20 พ.ค. 2022 เวลา 09:53 • สิ่งแวดล้อม
ทึ่งพลังงานไฮโดรเจน !! “อ.เอ” รีวิวเรือ Energy Observer แล่นรอบโลก...คาร์บอนเป็นศูนย์
อึ้งน้ำมันแพง พึ่งไฮโดรเจนพลังงานสะอาด
ทางเลือกใหม่ ทางรอดมวลมนุษยชาติ !!
Energy Observer เรือสัญชาติฝรั่งเศส แล่นทำสถิติรอบโลก !!
ไม่ใช้น้ำมันสักกะหยด.. คาร์บอนเป็นศูนย์ !!
แวะเทียบท่า Racer มารีนา แถวปราณบุรี ประเทศไทย !!
“อ.เอ” วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานกรรมาธิการทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา (กมธ.สิ่งแวดล้อมฯ) ไม่ลังเลที่จะรับคำเชิญไปเยี่ยมชมเรือ Energy Observer สัญชาติฝรั่งเศส ที่อยู่ระหว่างแล่นทำสถิติรอบโลก แล้วมาแวะเทียบท่าที่บ้านเรา
โครงการแล่นเรือรักษ์โลกครั้งนี้ ต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า…การเดินทางรอบโลกโดยไม่ใช้น้ำมัน ไม่มีท่อไอเสียปล่อยอะไรออกมาเลย นอกจากก๊าซออกซิเจนนั้น...ทำได้ !!
คาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ !!
“อ.เอ” เก็บรายละเอียดทุกเม็ด…เล่าให้ฟังว่า Energy Observer เป็นเรือเพรียวลมทรงทันสมัยกว้างเกือบ 13 x 30 เมตรลำนี้ แม้ติดถังเก็บไฮโดรเจนได้เพียง 63 กิโลกรัมก็จริง แต่ปริมาณไฮโดรเจนนี้เพียงพอที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนให้บ้านอาศัยขนาด 4 คนอยู่ใช้ชีวิตไปนานถึง 40 วันทีเดียว
เมื่อนำระบบมาลงใช้ในเรือที่ติดเครื่องไปในทะเล ใช้ไฟฟ้าหุงหาอาหาร ใช้ไฟฟ้าแปลงน้ำทะเลเป็นน้ำจืด อาบน้ำอุ่น เปิดแอร์ จ่ายแสงสว่าง ควบคุมสมองกลของคอมพิวเตอร์ ตลอด 24 ชม.
ไฮโดรเจน 63 กิโลกรัมนี้ สามารถดูแลเรือพร้อมลูกเรือ 4 และกัปตันอีก 1 รวม 5 คน ไปได้ ราว 2 สัปดาห์..ต่อให้ไม่มีแดดส่องมาโดนเรือเลยตลอด 2 สัปดาห์นั้นก็เถอะ!!
ถ้ามองจากภายนอก เราอาจนึกไปว่า “แผงโซลาร์เซลล์” ที่แปะอยู่ตามผิวเรือ คือ แหล่งพลังงานเดียวของเรือหรือไม่
เปล่าเลย..นั่นแค่ส่วนเดียว ??
ข้อสงสัยนี้ !!
“Miss Katia Nicolet” นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ประจำเรือ Energy Observer อธิบายละเอียดยิบว่า แผงโซลาร์เซลล์สร้างกระแสไฟฟ้าเก็บเข้าแบตเตอรี่ เมื่อแบตเตอรี่มีพลังเต็มที่ เรือจะดูดน้ำทะเลเข้ามาเข้าเครื่อง electrolysis โดยจะดึงเอาออกซิเจนออก ทิ้งออกซิเจนไปในอากาศ แล้วเก็บไฮโดรเจนที่สกัดออกมาได้เข้าถังบรรจุในเรือ
เรือคาร์บอนไฟเบอร์ แบบ 2 ท้องหรือ catamaran ลำนี้ ต่อขึ้นที่แคนาดา ในปี 1983 เพื่อใช้เข้าแข่งกีฬาเรือใบนานาชาติจนชนะรางวัลต่าง ๆ
ต่อมาทำสถิติโลกในปี 1988 ด้วยการใช้เวลาต่ำกว่า 75 วัน แล่นด้วยใบรอบโลก...สำเร็จเป็นครั้งแรก !!
ต่อมาเรือถูกเปลี่ยนเจ้าของ ในปี 2013 เป็นคนปัจจุบัน คือ “Victorien Erussard” ได้นำเรือขึ้นอู่ดัดแปลงใส่ระบบปฏิบัติการวิจัยและวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ พร้อมกับปรับปรุงเรือให้ทำจากวัสดุรีไซเคิล
จากนั้นเปลี่ยนใบเรือจากผ้าใบนุ่ม ๆ มาเป็นใบแข็ง ซึ่งขนาดใบจะเล็กลงกว่าเดิมมาก แต่ให้ประสิทธิภาพในการจับลมได้ดีกว่า แถมไม่บังแสงอาทิตย์ที่ต้องการ ให้กระทบแผงโซลาร์เซลล์ที่นำมาติดอยู่ทั่วลำ
ทั้งด้านบนดาดฟ้าที่แดดส่องถึงโดยตรง และด้านใต้แผงดาดฟ้าก็มีโซลาร์เซลล์รับแดดที่สะท้อนกลับขึ้นมาจากผิวน้ำทะเลด้วย
เรือนี้กินน้ำลึก 3 เมตรเศษ เรือค่อนข้างหนักถึง 30 ตัน เนื่องจากบรรทุกสารพัดอุปกรณ์สำหรับพลังงานสะอาดรูปแบบต่าง ๆ ทั้งพลังลม พลังไฮโดรเจน พลังแสงอาทิตย์ และพลังคลื่น
เพราะในวันที่ลมแรง หรือคลื่นดันเรือไปได้แรง ๆ ใบจักรของเรือจะทำหน้าที่เป็นกังหันไดนาโม ปั่นไฟฟ้าเข้าสู่แบตเตอรี่เติมไปได้ด้วย
เรือลำนี้จึงเป็นมากกว่าเรือสวยดูเก๋ ๆ ที่แล่นพาลูกเรือทีละ 5 คนท่องโลกไปชุดละ 6 สัปดาห์ จากนั้นลูกเรือทั้งลำจะผลัดมือกับชุดใหม่อีก 5 คน ที่จะบินไปดักรอขึ้นตามเมืองท่าต่าง ๆ ที่เรือจะเข้าเทียบไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเดินทางรอบโลกสำเร็จ
ว่ากันไปตามจริง เรือ Energy Observer เป็นทั้งทูตทางสิ่งแวดล้อม ทูตของการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG (sustainable development goals) ที่แล่นไปให้ผู้คนในเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกได้ประจักษ์ว่า
เจตนา – ความมุ่งมั่น - ความจริงจังที่กล้าให้สัมผัสได้จริง อุปกรณ์อันซับซ้อนสามารถท้าลมพายุ ท้าแดดจัด และติดตั้งอยู่บนเรือที่ต้องแล่นบนพื้นที่ ๆ ท้าทายที่สุดอย่างหนึ่ง
นั่นคือในมหาสมุทร ผ่านเขตมรสุมสุดหินจนแม้ เขตหนาวเย็นสุดขั้ว !!
ตลอดการเดินทางของเรือ มีการบันทึกข้อมูลผู้ขึ้นมาเยี่ยมเยือน บันทึกข้อมูลการใช้พลังงาน บันทึกนโยบายพลังงานและสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศที่ไปจอดท่า ตลอดถึงมีการทดสอบเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ทางทะเล
แถมอุตส่าห์มีจักรยานพับได้มาเองด้วยอีก 2 คันเล็ก ๆ ไว้ให้ใช้ปั่นไปซื้อกับข้าวบนฝั่ง…หรือใช้ออกกำลังกายบนบก หลังจากลูกเรือใช้ชีวิตบนเรือในทะเลคราวละนาน ๆ
ในภารกิจแล่นรอบโลก เรือ Energy Observer มีทีมวิศวกรเต็มชุด คอยสนับสนุนจากทางไกล ผ่านศูนย์ปฏิบัติการที่ฝรั่งเศสตลอดเวลา
บนเรือมีกล้องวงจรปิดหลาย ๆ จุด มีคอมพิวเตอร์ 2 ชุดที่ช่วยควบคุมทุกอุปกรณ์ ด้วยจำนวน 1,500 เซนเซอร์ที่กระจายติดตั้งทั่วทั้งลำเรือ และคอยตรวจสอบระบบตลอด 24 ชั่วโมง
ราวกับยานอวกาศทีเดียว !!
นอกจากนี้ยังมีเกร็ดเล็กน่าสนใจ บนเรือ Energy Observer ที่ “อ.เอ” สังเกตเห็นมาฝากด้วย อาทิ
หลังคาห้องโดยสาร – หลายส่วนได้อาศัยแสงสว่างของแดดที่ส่องผ่านแผงโซลาร์เซลล์ลงมา ทำให้ประหยัดการเปิดไฟในช่วงวัน
ห้องนอนของลูกเรือ - มีเพดานที่ติดแท่งปริซึมสามเหลี่ยม 1 ชิ้นต่อห้อง เพื่อรับแสงดาดฟ้าลงมากระจายในห้องนอน และช่วยให้แสงหลอดไฟในห้องตอนกลางคืนทะลุไปปรากฏบนหลังคาเรือในยามฟ้ามืดอีกต่างหาก
ส่วนโพรงช่องว่างต่าง ๆ ทั้งหมดในเรือ - ถูกออกแบบให้สามารถใช้เก็บสารพัดอุปกรณ์ ทั้งตุนอาหารแห้ง อุปกรณ์ดำน้ำ - เก็บจักรยาน - เรือแคนูยาว เพื่อใช้ในการเข้าน้ำตื้น
มีทางเดินใต้ดาดฟ้าเรือที่ขึงจากตาข่าย – ทำให้มีลมอ่อน ๆ ใต้เรือเวียนขึ้นมายังห้องโดยสารสม่ำเสมอ นับเป็นการเพิ่มประโยชน์และพื้นที่ใช้สอยได้เยอะทีเดียว
สุดยอดการออกแบบ !!
“ผมไม่ลังเล ที่จะบึ่งจากกทม.ไปขอชมระบบเรือ Energy Observer ให้ทัน ก่อนเรือจะบ่ายโฉมออกจากประเทศไทย ผ่านเกาะสมุยในวันถัดไป แล้วมุ่งสู่..ท่าฟูก๊วกของเวียดนาม เพื่อไปต่ออีกไกล
.
โอกาสจะได้เจอเรือนี้อีกที คงต้องหวังเอาตอนปารีสเป็น ..เจ้าภาพโอลิมปิก ปี 2024 โน่นล่ะ ที่เรือจะแล่นรอบโลกกลับถึง..อู่ที่เมือง Saint Malo ฝรั่งเศสพอดี ” --//--
.
มาถูกจังหวะพอดี !! น้ำมันแพงขึ้น ราคารายวัน พลังงานไฮโดรเจน ให้พลังงานสูงกว่าน้ำมันถึง 3 เท่า นับเป็นทางรอดของประเทศไทยและชาวโลกหรือเปล่า...รอฟังคำตอบจากรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์..? ^_^
.
WhoChillDay
20 พฤษภาคม 2565
ขอบคุณที่เข้ามาติดตามอ่านทุกเรื่องราว
และทักทาย WhoChillDay นะคะ
#WhoChillDay #วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
#Energy Observer #คาร์บอนเป็นศูนย์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา