15 เม.ย. 2022 เวลา 05:00 • ธุรกิจ
คนเกาหลีกับความชื่นชอบกาแฟ... มูลค่านำเข้าปีที่แล้วทะลุ 1 ล้านล้านวอนเป็นครั้งแรก
มูลค่าการนำเข้ากาแฟของเกาหลีใต้พุ่งสูงอย่างรวดเร็ว เติบโต 12.7 เท่าจาก 20 ปีที่แล้ว
จำนวนร้านกาแฟ จาก 44,000 กว่าร้านในปี 2017 เพิ่มขึ้นเป็น 83,000 กว่าร้านในปี 2021 หรือ
มากกว่าร้านสะดวกซื้อประมาณ 34,000 ร้าน
2
จำนวนร้าน Ediya Coffee ทะลุ 3,500 สาขา ส่วน Starbucks มีทั้งหมด 1,639 สาขา ณ ปลายปี 2564
ในปี 2564 ที่ผ่านมา มูลค่าการนำเข้ากาแฟของเกาหลีใต้ทะลุ 1 ล้านล้านวอนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และมีร้านกาแฟเปิดเพิ่มมากถึง 2 เท่าตัวภายในระยะเวลา 4 ปี มากกว่าร้านสะดวกซื้อ 70% หรือ 9 เท่าของร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่
จากข้อมูลของ Korea Customs Service และกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเปิดเผยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (21 มีนาคม 2565) แสดงให้เห็นว่ามูลค่าการนำเข้ากาแฟ (คำนวณรวมทั้งเมล็ดกาแฟสด เมล็ดกาแฟคั่ว กาแฟแคปซูล ผงกาแฟสำเร็จรูป และอื่นๆ ) ของเกาหลีในปี 2564 เพิ่มขึ้น 24.2% เมื่อเทียบกับปี 2563 จาก 737.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 8.7 แสนล้านวอน (ตามอัตราแลกเปลี่ยนปี 2563) เป็น 916.48 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.488 ล้านล้านวอน ตามอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยในปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 1,144.42 วอน/ดอลลาร์สหรัฐ ทำลายสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์
3
การนำเข้ากาแฟรายปี มีมูลค่านำเข้ากาแฟเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 (ยกเว้นในปี 2561) โดยมูลค่าในปี 2564 สูงขึ้นถึง 12.7 เท่าเมื่อเทียบกับ 72.25 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2544 ซึ่งเป็นปีแรกที่เก็บสถิติ ในด้านปริมาณนั้น ปริมาณการนำเข้าปี 2564 เพิ่มขึ้น 7.3% จากปี 2563 เป็น 189,502 ตัน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสถิติที่สูงที่สุดที่เคยมีมาเช่นกัน
ตารางปริมาณและมูลค่าการนำเข้ากาแฟรายปี
เมื่อพิจารณาสถิติการนำเข้ากาแฟรายประเทศประจำปี 2564 จะเห็นได้ว่า สวิตเซอร์แลนด์ครองอันดับ 1 ด้วยมูลค่านำเข้า 130.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามด้วยโคลอมเบีย (128.2 ล้านเหรียญสหรัฐ) บราซิล (115.7 ล้านเหรียญสหรัฐ) สหรัฐอเมริกา (112.2 ล้านเหรียญสหรัฐ) เอธิโอเปีย (75.6 ล้านเหรียญสหรัฐ) และ เวียดนาม (62.3 ล้านเหรียญสหรัฐ)
ส่วนด้านปริมาณ เกาหลีใต้นำเข้าจากบราซิลเป็นอันดับ 1 ด้วยปริมาณ 39,884 ตัน ตามมาติดๆ ด้วย เวียดนาม (36,469 ตัน) โคลอมเบีย (30,040 ตัน) เอธิโอเปีย (16,667 ตัน) สหรัฐอเมริกา (10,655 ตัน) ฮอนดูรัส (10,295 ตัน) และเปรู (7,233 ตัน)
ถึงแม้ว่า กาแฟส่วนใหญ่จะผลิตจากประเทศแถบ อเมริกากลาง และแอฟริกาซึ่งตั้งอยู่บริเวณเส้นศูนย์ สูตร แต่สาเหตุที่สหรัฐอเมริกา และสวิตเซอร์แลนด์ติดโผแหล่งนำเข้ากาแฟอันดับต้นๆ ของเกาหลีใต้ นอกเหนือไปจากบราซิล โคลอมเบีย และเอธิโอเปียนั้น สถิติดังกล่าว รวมถึงกาแฟแปรรูป กาแฟสำเร็จรูป และเมล็ดกาแฟที่ผ่าน กรรมวิธีในประเทศเหล่านี้ด้วย
ยกตัวอย่างเช่น Starbucks Korea ซึ่งบริษัทแม่ตั้งอยู่ในสหรัฐ อเมริกาก็ใช้เมล็ดกาแฟคั่วนำเข้าจาก สหรัฐอเมริกา ด้านสวิตเซอร์แลนด์ เป็นที่ตั้งของบริษัทเนสท์เล่ ซึ่งเป็นผู้ผลิตกาแฟสำเร็จรูปรายใหญ่ที่สุดของโลกและเป็นผู้นำตลาดกาแฟแคปซูลด้วยผลิตภัณฑ์ Nespresso เมื่อปี 2561 สวิตเซอร์แลนด์ไม่ติดอันดับผู้นำเข้ากาแฟของเกาหลี 5 อันดับแรก แต่ได้ไต่อันดับมาเรื่อยๆ โดยขึ้นมาอยู่อันดับ 4 ในปี 2652 และอันดับ 3 ในปี 2563 และก้าวสู่อันดับ 1 ในปี 2564
การนำเข้ากาแฟสู่เกาหลีใต้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะกาแฟไม่ได้เป็นเพียงเครื่องดื่มที่คนเกาหลีชื่นชอบ แต่ได้กลายสถานะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไปแล้ว โดยเห็นได้ชัดจากจำนวนร้านกาแฟที่มีมากขึ้น
จากข้อมูล ‘สถิติ 100 ธุรกิจไลฟ์สไตล์’ (100대 생활업종 통계) ของ National Tax Service ณ เดือนธันวาคม 2564 นั้น มีร้านกาแฟในเกาหลีทั้งหมด 83,363 แห่ง เติบโตขึ้น 88.2% จากที่เคยมี 44,305 ร้าน ณ เดือนธันวาคม 2560 หรือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว โดยร้านกาแฟมีจำนวนมากกว่าร้านค้าประเภทอื่นๆ เช่น ร้านสะดวกซื้อ (48,458 แห่ง) ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด (46,371 แห่ง) ร้านเครื่องสำอาง (36,975 แห่ง) ร้านคาราโอเกะ (27,713 แห่ง) ร้านอาหารจีน (26,632 ร้าน) บาร์ (26,469 แห่ง) ร้านโทรศัพท์มือถือ (19,155 แห่ง) ฟิตเนส (10,052 แห่ง) ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ (9,265 แห่ง) เป็นต้น
2
สำหรับ Starbucks Korea ซึ่งเปิดสาขาแรกที่หน้ามหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา ในกรุงโซล เมื่อปี 2542 ขยายตัวจนมีสาขาในประเทศมากถึง 1,639 สาขา ณ ปลายปี 2564 ด้าน Ediya Coffee เพิ่งเปิดสาขาที่ 3,500 “สาขาโกยางซอโอรึง” ที่เขตด็อกยาง เมืองโกยาง จังหวัดคยองกี ไปเมื่อเดือนกันยายน 2564 โดยเริ่มเปิดสาขามหาวิทยาลัยจุงอางเป็นสาขาแรกเมื่อ 20 ปีก่อน (ปี 2543)
จากฐานข้อมูลธุรกิจแฟรนไชส์ ของ Fair Trade Commission (공정거래위원회) ร้านกาแฟแฟรนไชส์ที่มีสาขามากที่สุด ณ ปลายปี 2562 คือ Ediya Coffee ซึ่งมี 2,651 แห่งด้วยกัน รองลงมาได้แก่ Twosome Place (1,097 แห่ง) Mega MGC Coffee (798 แห่ง) Coffee Banhada (688 แห่ง)
ด้านร้านกาแฟแฟรนไชส์อื่นๆ ต่างก็มีสาขาเกิน 300 สาขา เช่น Yoger Presso (656 แห่ง) Paik’s Coffee (617 แห่ง) Coffeebay (597 แห่ง) Angel-in-us (483 แห่ง) Caffe Pascucci (460 แห่ง) Holly’s Coffee (453 แห่ง) Compose Coffee (384 แห่ง) The Venti (381 แห่ง) Caffebene (314 แห่ง) Tom N Toms (301 แห่ง) เป็นต้น ทั้งนี้ ฐานข้อมูลของ Fair Trade Commission รวบรวมเฉพาะข้อมูลของบริษัทเกาหลี
ตลาดกาแฟในเกาหลีใต้มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยวัฒนธรรมการดื่มกาแฟกลายเป็นวิธีหนึ่งในการดำรงชีวิตของชาวเกาหลี โดยกาแฟนอกจากจะเป็นเครื่องดื่มชนิดหนึ่งแล้ว ร้านกาแฟได้กลายเป็นสถานที่ในการสังสรรค์ พบปะผู้คน ถ่ายรูปลง SNS ซึ่งปัจจุบันจะสามารถพบร้านกาแฟในทุกมุมเมืองของเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นร้านแฟรนไชส์ หรือร้านรายย่อยที่ผู้ประกอบการดำเนินกิจการเอง
ในส่วนของการส่งออกกาแฟจากไทยไปเกาหลีนั้น ทั้งเมล็ดกาแฟดิบ เมล็ดกาแฟคั่ว ก็มีศักยภาพในตลาดเกาหลี ซึ่งปัจจุบันยังเป็นสินค้าที่ปริมาณส่งออกไม่มาก และมูลค่าต่อหน่วยยังไม่สูงนัก นอกจากนี้ กาแฟที่มีความเฉพาะ เช่น กาแฟ GI ของไทย ก็เป็นอีกหนึ่งสินค้าที่น่าสนใจในตลาดเกาหลีใต้ เนื่องจากจะสามารถสร้างความแตกต่าง และสร้างการรับรู้ในฐานะผู้ผลิตกาแฟคุณภาพสูงได้ นอกจากนี้ การประชาสัมพันธ์กาแฟไทยร่วมกับบาริสตาที่มีชื่อเสียงในตลาดเกาหลี ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งวิธีในการเจาะตลาดกาแฟเกาหลีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ท้ายที่สุดนี้ จากความสำเร็จของ Nespresso ในตลาดเกาหลี ที่ส่งผลให้ยอดส่งออกกาแฟจาก สวิตเซอร์แลนด์ก้าวมาสู่อันดับหนึ่งในเกาหลีใต้ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความสำเร็จของนวัตกรรม สินค้าใหม่ๆ ที่ส่งผลถึงปริมาณขายอย่างต่อเนื่อง และเหมาะกับสภาวะช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่มีการใช้เวลาอยู่กับบ้านเพิ่มขึ้น ประเทศไทยอาจจะจัดทำความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำในการพัฒนากาแฟ แคปซูลที่ใช้วัตถุดิบจากไทย หรือชื่อประเทศไทย
โฆษณา