11 พ.ค. 2022 เวลา 09:29 • ประวัติศาสตร์
⭐สงครามโลกครั้งที่ 1 ตอนที่ 3
✨ลัทธิชาตินิยมและลัทธิทหารนิยม
ภาพถ่ายของกรมทหารม้าเยอรมันระหว่างขบวนแห่ไคเซอร์ ในการซ้อมรบของปี ค.ศ. 1899  ขอขอบคุณรูปภาพจาก: IWM HU 68423
ในทศวรรษก่อนที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น ประเทศในยุโรปต่างก็พยายามที่จะขยายกองทัพของตนเองและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นผลมาจากลัทธิชาตินิยมที่ได้แพร่กระจายไปทั่วยุโรป
อ้างอิงจาก Sondhaus (World War One): หนึ่งปีก่อนที่สงครามโลกจะเกิดขึ้น ฝรั่งเศสได้ทำการเพิ่มขนาดกองทัพประจำการยามสงบเป็น 700,000 นาย เทียบกับเยอรมนี 890,000 นาย และเพิ่มเวลารับราชการทหารเป็นสามปีเพื่อทดแทนกำลังทหารที่น้อยกว่าเยอรมนี เทียบกับเยอรมนีที่รับราชการทหารเพียงแค่สองปี
กรมทหารราบเยอรมันที่ 138  กำลังหมอบลงกับพื้นในเครื่องแบบเต็มยศระหว่างการซ้อมรบปี ค.ศ. 1899  (IWM HU 68428)
นอกจากนี้ฝรั่งเศสยังเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมถึง 36 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณชาติ เทียบกับเยอรมนีที่ใช้งบประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ไม่เพียงแค่นั้นแต่มันยังส่งผลให้เกิดความบาดหมางระหว่างประเทศเยอรมนีกับอังกฤษที่พยายามแข่งขันสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์
เรายังสามารถกล่าวได้อีกว่าลัทธิชาตินิยมคือหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยตามมาด้วยลัทธิทหารนิยม จักรวรรดินิยม และท้ายที่สุดก็คือระบบพันธมิตร (Beck, Nationalism, 2017) (Sondhaus, World War One, 2020, #36-37)
ลัทธิชาตินิยมนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการรวมชาติอย่างเยอรมนีและอิตาลีขึ้นมา ลัทธิชาตินิยมคืออุดมการณ์ที่สร้างและรักชาติซึ่งมักจะมองว่าชาติของตนจะต้องมาเป็นอันดับหนึ่งก่อนเสมอ โดยที่ประชากรส่วนใหญ่ของแต่ละประเทศนั้นมักจะมองว่าชาติของตนเองมีความยิ่งใหญ่อยู่เหนือประเทศอื่นใด เยอรมนีมองว่าชาติของตนอยู่เหนืออังกฤษ ฝรั่งเศส หรืออิตาลี
เฉกเช่นเดียวกับที่อิตาลี ฝรั่งเศส และ บริเตนวางตนเองเหนือชาวเยอรมัน ในทำนองเดียวกัน ชาวฮังกาเรียนหรือชาวโปแลนด์เชื่อว่าตนเองนั้นอยู่เหนือกว่าประเทศรอบข้าง และเมื่อเป็นเช่นนี้ก็ส่งผลให้ประชาชนในประเทศต่างๆเริ่มคิดว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ประเทศของตนจะต้องรักษาผลประโยชน์และแสวงหาผลประโยชน์จากชาติอื่นๆ (Beck, Nationalism, 2017) (Berghahn, 2009, #17-18)
กล่าวคือลัทธิชาตินิยมนั้นถือเป็นพลังและเส้นด้ายอันเล็กๆที่รวมชาติเข้าด้วยกัน ช่วยให้เกิดประเทศในยุโรปอย่างเป็นตัวเป็นตน เสริมสร้างรัฐบาลและการปกครองของแต่ละประเทศให้มั่นคงและแข็งแกร่ง โดยยังมีอาณาเขตการปกครองที่แน่ชัด
แต่ถึงกระนั้นมันก็ยังคงเป็นหนึ่งในพลังทำลายล้างด้วยเช่นกัน เพราะหลังจากที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น ผู้คนมากมายหลายล้านคนต่างก็ไม่ยอมที่จะให้ชาติตัวเองต้องยอมรับกับความพ่ายแพ้และมุ่งหน้าสู่การทำลายล้างยุโรปและทั้งโลกในปี ค.ศ. 1914
สัญลักษณ์ที่สำคัญที่สุดสำหรับการตัดสินว่าประเทศใดแข็งแกร่งกว่าประเทศใดในยุโรปหามิใช่เงินตราหรือระบบเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งแต่กลับกลายเป็นกองทัพที่น่าเกรงขาม เป็นผลให้แต่ละประเทศในยุโรปต่างก็พยายามที่จะแสวงหาผลประโยชน์จากประเทศอื่นและขยายขนาดกองทัพของตนเอง
พลเรือเอกอังกฤษ เซอร์ จอห์น ฟิชเชอร์ ดำรงตำแหน่งเฟิร์สซีลอร์ด หรือ ผู้บัญชาการทหารเรือ (First Sea Lord - Sir John Fisher) เป็นมันสมองของโครงการสร้างเรือรบเดรดนอท เรือประจัญบานเดรดนอทถูกวางกระดูกงูในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1905 และเข้าประจำการในปี ค.ศ. 1906
พลเรือเอกอังกฤษ เซอร์ จอห์น ฟิชเชอร์ ดำรงตำแหน่งเฟิร์สซีลอร์ด หรือ ผู้บัญชาการทหารเรือ (First Sea Lord - Sir John Fisher)
ภาพถ่ายของเรือประจัญบาน เฮช.เอ็ม.เอส เดรดนอท (H.M.S. Dreadnought) IWM Q 74894
เรือรบลำนี้ได้ปฏิวัติสงครามทางทะเลไปตลอดกาล เรือลำนี้ถือเป็นเรือรบชนิดใหม่และทำให้เรือก่อนหน้าทุกลำต้องล้าสมัยในทันที เช่นเดียวกับอาวุธนิวเคลียร์ในภายหลังของศตวรรษที่ 20
เรือรบชั้นเดรดนอทได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ของชาติ และประเทศใดก็ตามที่สามารถต่อเรือชั้นเดรดนอทขึ้นมาเองได้ก็จะถูกยอมรับว่าเป็นประเทศมหาอำนาจอันดับต้นๆของโลก (Sondhaus, World War One, 2020, #35-36) (Winter, V1, 2013, #51-52)
บรรณานุกรม
โฆษณา