17 มิ.ย. 2022 เวลา 00:03 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
การเมืองทำให้โง่?
Photo by Ergo Zakki on Unsplash
การเมือง คือศิลปะแห่งการมองหาเรื่องยุ่งยาก จนพบได้ทุกหนทุกแห่ง และวินิจฉัยมันอย่างไม่ถูกต้อง ก่อนจะใช้วิธีแก้ไขอย่างผิดๆ
เกราโช มาร์กซ์ (Groucho Marx)
นับเป็นคำเหน็บแนมที่บางคนอาจจะมองว่า เกินจริงไปบ้าง แต่บางคนกลับจะมองว่า จริงเสียนี่กระไร
ศาสตราจารย์เจสัน เบรนแนน (Jason Brennan) ที่เป็นนักปรัชญาร่วมสมัยและสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กล่าวเปรียบเทียบไว้ว่าในทางการเมืองแล้วอาจแบ่งคนทั่วไปออกได้เป็น 3 จำพวกคือ พวกฮอบบิท (Hobbit) ฮูลิแกน (Hooligan) และวัลแคน (Vulcan)
ถ้าใครเคยอ่านหรือเคยดู ลอร์ดออฟเดอะริงส์ (Lord of the Rings) ย่อมต้องรู้จัก “ฮอบบิท” มนุษย์ตัวจิ๋วที่ไม่สนใจการผจญภัยหรือโลกภายนอก และมีความสุขกับโลกใบเล็กๆ ของพวกตัวเองเท่านั้น พวกฮอบบิททางการเมืองก็คือ พวกที่ไม่รู้สึกรู้สาอะไรนักกับเรื่องการเมือง เพราะมองว่าไม่เกี่ยวอะไรกับตัวเอง
Photo by Mike Swigunski on Unsplash
ขณะทีพวกฮูลิแกนที่โด่งดังมีชื่อเสีย(ง) ในทางกีฬา เพราะถนัดสร้างความเสียหาย แต่สำหรับทางการเมืองนั้น จะเป็นกลุ่มคนที่มุมมองแบบฝังแน่นและหัวแข็ง ไม่อาจทำให้เปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆ
ลักษณะเด่นของพวกนี้ก็คือ จะอธิบายและยกเหตุผลมุมมองความเชื่อของฝ่ายตัวเองได้อย่างคล่องแคล่ว แต่อย่าถามถึงมุมมองของฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับพวกตัวเอง เพราะคนพวกนี้จะถึงกับใบ้รับประทาน นึกอะไรไม่ออกเลย
เพราะวันๆ จะเอาแต่รับข้อมูลที่สนับสนุนความเชื่อเดิมๆ ของพวกตัวเองเท่านั้น
พวกนี้ไม่ใช่ไม่มีความรู้นะครับ แต่จะมีแบบครึ่งๆ กลางๆ เฉพาะความรู้ที่เข้ากับ “ความเชื่อ” ของตัวเองเท่านั้น
ในสหรัฐพวกที่มีความเป็นเดโมแครตหรือรีพับลิกันแบบเข้าเส้น ก็คือพวกคนกลุ่มนี้นี่เอง พวกนี้จะมองคนที่คิดเห็นไม่เหมือนตัวเองว่า เห็นผิดเป็นชอบหรือหนักกว่านั้นก็คือ โง่เง่าเต่าตุ่นหรือชั่วร้ายเลวทรามทีเดียว
เหลือบตามองกลับมาที่สังคมไทย พวก “สีเข้าเส้น” ก็คือ ฮูลิแกนทางการเมืองตัวเอ้นั่นเอง
Photo by Kayle Kaupanger on Unsplash
สำหรับพวกสุดท้ายคือวัลแคนนั้น พวกแฟนคลับสตาร์เทร็ค (Star Trek) จะเข้าใจได้เอง โดยไม่ต้องอธิบายเพิ่ม แต่หากเป็นคนทั่วไปก็อาจจะต้องอธิบายเพิ่มนิดนึงว่า ในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวจะมีเผ่าพันธุ์ต่างดาวพวกหนึ่งที่มีความคิดความอ่านเป็นเหตุเป็นผลแทบจะสมบูรณ์แบบกันเลยทีเดียว
สิ่งมีชีวิตจำพวกนี้จะออกความคิดความเห็นอะไรที ก็มีหลักฐานด้านวิทยาศาสตร์หรือมุมมองทางปรัชญาคอยสนับสนุนอยู่เสมอ ไม่พูดจาเรื่อยเจื้อยไปตามอารมณ์ จนกลายเป็นคนลมเพลมพัดแบบนักการเมืองและผู้บริหารบางคนในบางประเทศ
แต่ที่สำคัญที่สุดคือ พวกวัลแคนนี่จะเปลี่ยนใจได้ หากพบเจอหลักฐานที่ชัดเจนว่าถูกต้อง แต่ขัดแย้งกับความคิด ความเห็น ความเชื่อที่มีอยู่
สำหรับในทางการเมืองแล้ว พวกนี้จะให้ความสนใจ แต่ขณะเดียวกันใจเย็น คิดพิจารณาอย่าละเอียดลออ ไม่ยอมให้มีอคติหรืออารมณ์มาเบี่ยงเบนมุมมองและความคิดได้ เพราะมีธรรมชาติเป็นพวกที่พยายามตัดอคติและคงหลักเหตุผลทางความคิดไว้เสมอ
ศาสตราจารย์เบรนแนนมองว่า การเมืองในโลกนี้ส่วนใหญ่แล้วจะมีพวกฮูลิแกนเป็นพวกคุมเกมอำนาจ จึงมีความจำเป็นมากที่เราจะต้องทำความเข้าใจพวกฮูลิแกนทางการเมืองว่า พวกนี้มีวิธีคิดและตัดสินใจอย่างไร จึงจะรับมือหรือปรับเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้นได้
เรื่องแรกสุดที่เป็นลักษณะของฮูลิแกนที่เราต้องจำให้ขึ้นใจคือ พวกนี้เลือกที่จะเชื่อ “แค่บางอย่าง” แล้วไอ้บางอย่างที่ว่านั้นต้องเป็นยังไงแน่?
คำตอบคือบางอย่างที่ว่านั้นต้องทำให้รู้สึกว่าโลกสวย เชื่อแล้วสบายใจ
อันนี้ไม่ได้เขียนลอยๆ นะครับ รู้กันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1979 นู่น โดยมีงานวิจัยสนับสนุนด้วย
การตัดสินใจทางการเมืองจึงกลายเป็นเรื่องของ “ความชอบใจ” มากกว่าการตัดสินใจอย่างเป็นเหตุเป็นผลอย่างระมัดระวัง โดยพิจารณาจากข้อมูลที่ได้เพิ่มเติมมา
พูดแบบภาษาไทยเข้าใจง่ายๆ คือ ไม่ต้องไปเปลืองน้ำลายอธิบายเหตุผลกับพวกฮูลิแกนทางการเมือง เพราะพวกเค้าจะเลือกเชื่อแค่ “สิ่งที่เชื่อแล้วสบายใจ” เท่านั้น
นี่คือเหตุผลที่วงดีเบตแตกเอาง่ายๆ ทุกทีที่พยายามจะไล่เรียงหาเหตุผลของแต่ละฝ่าย
มีนักจิตวิทยาที่ถึงกับพยายามตั้งเป็นทฤษฎีขึ้นมา (เรียกว่า The Argumentative Theory of Reasoning)
โดยเสนอว่า “การใช้เหตุผลไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาเพื่อให้เราเข้าถึงสัจจะ การใช้เหตุผลเป็นแต่เพียงวิวัฒนาการที่จะช่วยให้เราโต้แย้งได้ดีขึ้นเท่านั้น”
คนที่เสนอแนวคิดนี้คือ นักจิตวิทยาชื่อ ฮูโก เมอร์ซีเออร์ (Hugo Mercier) และแดน สเปอร์เบอร์ (Dan Sperber)
ศ.เบรนแนน ตั้งขอสังเกตเพิ่มเติมว่า การใช้เหตุผลอาจจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เฮงซวยก็ได้นะครับ (อ้าว!)
แต่ไม่ใช่เพราะคนใช้เหตุผลไม่เก่ง แต่เป็นเพราะคนนำเอาข้อโต้แย้งมาใช้อย่างเป็นระบบ เพียงเพื่อสนับสนุนความเชื่อหรือการกระทำของตัวเองเท่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจะค้นหาความจริงหรือสัจจะในเรื่องที่กำลังโต้แย้งกันอยู่–เป็นการใช้เหตุผลที่เปล่าประโยชน์แท้ๆ!
กล่าวสรุปไว้ตรงนี้ก่อนว่า การใช้เหตุผลกับเรื่องการเมืองอาจจะไม่มีประสิทธิภาพมากนักที่จะทำให้เรามองเห็นโลกตามความเป็นจริง เพราะวิวัฒนาการสนับสนุนการใช้เหตุผลในการโน้มน้าวใจหรือแม้แต่หลอกใช้หรือควบคุมคนอื่น
เมื่อคนเผชิญหน้ากับมุมมองและเหตุผลที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อ จึงไม่ค่อยเปลี่ยนความเชื่อตัวเอง แต่กลับจะโกรธและยึดจับความเชื่อตัวเองแน่นมากขึ้นไปอีก การใช้หลักเหตุผลจึงไม่มีประโยชน์ในการแก้ปัญหาทางการเมืองสักเท่าไหร่
มองให้ลึกลงไปอีก ปัญหาที่ว่ามามี “รากเหง้าของปัญหา” อยู่ที่ใดกันแน่?
Photo by Jon Tyson on Unsplash
นักจิตวิทยาทำการทดลองเยอะแยะไปหมดเพื่ออธิบายเรื่องพวกนี้นะครับ
ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างคำอธิบายหลักๆ ส่วนหนึ่งที่ใช้อธิบายได้อย่างกว้างขวาง การที่ต้องมองหารากเหง้าของปัญหา เพราะจะช่วยให้แก้ปัญหาได้ คือต้องแก้ที่รากเหง้าของปัญหานี่แหละครับ
คำอธิบายแรกก็คือ คนเรามีอคติครับ แถมมีง่าย แต่แก้ยากอีกต่างหาก
มีอคติสองแบบที่ใช้อธิบายได้ดีคือ อคติแบบยืนยันหรือล้มล้างความเชื่อเดิม (Confirmation and disconfirmation biases)
คนทั่วไปจะมีมุมมองชีวิตตามแต่ประสบการณ์ การศึกษา และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เรามีแนวโน้มจะปฏิเสธหรือมองข้ามบรรดาหลักฐานที่ไปด้วยกันไม่ได้กับมุมมองและความคิดที่มีอยู่เดิม
มีงานวิจัยที่ชี้ว่า หากเรานำหลักฐานที่ขัดแย้งกับความเชื่อของพวกเอียงข้างทางการเมืองมาแสดง พวกเขากลับจะยิ่งกอดความเชื่อเดิมด้วยความมั่นอกมั่นใจมากขึ้นไปอีก
เรื่องนี้ใช้อธิบายได้ด้วยว่า เหตุใดคนส่วนใหญ่จึงมีรูปแบบการรับข่าวสารที่เอียงกระเท่เร่
แต่ที่น่ากลุ้มใจมากขึ้นไปอีกก็คือ โซเชียลมีเดียมีแนวโน้มจะเพิ่ม “ขั้ว” การรับข่าวแบบนี้ให้กับเราด้วย
เช่น พบว่าปัญญาประดิษฐ์ของเฟซบุ๊กเลือกป้อนข่าวที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงให้กับคนอเมริกันที่เป็นอนุรักษ์นิยมกับเสรีนิยม (เพื่อให้ผู้ใช้งานชอบใจมากที่สุดและยังติดใจใช้งานเฟซบุ๊กต่อไป) โดยอิงกับนิสัยการเลือกของคนนั้นๆ
คำอธิบายแบบที่สองคือ อารมณ์ความรู้สึกจะไปรบกวนความคิดอ่านของเรา เช่น มีการศึกษาพบว่าอารมณ์เศร้า โกรธ หรือสนุกสนาน ล้วนแล้วแต่บดบังความสามารถในการคิดวิเคราะห์เรื่องการเมืองให้ชัดเจนทั้งสิ้น
บ่อยครั้งทีเดียวที่เราตัดสินตามอารมณ์ความรู้สึกขณะนั้น เช่น พบว่าคนที่เพิ่งสูญเสียแมวไป จะเชื่อว่าอาชญากรรมลดลงได้ยากขึ้น ทั้งๆ ที่สองเรื่องนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลยก็ตาม
ดังนั้น ยิ่งเรื่องใกล้ตัวหรือกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งมีแนวโน้มจะทำให้เราตัดสินข้อโต้แย้งเรื่องทางการเมืองแบบมีขั้วหรือตกขอบด้านใดด้านหนึ่งมากขึ้นเท่านั้น
นอกจากอคติแบบบุคคลแล้ว คำอธิบายแบบที่สามคือ มีอคติแบบกลุ่มด้วย
Photo by Clay Banks on Unsplash
คนเรามีแนวโน้มตามธรรมชาติที่จะอยากจับกลุ่มกับคนที่คิดและทำเหมือนๆ กัน ยิ่งไปกว่านั้น หากไม่ระมัดระวังตัวให้ดี ก็จะมีแนวโน้มการถือตัวว่า กลุ่มของเราดีกว่า เหนือกว่า ฉลาดกว่า เที่ยงธรรมกว่ากลุ่มอื่นได้ง่าย ๆ จนบางครั้งก็นำไปสู่ความเกลียดชังอย่างไม่จำเป็น
คำอธิบายสุดท้ายเป็นเรื่องของความกดดันจากคนรอบข้าง
เรามักจะเกิดอคติบางอย่างขึ้นได้ง่ายดายมาก หากต้องทำเพื่อแลกกับการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม
แม้แต่การทดลองง่ายๆ ที่ให้หน้าม้าจำนวนมาก แสดงความเห็นพ้องต้องกันในเรื่องที่เห็นได้ง่ายดายว่าผิด เช่น ระบุว่าเส้นสองเส้นที่ไม่ได้เหมือนกันว่า เหมือนกันทุกประการ ก็จะเกิดแรงกดดันให้ผู้เข้าทดลองต้องคล้อยตามและระบุแบบเดียวกัน ทั้งๆ ที่ค้านสายตาผู้เข้าทดลองเหล่านั้นเป็นอย่างมาก จนทำให้รู้สึกอึดอัดหรือกระวนกระวายใจ
ที่เล่ามาคือ หลักใหญ่ที่ใช้อธิบายว่า ทำไมเราจึงแทบจะทำให้ฮูลิแกนทางการเมืองเปลี่ยนใจไม่ได้เลย ขณะที่การดึงฮอบบิทให้มาสนเรื่องทางการเมืองและมาอยู่ข้างเราก็ทำได้ยากเช่นกัน
แต่ที่ยากที่สุดคือ การทำให้เกิดวัลแคนทางการเมือง เพราะเผ่าพันธุ์แบบนี้หายากยิ่งกว่าสัตว์ใกล้สูญพันธุ์เสียอีก
เรื่องนี้อาจจะใช้เตือนตัวเองในมุมกลับได้ด้วย เกี่ยวกับมุมมอง ความคิดเห็น รวมไปถึงการหาข้อมูลการเมืองของตัวเราเองด้วย เพราะพวกเราไม่ได้มีวิวัฒนาการ เพื่อเป็นคนที่มีความคิดอ่านอย่างเป็นเหตุเป็นผลในทางการเมืองมาตั้งแต่ต้นนั่นแล
ทั้งหมดนี้จึงยืนยันว่า มีแนวโน้มสูงมากที่การเมืองจะทำให้คนเราปิดใจจนโง่ และมั่นใจในความโง่นั้นอย่างจริงจังอีกต่างหาก!

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา