6 พ.ค. 2022 เวลา 13:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ดอกเบี้ยนโยบาย คืออะไร?
เราต่างก็เข้าใจดีว่าดอกเบี้ยคือสิ่งที่ต้องจ่ายเมื่ออยู่ในฐานะเป็นผู้กู้เงิน หรือคือสิ่งที่จะได้รับเป็นค่าตอบแทนเมื่ออยู่ในฐานะเป็นผู้ฝากเงิน
โดยอัตราดอกเบี้ย คิดเป็นร้อยละของมูลค่าเงินต้นที่กู้หรือฝากในระยะเวลา 1 ปี เช่น ถ้าฝากเงิน 100 บาทในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่ให้อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปีเมื่อผ่านไป 1 ปี จะมีเงินเพิ่มเป็น 101 บาท เป็นต้น
แล้วถ้าเป็นดอกเบี้ยนโยบายละ มันคืออะไร ?
อัตราดอกเบี้ยนโยบายถูกกำหนดโดยธนาคารกลาง เป็นอัตราดอกเบี้ยที่สำคัญที่สุดที่จะส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจ
อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นอัตราที่ธนาคารกลางจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารพาณิชย์ที่เอาเงินมาฝาก หรือเป็นอัตราที่ธนาคารกลางเก็บดอกเบี้ยจากธนาคารพาณิชย์ที่มากู้เงิน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์คิดกับลูกค้าที่เป็นผู้กู้หรือผู้ฝากเงินต่อไป
ถามว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เงินฝากของเราอย่างไร ?
โดยปกติ เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารพาณิชย์จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ตาม และเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารพาณิชย์จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ตามเช่นกัน
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์อาจปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ไม่เท่ากับการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์
อย่างเช่น อัตราเงินเฟ้อ ปริมาณเงินฝาก ความต้องการเงินกู้ ต้นทุนดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น
แล้วการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลกับเราและเศรษฐกิจอย่างไร ?
การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายส่งผลต่อการใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งการใช้จ่ายของประชาชนจะส่งผลต่อราคาของสินค้าหรือบริการโดยรวม
ภาพจาก positioningmag
ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลอย่างไรกับเรานั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่ในฐานะเป็นผู้กู้เงินหรือผู้ฝากเงิน
กรณีอัตราดอกเบี้ยปรับลดลง
👉 หากเราเป็นผู้กู้เงิน ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายจะลดลง
👉 หากเราเป็นผู้ฝากเงิน จะได้ดอกเบี้ยเงินฝากน้อยลง
กรณีอัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น
👉 หากเราเป็นผู้กู้เงิน ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายจะเพิ่มขึ้น
👉 หากเราเป็นผู้ฝากเงิน จะได้ดอกเบี้ยเงินฝากมากขึ้น
ดังนั้น เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับลดลง ประชาชนมีแนวโน้มจะกู้เงินเพิ่มขึ้นเพราะอัตราดอกเบี้ยถูกลง และประชาชนยังมีแนวโน้มที่จะฝากเงินน้อยลง เพื่อจะนำเงินไปใช้จ่ายหรือลงทุนมากขึ้น
ในทางตรงกันข้าม เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น ประชาชนจะมีแนวโน้มกู้เงินลดลง และใช้จ่ายน้อยลง โดยการใช้จ่ายของประชาชนจะส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการต่อไป ซึ่งเข้าตามหลักการของอุปสงค์และอุปทานนั่นเอง
📌 หากประชาชนใช้จ่ายมากเกินไป ราคาสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้นสูงมาก มีผลต่อเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วและร้อนแรง อาจส่งผลให้เกิดปัญหาตามมา
เช่น เงินเฟ้อสูงขึ้นมากจนมูลค่าของเงินลดลง และทำให้ราคาสินทรัพย์ลดลงอย่างรวดเร็ว ในกรณีนี้ ธนาคารกลางอาจเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อชะลอการใช้จ่าย ช่วยให้เศรษฐกิจไม่ร้อนแรงเกินไป
📌 แต่หากประชาชนใช้จ่ายน้อยเกินไป ราคาสินค้าและบริการจะปรับตัวลดลง ทำให้เศรษฐกิจจะชะลอตัวและการจ้างงานลดลง ในกรณีนี้ ธนาคารกลางอาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวดีขึ้นอีกครั้ง
หากวิเคราะห์ในด้านของผู้ครอบครองทรัพย์สิน เช่น หุ้นหรืออสังหาริมทรัพย์ อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงทำให้ความมั่งคั่งของผู้ที่ครอบครองทรัพย์สินมีมากขึ้น เนื่องจากดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำจะทำให้ประชาชนหันมาลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า
เช่น หุ้น อสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่สินทรัพย์ดิจิทัล ทำให้ราคาของสินทรัพย์เหล่านั้นปรับตัวเพิ่มขึ้น ผู้ที่ถือครองสินทรัพย์จึงมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นตามลำดับและมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วย
ภาพจาก Pinterest
ดังนั้น หากต้องการให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย ต้องประเมินว่าคนมีแนวโน้มจะใช้จ่ายเท่าไร การผลิตสินค้าและบริการมีแนวโน้มมากหรือน้อยกว่ากำลังการผลิต แล้วจึงกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมต่อไป
อ้างอิง : ธนาคารแห่งประเทศไทย
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกๆ กำลังใจที่มีให้กันเสมอค่ะ
🌷🌷❤❤🙏🙏🙏🙏❤❤🌷🌷

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา