Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
7 Days 7 ways
•
ติดตาม
15 มิ.ย. 2022 เวลา 06:30 • การเกษตร
เมื่อมะเมี๊ย 2022 ไปออกรอบสุดหรู โคก หนอง นา โมเดล ณ ฐานธรรมธุรกิจ สันป่าตอง ไปชมค่ะว่า...ชีวิตนางน้าน...จะหะรูหะราไฮโซ โบว์ใหญ่ขนาดไหน
ฐานคนเอาถ่าน
คอลัมน์ : เรื่องเล่าของสาวอินดี้
เรื่อง : ออกรอบสุดหรู โคก หนอง นา โมเดล ณ ฐานธรรมธุรกิจ สันป่าตอง
โดย : มะเมี๊ย 2022
วันนี้พอมีเวลานิดหน่อย พี่ขอสรุปสิ่งที่ได้มีโอกาสไปเรียนรู้เพิ่มเติมที่ฐานธรรมฯ สันป่าตองแล้วกันเนอะ (ขอบอกยาวมากกกกกกก แต่คนไทยควรอ่านเกินปีละ 8 บรรทัดหรือเปล่า)
ขอบคุณพระเจ้าที่มีโอกาสได้เข้าไปร่วมเรียนรู้แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งที่ตามปกติแล้วต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมอบรม 4 วัน 3 คืน และได้มีโอกาสฟังการบรรยายจาก อ.ยักษ์
ครูหนาวบรรยายเรื่องเศรษฐกิจ 3 ระบบ
พี่จะขอบันทึกแค่สิ่งที่รู้แล้ว แต่ลืม กับความรู้ใหม่ในโพสต์นี้แล้วกัน จากการเข้าร่วมอบรมฯ ทำให้พี่พัฒนาทั้งด้าน Knowledge, Attitude และ Skill
ด้าน Skill คงเป็นเรื่องการช่วยขุดคลองไส้ไก่ เพราะได้ลงมือปฏิบัติจริงๆ ถึงแม้ว่าจะใช้เวลาไม่นานก็ตาม พี่รู้สึกว่าพี่ใช้จอบถนัดมือขึ้น (พี่หัดจับจอบแบบขุดจริงขุดจัง วันที่ 26 กันยายน 2563 หลังรับมอบจอบกู้โลกที่บ้านน้อยกลางป่าใหญ่ ครูพี่เมย์กับครูพี่แอนฝึกพี่ในการใช้จอบจริงจัง)
สังเกตการณ์
ด้าน Knowledge สิ่งที่ได้เรียนรู้ใหม่ และสิ่งที่เคยเรียนรู้มาแล้วแต่ลืมแล้ว คือ
1. เศรษฐกิจระบบทุนนิยม เน้นที่ทำอย่างไรให้ได้กำไรสูงสุด โดยไม่สนใจอะไรใดๆ ทั้งสิ้น ในขณะที่เศรษฐกิจระบบสังคมนิยม จะมองว่าทุนนิยมไม่เป็นธรรม ทุกคนต้องเท่าเทียมกัน มีการกระจายรายได้ให้ทุกคนได้เท่าเทียมกัน ส่วนเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการแบ่งปัน ยิ่งให้ยิ่งได้รับ ขาดทุนคือกำไร
ครูออมได้อธิบายอย่างชัดเจน โดยใช้การเปรียบเทียบขนมเค้ก คือ มีคน 10 คน กับเค้ก 1 ก้อน
ทุนนิยม ใครเข้าถึงเค้กก่อนได้ไปก่อน และกินให้มากที่สุดเท่าที่จะกินได้ โดยไม่คิดถึงผู้อื่น
สังคมนิยม แบ่งเค้กเท่าๆ กันเป็น 10 ชิ้น ทุกคนได้รับเค้กหมด
พอเพียง ใครหิวเค้ก ก็ไปกินให้พออิ่ม ใครไม่หิวก็ไม่ต้องไปเอา บางทีเค้กก็อาจจะยังคงอยู่ครบทั้งก้อน เพราะไม่มีคนหิวเลย
บางครั้งใน 10 คนนั้นก็อาจจะเอาอย่างอื่นมาเพิ่มเติมให้จากเค้กด้วย เนื่องจากเขามีเพียงพอแล้ว และนึกถึงผู้อื่น
ดังนั้นเศรษฐกิจพอเพียงจะไม่มีผู้ที่หิวโหยอดอยาก เพราะทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้ตามความจำเป็นของตัวเอง ไม่โลภที่อยากจะได้ทรัพยากรนั้นๆ แต่เพียงผู้เดียว
ซึ่งเมื่อทุกคนอิ่ม ก็จะมีกำลังในการทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำและพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้เต็มที่ ประเทศก็จะก้าวหน้าไปได้
ซึ่งอย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจทั้ง 3 แบบนี้ต้องมีการทำบัญชี เพื่อให้รู้สถานะของตัวเองเพื่อให้ได้ข้อมูลจริง แต่ในขณะที่เศรษฐกิจพอเพียงยังมีการยึดหลักคุณธรรมเป็นหลัก เพื่อให้เกิดราคาที่เป็นธรรมทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค ดังนั้น เศรษฐกิจพอเพียงจะนำไปสู่ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมที่มีคุณธรรมอย่างยั่งยืน
2. ความรู้เรื่องน้ำหมักรสต่างๆ น้ำหมักรสขม สร้างภูมิคุ้มกันป้องกันโรค รสฝาด ป้องกันเชื้อราดำ ใช้เปลือกมังคุด หรือข่อยก็ได้ (จะแอบไปตัดกิ่งข่อยคุณนายแม่ดีกว่า 5555)
รสเมาเบื่อ ได้จากฝักคูน (รอหน้าร้อนใกล้มา จะได้รู้แล้วว่าต้นไหนเป็นต้นคูน ในหมู่บ้านพี่มีแต่พี่แยกไม่ออกจริงๆ นอกจากเห็นดอก 5555)
อัตราส่วนที่ใช้ ถ้าสำหรับหมักดิน 1:100,
รดโคนต้น 1:200,
ฉีดพ่นทางใบ 1:400,
ผักปัญญาอ่อน 1:1000
สำหรับการล้างคอกสัตว์ให้ใช้น้ำหมักรสจืดเท่านั้น (รอพี่เลี้ยงควายก่อนแล้วเดี๋ยวจะทำเพิ่มเยอะๆ เลย)
การหมักเศษอาหาร
3. การทำแซนด์วิชปลา เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารของปลา สร้างแพลงตอนในน้ำ ให้ใช้ฟาง ปุ๋ยคอก และดินใส่เป็นชั้นๆ ย่ำๆ ไปเรื่อยๆ แล้วใส่น้ำหมักรสจืดตาม จะช่วยให้ค่า ph เป็นกลาง ถ้าไม่มีฟางใช้หญ้าสดก็ได้ (รอมีหนองก่อนเด้อ แล้วพี่จะลองทำดู
ครูเก๋งกับพื้นที่สำหรับทำแซนด์วิชปลา มีไม้กั้นเพื่อให้ใส่ฟางกับปุ๋ยคอก
4. หัวใจของโคกหนองนา คือ การเก็บน้ำในพื้นที่ให้มากที่สุด อย่าให้ไหลออกนอกพื้นที่ และควรคำนึงถึงหลัก 3 อย่างที่สำคัญ คือ การหา/ปรับปรุงแหล่งน้ำ, การปรับปรุงดิน และ การเลือกกิจกรรม (พืช, สัตว์เลี้ยง)
ครูพี่ออมให้แนวคิดเยอะมากกกก
โคก เป็นการบริหารจัดการพื้นที่เมื่อเกิดน้ำท่วม ก็จะมีพื้นที่ปลอดภัย แหล่งน้ำบนโคก มาจากการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง (ป่า 5 ระดับ) และคลองไส้ไก่ ซึ่งควรมีขนาดกว้าง 1 ศอก ลึก 1 เข่า ขึ้นไป ซึ่งคลองไส้ไก่จะเก็บน้ำไว้ในดิน และสามารถป้องกันการระเหยได้ด้วยการห่มดิน
ครูออมตรวจคลองไส้ไก่
หนอง ต้องมีตะพักและเป็น Free Form เพื่อให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์และพืชน้ำ รวมถึงมีจุดที่แดดสามารถส่องถึงได้ด้วย ความลึกก็สำคัญเพราะน้ำสามารถระเหยออกไปได้วันละ 1 ซม. ดังนั้นจึงควรลึกกว่า 3 ม.
นา ก็สามารถเป็นที่กักเก็บน้ำได้ด้วยเช่นกัน วิธีเก็บน้ำในนาคือ หัวคันนาต้องใหญ่ มีขนาดกว้าง 2 ม. และลึก 1 ม. บนหัวคันนาสามารถปลูกพืชผักต่างๆ ที่เก็บกินได้รายวัน เป็นการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และสามารถสร้างรายได้ได้ด้วย (แต่ต้องเหลือจากการให้ทาน แปรรูป แล้วค่อยคิดขาย ตามหลักทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง)
5. ผงถ่านช่วยดูดซับสารพิษได้ ดังนั้นเวลาท้องเสียจึงควรกินคาร์บอน แต่ไม่ใช่ว่าเราจะไปหยิบถ่านจากร้านหมูกระทะมาหักกินได้ ถ่านที่สามารถกินได้ต้องเป็นถ่านจากไม้ไผ่เท่านั้น ถ่านอื่นอย่าหากินเด้อ เดวจะหาว่าพี่ไม่เตือน
การเผาถ่านให้สังเกตจากควัน กรณีมีเตาเผาถ่านเองและอยากทำน้ำส้มควันไม้ ซึ่งมีคุณสมบัติในเรื่องการช่วยไล่แมลง การเผาถ่านควรเผาช่วงเช้า จะใช้เวลา 1 วันในการเผา เพราะช่วงเย็นจะมีควันช่วยไล่แมลงได้
ครูพี่โจสอนทำเตาเผาถ่าน
ควันมี 3 ช่วง คือช่วงแรก ควันไล่ความชื้น (สีขาว)
ควันบ้า (มีกลิ่นฉุนและแสบตา) เป็นช่วงที่เก็บน้ำส้มควันไม้ (บางคนไม่รู้เก็บน้ำส้มควันไม้เมื่อมีควันทุกช่วง ทำให้คุณภาพไม่ดี)
ควันระยะสุดท้ายจะห่างจากปล่อง 1 คืบ แสดงว่าใกล้เป็นถ่านแล้ว
6. ลมว่าว เรียกอีกอย่างว่า ลมข้าวเบา เป็นลมในช่วงฤดูฝนต่อหนาว
7. ตะวันอ้อมข้าว คือ ช่วงหน้าหนาว พระอาทิตย์จะอ้อมไปทางทิศใต้ ซึ่งการสังเกตทิศ ลม และพระอาทิตย์ จะมีส่วนช่วยในการออกแบบพื้นที่ได้ดี
8. น้ำฝนมีไนโตรเจนถึง 77% เมื่อฝนตกต้นไม้ก็จะงามโดยเฉพาะผักกินใบที่ต้องการใช้ไนโตรเจนมาก
9. ปุ๋ยเคมีมากจากปิโตรเลียม
10. น้ำฝางและใบย่านางแดง มีฤทธิ์เย็น ใช้ทำสบู่ได้
11.จุลินทรีย์ก้อนบำบัดน้ำเสียหรือจุลินทรีย์บอล คือ EM Ball แต่เราจะไม่เรียก อีเอ็มบอล เพราะติดลิขสิทธิ์ การใช้ต้องชุบด้วยน้ำหมักรสจืด 100% รอจนฟองอากาศหมดค่อยโยน
ไม่เช่นนั้นมันจะลงไม่ถึงก้นแหล่งน้ำ จะทำให้ไม่สามารถบำบัดน้ำได้เต็มที่ (ดีนะ พี่ยังไม่ได้เอาไปโยน เดี๋ยวเสาร์นี้จะจัดเลย ส่วนกี่ลูกนั้น ครูเก๋งบอกว่า สังเกตน้ำเอาเอง พอใจแค่ไหนก้อแค่นั้น)
ด้าน Attitude เกิดการคิดทบทวนวิเคราะห์ตัวเองมากกว่าเดิม ส่วนใหญ่ได้มาจากครูออมทั้งสิ้น ขอรวบรวมคำพูดที่โดนใจพี่ก็แล้วกัน
1. เงินเป็นปัจจัยที่ใช้แล้วก็หมด ทำอะไรอย่าใช้ "เงิน" เป็นตัวนำ ให้ใช้สมองและแรงงาน
2. คนจน ไม่ใช่คนไม่มีเงิน แต่คือ คนใช้สมอง แรงงาน และน้ำใจ (พี่เป็นคนมีฐานะจนจริงๆ)
3. การเป็นเกษตรกรไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนอาชีพ แต่เป็นการเปลี่ยนชีวิต เราสามารถออกแบบชีวิตตัวเองได้ และเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตใหม่ (โควิดมาที ชีวิตพี่เปลี่ยนเลย พี่กำลังก้าวเข้าสู่ New Normal อย่างแท้จริงแล้วใช่ป่ะ)
4. ถามใจตัวเองว่า "เราต้องการเป็นเกษตรกรหรือเปล่า" ตอบอีกครั้งดังๆ "ไม่" แค่อยากปลูกผักเป็น กินอาหารปลอดภัย ไม่ต้องออกไปเสี่ยงตายกับโควิดและปุ๋ยเคมีให้ร่างพังจากสารพิษตกค้าง
5. สิ่งที่โดนใจมากที่สุดจาก อ.ยักษ์ คือ ถ้าคิดจะทำโคกหนองนาของตัวเอง ต้องรู้ไม่ต่ำกว่า 15 ทฤษฎีของ ร.9 และต้องเอามื้อไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง (ทบทวนตัวเองแล้วรู้ว่า เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง ค่อยๆ ทำเท่าที่ทำไหว พึ่งตัวเองให้มากที่สุด แต่ถ้าพึ่งเพื่อนได้ก็จะดีที่สุดเด้อ)
ขอบคุณผู้ให้ความรู้และกระตุกต่อมความคิดทุกๆ คนค่ะ ขอบคุณ อจย. ครูออม ครูหนาว ครูพี่แบงค์ ครูพี่ป่าน(แอบชื่อเหมือนกันเนอะ) ครูพี่โจ ครูพี่ธวัช และเพื่อนอ้ายหนานโตโต้ที่ชวนไปอบรม
พัฒนาตัวเอง
เรื่องเล่า
ไลฟ์สไตล์
บันทึก
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
คอลัมน์ เรื่องเล่าของสาวอินดี้
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย