18 พ.ค. 2022 เวลา 10:50 • ประวัติศาสตร์
“ออตโตมัน (Ottoman)” ปราการแห่งโลกตะวันตกและตะวันออก
ชาตินิยม (Nationalism) เป็นอุดมการณ์ที่ขับเคลื่อนให้เกิดการแบ่งเขตแดนตามชาติพันธุ์ต่างๆ ขึ้น และในช่วงศตวรรษที่ 19-20 เป็นช่วงเวลาที่ชาตินิยมได้ก่อตัวและเปลี่ยนแปลงดินแดนต่างๆ อย่างรุนแรงที่สุด
การรวมตัวของอาณาจักรเล็กๆ...
การแตกแยกของจักรวรรดิขนาดใหญ่...
การปฏิวัติของชาติมหาอำนาจ...
ล้วนเป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการครอบคลุมของชาตินิยม
และหนึ่งในดินแดนที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างหนักหน่วงที่สุดคือดินแดนในตะวันออกกลางซึ่งเป็นการแตกแยกของจักรวรรดิขนาดใหญ่...
1
จักรวรรดินี้เป็นพื้นที่อันอุดมหลากหลายไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์...
จักรวรรดินี้เป็นจุดศูนย์กลางการปะทะกันของทั้งกระแสการเมือง การค้า ความเชื่อ และวิทยาการ...
การปะทะกันทำให้เกิดความหลากหลายขึ้นในจักรวรรดิ และเมื่อชาตินิยมได้เดินทางมาถึง ความเปลี่ยนแปลงจึงเริ่มเกิดขึ้นอย่างรุนแรง...
ไบแซนไทน์...
ชนชาติเติร์ก...
ครูเสด...
สุลต่าน...
การปฏิวัติยังเติร์ก...
ลอเรนซ์แห่งอาระเบีย...
มหาสงคราม...
การเกิดชาติต่างๆ ในอาหรับ...
ความขัดแย้งอันไร้ที่สิ้นสุด...
และนี่ คือเรื่องราวของจักรวรรดิที่เป็นปราการแห่งโลกตะวันตกและตะวันออก ภายใต้ชื่อ "ออตโตมัน (Ottoman)"
1
โปรดนั่งลงเถิดครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง...
1
เรามาเริ่มที่การทำความรู้จักกับตัวละครหลักที่ชื่อว่า "เติร์ก (Turks)" กันก่อนดีกว่า...
โดยชนชาติที่เรียกว่าเติร์กมีพื้นเพดั้งเดิมอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะแถบไซบีเรียตอนกลางและแมนจูเรียของจีน
2
หากดูพื้นที่จะเห็นว่าอยู่ใกล้กับชนชาติมองโกล ทำให้มีวิถีชีวิตคล้ายๆ กันคือเป็นพวกเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนตามทุ่งหญ้า
เติร์กบางพวกเร่ร่อนอยู่ทางตอนเหนือของจีน ซึ่งที่เด่นๆ คือพวกซงหนู ที่จีนมองว่าเป็นคนเถื่อนแล้วสร้างกำแพงเมืองจีนป้องกันการบุกของพวกนี้นี่แหละ...
2
หรือบางพวกก็เดินทางไปจนถึงเอเชียกลางแล้วมีการสร้างเมืองเป็นหลักเป็นแหล่ง แต่สิ่งก่อสร้างลอกแบบมาจากเปอร์เซียเป็นส่วนใหญ่ เลยยังไม่ค่อยมีความเป็นตัวเองเท่าไหร่
2
คราวนี้พอศาสนาอิสลามได้เกิดขึ้นและเริ่มนิยมในตะวันออกกลาง เหล่าเติร์กที่อยู่ข้างบ้านก็รับเอาความเชื่อแบบอิสลามเข้ามาด้วยกลายเป็นมุสลิมกันเกือบ 90%
2
แต่ถึงแม้จะเป็นมุสลิมไปแล้ว แต่จิตวิญญาณของเติร์กที่ชอบเร่ร่อนผจญภัยก็ยงคงอยู่ อีกทั้งยังมีความคล้ายมองโกลในเรื่องของเลือดนักสู้ที่โหดร้ายดิบเถื่อนไม่ปรานีศัตรู อาหรับเลยต่างรับรู้ว่า "เติร์กเป็นมุสลิมหัวรุนแรง"
3
ในเวลาต่อมามีเติร์กกลุ่มหนึ่งคือ "เซลจุก (Seljuks)" ก็เริ่มขยายเขตของตัวเองออกไป ตีอาณาจักรต่างๆ ในอาหรับ ซึ่งเผอิญว่าดันไปยึดเมืองๆ หนึ่งเข้าชื่อว่า "เยรูซาเล็ม (Jerusalem)"
1
โดยเยรูซาเล็มเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางจิตวิญญาณของ 3 ศาสนา คือ ยิว คริสต์และอิสลาม ซึ่งก่อนที่เติร์กจะเข้ามา เมืองนี้เปิดให้คนจากทั้ง 3 ศาสนาเข้ามาแสวงบุญได้แบบเสรี
แต่พอเซลจุกเติร์กยึดเยรูซาเล็มได้ ก็ขับไล่ทั้งชาวยิวและชาวคริสต์ออกไป พร้อมบอกว่า "เมืองนี้เฉพาะมุสลิมเท่านั้น!"
ความซ่าของเซลจุกยังไม่หมดเพียงแค่นั้น เพราะนอกจากจะเคลมเยรูซาเล็มแล้ว ก็ยังบล็อกเส้นทางการค้าในปาเลสไตน์และเอเชียไมเนอร์ เซนเซอร์ชาวยุโรปไม่ให้เข้ามาค้าขายในแถบนี้ และในเวลาต่อมาก็ยกทัพเข้าล้อมคอนสแตนติโนเปิล ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวรรดิไบแซนไทน์ (โรมันตะวันออก)
ทั้งเรื่องเยรูซาเล็ม เส้นทางการค้า และการล้อมคอนสแตนติโนเปิล ทำให้คนยุโรปโกรธพวกเติร์กมุสลิมแบบสุดขีด สันตะปาปาและศาสนจักรเลยปลุกระดมคนยุโรปทำสงครามเพื่อแย่งทุกสิ่งทุกอย่างกลับคืนมากลายเป็นสงครามครูเสด (Crusade war) ขึ้นมานั่นเอง..
4
ภาพจาก ResearchGate (การอพยพของเติร์ก)
ภาพจาก Wackoid (ชนเผ่าซงหนู)
ภาพจาก Wallpaper Printed (เยรูซาเล็ม)
ภาพจาก VisitLocalTurkey (คอนสแตนติโนเปิล)
ภาพจาก WallpaperSafari (สงครามครูเสด)
สงครามครูเสดเป็นความขัดแย้งทางศาสนาที่กินระยะเวลายาวนานกว่า 200 ปี ซึ่งผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ แต่สุดท้ายฝ่ายที่ได้ทั้งเยรูซาเล็มและเส้นทางการค้าไปครองคือมุสลิม
1
แต่ในช่วงท้ายๆ ของสงครามครูเสดนั้น ได้เกิดมหาอำนาจอีกฟากหนึ่งคือมองโกล โดยเติร์กและอาหรับก็ดันไปมีปัญหาบาดหมางเข้า ทำให้เจอทัพมองโกลเข้ากวาดล้างจนเหี้ยน
คราวนี้ทั้งเติร์กและอาหรับก็อยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิมองโกลอยู่เกือบ 100 ปี ก่อนที่มองโกลจะดรอปลงไป ดินแดนที่ใหญ่โตมโหฬารในตะวันออกกลางก็แตกออกเป็นอาณาจักรต่างๆ ของทั้งอาหรับและเติร์ก
ซึ่งเหล่าเซลจุกเติร์กก็มีผู้นำที่ชื่อว่า "ออสมาน (Osman)" สร้างอาณาจักรในแถบอนาโตเลีย (ตุรกีปัจจุบัน) แล้วยึดเมืองบัซราเป็นศูนย์กลางอำนาจ ตั้งราชวงศ์ของตัวเองขึ้นมาคือ "ออตโตมัน (Ottoman)" ในปี 1326
2
แต่ในแถบอนาโตเลียที่ว่านั้นยังคงมีไบแซนไทน์เป็นมาเฟียใหญ่ขวางคอออตโตมันอยู่ แต่ความได้เปรียบของออตโตมันที่คุมเส้นทางการค้าในแถบอนาโตเลียและอาหรับทำให้มีเงินทุนมาพัฒนากองทัพ แล้วเข้ายึดอาณาจักรต่างๆ ในอนาโตเลียได้ทั้งหมด ทำให้ไบแซนไทน์เริ่มอ่อนแอถึงขีดสุด
2
และแล้ว ในปี 1453 ออตโตมันก็จัดการเผด็จศึกล้อมคอนสแตนติโนเปิลที่เป็นศูนย์กลางอำนาจของไบแซนไทน์เอาไว้
1
คอนสแตนติโนเปิลที่อ่อนแอเจอกับออตโตมันที่เริ่มพีคทำให้เมืองซึ่งเป็นมหาอำนาจของยุโรปกว่าพันปีล่มสลายลงในที่สุด
1
การแตกของคอนสแตนติโนเปิลถือเป็นจุดจบของจักรวรรดิไบแซนไทน์ คนจากคอนสแตนติโนเปิลพากันอพยพหนีตายและนำพาวิทยาการต่างๆ เข้าไปในยุโรปด้วย ซึ่งเป็นตัวเร่งให้ยุโรปเข้าสู่การฟื้นฟูศิลปวิทยาการนั่นเอง
5
ส่วนคอนสแตนติโนเปิล (ภายหลังคืออิสตันบูล) ก็ถูกเหล่าเติร์กเข้ายึดครองแล้วสร้างให้เป็นศูนย์กลางอำนาจของออตโตมัน และหลังจากนั้นก็ยังยกทัพแผ่อำนาจไปไม่รู้จักหยุดหย่อนไม่ว่าจะทางตะวันตกที่เข้าสู่ยุโรปยึดอาณาจักรแถบคาบสมุทรบอลข่านและฮังการี...
ทางใต้ก็ยึดทั้งอียิปต์ ลิเบีย และโมร็อกโก...
และทางตะวันออกก็ยึดคาบสมุทรอาระเบียและเปอร์เซีย...
การได้ดินแดนที่ใหญ่โตขนาดนี้ทำให้ออตโตมันกลายเป็นมหาอำนาจที่น่าเกรงขามมากที่สุดในช่วงศตวรรษที่ 15-17 และกลายเป็นจักรวรรดิที่มีดินแดนกว้างใหญ่ที่สุดในยุคสมัยนั้น
2
ซึ่งการครอบคลุมดินแดนที่กินพื้นที่ 3 ทวีปทั้งยุโรป แอฟริกา และเอเชีย โดยมีอนาโตเลียเป็นใจกลาง ทำให้ทั้งประชากร วัฒนธรรม และความเชื่อของจักรวรรดิมีความหลากหลายมาก
2
และความหลากหลายนี้นี่แหละครับ จะกลายเป็นคมดาบที่หันเข้ามาทิ่มแทงออตโตมันเมื่อกระแสของชาตินิยมได้ก่อเกิดขึ้นบนโลก...
4
ภาพจาก Mongolianz (ทัพมองโกล)
ภาพจาก India map (พื้นที่อำนาจของจักรวรรดิมองโกล)
ภาพจาก Greek Herald (ออตโตมันตีคอนสแตนติโนเปิล)
ภาพจาก World Atlas (พื้นที่อำนาจของจักรวรรดิออตโตมัน)
อย่างที่ผมได้เล่าไปครับ ด้วยไซต์ของจักรวรรดิที่ใหญ่โตมาก ทำให้มีกลุ่มคนหลากหลายอยู่ใต้การปกครองของออตโตมันไม่ว่าจะเป็นเติร์ก ตาตาร์ เคิร์ด อาหรับ บอสเนียน เบอร์เบอร์ อัลเบเนียน กรีก สลาฟ ยิว ฯลฯ แต่โดยส่วนใหญ่ของประชากรเหล่านี้เป็นมุสลิม จะมีคริสต์และยูดายอยู่บ้างประปราย
2
ซึ่งหากดูสัดส่วนจริงๆ แล้ว ชนชั้นนำที่ปกครองจักรวรรดิคือเติร์ก แต่ประชากรส่วนใหญ่นั้นเป็นอาหรับ แต่ด้วยความที่นับถืออิสลามเหมือนกัน ทำให้ไม่ค่อยมีการต่อต้านจากอาหรับ จักรวรรดิเลยมั่นคงมาตลอดเกือบ 500 ปี
1
โดยการปกครองของออตโตมันนั้นจะรวมอำนาจอยู่ที่สุลต่าน ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างของจักรวรรดิจะถูกกำหนดโดยสุลต่านและชนชั้นนำไม่กี่คน
ในช่วงที่ออตโตมันเริ่มตั้งไข่โดยขยายอำนาจกลายเป็นจักรวรรดิคือช่วงที่สุลต่านเข้มแข็งและมีการปกครองค่อนข้างมั่นคง
แต่หลังจากออตโตมันอยู่จุดสูงสุด สุลต่านองค์ต่อๆ มา สนใจสร้างแต่ฮาเร็มและหมกมุ่นอยู่แต่ในนั้นไม่เป็นอันทำการทำงาน อำนาจการปกครองเลยตกไปอยู่กับขุนนาง รวมถึงมีการแย่งชิงอำนาจกันในราชสำนักอย่างดุเดือด
3
ความเปราะบางของออตโตมันนั้นเกิดขึ้นพร้อมๆ กับยุโรปเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ทำให้ชาติต่างๆ ต้องเริ่มกำหนดเส้นเขตแดนที่ชัดเจนของตัวเอง ซึ่งนำไปสู่การเกิดลัทธิชาตินิยม ที่ต้องการรวมชนชาติของตัวเองเข้ามาไว้ในเส้นเขตแดนเดียวกัน...
2
การรวมชาติต่างๆ ก็เริ่มเกิดขึ้นทั้งฝรั่งเศส เยอรมัน ออสเตรีย-ฮังการี ฯลฯ
กระแสชาตินิยมก็เริ่มไหลเข้าสู่คาบสมุทรบอลข่านที่เป็นดินแดนของออตโตมัน ทำให้ประชากรส่วนใหญ่โดยเฉพาะสลาฟเริ่มตั้งคำถามกับการปกครองของสุลต่านออตโตมันว่า "ทำไมเราต้องอยู่ใต้การปกครองของเติร์ก ในเมื่อเราไม่ใช่เติร์ก..."
2
มหาอำนาจในยุโรปโดยเฉพาะรัสเซียเริ่มเข้ามาแทรกแซงดินแดนของออตโตมัน ซึ่งสุลต่านคิดว่าเป็นการหยามออตโตมัน เลยตัดสินใจเปิดสงครามกับรัสเซีย
2
สงครามของออตโตมันกับรัสเซียเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ และออตโตมันก็แพ้แทบทุกครั้ง ถูกตัดทอนดินแดนไปเรื่อยๆ ทั้งเอเชียกลาง เบรสซาเรีย แหลมไครเมีย ตอนใต้ของเทือกเขาคอเคซัส และตะวันออกของทะเลดำ
1
อีกทั้งยังมีการลุกขึ้นต่อต้านออตโตมันของพวกเซิร์บ (สลาฟกลุ่มหนึ่ง) ในปี 1804 ซึ่งมีรัสเซียสนับสนุน
1
ตามมาด้วยการปลดแอกของกรีกในปี 1832 ซึ่งมีออสเตรียสนับสนุนเหมือนกัน
1
การปลดแอกของกรีก ทำให้ชาตินิยมเริ่มรุนแรงกระจายรวดเร็วขึ้น เกิดการประกาศอิสรภาพจากออตโตมันของชาวบัลเกเรียนในปี 1879 ตามมาด้วยการแยกตัวของชาวโรมาเนียนในปี 1881
1
เรียกได้ว่า ดินแดนในฝั่งยุโรปของออตโตมันถูกตัดทอนไปเกือบทั้งหมด...
3
การเสียดินแดนรัวๆ ทำให้จักรวรรดิอ่อนแอลงไปมากเมื่อเทียบกับยุคก่อนหน้า และไม่สามารถทานกระแสชาตินิยมในยุโรปได้เลย ถึงกับถูกล้อเลียนในช่วงนั้นว่าเป็น "คนป่วยของยุโรป (Sick man of Europe)"
2
กระแสชาตินิยมไม่เพียงแค่เกิดขึ้นในกลุ่มคนใต้ปกครองของออตโตมันเท่านั้น แต่กลับเกิดขึ้นกับเหล่าเติร์กด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเติร์กในเจนใหม่ๆ ที่มองว่าระบบสุลต่านทำให้ออตโตมันอ่อนแอ เลยเกิดการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างความเป็นชาติที่แท้จริงของเติร์กขึ้นมา
และเป้าหมายขั้นแรกของกลุ่มชาตินิยมเติร์กก็คือการโค่นล้มสุลต่าน...
ภาพจาก Map on the Web (ความหลากหลายของชาติพันธุ์ในออตโตมัน)
ภาพจาก Quora (ฮาเร็มที่ทำให้ระบบสุลต่านอ่อนแอลง)
ภาพจาก Alpha History (ชาตินิยมในบอลข่าน ทำให้เกิดการรวมชาติต่างๆ ขึ้น)
เหล่าเติร์กชาตินิยมมีการรวมตัวกันในชื่อ "ยังเติร์ก (Young Turks)" ตั้งเป็นสมาคมลับใต้ดินขึ้นมาเพื่อวางแผนโค่นล้มสุลต่าน
1
แต่ด้วยความไร้ประสบการณ์ทำให้แผนดันรั่วไหลไปถึงหูของสุลต่านเข้า ซึ่งสุลต่านก็สั่งทหารเข้ากวาดล้างยังเติร์กอย่างรุนแรง พร้อมออกกฎหมายเซนเซอร์เสรีภาพทางการเมือง...
1
ไม่ว่าจะเป็นห้ามจับกลุ่มทางการเมืองและห้ามจับกลุ่มคุยกันเกินกว่า 5 คน...
2
อีกทั้งสุลต่านยังส่งสายลับแฝงเข้าไปในหมู่ของประชาชน คอยจับผิดว่าใครที่มีความคิดต่อต้านสุลต่านก็จะโดนหมายหัวและเก็บในที่สุด...
1
กลุ่มยังเติร์กที่เหลือรอดก็คิดตรงกันว่า "อยู่ไม่ได้แล้ว!" เลยพากันหนีออกนอกประเทศแล้วไปรวมตัวกันสร้างเครือข่ายจากภายนอก ระดมทุนจากต่างประเทศ และวางแผนให้รัดกุมยิ่งกว่าเดิม
1
ยังเติร์กมีการขยายอุดมการณ์ของตัวเองเข้าไปภายในออตโตมัน รวมถึงดีลกับกองทัพเพื่อหาแนวร่วมที่แข็งแกร่ง
ฝ่ายกองทัพที่ไม่พอใจสุลต่านอยู่แล้วก็ร่วมมือกับยังเติร์ก ซึ่งในที่สุดในปี 1908 เอ็นเวอร์ ปาชา ผู้นำทางทหารก็ร่วมมือกับยังเติร์กปฏิวัติโค่นล้มสุลต่านได้สำเร็จ โดยเราเรียกเหตุการณ์นี้ว่า "การปฏิวัติยังเติร์ก (Young Turk Revolution)"
3
คราวนี้หลังการปฏิวัติ อำนาจของสุลต่านก็ได้หมดลงไป มีการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมา และยังเติร์กก็เข้ากุมอำนาจของรัฐบาล
แผนการสร้างชาติเติร์กก็ได้เริ่มขึ้น ยังเติร์กต้องการเปลี่ยนออตโตมันให้กลายเป็นชาติของเติร์กแบบเพียวๆ สร้างหลักสูตรการศึกษาให้แต่ละโรงเรียนในจักรวรรดิจัดการสอนและใช้แต่ภาษาตุรกี
แน่นอนว่าภาษาส่วนใหญ่ที่ใช้ในจักรวรรดิเป็นภาษาอาหรับเพราะมีประชากรอาหรับเป็นคนส่วนใหญ่ ภาษาตุรกีจะใช้แค่ในอนาโตเลียและเมืองหลวงเท่านั้น ทำให้คนอาหรับเริ่มไม่พอใจสิครับทีนี้...
1
อีกทั้งภาษาอาหรับไม่ใช่เพียงแค่ใช้สื่อสารกันในชีวิตประจำวัน แต่เป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันในจิตวิญญาณทางศาสนาของมุสลิมด้วย เพราะอัลกุรอานก็เขียนโดยภาษาอาหรับ
เหล่าอาหรับที่อยู่ใต้ออตโตมันก็รู้สึกต่อต้านเติร์กขึ้นมาทันที และมองว่าเติร์กเป็นมุสลิมเก๊คงอยู่ร่วมกันต่อไปไม่ได้อีกแล้ว!
3
ภาพจาก Britannica (การปฏิวัติยังเติร์ก)
หลังยังเติร์กเข้ามาปกครองได้ไม่นาน เหล่าอาหรับก็มีการตั้งสมาคมลับขึ้นมา วางแผนร่วมกันในการปลดแอกตัวเองจากออตโตมัน ซึ่งต่างคิดตรงกันว่า "กำลังของอาหรับในตอนนี้คงโดนเติร์กถล่มเละแน่นอน"
1
ว่าแล้วอาหรับก็ได้ยึดหลัก "ศัตรูของศัตรูคือมิตร" ซึ่งศัตรูของออตโตมันคือมหาอำนาจในยุโรปอย่างรัสเซีย ฝรั่งเศส อังกฤษ เลยมีการส่งผู้แทนไปเจรจากับชาติเหล่านี้เพื่อให้มาเป็นสปอนเซอร์ช่วยอาหรับสร้างชาติของตัวเอง...
2
ปัญหาเริ่มรุนแรงขึ้นเมื่อเติร์กเริ่มส่งคนของตัวเองไปปกครองตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อบังคับให้ชนชาติอื่นๆ ยอมรับความเป็นเติร์กเพียงหนึ่งเดียว
2
กลายเป็นว่า การต่อต้านยิ่งลุกลามมากขึ้น มีการจราจลของชาวอาหรับทั้งในดามัสกัส เบรุต อเลปโป และแบกแดด ซึ่งในเมืองเหล่านี้ก็มีกลุ่มลับที่คอยซ้อนบงการอยู่
ระหว่างที่กระแสชาตินิยมของเติร์กและอาหรับกำลังตีกันอย่างดุเดือด ทางด้านยุโรปก็มีศึกการทูตที่ตึงเครียดเกิดขึ้น
1
มหาอำนาจในยุโรปต่างขัดแย้งกันในเรื่องอาณานิคม มีการทำสัญญาลับตลบหลังกัน เกิดการรวมกลุ่มแบ่งขั้วอำนาจออกเป็น 2 ขั้ว และเกิดชนวนที่ทำให้ทั้ง 2 ขั้วอำนาจประกาศสงครามจนลุกลามเกิดเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1914
3
โดยมหาสงครามที่เกิดขึ้นนั้นมีการแบ่งเป็น 2 ฝ่ายชัดเจน คือ...
2
1) สัมพันธมิตร (Allied Power) มีแกนนำคือ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย
2) มหาอำนาจกลาง (Central Power) มีแกนนำคือ เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี
คราวนี้ออตโตมันที่ดั้งเดิมไม่ถูกกับรัสเซียอยู่แล้วจึงกระโดดเข้าร่วมกับฝ่ายมหาอำนาจกลางแบบเต็มตัว...
ภาพจาก Wallpaper Cave (การแบ่งฝ่ายในสงครามโลกครั้งที่ 1)
ทันทีที่เข้าร่วมกับมหาอำนาจกลาง ออตโตมันก็ส่งกองทัพเข้าบวกกับรัสเซียในแถบคอเคซัส และบวกกับอังกฤษในอียิปต์
แต่ด้วยกองทัพของออตโตมันที่ล้าหลังกว่ายุโรปไปหลายขุม ทำให้แพ้แทบทุกสมรภูมิ เสียทั้งไซปรัสและอียิปต์ให้กับอังกฤษ
1
ฝ่ายอังกฤษที่เห็นแล้วว่าวิธีการที่จะล้มออตโตมันได้แบบเด็ดขาด คือต้องใช้การทลวงจากภายใน และอาวุธสำคัญที่อังกฤษใช้คือกลุ่มชาตินิยมอาหรับนั่นเอง...
อังกฤษพยายามเจรจาให้อาหรับร่วมกันต่อต้านออตโตมันเพื่อแลกกับการรับรองของอังกฤษในอิสรภาพของชาติอาหรับหลังสงคราม ซึ่งอังกฤษมีการส่งทั้งผู้แทนและสายลับเข้าไปร่วมทำงานกับอาหรับ
โดยสายลับที่โดดเด่นที่สุดคือชายที่ชื่อว่า "โทมัส เอ็ดเวิร์ด ลอเรนซ์ (Thomas Edward Lawrence)" ที่ศึกษาเรื่องราวของตะวันออกกลางมาอย่างยาวนานและรู้เบื้องลึกเบื้องหลังแทบทุกมุม
1
โทมัสถูกส่งเข้าไปในคาบสมุทรอาหรับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อเป็นตัวแทนของอังกฤษฝึกฝนกองกำลังของอาหรับ พร้อมเติมน้ำมันขับเคลื่อนแนวคิดชาตินิยมให้พลุ่งพล่านยิ่งขึ้นในหมู่คนอาหรับ...
ในระหว่างที่ออตโตมันกำลังวุ่นกับสงครามอยู่นั้น โทมัสก็ได้นำชาวอาหรับก่อจราจลในเมืองต่างๆ พร้อมทำสงครามกองโจรตอดกองทัพออตโตมันทีละเล็กละน้อย
1
การได้คลุกคลีกับชาวอาหรับทำให้โทมัสเริ่มอินกับการประกาศอิสรภาพ และใฝ่ฝันที่จะเห็นชาติอาหรับเช่นเดียวกัน รวมถึงยังถูกยกให้เป็นวีรบุรุษในชื่อ "ลอเรนซ์แห่งอาระเบีย (Lawrence of Arabia)"
อีกด้านหนึ่งผู้นำของอาหรับอย่างชารีฟ ฮุสเซน ก็มีการติดต่อกับอังกฤษในเรื่องข้อตกลงต่างๆ โดยให้มีการแบ่งแยกดินแดนอย่างซีเรีย อิรัก จอร์แดน ปาเลสไตน์ ออกจากออตโตมัน และสร้างดินแดนเหล่านี้ให้เป็นของอาหรับ
แต่อังกฤษมองว่าบางดินแดนที่ฮุสเซนเสนอมานั้นไม่สามารถรวมเป็นชาติอาหรับชาติเดียวได้แน่นอน เพราะในบางที่ที่มีทั้งคนคริสต์ คนยิว หรือแม้กระทั่งมุสลิมต่างนิกาย ทำให้หากรวมกันต้องเกิดความขัดแย้งขึ้นมาแน่นอน
3
อีกทั้งอังกฤษยังมีข้อตกลงกับไซออนิสต์ ที่เป็นองค์การสร้างชาติของยิว โดยอังกฤษจะช่วยเหลือยิวในการตั้งรกรากในปาเลสไตน์ ทำให้อังกฤษไม่สามารถซัพพอร์ตการรวมชาติของอาหรับแบบเต็มตัวได้
3
รวมถึงมหาอำนาจอย่างฝรั่งเศสกับรัสเซียก็ไม่ยอมให้อังกฤษมีอำนาจในดินแดนของออตโตมันเพียงฝ่ายเดียว เลยมีการเจรจาตกลงกันออกมาเป็นสัญญาลับที่เรียกว่า "ไซเกสปิโกท์ (Sykes - Picot Agreement)" เพื่อแบ่งเค้กดินแดนในตะวันออกกลางเป็นส่วนๆ
2
ซึ่งในท้ายที่สุดมหาอำนาจกลางก็เป็นฝ่ายแพ้สงคราม ทำให้ดินแดนของออตโตมันทั้งในแอฟริกาและตะวันออกกลางถูกตัดแบ่งออกไปจนหมด เหลือเพียงดินแดนในอนาโตเลียบางส่วนเท่านั้น กลายเป็นจุดจบของจักรวรรดิออตโตมันในที่สุด และเหล่าเติร์กก็รวมดินแดนที่เหลืออยู่สร้างชาติของตัวเองขึ้นมาในชื่อ "ตุรกี (Turkey)"
2
แต่อีกด้านหนึ่ง แม้อาหรับจะแยกตัวจากเติร์กได้แล้วก็ยังไม่ได้รับอิสรภาพและสร้างชาติของตัวเองได้ เพราะอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และอิตาลี ก็เข้ามายึดดินแดนในตะวันออกกลางตามสัญญาไซเกสปิโกท์
1
แน่นอนว่า ชาวอาหรับหลายคนผิดหวังและเหมือนถูกหักหลัง รวมถึงโทมัสที่รู้สึกเช่นเดียวกันว่าไซเกสท์ปิโกท์เป็นการหลอกลวงครั้งใหญ่ของมหาอำนาจในยุโรปที่มีต่ออาหรับ
1
แต่ถึงแม้ดินแดนตะวันออกกลางทางเหนือที่เป็นของออตโตมันจะถูกอังกฤษและฝรั่งเศสเข้าครอบครอง แต่จากการล่มสลายของออตโตมัน ดินแดนทางใต้ก็มีอาหรับเผ่าหนึ่งชื่อว่าอานิซาร์ นำโดยชายที่ชื่อว่าอับดุล อาซีส ทำสงครามรวบรวมอาหรับในแถบนี้ให้เป็นหนึ่งเดียว
1
หลังจากนั้นอับดุล อาซีส ก็ขอให้อังกฤษสนับสนุนการสร้างชาติอาหรับทางตอนใต้ของตัวเองขึ้นมา อังกฤษที่เห็นว่าดินแดนส่วนนี้อยู่นอกเหนือไซเกสต์ปิโกท์เลยสนับสนุนเพื่อใช้ดินแดนของอับดุล อาซีส หนุนอำนาจของตัวเองในตะวันออกกลาง
3
และเมื่อเห็นไฟเขียวจากอังกฤษ ในปี 1932 อับดุล อาซีสก็ยกตัวเองขึ้นเป็นกษัตริย์ สร้างราชวงศ์ซาอุดขึ้นมา แล้วเปลี่ยนดินแดนตอนใต้ให้เป็นประเทศที่ชื่อว่า "ซาอุดิอาระเบีย (Saudi Arabia)"
2
ภาพจาก The Guardian (โทมัส เอ็ดเวิร์ด ลอเรนซ์)
ภาพจาก Britannica (ไซเกสต์ปิโกท์)
ดินแดนตุรกีหลังสงครามโลกครั้งที่ 1
การล่มสลายของออตโตมัน ได้ทำให้เกิดชาติอาหรับขึ้นมาชาติแรกทางตอนใต้อย่างซาอุดิอาระเบีย
และดินแดนที่เป็นส่วนหนึ่งของออตโตมันภายใต้สัญญาลับรวมถึงดินแดนในแอฟริกา ก็จะเริ่มทยอยสร้างชาติตัวเองขึ้นในอีก 20 ปีต่อมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ไม่ว่าจะเป็นซีเรียในปี 1945
เลบานอนในปี 1946
ปาเลสไตน์ที่กลายเป็นชาติอิสราเอลในปี 1948
ลิเบียในปี 1951
ตูนีเซียในปี 1956
แอลจีเรียในปี 1962
เรียกได้ว่า การล่มสลายของออตโตมันจากพลังชาตินิยมได้ทำให้หลายดินแดนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่...
แต่ทว่า จักรวรรดิที่มีความหลากหลายของชนชาติและความเชื่อมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกนั้น กลับเป็นส่วนผสมที่ทำให้กระแสชาตินิยมมีความรุนแรงมากตามไปด้วย...
อย่างดินแดนตะวันออกกลางที่ถึงแม้จะสร้างชาติต่างๆ ขึ้นมาได้...
แต่ด้วยความหลากหลายทั้งเรื่องของชนชาติ วัฒนธรรม และศาสนา...
ทำให้ในบางประเทศ การสร้างชาติเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งภายในที่กลายเป็นสงครามอย่างไม่รู้จบในภูมิภาคนี้...
2
รวมถึงอีกด้านหนึ่งในยุโรป...
แถบบอลข่านที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของออตโตมันที่แม้จะสร้างชาติขึ้นมาได้...
แต่ด้วยความแตกต่างทางชนชาติ ก็ทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในเวลาต่อมาอย่างกรณีของยูโกสลาเวีย ซึ่งทำให้บอลข่านระอุไปด้วยไฟสงครามเช่นเดียวกัน...
1
รวมถึงออตโตมันที่ล่มสลายลงไปและเกิดใหม่กลายเป็นตุรกีซึ่งเป็นชาติของเติร์ก ก็ยังคงค้นหาคำตอบในอัตลักษณ์ของตัวเองที่ผสมผสานระหว่างยุโรปกับเอเชียจนปัจจุบัน...
2
และนี่ คือเรื่องราว “ออตโตมัน (Ottoman)” ปราการแห่งโลกตะวันตกและตะวันออก
3
ภาพจาก Wallpaper Cave
References
Anderson, Scott. Lawrence in Arabia: War, Deceit, Imperial Folly and the Making of the Modern Middle East. Anchor, 2014.
Findley, Vaughn, Carter. The Turks in World History. Oxford : Oxford University Press, 2004.
Gerges, A. Fawaz. Making the Arab World: Nasser, Qutb, and the Clash That Shaped the Middle East. New York : Princeton University Press, 2018.
Inalcik, Haili. The Ottoman Empire: The Classical Age 1300-1600. United Kingdom : Phoenix, 2001.
Mansfield, Peter. The Middle East a Political and Economic Survey. London : Oxford University Press, 1973.
Stone, Norman. Turkey: A Short History. London : Thames & Hudson, 2014.
Rogan, Egene. The Fall of the Ottomans: The Great War in the Middle East. New York : Basic Books, 2016.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา