11 พ.ค. 2022 เวลา 13:22 • ประวัติศาสตร์
⭐สงครามโลกครั้งที่ 1 ตอนที่ 4
✨ลัทธิล่าอาณานิคมและลัทธิจักรวรรดินิยม
โปสเตอร์ของ ซีซิ่ล จอห์น โร้ดส์ (Cecil John Rhodes) นายกรัฐมนตรีชาวอังกฤษประจำอาณานิคมเคป (Cape Colony) กำลังยืนอยู่บททวีปแอฟริกาหลังจากที่ท่านได้ประกาศว่าจะมีการสร้างสายโทรเลขและทางรถไฟจากเคปทาวน์ (Cape Town) ไปยัง ไคโร (Cairo)
เรายังสามารถกล่าวได้อีกด้วยว่าหลังจากที่ผู้คนในประเทศได้เริ่มหันมาให้การสนับสนุนกับลัทธิชาตินิยมนี้แล้ว ผลต่อเนื่องจากชาตินิยมนี้ก็คือลัทธิจักรวรรดินิยม การล่าอาณานิคมถูกมองว่าเป็นอีกวิธีการหนึ่งในการหลีกเลี่ยงความตึงเครียดทางสังคม ทางรัฐบาลสัญญาว่าจักรวรรดินิยมนั้นจะนำทั้งความมั่งคั่งและความยิ่งใหญ่มาสู่ประเทศของตน
ส่งผลให้ชาติตะวันตกมีข้ออ้างอันชอบธรรมในการเข้ายึดอาณานิคมทั่วโลก โดยใช้หลักการทฤษฎีดาร์วินทางสังคมอ้างว่าเป็นสิทธิของคนผิวขาวที่จะต้องนำอารยธรรมและความเจริญรุ่งเรืองไปสู่ดินแดนอันล้าหลัง เช่นเดียวกับทฤษฎีดาร์วินทางสังคมการเหยียดสีผิวหรือชนชาติยังเข้ามามีบทบาทในการแสวงหาอาณานิคมด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้แล้วการขยายตัวของอุตสาหกรรมยังทำให้เครื่องจักรต้องใช้วัตถุดิบและทรัพยากรจากธรรมชาติเพื่อนำมาป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงงานที่มากมาย และการขยายตัวของตลาดเพื่อระบายสินค้าไปทั่วโลก เป็นเหตุให้เกิดการแข่งขันกันล่าอาณานิคมหรือแสวงหาผลประโยชน์จากประเทศที่ด้อยกว่าในทวีปแอฟริกาและเอเชีย (Sondhaus, World War One, 2020, #40-41) (Wesseling, 2004, #180-183)
ในศตวรรษที่ 16 อังกฤษเริ่มก่อตั้งอาณานิคมโพ้นทะเล ย่างเข้าศตวรรษที่ 18 บริเตนได้สร้างอาณาจักรขนาดใหญ่ที่มีอาณานิคมทั้งในทวีปอเมริกาและบริเวณพื้นที่แถบอินเดียตะวันตก ถึงกระนั้นนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ก็ยังคงมองว่าจักรวรรดินิยมสมัยใหม่เริ่มต้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อเหล่ามหาอำนาจในยุโรปเริ่มล่าอาณานิคมทั่วโลก อันเป็นเหตุให้นำไปสู่เหตุการณ์ ‘การแย่งชิงแอฟริกา’ (Scramble for Africa)
ภาพวาดการ์ตูนล้อเลียนของฝรั่งเศสที่ถูกวาดขึ้นในปี ค.ศ. 1885 กำลังสื่อให้เห็นว่าอัครมหาเสนาบดีเยอรมนี ออตโต ฟอน บิสมาร์คกำลังแบ่งทวีปแอฟริกาให้กับเหล่าประเทศมหาอำนาจในยุโรป
ภาพวาดการประชุมแห่งเบอร์ลิน (Berlin Conference)
ส่งผลให้อัครมหาเสนาบดีเยอรมนี ออตโต ฟอน บิสมาร์ค (Otto Von Bismarck) ได้จัดตั้ง ‘การประชุมแห่งเบอร์ลิน’ (Berlin Conference) ในปี ค.ศ. 1884 - 1885 มันคือสถานที่ที่เหล่ามหาอำนาจมารวมตัวกันเพื่อประชุมเกี่ยวกับการกระจายดินแดนในแอฟริกา กษัตริย์เลโอโปลด์ที่ 2 แห่งเบลเยียมผู้ซึ่งเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมทางการทูต สามารถเจรจายึดครองดินแดนลุ่มแม่น้ำคองโกขนาดมหึมาที่มีทรัพยากรแร่ธาตุมากมายมาได้
ภาพถ่ายของชาวคองโดที่ถูกตัดมือในปี ค.ศ. 1900  จากการทารุณกรรมภายใต้การปกครองของกษัตริย์เลโอโปลด์ที่ 2 แห่งเบลเยียม (Leopold Ⅱ of Belgium)
ในปีเดียวกันนั้นเองเยอรมนีและอิตาลีก็เริ่มต้นการล่าอาณานิคมด้วยเช่นกัน ฝรั่งเศสยังได้เข้ายึดครองอาณานิคมส่วนใหญ่ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1880 ต่อมาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ประเทศนอกยุโรปเช่นญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ก็เริ่มมีส่วนร่วมในการล่าอาณานิคมด้วยเช่นกัน
Thomas & Branko & Suresh อธิบายว่า ต่อมาในปี ค.ศ. 1913 พื้นที่ประมาณ 53.66% ของพื้นผิวโลกยังคงเป็นเอกราชอยู่ ส่วนสหราชอาณาจักรปกครองประมาณ 22.27% ของพื้นผิวโลก ส่วนฝรั่งเศสปกครองประมาณ 8.68% และเยอรมนีประมาณ 2.61% (Winter, V1, 2013, #40-41) (Wesseling, 2004, #11-12) (Hauner & Milanovic & Naidu, 2017, #13-14) (Beck, Imperial, 2017) (Berghahn, 2009, #15-19) (BBC. Editor, British Empire, n.d.)
ลัทธิจักรวรรดินิยมนี้ทำให้ชาติมหาอำนาจทั้งหลายขัดแย้งด้านผลประโยชน์และแข่งขันกันแสวงหาผลประโยชน์จากกันและกัน มากไปกว่านั้นเหล่าประเทศมหาอำนาจยังได้ทำการแข่งขันและแย่งชิงอาณานิคมเพื่อขยายจักรวรรดิของตน ซึ่งแน่นอนว่ามันส่งผลทั้งทางด้านการทูตและการเมืองของแต่ละประเทศเป็นแน่แท้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศสและอังกฤษในเรื่องการแย่งชิงอาณานิคมในภูมิภาคแอฟริกาและเอเชีย อังกฤษกับรัสเซียในเรื่องดินแดนของตะวันออกกลาง อย่างเช่นกรุงคอนสแตนติโนเปิลและเปอร์เซีย รัสเซียกับญี่ปุ่นในทวีปเอเชียเรื่องพื้นที่ในเกาหลีและแมนจูเรีย ฝรั่งเศสกับอิตาลีในพื้นที่แถบแอฟริกาเหนือเป็นต้น บรรยากาศทางการเมืองของโลกต้องเข้าสู่ภาวะวิกฤตที่นำไปสู่สงครามในที่สุด (Clark, 2014, #171-172)
แผนที่โลกในปี ค.ศ. 1914
บรรณานุกรม
โฆษณา