู้ที่จะอ่านข้อความเรานั้นเป็นใคร หัวหน้า ลูกค้า เพื่อน หรือคนที่เรารัก เขาคนนั้นสนใจในเรื่องอะไรหรือกังวลเรื่องไหนอยู่หรือเปล่า เราจะนำสิ่งนั้นมาใช้กระตุ้นจิตนาการของเขาครับ
ถ้าเรารู้สิ่งที่เขาสนใจ เราก็สามารถนำไปใส่เป็นส่วนหนึ่งของข้อความได้ เช่น ชวนไปร้านอาหารที่ชอบ ดูหนังที่ชอบ เป็นต้น การพูดถึงความสนใจของผู้อ่านจะทำให้เหมือนความสนใจนั้นได้ถูกเติมเต็ม โน้มน้าวใจคนได้ง่ายมากขึ้น
ถ้าเรารู้ถึงสิ่งที่เขากังวล เราก็จะสามารถเสนอหนทางแก้ปัญหาให้เขาได้ เขาจะรู้สึกว่าเราพึ่งพาได้ น่าไว้วางใจ และจะเปิดใจในการคุยกับเรานั่นเองครับ
ในสถานการณ์ที่อึดอัด น่ากังวลใจ สิ่งที่คนเราแสดงออกมากับสิ่งที่อยู่ในใจจะต่างกัน สิ่งที่เราต้องทำคือการยอมรับในตัวตนของเขา ยอมรับสิ่งที่เขาแสดงออกมาให้เราเห็น เพราะเขาไม่มีทางเลือกจึงต้องแสดงสิ่งที่ไม่ตรงกับสิ่งที่อยู่ในใจ
เช่น การถูกใช้งานจนดึกดื่น หากเรารู้ว่าเขาลำบากใจในเรื่องนี้แต่เลือกที่จะไม่แสดงออกมา ให้เรายอมรับในการตัดสินใจของเขา ก่อนจะพูดสิ่งที่เขากังวลในใจ และจบด้วยการเสนอทางออกให้กับเขา
“เมื่อก่อนผมก็อยู่ในจุดเดียวกับคุณเลยครับ ทำงานจนดึกดื่น เหนื่อยจนแทบตาย แม้จะกำลังลำบากใจแต่ก็พูดออกไปไม่ได้ เหนื่อยแย่เลยนะครับ ถ้ามีอะไรให้ผมช่วยก็ทักมาได้เลยนะครับ”
การพูดแบบนี้จะทำให้เขารู้สึก “เขารู้ว่าด้วยว่าเรากังวลใจเรื่องอะไร” ทำให้เขาเปิดใจที่จะคุยกับเรามากขึ้นครับ
เทคนิคที่จะช่วยพัฒนาการเขียนโดยไม่ยึดมุมมองตัวเองและเป็นเทคนิคที่ผมชอบมาก คือการเขียนเป็นบทสนทนาครับ อาจจะกำหนดเป็นนาย A และนาย B คุยกัน ลองเขียนดูว่าสิ่งที่นาย A พูด นาย B จะตอบกลับมาว่าอะไร การทำแบบนี้จะทำให้เราไม่เขียนโดยยึดมุมมองของตัวเองเป็นหลักครับ
3. การเขียนให้สะเทือนอารมณ์
ทุกคนเคยนั่งรถไฟเหาะไหมครับ ถ้ารถไฟเหาะมันขึ้นอย่างเดียวก็คงไม่หวาดเสียวเท่ากับที่มันขึ้นๆลงๆ ส่ายไปส่ายมา การเขียนก็เหมือนกันครับ ถ้าเราเขียนแต่สิ่งที่เป็นแง่บวกอย่างเดียวจนจบ มันก็จะไม่สะเทือนอารมณ์ ผู้อ่านก็จะรู้สึกเฉยๆ ไม่ได้รู้สึกอยากจินตนาการตาม
เหมือนกับการเขียนบทละครที่จะมีการปูเนื้อเรื่องในตอนต้น จนตัวละครต้องพบกับอุปสรรค และจบด้วยการคลี่คลายอุปสรรคเหล่านั้น การเขียนก็เช่นกัน จะเริ่มต้นด้วยสิ่งที่เป็นแง่บวก ให้ผู้อ่านรู้สึกตื่นเต้น ดีใจ ต่อมาก็จะเขียนถึงอุปสรรค สิ่งที่เป็นแง่ลบ ความท้าทาย ให้ผู้อ่านรู้สึกหมดหวัง และก็จบด้วยแง่บวกอีกครั้ง ให้ผู้อ่านรู้สึกตื่นเต้น ดีใจ มากกว่าเดิม
เช่นการเปิดตัวสินค้าใหม่ ที่เกริ่นถึงประโยชน์ที่จะได้จากสินค้า ตามมาด้วยปัญหาในการขาย อาจจะเป็นสินค้าที่ผลิตได้น้อย หรือการพูดถึงราคาที่แพงเกินเอื้อม และจบท้ายด้วย การแก้ปัญหาที่ทำให้ผลิตได้มากขึ้น หรือการลดราคาที่ไม่ได้แพงเกินเอื้อมแบบนั้น
การขึ้นๆลงๆของความรู้สึกผู้อ่าน ยิ่งมาก ผู้อ่านยิ่งจินตนาการถึงภาพนั้นได้มากขึ้น ความสนใจของผู้อ่านจะเพิ่มขึ้นเองโดยที่เราไม่ต้องอธิบายอะไรมากมายเลยครับ
เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับวิธีเขียนข้อความในการโน้มน้าวคน ภายในหนังสือยังมีอีกหลายเทคนิคเลยนะครับ ทุกคนสามารถหามาอ่านเพิ่มเติมกันได้ เทคนิคนี้จะเอาไปใช้กับข้อความธรรมดาให้กลายเป็นคำคม คำโฆษณา คำชักชวน ที่ดึงดูดผู้อ่านมากขึ้น โดยหัวใจหลักคือการทำให้ผู้อ่านเกิดจินตนาการหลังจากอ่านข้อความนั้นนั่นเอง หวังว่าโพสต์นี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนนะครับ
โฆษณา