27 พ.ค. 2022 เวลา 23:00 • ธุรกิจ
Sleep Economy ตลาดที่น่าจับตามองในจีน สำหรับผู้ประกอบการไทย
หลายปีที่ผ่านมานี้พบว่าเศรษฐกิจเกี่ยวกับการนอน หรือ Sleep Economy ของจีนมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว
โดยตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 – 2020 มูลค่าตลาดภาพรวมของ Sleep Economy ของจีนเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มต้นมีมูลค่า 261,630 ล้านหยวน หรือประมาณ 1.39 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 377,860 ล้านหยวน หรือประมาณ 2.00 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.42 (YoY) และคาดว่าตลาดจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งจะส่งผลให้มีประเภทของผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 5.3 บาท)
เมื่อพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับของชาวจีนในปัจจุบันพบว่ามีหลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลักมาจากการนอนหลับยาก นอนไม่หลับ รวมถึงปริมาณการนอนไม่เพียงพอ และการนอนแล้วตื่นง่าย เป็นต้น
ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจปัญหาเกี่ยวกับการนอนของผู้บริโภคชาวจีนโดยบริษัท iiMedia Research บริษัทที่ปรึกษาด้านการวิจัย ที่พบว่า ชาวจีนส่วนใหญ่ร้อยละ 54.62 มีปัญหาในการนอนหลับยาก รองลงมา ได้แก่ ร้อยละ 50.41 นอนไม่หลับ ร้อยละ 43.44 นอนไม่พอ ร้อยละ 42.30 ตื่นง่าย ร้อยละ 38.09 ฝันเยอะ ร้อยละ 31.44 นอนกรน ร้อยละ 7.62 ง่วงซึม และร้อยละ 0.49 ประสบปัญหาเกี่ยวกับการนอนด้านอื่นๆ ตามลำดับ
นอกจากนี้ จากการสำรวจยังพบว่าผู้บริโภคกลุ่มหลักใน Sleep Economy คือคนวัยหนุ่มสาว เนื่องจากพบว่าผู้ที่มีปัญหาการนอนไม่หลับส่วนใหญ่ร้อยละ 74.3 มีอายุระหว่าง 22 – 40 ปี
ในขณะเดียวกัน ยังพบว่าคนวัยหนุ่มสาวกำลังให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาและสุขภาพการนอนหลับ โดยพบว่าผู้บริโภคที่ซื้อผลิตภัณฑ์ช่วยในการนอนหลับกว่าร้อยละ 84.3 มีอายุระหว่าง 22 – 40 ปี และผู้บริโภคร้อยละ 66.3 ที่เคยซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับการนอนหลับมีอายุระหว่าง 26 – 40 ปี
ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อพิจารณาช่องทางในการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในการนอนหลับพบว่า ในปี ค.ศ. 2021 ผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่ร้อยละ 70.02 นิยมซื้อผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในการนอนหลับผ่านช่องทางออนไลน์ รองลงมา ได้แก่ ร้อยละ 49.92 ซื้อผ่านช่องทางการจำหน่ายของแบรนด์โดยตรง ร้อยละ 40.03 ซื้อผ่านหน้า ร้านออฟไลน์ และร้อยละ 39.22 ซื้อผ่านทางแพลตฟอร์มคลิปวิดีโอสั้น ตามลำดับ
โดยบริษัท iiMedia Research วิเคราะห์ว่า เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในการนอนหลับที่จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์มีความหลากหลายของชนิดของผลิตภัณฑ์ และสามารถเปรียบเทียบราคาได้ง่าย จึงเป็นช่องทางหลักที่ผู้บริโภคนิยมเลือกซื้อผลิตภัณฑ์มากที่สุด
เมื่อพิจารณาด้านราคาที่ผู้บริโภคมีความพึงพอใจที่จะจ่ายสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในการนอนหลับพบว่า
ผู้บริโภคชาวจีนร้อยละ 24.47 พึงพอใจราคาผลิตภัณฑ์ระหว่าง 100 – 200 หยวน หรือประมาณ 530 – 1,060 บาท
รองลงมา ได้แก่ ร้อยละ 24.25 พึงพอใจราคาผลิตภัณฑ์ระหว่างที่ต่ำกว่า 100 หยวน หรือ ประมาณ 530 บาท
ร้อยละ 23.92 พึงพอใจราคาผลิตภัณฑ์ระหว่าง 200 – 400 หยวน หรือประมาณ 1060 – 2,120 บาท
ร้อยละ 14.24 พึงพอใจราคาผลิตภัณฑ์ระหว่าง 400 – 600 หยวน หรือประมาณ 2,120 – 3,180 บาท
ร้อยละ 8.34 พึงพอใจราคาผลิตภัณฑ์ระหว่าง 600 – 800 หยวน หรือประมาณ 3,180 – 4,240 บาท
และ ร้อยละ 4.78 พึงพอใจราคาผลิตภัณฑ์ระหว่าง 800 หยวนขึ้นไป หรือประมาณ 4,240 บาทขึ้นไป ตามลำดับ
ปัจจุบันสังคมจีนยังคงมีความเร่งรีบ การทำงานมีความกดดัน ประกอบกับสาเหตุของปัญหาการนอนหลับมีความซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากอาจจะไม่ได้เกิดจากความเครียดและความวิตกกังวลเพียงอย่างเดียว แต่ยังอาจเกิดจากสาเหตุทางกายภาพ เช่น ท่านอน ที่นอน สภาพแวดล้อมในการนอนต่างๆ เป็นต้น
ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในการนอนหลับในตลาดจีนปัจจุบันยังไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาการนอนของแต่ละบุคคลได้อย่างครบถ้วน เนื่องจากแต่ละคนมีปัญหาที่แตกต่างกัน ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในการนอนหลับในตลาดจีนส่วนใหญ่จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถแก้ไขปัญหาการนอน และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในภาพรวมเป็นสำคัญ
นอกจากปัญหาด้านการนอนหลับที่พบจากการสำรวจกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนในปัจจุบันแล้ว ยังพบว่าทั่วโลกก็ยังมีผู้มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 – 49 ของประชากรทั้งหมด ในขณะที่ประเทศจีนพบว่าชาวจีนกว่า 300 ล้านคน กำลังประสบกับปัญหาเรื่องการนอนหลับ
โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อายุระหว่าง 22 – 40 ปี มีปัญหาการนอนหลับมากกว่าผู้สูงอายุรุนแรงมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าปัญหาการนอนไม่หลับของจีน ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในการนอนหลับ ซึ่งสอดคล้องกับขนาดของตลาด Sleep Economy ของจีนที่มีแนวโน้มการพัฒนาและการเติบโตในทิศทางที่ดี จึงเป็นอีกตลาดที่น่าจับตามองสำหรับผู้ประกอบการไทย
โดยผู้ประกอบการไทยสามารถพิจารณานำเอาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในการนอนหลับ อาทิ หมอนยางพารา ที่นอนยางพาราที่สามารถปรับตามสรีระของผู้ใช้ เครื่องดื่มที่ช่วยในการนอนหลับ โดยผสมผสานกับสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณช่วยในการนอนหลับเข้ามาเป็นส่วนผสมให้มีรสชาติและกลิ่นที่แปลกใหม่ อาทิ ใบบัวบก ขิง มะนาว มะลิ ฟ้าทะลายโจร และมะเฟือง ซึ่งเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในตลาดจีน
นอกจากนี้ จากรายงานข้างต้นยังพบว่าผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในการนอนหลับส่วนใหญ่คือกลุ่มคนวัยหนุ่มสาว และนิยมซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยสามารถพิจารณาทดสอบตลาดผลิตภัณฑ์ไทยผ่านช่องทางออนไลน์ในการขยายตลาดส่งออกเข้าสู่จีนให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นต่อไป
ไม่เพียงเท่านั้น ยังต้องติดตามกระแสความนิยมของผู้บริโภคชาวจีนที่ชอบท่องโลกโซเชียล ผ่านประสบการณ์ของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์คนก่อนหน้า (Reviews) รวมทั้งการบอกแบบปากต่อปากของคนวัยหนุ่มสาวที่เป็นผู้บริโภคหลัก ผ่านการร่วมมือกับ KOL หรือผู้ที่มีชื่อเสียงในท้องถิ่น ในการประชาสัมพันธ์คุณสมบัติของสินค้าไทย เพื่อให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
แต่อย่างไรก็ดี คุณภาพและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ยังคงเป็นปัจจัยที่ผู้บริโภคชาวจีนให้ความสำคัญ เนื่องจากจะมีผลต่อความภักดีในตราสินค้า และเกิดการซื้อซ้ำ ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องรักษามาตรฐานดังกล่าวอยู่เสมอ
เพื่อให้การเข้ามาเจาะและขยายตลาดสินค้าผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในการนอนหลับในจีนประสบความสำเร็จ สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคชาวจีน รวมถึงแย่งชิงและรักษาส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าไทยในจีนได้อย่างยั่งยืนต่อไป
โฆษณา