8 มิ.ย. 2022 เวลา 06:00 • ธุรกิจ
ขยันยังไงให้ถูกวิธี
ไม่ใช่ขยันมานานแต่ไม่ก้าวหน้าด้านการงานสักที
เคยสงสัยมั้ยว่าทำไมบางคนขยันแล้วได้ดี แต่ทำไมบางคนขยันมานานแต่ไม่ก้าวหน้าสักที คนทั้งสองแบบนี้ต่างกันตรงไหน และเราควรทำยังไงเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองเป็นแบบหลัง
เพื่อไขข้อสงสัยนี้ ผมอยากชวนทุกคนมาดูว่าคนที่ขยันทำงานแต่ไม่ค่อยก้าวหน้ามี ‘จุดอ่อน’ อะไรและจะแก้ไขได้ยังไงบ้าง ผ่าน 5 ข้อต่อไปนี้ครับ
จุดอ่อนที่ 1 : ขยันแต่ไม่ยอมคิดวิธีใหม่ๆ ที่ช่วยให้ทำงานได้ดีกว่าเดิม
คำว่าทำงานได้ดีกว่าเดิมในที่นี้หมายถึงใช้เวลาเท่าเดิมแต่ทำงานได้มากขึ้น และงานนั้นก็ออกมาดีกว่ามาตรฐานเดิมด้วย แต่ประเด็นคือหลายๆ คนมักยึดติดอยู่กับวิธีการทำงานแบบเดิมที่ใช้มาหลายปี ทำให้แม้จะรักษาคุณภาพงานไว้ แต่ก็ไม่ได้ใช้ความครีเอทีฟหรือทักษะการวางกลยุทธ์เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อยู่ดี
เพราะฉะนั้น นอกจากควรหาวิธีการทำงานที่ฉลาดและมีประสิทธิภาพกว่าเดิมแล้ว ผมแนะนำให้วางกลยุทธ์บางอย่างใหม่ รวมถึงใส่ความคิดสร้างสรรค์และความคิดริเริ่มต่างๆ ลงไปในงานด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้การทำงานใดๆ น่าสนใจมากกว่าเดิม
จุดอ่อนที่ 2 : ขยันทำงานแต่ไม่ขยันสร้าง ‘คอนเน็กชัน’
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโอกาสมาพร้อมกับคนจริงๆ ครับ ยิ่งถ้าเราได้รู้จักกับคนเก่ง พวกเขาจะยิ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากผลักดันตัวเองให้ดีขึ้น และเราจะได้เรียนรู้มุมมองใหม่ๆ ที่น่าสนใจจากพวกเขาด้วย
เพราะฉะนั้น เราเลยควรจัดสรรให้ดีว่าช่วงไหนอยากใช้เวลากับคนกลุ่มเดิมๆ และช่วงไหนจะออกไปหาคอนเน็กชันใหม่ๆ อย่างบางคนอาจจะตั้งเป้าไว้ว่าอย่างน้อยในหนึ่งเดือนอยากรู้จักคนเพิ่มสัก 2-3 คน แต่ถ้าใครอยากเพิ่มคอนเน็กชันไวๆ ลองไปร่วมเวิร์กช็อปหรืออีเวนต์เกี่ยวกับสายงานที่ตัวเองสนใจก็ได้ เพราะงานแบบนั้นมักรวมคนคล้ายๆ กันไว้อยู่แล้ว
จุดอ่อนที่ 3 : ‘ไม่กล้าเสี่ยง’ และชอบเลี่ยง ‘ความเปลี่ยนแปลง’
คนที่ทำงานในสภาพแวดล้อมเดิมมานานอาจจะรู้สึกไม่สบายใจถ้ามีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้น แต่จริงๆ แล้วความเปลี่ยนแปลงหรือความท้าทายใดๆ มักมาพร้อมกับโอกาส ถ้าไม่อยากพลาดแล้วมาเสียใจหรือเสียดายทีหลัง ลองเปิดใจทำงานภายใต้ความเปลี่ยนแปลงดูสักครั้งจะพบว่ามันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
หรือถ้าใครอยากเริ่มต้นง่ายๆ ก่อน ผมแนะนำให้ลองเปลี่ยนแปลงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แล้วค่อยต่อยอดในเรื่องที่ใหญ่ขึ้น เช่น ลองถามตัวเองว่าตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป “จะทำอะไรให้แตกต่างจากเดิมบ้าง” ซึ่งถ้าเราถามตัวเองแบบนี้ทุกวัน งานที่เราทำจะดีขึ้นแน่ๆ แถมหัวหน้าอาจเห็นแววว่าเราใส่ใจและมุ่งมั่นมาก เลยอาจมอบโอกาสอื่นๆ ให้ เพื่อที่เราจะได้อัปสกิลตัวเองไปเรื่อยๆ
จุดอ่อนที่ 4 : ไม่กล้าตัดสินใจครั้งใหญ่เพราะติดอยู่ใน Comfort Zone
ยกตัวอย่างง่ายๆ คือคนที่ไม่กล้าลาออกจากงานปัจจุบันที่ทำอยู่สักที ทั้งที่รู้ว่าถ้ากล้าไปทำงานที่ใหม่หรือกล้าลองสายงานใหม่จะได้โอกาสเติบโตมากกว่า ผมเลยอยากแนะนำว่าถ้าลังเลไม่กล้าตัดสินใจให้ลองหาคนที่ปรึกษาได้ดูก่อน
อย่างถ้าลังเลว่าจะย้ายไปทำบริษัทใหม่ดีมั้ย ให้ลองหาคนที่ทำงานอยู่ในบริษัทนั้น แล้วติดต่อไปพูดคุยกับเขา เพื่อถาม Insight เกี่ยวกับการทำงานต่างๆ เช่น สไตล์การทำงานเป็นยังไง หัวหน้าโอเคมั้ย แต่ถ้าไม่มีคนรู้จักทำอยู่เลย ให้พยายามหาข้อมูลด้วยตัวเองก่อน เช่น ลองเสิร์ชหาชื่อบริษัทนั้นใน LinkedIn เพื่อให้เห็นภาพคร่าวๆ ว่าคนส่วนใหญ่ที่ทำงานบริษัทนั้นเป็นยังไงบ้าง
ส่วนใครที่อยากลองย้ายสายงานแต่ไม่รู้จะปรึกษาใคร ผมคิดว่าเดี๋ยวนี้เสิร์จหาข้อมูลเกี่ยวกับสายงานใดๆ ได้ค่อนข้างง่าย ทั้งทางบล็อก ยูทูป และพอดแคสต์ แค่อย่าลืมแบ่งเวลามาศึกษาหาข้อมูลให้มากเข้าไว้จะได้มั่นใจก่อนตัดสินใจครับ
จุดอ่อนที่ 5 : ตั้งใจทำงานแต่ขาด ‘ความเชื่อมั่นในตัวเอง’
ช่วงหลังมานี้หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า Imposter Syndrome หรือโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง ทั้งๆ ที่ถ้ามองในภาพใหญ่คนทั่วไปคงรู้สึกว่าเราเก่งมากแล้ว ซึ่งปัญหานี้มีที่มาที่ไปคือคนเก่งมักตั้งความคาดหวังกับตัวเองไว้สูง ถ้ายังไปไม่ถึงจุดนั้นก็จะตัดสินว่าตัวเองไม่เก่งอยู่ดี
ความรู้สึกนี้ถือเป็นเชือกฉุดรั้งไม่ให้เราก้าวหน้า เพราะเมื่อมีโอกาสใหม่ๆ เข้ามา เสียงในหัวของเราจะรีบบอกเลยว่าทำไม่ได้หรอก ทำให้เราปฏิเสธโอกาสมากมายไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งๆ ที่ถ้าเชื่อมั่นในตัวเองอีกสักหน่อยอาจพบว่าเราก็ทำสิ่งนั้นได้ แม้จะต้องอาศัยทักษะใหม่ๆ ก็แค่ลองเปิดใจเรียนรู้ไปเรื่อยๆ เท่านั้นเอง
ถ้าลองเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ การสะสมความเชื่อมั่นในตัวเองก็คล้ายๆ การฝากเงินในธนาคารครับ เพราะยิ่งฝากเงินมาก เรายิ่งสามารถนำเงินเก็บนั้นไปต่อยอดได้ ความเชื่อมั่นในตัวเองก็เช่นกัน ถ้าเราเริ่มสะสมมันตั้งแต่วันนี้ เราก็จะมีความเชื่อมั่น มากขึ้น ทำให้พร้อมลุยงานที่ใหญ่และยากขึ้นด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก wealthygorilla และ medium
#trickofthetrade #selfdevelopment

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา