11 พ.ค. 2022 เวลา 09:05 • ประวัติศาสตร์
⭐สงครามโลกครั้งที่ 1 ตอนที่ 1
✨ปฐมบทของสงครามโลกครั้งที่ 1
ต้นเหตุที่แท้จริงของสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้นถูกถกเถียงกันโดยนักประวัติศาสตร์มาเป็นศตวรรษ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่มีผลกระทบโดยตรงหรือทางอ้อม อย่างไรก็ตามในการพยายามที่จะระบุหรือหาต้นเหตุที่แท้จริงของสงครามโลก นักประวัติศาสตร์มากมายหลายท่านได้พยายามที่จะใช้วิธีการเรียงลำดับเหตุการณ์และเขียนคำบรรยายที่มีรายละเอียดอันซับซ้อน
หรือบางท่านก็เลือกที่จะเรียงลำดับเหตุการณ์ตามความสำคัญหรือจากผลกระทบน้อยไปจนมาก ข้อเสียของวิธีการนี้ก็คือ ผู้อ่านไม่สามารถเข้าใจหรือนึกถึงภาพของความซับซ้อนทางการเมืองและเศรษฐศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 และมักจบลงด้วยการพูดถึงเฉพาะเหตุการณ์ที่เป็นเชือกฝางเส้นสุดท้ายก่อนนำไปสู่สงครามโลก
หรือบางท่านก็มองต่างออกไปอย่างเช่น ศาสตราจารย์ ซิดนีย์ บี. เฟย์ ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Prof. Sidney B. Fay - Harvard University) ท่านได้เขียนในหนังสือ ‘ที่มาของสงครามโลก’ (The origins of the world war) ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1928 ว่าเหล่าประเทศมหาอำนาจทั้งหมดนั้นล้วนมีความผิดไม่มากก็น้อย ว่าสงครามเกิดขึ้นจากการสร้างระบบพันธมิตร การแข่งขันสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์และการทูตลับ
แทนที่จะโทษประเทศใดประเทศเดียว ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสาเหตุของสงครามโลกครั้งที่ 1 ถึงกระนั้นเหตุผลที่แท้จริงก็ยังคงไม่ตายตัวและเป็นที่ถกเถียงกันจนถึงทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นก่อนที่เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสงครามโลกและผลกระทบของมัน เราจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและสภาพแวดล้อมของโลกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 - 20 (Strachan, The First World War: To Arm, 2003, #25-26)
1
ภาพถ่ายของโรงงานและอุตสาหกรรม
⭐การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution)
1
ยุโรปได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ตลอดระยะเวลาสามร้อยถึงสี่ร้อยปีก่อน ค.ศ. 1914 อันเป็นผลต่อเนื่องจากการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรม เทคโนโลยีและการแพทย์ นักประวัติศาสตร์เรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า ‘การปฏิวัติอุตสาหกรรม’ (Industrial Revolution) และยังสามารถแบ่งออกได้เป็นสองครั้ง
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกเริ่มต้นที่อังกฤษและกระจายไปทั่วทุกมุมโลกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยมีจุดกำเนิดมาจากเทคโนโลยีเครื่องจักรไอน้ำที่นำมาใช้สำหรับการปั่นทอผ้าฝ้ายในโรงงานและการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหมืองแร่
ซึ่งภายหลังเครื่องจักรไอน้ำได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง โดยที่มิได้ใช้แค่เพียงในโรงงานอีกต่อไปแต่ยังรวมไปถึงยานพาหนะในการคมนาคมอย่างเช่นรถไฟและเรือเป็นต้น (Winter, V1, 2013, หน้าที่#37-39) (History.com Editors, 2019)
ภาพถ่ายของผู้หญิงที่กำลังทำงานในบริษัทขนสัตว์ของอเมริกันที่เมืองบอสตั้นปี ค.ศ. 1912 Library of Congress, Washington, D.C. (cph 3c22840)
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สองเริ่มต้นในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 แต่นักประวัติศาสตร์นั้นกลับมองว่าบทบาทของการพัฒนาวิศวกรรมเคมี อุตสาหกรรมยานยนต์ และวิศวกรรมไฟฟ้ากับวิศวกรรมที่ไม่ใช่ไฟฟ้าเป็นแรงขับเคลื่อนในการปฏิวัติครั้งนี้ สำหรับการปฏิวัติทั้งสองครั้งนี้ พึงระลึกไว้เสมอว่าการผลิตสินค้าอะไรก็ตามมักเริ่มต้นขึ้นในหน่วยงานที่มีขนาดเล็ก ซึ่งหลายแห่งเริ่มจากห้องทำงานของช่างฝีมือ
อย่างไรก็ตามหลังจากการสิ้นสุดของศตวรรษที่ 19 เกิดการขยายตัวอันรวดเร็วของเศรษฐกิจที่นำไปสู่อุตสาหกรรมและบริษัทขนาดใหญ่ที่มีคนงานจำนวนนับแสน ด้วยจำนวนของคนงานที่เพิ่มอย่างมหาศาลก็นำมาสู่การคัดสรรคนและค้นหาบุคลากรคุณภาพอย่างเช่นนักวิทยาศาสตร์และนายแพทย์ (Winter, V1, 2013, หน้าที่#37-39) (Niiler, 2019) (History.com Editors, 2019)
ภาพวาดเครื่องจักรของ ริชาร์ด ฮาร์ดแมน (Richard Hartmann) ที่เคมนิทซ์ในปี ค.ศ. 1868
ภาพถ่ายของคนงานกำลังประกอบรถยนต์แบรนด์ ซีตรอง (Citroën) 10 แรงม้า ในปี ค.ศ. 1918
ผลกระทบอันดับแรกของการปฏิวัติอุตสาหกรรมก็คืออัตราของจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ทันสมัยอย่างอังกฤษและเยอรมนี อันที่จริงแล้วประชากรของยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 400 ล้านคนในเวลาเพียงแค่สามสิบปี ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจจากเกษตรกรรมกลายมาเป็นอุตสาหกรรม
นอกจากนี้การขยายตัวของอุตสาหกรรมและความเป็นเมืองยังทำให้สังคมในยุโรปเกิดความมั่นคงทางผลผลิต ความก้าวหน้าทางการแพทย์ และการเจริญเติบโตของจำนวนประชากร (Winter, V1, 2013, #37-39) (Beckett, 2007, #4-5)
ผลกระทบอันดับที่สองก็คือการขยายตัวของสังคมเมือง ผู้คนจำนวนมากจากชนบทย้ายเข้ามาพักอาศัยอยู่ในเมือง โดยการอพยพเหล่านี้เกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ผู้คนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ตามชนบทต่างก็ละทิ้งการงานแบบเกษตรกรรมและมุ่งหน้าเข้าเมืองเพื่อหวังจะทำงานแบบอุตสาหกรรมที่มีสภาพการทำงานและค่าแรงที่ดีกว่า นอกจากนี้มันยังส่งผลให้เกิดอาชีพใหม่อย่างแพร่หลาย
โดยที่ชนชั้นกลางและนักการเงินได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นแต่คุณภาพชีวิตในเมืองนั้นกลับไม่ได้ดีขึ้นตามเสียเลย อัตราการขยายตัวของจำนวนประชากรที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็หมายความว่ามีพื้นที่ในการอยู่อาศัยลดน้อยลงตามเช่นกัน ซึ่งบางชุมชนก็ได้กลายมาเป็นชุมชนที่แออัดและเต็มไปด้วยชนชั้นแรงงาน
โดยเฉลี่ยแล้วครอบครัวส่วนใหญ่มีลูกประมาณสามถึงสี่คนและก็ยังคงพักอาศัยอยู่ตามห้องอพาร์ทเม้นท์ที่คับแคบ ระบบสาธารณสุขนั้นก็ยากที่จะเข้าถึงหรือบางครั้งก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินกว่าชนชั้นแรงงานจะเอื้อมถึง (Winter, V1, 2013, หน้าที่#37-39) (History.com Editors, 2019)
ผลกระทบอันดับที่สามก็คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม ในเวลาเดียวกันการขยายตัวของอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจยังสร้างการแบ่งแยกระบบชนชั้นวรรณะอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง และชนชั้นแรงงาน มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะข้ามจากสถานะหรือชนชั้นหนึ่งไปยังอีกชนชั้นหนึ่ง
นอกจากนี้ยังเกิดการเติบโตของระบบราชการทั้งในระดับภูมิภาคและระดับชาติ ระบบการศึกษาชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา อุดมศึกษา อ้างอิงจากแหล่งข้อมูล Beckett: ในปี ค.ศ. 1850 จำนวนของผู้ที่ไม่สามารถอ่านออกหรือเขียนได้อยู่ที่ประมาณครึ่งหนึ่ง แต่จำนวนเหล่านี้จะลดลงไปอยู่ที่ประมาณ 10% เมื่อถึงปี ค.ศ. 1930
ดังนั้นสภาพแวดล้อมก่อนปี ค.ศ. 1914 ของยุโรปจึงถูกแบ่งแยกอย่างเข้มงวดมากทั้งในแง่ของทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (Winter, V1, 2013, หน้าที่#37-39) (Beckett, 2007, หน้าที่#4-5) (Fig. 1)
บรรณานุกรม
โฆษณา