15 พ.ค. 2022 เวลา 14:05 • หุ้น & เศรษฐกิจ
QE คืออะไร ?
ทำไมต้องรู้ก่อนลงทุนในตลาดหุ้น
4
ปัจจุบัน QE ได้กลายมาเป็นเครื่องมือทางการเงินอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากในการบริหารจัดการทางการเงินของธนาคารกลาง ซึ่งมีส่วนช่วยผลักดันตลาดหุ้นได้อย่างหนักหน่วง และยังเพิ่มปริมาณเงินเข้าระบบเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล
QE หรือ Quantitative Easing
คือรูปแบบหนึ่งของนโยบายทางการเงิน หรือเครื่องมือด้านงบดุลอย่างหนึ่ง รับผิดชอบโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ
ซึ่งธนาคารกลางจะทำการเข้าซื้อสินทรัพย์ระยะยาวจากตลาดเสรีเพื่อเพิ่มปริมาณเงินในระบบ โดยหลักๆ เป็นพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งจะช่วยหนุนการกู้ยืมและการลงทุนต่อไป
การทำ QE มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของปริมาณเงิน จากการอัดฉีดเม็ดเงินสภาพคล่องเข้าไปในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ หรือเรามักจะได้ยินคำว่า "พิมพ์เงิน" นั่นเองค่ะ
โดยการพิมพ์เงินนั้น เพื่อเอาไปซื้อตราสารทางการเงินระยะกลาง-ยาว เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้เอกชน หรือสินทรัพย์อื่นที่อยากเข้าช่วยเป็นพิเศษ แล้วนำไปเก็บไว้ในฝั่งสินทรัพย์ ด้วยแรงซื้อที่เพิ่มขึ้นทำให้ราคาตราสารหนี้แพงขึ้นและกดให้อัตราผลตอบแทนลดต่ำลงมา
มาตรการ QE จึงเป็นเครื่องมือพิเศษเพิ่มเติมจากเครื่องมืออัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้น เพื่อลดต้นทุนการออกตราสารระยะกลาง-ยาวของรัฐบาล และสถาบันการเงิน ซึ่งจะเอื้อต่อการระดมทุนในตลาดทุน และช่วยให้ธนาคารปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำลงได้ด้วย
มาตรการนี้ จึงมักจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเสริมในยุคดอกเบี้ยต่ำที่ลำพังการลดดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นในช่วงเศรษฐกิจถดถอย
การทำ QE จะไม่ทำในช่วงที่เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง ส่วนมากจะทำในช่วงที่เกิดวิกฤติ อย่างเช่น ช่วงที่เกิดโควิดตั้งแต่ปี 2019 มาจนถึงปัจจุบัน จะเห็นว่าสหรัฐฯ ทำ QE มาอย่างต่อเนื่อง
แต่นโยบายนี้ ไม่สามารถทำได้เป็นเวลานาน เพราะต้องใช้เม็ดเงินมหาศาล แถมยังบิดเบือนระบบเศรษฐกิจทั่วโลกในระยะถัดไปได้ การทำ QE จึงต้องจบลงในช่วงหนึ่ง และกลับสู่ภาวะปกติ เพื่อรักษาสมดุลเอาไว้
การทำ QE ไม่ใช่ทุกประเทศบนโลกนี้จะสามารถทำได้ เพราะการ "พิมพ์เงิน" เพิ่มในระบบ ทำให้สมดุลของปริมาณเงินเปลี่ยนไป และผิดเพี้ยนมาก ถ้าไม่ใช่ประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งจริงๆ จะทำไม่ได้ เพราะทั่วโลกจะไม่ยอมรับค่าเงิน
ดังนั้น เราจึงมักจะเห็นเพียงแค่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ทำ QE เพราะเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับ เนื่องจาก ชาติต่างๆ ทั่วโลก นิยมใช้เงินดอลลาร์เป็นเงินทุนสำรองของประเทศ ส่วนที่นอกเหนือจากสหรัฐฯ ที่สามารถทำ QE ได้อีก ก็มีธนาคารกลางญี่ปุ่น และ ยุโรป
QE มีความสัมพันธ์กับตลาดหุ้นอย่างไร
การทำ QE คือการทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรลดลง และจะส่งผลต่อตลาดหุ้น เพราะการลงทุนในพันธบัตร ถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ (ถ้าให้ผลตอบแทนสูง ก็คงไม่มีใคร อยากลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง)
เมื่อผลตอบแทนพันธบัตรต่ำลง นักลงทุนส่วนใหญ่จึงย้ายเงินลงทุนจากสินทรัพย์ปลอดภัย ไปอยู่ในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น หรือกองทุน เพื่อรักษาผลตอบแทนไว้ ส่งผลให้ตลาดหุ้น มีสภาพคล่องมากขึ้น
QE จึงเป็นเสมือนเชื้อเพลิงให้กับตลาดหุ้นมาตลอด และที่เห็นได้อย่างชัดเจนในปี 2020 ที่ตลาดหุ้น Rebound และแทบจะเรียกได้ว่าวิ่งไปพร้อมๆ กับ QE ได้เลย
นอกจากนั้น QE ยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้หุ้นเติบโต (Growth stock) เอาชนะหุ้นคุณค่า (Value stock) ได้อย่างขาดลอย จากการซื้อสินทรัพย์ที่ช่วยกดให้อัตราดอกเบี้ยต่างๆ ต่ำเตี้ยเรี่ยดินจนทำให้มูลค่าหุ้นเติบโตก้าวกระโดด และทำให้โลกเข้าสู่ยุคของการลงทุนในหุ้นที่เปลี่ยนแปลงไป
และเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศจะลดการทำ QE ลง นักลงทุนส่วนใหญ่ ก็จะมีอาการเป็นกังวล เพราะจะทำให้ปริมาณเงินส่วนเกินของ QE ที่เคยไหลเข้าตลาดหุ้นก่อนหน้านี้หายไป ซึ่งจะส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดหุ้นลดลงด้วย
 
นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม นักลงทุนจึงเกิดความกังวลเกี่ยวกับท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะลด QE เพราะ ตลาดหุ้นจะขาดปัจจัยหนุนนั่นเอง
Cr. BOT
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกๆ กำลังใจที่มีให้กันเสมอค่ะ
🌷🌷❤❤🙏🙏🙏🙏❤❤🌷🌷

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา