23 มิ.ย. 2022 เวลา 10:44 • ประวัติศาสตร์
*** สงครามปฏิวัติอเมริกาแบบเข้าใจง่าย ***
ประเทศอเมริกาฯ นั้นถือว่ามีประวัติศาสตร์ที่ไม่ยาวนานนักเมื่อเทียบกับหลายประเทศ (คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส พึ่งค้นพบทวีปอเมริกาในปี ค.ศ. 1492) อย่างไรก็ตามประเทศนี้มีอิทธิพลต่อโลกมาก โดยเฉพาะในด้านที่ทำให้ระบบประชาธิปไตยกลายเป็นการปกครองกระแสหลักของโลกในปัจจุบัน
1
ทั้งนี้การปฏิวัติตั้งตัวเป็นสาธารณรัฐของอเมริกานั้นมีผลผลักดันให้ชาวฝรั่งเศสต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย นำสู่ “การปฏิวัติฝรั่งเศส” และการที่ชาติต่างๆ เปลี่ยนแปลงตนเองโดยลำดับ
สหรัฐอเมริกาจึงได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งประชาธิปไตยและเสรีภาพ แม้พื้นฐานของชาวอเมริกันจะมีความหลากหลาย แต่ทุกคนก็อาศัยอยู่ร่วมกันโดยถือหลักความเท่าเทียม และเสรีภาพในการแสดงออก
ในบทความนี้เราจะมาติดตามสงครามการปฏิวัติอเมริกาในช่วงปี ค.ศ. 1775 – 1783 ซึ่งเป็นรากฐานของประชาธิปไตยในอเมริกา และเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เปลี่ยนแปลงโลกดังกล่าวแล้วนั่นเอง
*** จุดเริ่มต้นของสงครามปฏิวัติอเมริกา ***
เดิมทีนั้นทวีปอเมริกาเหนือในช่วงศตวรรษที่ 18 ถูกแบ่งเป็นอาณานิคมต่างๆ มากมายตามการจัดสรรปันส่วนของมหาอำนาจในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นสเปนที่คุมพื้นที่ในแถบฟลอริดาและพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ ฝรั่งเศสคุมพื้นที่ตามแนวแม่น้ำมิสซิสซิปปี และชายฝั่งอ่าวเม็กซิโก
ส่วนอังกฤษคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ตลอดแนวชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก (ที่ซึ่งต่อมาจะกลายเป็น 13 อาณานิคมหลักที่เรียกร้องการแยกตัวจากจักรวรรดิอังกฤษในเวลาต่อมา)
แต่ถึงกระนั้นบรรดาชาวอาณานิคมต่างๆ มักมีอำนาจปกครองตัวเองระดับหนึ่ง แต่อยู่ภายใต้การคุ้มครองโดยจักรวรรดิหรือมหาอำนาจ สะท้อนให้เห็นว่าเดิมทีมหาอำนาจในยุโรปไม่ได้เข้าควบคุมชาวอาณานิคมโดยตรงอยู่แล้ว (ยกเว้นจักรวรรดิสเปนที่ค่อนข้างจะเข้มงวด)
1
ภาพแนบ: อาณานิคมบนทวีปอเมริกาเหนือในช่วงศตวรรษที่ 18
ในช่วงปี ค.ศ. 1756 – 1763 ยุโรปได้เกิดความขัดแย้งใหญ่เป็นสงคราม 7 ปี ซึ่งอังกฤษกับฝรั่งเศสรบกันจากการขัดผลประโยชน์ นำไปสู่การเผชิญหน้ากันไม่ว่าจะในทวีปยุโรปหรืออาณานิคมอื่นๆทั่วโลก
รวมไปถึงอาณานิคมในอเมริกาด้วย (สงคราม 7 ปีในสมรภูมิอเมริกา ถูกเรียกว่า สงครามฝรั่งเศส และ อินเดียน เพราะทั้งสองฝ่ายใช้ชาวอเมริกันพื้นเมืองที่เรียกว่าอินเดียนแดงมารบกันมาก)
ภาพแนบ: การรบในสงครามฝรั่งเศส-อินเดียน
ในท้ายที่สุดฝรั่งเศสพ่ายแพ้สงคราม นำไปสู่การทำสนธิสัญญาปารีสในปี ค.ศ. 1763 ทำให้อังกฤษสามารถเข้ายึดอาณานิคมต่างๆของฝรั่งเศส และได้ครอบครองอาณานิคมเกือบทั้งหมดในทวีปอเมริกาเหนือนั้นเอง
แต่ถึงแม้ว่าอังกฤษจะเป็นฝ่ายที่มีชัยและได้ครอบครองอาณานิคมในอเมริกาเหนือไว้แต่เพียงผู้เดียว ทว่าสิ่งที่จักรวรรดิอังกฤษต้องเผชิญคือ ค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลที่เกิดจากทำสงคราม
ภาพแนบ: แผนที่อาณานิคมอเมริกาก่อนและหลังสงครามฝรั่งเศส-อินเดียน
ทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องเก็บภาษีจากอาณานิคมเพิ่มเติม โดยเริ่มจากการผ่านพระบรมราชโองการ ปี 1763 (Royal Proclamation) ที่จำกัดการขยายและตั้งถิ่นฐานเพิ่มเติมทางตะวันตกของชาวอาณานิคมไม่ให้รุกล้ำถิ่นฐานของอินเดียนแดง ทั้งนี้ก็เพื่อคุมการขยายตัวของอาณานิคมซึ่งจะง่ายต่อการตามเก็บภาษี
และพระราชบัญญัติน้ำตาลปี 1764 (Sugar Act) ยังมีจุดหมายสำคัญเพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้ากากน้ำตาล และยังเป็นการเก็บภาษีกากน้ำตาล และสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มเติมอีกด้วย
ภาพแนบ: พระบรมราชโองการ ปี 1763
พระราชบัญญัติเหล่านี้ส่งผลให้ชาวอาณานิคมเริ่มเกิดความไม่พอใจ แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มาก เนื่องด้วยชาวอาณานิคมไม่มีผู้แทนในรัฐสภาอังกฤษที่สามารถออกเสียงคัดค้านการดำเนินงานของภาครัฐได้
ในปีถัดมาได้มีพระราชบัญญัติเลี้ยงดูทหารปี 1765 (Quartering Act) ที่กำหนดให้ชาวอาณานิคมต้องจัดหาที่พักพร้อมช่วยรับภาระเลี้ยงดูทหารอังกฤษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในปีเดียวกันนั้นก็ได้มีการออกพระราชบัญญัติอากรแสตมป์ปี 1765 (Stamp Act)
ที่กำหนดให้ทุกเอกสารภายในอาณานิคมต้องติดแสตมป์เสียภาษี ไม่ว่าเอกสารนั้นจะเป็นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ประกาศนียบัตรหรือแม้กระทั่งไพ่ ทั้งยังมีการออกกฎหมายอื่นๆ ที่ทำให้ชาวอาณานิคมรับภาระการจ่ายภาษีมากยิ่งขึ้น
ชาวอาณานิคมรับภาระการจ่ายภาษีมากยิ่งขึ้น
ภาพแนบ: ตัวอย่างแสตมป์
กฎหมายเหล่านี้สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงกับชาวอาณานิคม ก่อให้เกิดการประท้วงมากมายในแต่ละพื้นที่ รวมไปถึงการข่มขู่และทำลายที่พักเจ้าหน้าที่ของอังกฤษ เนื่องด้วยชาวอาณานิคมถือว่าการออกกฎหมายเหล่านี้เป็นการละเมิดสิทธิและขูดรีดโดยตรง
ก่อนที่จะมีการรวมตัวโดยผู้แทนจาก 9 อาณานิคมที่เมืองนิวยอร์ก เพื่อยื่นฎีกาให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว พร้อมมีมติร่วมกันในการให้อาณานิคมแต่ละแห่งมีสิทธิ์ในการจัดเก็บภาษีด้วยตัวเอง
ภาพแนบ: ชาวอาณานิคมก่อจลาจล ทำลายที่พักเจ้าหน้าที่อังกฤษ
ความตึงเครียดที่ก่อตัวขึ้นมา ทำให้รัฐบาลอังกฤษยอมประกาศยกเลิกพระราชบัญญัติอากรแสตมป์ในปี 1766 เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด แต่ถึงกระนั้นอังกฤษก็ยังได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยคำประกาศ (Declaratory Act) เพื่อแสดงประกาศว่า รัฐบาลอังกฤษนั้นมีอำนาจสมบูรณ์ชอบธรรมเหนือดินแดนอาณานิคม
จากนั้นอังกฤษยังปกครองโดยโจทย์ที่ว่า จะเก็บภาษีอย่างไร ไม่ให้คนโกรธมากเกินไป? ซึ่งออกมาเป็นการแกล้งเลิกเก็บภาษีบางอย่าง แต่เปลี่ยนไปเก็บภาษีอย่างอื่นแทน เป็นเช่นนี้หลายปี ทำให้ชาวอาณานิคมรู้สึกเจ็บแค้นที่ถูกรัฐบาลหลอกตบหัวแล้วลูบหลังซ้ำแล้วซ้ำเล่า จะต่อรองอะไรก็ทำได้ยาก
ภาพแนบ: พระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร
ณ จุดนี้ชาวอาณานิคมเริ่มรวมตัวอย่างหลวมๆ เพื่อประกาศอิสรภาพ โดยมีกลุ่มเคลื่อนไหวสำคัญอย่างเช่น กลุ่มบุตรชายแห่งอิสรภาพ (Sons of Liberty) ที่สนับสนุนการคว่ำบาตรสินค้านำเข้าจากอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1770
ต่อมารัฐสภาอังกฤษได้ทำการ “ทั้งปลอบทั้งขู่” โดยผ่อนปรนให้ยกเลิกการเก็บภาษีหลายอย่าง แต่ยังเก็บภาษีนำเข้าใบชา (เป็นของสำคัญเพราะคนในวัฒนธรรมอังกฤษมักดื่มชาทุกวัน) ขณะเดียวกันก็กองทหาร 4,000 นายเข้าประจำการที่เมืองบอสตัน
ภาพแนบ: กลุ่ม Sons of Liberty
อย่างไรก็ตามได้เกิดเหตุมีม๊อบที่ประท้วงหน้าสำนักงานศุลกากรตะโกนท้าทายทหารรักษาการณ์ให้ยิงใส่ตัวเองว่า “แน่จริงก็ยิงเลย!” พร้อมขว้างปาของใส่
ในที่สุดมีทหารคนหนึ่งถูกขว้างของใส่จนปืนร่วง เขาทนไม่ไหวพอเก็บปืนได้ก็ยิงเข้าใส่ฝูงชน กระสุนนัดนี้ทำให้เกิดการจลาจล มีผู้เสียชีวิต 5 คน จนถูกเรียกเหตุการณ์นี้ว่า การสังหารหมู่ในบอสตัน (Boston Massacre)
การสังหารหมู่บอสตันกลายเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้ความไม่พอใจของชาวอาณานิคมระเบิดออกมาในที่สุดนั้นเอง
ภาพแนบ: เหตุการณ์การสังหารหมู่ในบอสตัน
จากเหตุการณ์ การสังหารหมู่ในบอสตัน ทำให้เมืองบอสตันกลายเป็นเมืองหลักที่ต่อต้านการปกครองของอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1772 ซามูเอล อาดัมส์ (Samuel Adams) นักการเมืองจากรัฐแมสซาชูเซตต์ (ผู้ซึ่งมีความสัมพันธ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับจอห์น อดัม ที่ในอนาคตจะได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ) ได้ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการรณรงค์ในอาณานิคมต่างๆ ซึ่งต่อมาจะได้กลายเป็นแกนนำของขบวนการปฏิวัติในปี ค.ศ. 1773
การถึงขั้นนี้รัฐสภาอังกฤษกลับไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร และยังอนุมัติการออกพระราชบัญญัติใบชาในปี 1773
ในที่สุดกลุ่มบุตรชายแห่งอิสรภาพประมาณ 50 คน ได้ปลอมตัวเป็นชาวอเมริกันพื้นเมืองลอบปีนขึ้นเรืออังกฤษสามลำที่จอดพักที่ท่าเรือเมืองบอสตัน พร้อมกับโยนใบชาราว 342 หีบทิ้งแม่น้ำเพื่อประท้วง กลายเป็นเหตุการณ์ “งานเลี้ยงน้ำชาในบอสตัน” (Boston Tea Party) (ที่ปลอมตัวเพื่อโทษชนเผ่าแทน)
เหตุนี้ทำให้รัฐบาลอังกฤษไม่พอใจเป็นอย่างมาก จึงเร่งออกพระราชบัญญัติอขันติธรรม (Intolerable Act หรือเรียกง่ายๆ ว่า พ.ร.บ. ตูจะไม่ทน) ปิดท่าเรือบอสตัน และจำกัดสิทธิของรัฐบาลท้องถิ่น ตอบโต้การกระทำของชาวอาณานิคมในทันที!
ในปี ค.ศ. 1774 ตัวแทนของอาณานิคมทั้ง 13 แห่ง (ยกเว้นจอร์เจีย) ได้เดินทางมารวมตัวกันเพื่อเปิดการประชุมที่เมืองฟิลาเดลเฟีย เกิดเป็นการประชุมสภาคองเกรสแห่งภาคพื้นทวีป (Continental Congress) ครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์อเมริกา โดยในที่ประชุมได้มีการประณามการออกกฎหมายบังคับต่างๆ โดยรัฐสภาอังกฤษ และยืนยันการคว่ำบาตรสินค้านำเข้าจากอังกฤษ นอกจากนั้นยังมีการอนุมัติการจัดเตรียมกำลังทหารเพื่อต่อสู้
…เมื่อการประชุมสภาคองเกรสแห่งภาคพื้นทวีปเสร็จสิ้น ก็เป็นสัญญาณที่บ่งบอกให้ทราบว่า ความขัดแย้งต่อเนื่องระหว่างอังกฤษกับอาณานิคมกำลังใกล้เข้าสู่จุดแตกหัก ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นคนที่เริ่มจุดชนวนก่อนเท่านั้นเอง…
ภาพแนบ: การประชุมสภาคองเกรสแห่งภาคพื้นทวีปครั้งแรก
*** สงครามปฏิวัติอเมริกา ***
การประท้วงต่อต้านอังกฤษของชาวอาณานิคมยังคงดำเนินต่อไป และเพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มเป็นการลุกฮือ ทางรัฐสภาอังกฤษตอบโต้โดยมอบอำนาจให้กับนายพล โธมัส เกจ (Thomas Gage) ผู้ว่าราชการทหารแห่งรัฐแมสซาชูเซสตต์ในขณะนั้น ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งทวีปอเมริกา ทำหน้าที่ปราบปรามกลุ่มชาวอาณานิคมที่เริ่มสะสมกำลังอาวุธจนอาจเป็นภัยต่อการปกครอง
ภาพแนบ: นายพล โทมัส เกจ
การปะทะกันอย่างเป็นทางการระหว่างทหารอังกฤษกับทหารอาสาสมัครของชาวอาณานิคมเริ่มเป็นครั้งแรกในวันที่ 19 เม.ย. ค.ศ. 1775 จากการที่ทหารอังกฤษประมาณ 700 นาย ได้เคลื่อนพลจากบอสตันเข้าสู่เมืองคองคอร์ดเพื่อเข้ายึดคลังอาวุธที่ชาวอาณานิคมซ่องสุมไว้ตามคำสั่งของนายพลเกจ
เหล่าชาวอาณานิคมจึงรีบเดินทางมารวมตัวประท้วงที่เมืองเล็กซิงตัน แต่กลับกลายฝั่งทหารอังกฤษเปิดฉากยิงใส่ชาวอาณานิคมก่อน (บางแหล่งข้อมูลก็ระบุว่าไม่ทราบว่าฝ่ายใดเริ่มก่อน) ทำให้เกิดการปะทะกันอย่างดุเดือดก่อนที่ฝ่ายอังกฤษจะถอยกลับไปยังบอสตัน
โดยฝ่ายอังกฤษถูกลอบโจมตีตลอดเส้นทางเดินทัพกลับ ทำให้ในท้ายที่สุดมีทหารอังกฤษบาดเจ็บและเสียชีวิตไปมากกว่า 300 นาย ในขณะที่ฝ่ายอาณานิคมบาดเจ็บและเสียชีวิตประมาณ 93 นาย
ภาพแนบ: การปะทะกันครั้งแรกระหว่างทหารอังกฤษกับทหารอาสาสมัครที่เมืองเล็กซิงตัน
ภายหลังจากเหตุการณ์ปะทะในครั้งนี้ ฝ่ายอาณานิคมได้มีส่งตัวแทนเข้าร่วมการประชุมสภาคองเกรสครั้งที่ 2 ที่เมืองฟิลาเดลเฟียเพื่อหารือเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยที่ประชุมได้ตกลงเห็นชอบในการยื่นอุทธรณ์แก่พระเจ้าจอร์จที่ 3 เพื่อขอเจรจาการหยุดยิงและยกเลิกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม
แต่เมื่อคำร้องถูกปฏิเสธ จึงได้มีจัดตั้งกองกำลังภาคพื้นทวีปจากทหารอาสาสมัครขึ้นมา โดยฝ่ายอาณานิคมตั้งให้ นายพล จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) ผู้ซึ่งมีประสบการณ์การรบมาตั้งแต่สมัยสงครามฝรั่งเศส – อินเดียน เป็นแม่ทัพใหญ่ (ต่อมาวอชิงตันจะได้เป็นประธานาธิบดีคนแรก และมีหน้าในแบงค์ 1 ดอลลาร์จนปัจจุบัน)
ภาพแนบ: จอร์จ วอชิงตัน
จากเหตุการณ์การปะทะในรัฐรัฐแมสซาชูเซสตต์ทำให้กองทัพอังกฤษเริ่มใช้การรบแบบเต็มรูปแบบในการเข้ายึดเมืองชาร์ลสทาวน์ในบอสตัน เริ่มโดยทหารอังกฤษกองแรกจำนวนกว่า 1,500 นายยกพลขึ้นบกเข้าปะทะกับกองทหารอาสาสมัครที่บังเกอร์ฮิลล์
เนื่องด้วยฝ่ายทหารอาสาสมัครอยู่ในชัยภูมิเนินเขาที่ได้เปรียบกว่าจึงทำให้ทหารอังกฤษสูญเสียกำลังพลไปกว่า 1,000 นาย ในการโจมตีครั้งนี้ แต่ในท้ายที่สุดกองทัพอังกฤษก็สามารถเข้ายึดพื้นที่ได้เนื่องโดยอาศัยการใช้กำลังเสริมเข้าตีที่มั่นจนฝ่ายอาณานิคมต้องล่าถอยไป (แต่สูญเสียทหารน้อยกว่า คือตายเพียง 400 กว่านายเท่านั้น)
ภาพแนบ: ภาพแนบ: การศึกที่บังเกอร์ ฮิลล์
ในช่วงเริ่มต้นของสงครามปฏิวัติอเมริกา ได้มีนักทฤษฎีการเมืองชื่อ โธมัส เพน (Thomas Paine) เสนอแนวคิดการแยกตัวจากการปกครองของอังกฤษผ่านหนังสือชื่อ “สามัญสำนึก” (Common Sense) โดยเน้นไปที่วิพากษ์การเมืองการปกครองและสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษ
ภาพแนบ: หนังสือ Common Sense
เนื้อหาในหนังสือกระตุ้นความรู้สึกผู้คนลุกขึ้นมาเพื่อเรียกร้องการแยกตัวออกจากอังกฤษ ในขณะเดียวกันทางที่ประชุมสภาคองเกรสได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่างคำประกาศเอกราช (Declaration of Independence) โดยมี โธมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) เป็นผู้ร่างหลักการในที่ประชุม พร้อมได้ เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) เป็นผู้แก้ไขร่างคำประกาศ จนเสร็จสิ้นในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776
ทำให้วันที่ 4 กรกฎาคม ถูกกำหนดเป็นวันประกาศอิสรภาพหรือวันชาติอเมริกา (ที่เอ่ยชื่อมาทั้งหมดนี้เป็นคนสำคัญของอเมริกา ต่อมาเจฟเฟอร์สันจะได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 และมีหน้าในแบงค์ 2 ดอลลาร์ ส่วนแฟรงคลินเป็นคนหนึ่งที่ประดิษฐ์สายล่อฟ้า และมีหน้าในแบงค์ 100 ดอลลาร์)
ภาพแนบ: เบนจามิน แฟรงคลิน, จอนห์ อดัม, และโธมัส เจฟเฟอร์สัน
นอกจากนี้ชาวอาณานิคมยังได้หาแนวร่วมเพื่อต่อต้านอังกฤษเพิ่มเติมด้วย โดยการสนับสนุนจากมหาอำนาจยุโรปอย่างฝรั่งเศสและสเปนที่แอบให้ความช่วยเหลืออย่างลับๆ เพื่อกีดกันอิทธิพลของอังกฤษในอเมริกาไม่ให้ขยายไปมากกว่านี้ ทว่าอาณานิคมในแถบแคนาดากับแคริบเบียนไม่ได้ให้การสนับสนุน
ฝ่ายอังกฤษที่แม้ว่าจะชนะศึกบังเกอร์ฮิลล์ แต่ก็สูญเสียหนักจึงได้มีการเปลี่ยนตัวผู้บัญชาการทหารสูงสุดจากนายพลโธมัส เกจ เป็นนายพล วิลเลียม ฮาว (William Howe) พร้อมย้ายที่มั่นจากบอสตันขึ้นเหนือไปยังเมืองนิวยอร์ก ก่อนจะเริ่มส่งกองทัพเข้าควบคุมพื้นที่โดยรอบ
ภาพแนบ: นายพล วิลเลียม ฮาว
แม้ว่าทางอาณานิคมพยายามส่งกองทัพเข้าสกัด แต่กลับพ่ายแพ้ติดๆ กัน เพราะกองกำลังอาณานิคมด้อยกว่ามากในหลายด้าน ทหารหลายคนเป็นเพียงอาสาสมัครที่ไม่พร้อมเผชิญกับความน่ากลัวและวุ่นวายในสนามรบ กองทัพอาณานิคมยังมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ไม่ทันสมัยและเพียงพอต่อกำลังพล ทหารบางคนไม่มีแม้แต่รองเท้าที่จะใส่ด้วยซ้ำไป
ส่วนกองทัพอังกฤษนั้นเข้มแข็งทั้งอาวุธและระเบียบวินัยจึงได้เปรียบในการรบเผชิญหน้า การพ่ายแพ้ต่อเนื่องทำให้กำลังใจของฝ่ายอาณานิคมถดถอยยิ่ง
วอชิงตันได้ทำการตอบโต้ โดยในคืนวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1776 เขาได้รวบรวมกำลังพลที่เหลือประมาณ 2,400 นาย เสี่ยงข้ามแม่น้ำแดลาแวร์ท่ามกลางสภาพอากาศที่ย่ำแย่ (แต่ช่วยในการพรางการเคลื่อนทัพได้เป็นอย่างดี)
จากนั้นวอชิงตันจึงเคลื่อนทัพฝ่าดงหิมะเข้าตีกองทหารเฮสเซียนราว 1,500 นายที่คุ้มกันเมืองเทรนตันอย่างฉับพลันจากทุกทิศทาง! (เฮสเซียนคือทหารรับจ้างชาวเยอรมันที่อังกฤษจ้างเพื่อทดแทนกองทัพบกอังกฤษที่มีไม่มาก)
ภาพแนบ: วอชิงตันนำกองทัพข้ามแม่น้ำแดลาแวร์
การตัดสินใจนี้อุกอาจมาก อันตรายมาก เพราะจริงๆ แล้วกองทหารเฮสเซียนมีประสบการณ์การรบและอาวุธที่เหนือกว่าพวกอเมริกัน แต่เมื่อถูกโจมตีไม่ทันตั้งตัวจึงพ่ายแพ้แตกทัพไป
ชัยชนะดังกล่าวทำให้ฝ่ายอาณานิคมสามารถจับเชลยและอาวุธยุทโธปกรณ์ได้มากมาย ในขณะที่ฝ่ายอาณานิคมเสียไปแค่ 2 คนจากความหนาว และบาดเจ็บเพียง 5 คนเท่านั้น …ต้องนับว่าวอชิงตันชนะด้วยสติปัญญาและความกล้าหาญ...
ความสำเร็จดังกล่าวทำให้ชาวอาณานิคมมีขวัญกำลังใจและอาสาร่วมทัพกับวอชิงตันมากขึ้น กลายเป็นการจุดประกายแห่งความหวังให้กับกองทัพอาณานิคม
ภาพแนบ: การรบเมืองเทรนตัน
แต่ถึงกระนั้นในปี ค.ศ. 1777 นายพลฮาวได้รวบรวมกองทัพบุกเข้ามาในรัฐเพนซินเวเนียเพื่อเข้ายึดที่มั่นสำคัญของฝ่ายอาณานิคม
เมื่อวอชิงตันยกทัพไปรับศึก เขาจึงได้เผชิญหน้ากับกองทัพของฮาวที่ป้อมแชดส์ ณ หุบเขาแบรนดีไวน์
กองกำลังทั้งสองฝ่ายมีกำลังพลสูสีกันมาก แม้ว่าทหารอาสาสมัครจะพยายามอย่างเต็มที่ในการป้องกัน แต่เมื่อเผชิญกับการถาโถมอย่างหนักหน่วง ทั้งยังถูกกองทัพม้าเข้าโอบตีปีกข้างอย่างฉับพลัน ทำให้ในที่สุดทัพของวอชิงตันก็ต้องแตกพ่ายไป
อย่างไรก็ตามวอชิงตันยังสามารถจัดการถอยอย่างมีระเบียบ ทำให้สูญเสียไม่มาก เขาโชคดีที่กองทัพอังกฤษมีทหารม้าไม่พอที่จะตามบดขยี้กองทัพอาณานิคม
ภาพแนบ: การศึกที่แบรนดีไวน์
กองทัพอังกฤษฉวยจังหวะนั้นยกทัพเข้ายึดฟิลาเดลเฟีย ส่งผลให้สภาคองเกรสต้องหลบหนีหัวซุกหัวซุน ในขณะที่วอชิงตันก็ต้องเร่งรีบหากำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อฟื้นฟูกองทัพรบกับอังกฤษต่อ
ถึงแม้ว่าอังกฤษจะชิงความได้เปรียบในการเข้ายึดที่มั่นสำคัญของฝ่ายอาณานิคมได้ก็จริง แต่ ณ จุดนี้ พวกอาณานิคมได้พัฒนาเทคนิคใหม่ในการต่อสู้ คือพวกเขาใช้ยุทธวิธีการรบแบบกองโจร กระจายกองกำลังเป็นหน่วยเล็กๆ แต่ยืดหยุ่นและรวดเร็ว อาศัยความชำนาญในพื้นที่คอยดักซุ่มโจมตีทหารอังกฤษและกองเสบียง หลอกล่อทหารอังกฤษให้เดินทัพไล่ตามก่อนจะทำการเข้าโจมตีจากทุกทิศทาง และหลีกเลี่ยงการปะทะกับกองทัพอังกฤษอย่างซึ่งๆหน้า
ภาพแนบ: การศึกในแถบอเมริกาเหนือ ในช่วงปี ค.ศ. 1777
เนื่องด้วยกองทัพอังกฤษเคยชินกับการเคลื่อนกระบวนทัพที่มีระเบียบแต่เชื่องช้า ทำให้ปรับตัวรับมือกองกำลังขนาดเล็กของฝ่ายอาณานิคมไม่ทัน ส่งผลให้พวกเขาค่อยๆ อ่อนแอลง แม้ว่าจะมีกำลัง และประสบการณ์เหนือกว่า
การทำศึกแบบกองโจรแม้ไม่ได้ทำให้ฝ่ายอาณานิคมได้รับชัยชนะใหญ่ในทันที แต่สามารถทำให้กองทัพอังกฤษตกที่นั่งลำบากเพราะถูกโจมตีก่อกวนอยู่ตลอดเวลา พอส่งกองกำลังไปปราบพวกกองโจรก็หนีไปได้เสมอ
ความสูญเสียที่เกิดตลอดเวลาทำให้กองทัพอังกฤษมีค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูกองทัพที่สูงขึ้น เพราะการสนับสนุนจากประเทศแม่ต้องขนของข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมาไกล ต้นทุนที่อังกฤษจะต้องจ่ายจึงแพงขึ้นถ้าไม่สามารถจบสงครามครั้งนี้ได้โดยเร็ว
ภาพแนบ: การตั้งแถวบุกที่ได้ผลเป็นอย่างมากในการทำสงครามตามรูปแบบ
ในเดือนกันยายนปี 1777 วอชิงตันใช้ยุทธวิธีการรบแบบกองโจรก่อกวนกองทัพอังกฤษทางเหนือที่กระจายทัพแถบเมืองซาราโตกาเพื่อปิดล้อมนิวอิงแลนด์ จนได้รับชัยชนะจับเชลยได้ถึง 5,700 นาย
ชัยชนะที่เมืองซาราโตกาส่งผลดีต่ออาณานิคมเป็นอย่างมากทั้งในด้านขวัญกำลังใจและยุทธศาสตร์ ฝรั่งเศสยังได้ตัดสินใจเข้าช่วยเหลืออเมริกาอย่างเต็มที่ ผ่านการลงนามในสัญญาทวิภาคีเพื่อการป้องกัน และรองรับสถานะของอเมริกาในปี ค.ศ. 1778
(ฝรั่งเศสช่วยเยอะ เพื่อกู้หน้าที่แพ้ในสงครามฝรั่งเศส-อินเดียน แต่การช่วยนี้กลับเป็นเหตุหนึ่งให้รัฐบาลกษัตริย์ถังแตก และถูกปฏิวัติในเวลาต่อมา)
ภาพแนบ: กองทหารอาสาสมัครรบแบบกองโจร ทำให้ทหารอังกฤษรับมือได้ยาก
การเข้าร่วมของฝรั่งเศสสร้างความกังวลให้กับทางอังกฤษเป็นอย่างมาก จึงมีการเปลี่ยนตัวผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นนายพลเฮนรี คลินตัน (Henry Clinton) นายทหารผู้มีประสบการณ์จากสงคราม 7 ปีในยุโรป และมีผลงานจากการเป็นผู้นำกองทัพเสริมกำลังฝ่ายอังกฤษในสมรภูมิบังเกอร์ฮิลล์จนได้รับชัยชนะ
สิ่งแรกที่นายพลเฮนรีทำคือการทิ้งเมืองฟิลาเดลเฟีย เพราะยึดไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร แถมยังอาจถูกทัพเรือฝรั่งเศสปิดกั้นได้ ด้วยเหตุนี้เมืองฟิลาเดลเฟียจึงได้กลับมาอยู่ใต้การดูแลของชาวอาณานิคมอีกครั้ง
นายพลเฮนรีได้ปรับเปลี่ยนยุทธวิธีโดยการเสริมกำลังและตั้งศูนย์บัญชาการที่นิวยอร์กเพื่อปิดกั้นการสนับสนุนทางทะเลจากฝรั่งเศส พร้อมเพิ่มทหารม้าและทหารปืนใหญ่มากขึ้น ทำให้ตลอดการยุทธในปี 1778 - 1779 ฝ่ายอังกฤษเป็นฝ่ายกุมความได้เปรียบเหนือฝ่ายอาณานิคมมาโดยตลอด
ภาพแนบ: ทหารอังกฤษยอมจำนนหลังการศึกที่ซาราโตกา
อย่างไรก็ตามฝ่ายอเมริกาก็สามารถเข้ายึดป้อมสำคัญทางเหนือที่อังกฤษใช้สำหรับคุมเส้นทางการค้าขนสัตว์กับอินเดียนแดง ซึ่งทำให้ฝ่ายอังกฤษขาดรายได้ (จากที่จนอยู่แล้ว) สิ่งนี้กดดันให้นายพลเฮนรีต้องเปลี่ยนแผนการรบ คือเขาเห็นว่าการยึดป้อมคืนเสี่ยงเกินไป จึงมุ่งยึดดินแดนทางตอนใต้ให้ทันก่อนที่กองกำลังเสริมทั้งหมดจากฝรั่งเศสจะเคลื่อนมาถึง เพื่อจบสงครามให้เร็วที่สุด
แต่ผลกลับกลายเป็นว่ากองทัพอังกฤษล้วนติดกับอยู่ในดินแดนทางตอนใต้ กลายเป็นศึกยืดเยื้อ เพราะยิ่งเข้าลึกมากเท่าไหร่ก็ยิ่งถูกตัดขาดจากการลำเลียงยุทธปัจจัยมากขึ้น
ภาพแนบ: การเดินทัพและสงคราม ในช่วงปี ค.ศ. 1776 - 1781
…และเมื่อเข้าลึกถึงจุดหนึ่งแม้อยากเดินทัพกลับก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องด้วยกองทัพอาณานิคมนำโดยนายพลนาธาเนียล กรีน (Nathanael Greene) นายทหารคู่ใจวอชิงตัน สามารถทำการรบแบบกองโจรตัดกำลังทัพอังกฤษในหลายสมรภูมิ
…เหลือเพียงทัพของนายพลอังกฤษ ชาร์ล คอร์นวัลลิส (Charles Cornwallis) ที่นำทัพถอยไปตั้งหลักที่ยอร์กทาวน์ในปี 1781 เพื่อชิงความได้เปรียบด้านชัยภูมิและการลำเลียงยุทธปัจจัยทางทะเล
ในขณะเดียวกันกำลังเสริมจากฝรั่งเศสก็ได้เดินทางมาถึงและสมทบกับกองทัพอาณานิคม
ภาพแนบ: นายพล นาธาเนียล กรีน
***จุดจบของสงครามปฏิวัติอเมริกา***
ในช่วงปี 1781 กองทัพเรือฝรั่งเศสได้เข้าปิดกั้นยอร์กทาว์น ทำให้กองทัพอังกฤษถูกปิดล้อมโดยสมบูรณ์ กองทัพของวอชิงตันร่วมกับกองทัพของนายพล ฌอง-แบปติสต์ โดนาเทียน (Jean-Baptiste Donatien) จากฝรั่งเศสเข้าตียอร์กทาวน์ ในที่สุดนายพลคอร์นวัลลิส ที่ตกอยู่ในที่นั่งลำบากจึงตัดสินใจยอมแพ้ในวันที่ 19 ตุลาคม 1781
การยอมแพ้นี้ถือว่าเป็นการสิ้นสุดสงครามการปฏิวัติอเมริกา ไม่ใช่เพราะฝ่ายอาณานิคมชนะอังกฤษได้อย่างเด็ดขาด แต่เพราะฝ่ายอาณานิคมสู้อย่างเข้มแข็ง จนโน้มน้าวให้อังกฤษเห็นว่า “ไม่คุ้ม” ที่จะรักษาอเมริกาเอาไว้
ถึงแต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีการทำสนธิสัญญาสันติภาพจนกระทั่งถึงปี 1783
ภาพแนบ: นายพลคอร์นวัลลิส ยอมแพ้ต่อกองกำลังผสมฝรั่งเศส - อเมริกา จากการศึกปิดล้อมที่ยอร์กทาวน์
สำหรับสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างอังกฤษกับอเมริกาหรือที่เรียกกันว่า สนธิสัญญาปารีส 1783 (Treaty of Paris) โดยเป็นตัวแทนจากอเมริกา 3 คนคือ เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) จอห์น อดัมส์ (John Adam) และจอห์น เจย์ (John Jay) ที่เดินทางมาฝรั่งเศสเพื่อเจรจาการทำสนธิสัญญา โดยมีข้อสรุปดังนี้
1. อังกฤษต้องรับรองความเป็นเอกราชของสหรัฐอเมริกา
2. อังกฤษต้องยอมรับว่าสหรัฐอเมริกามีอาณาเขตถึงเส้นขนานที่ 45 องศาเหนือ รวมถึงบริเวณทะเลสาบมิสซิสซิปปีทางตะวันตก ส่วนทางใต้จะมีอาณาเขตถึงเส้นขนานที่ 33 องศา หรือถึงฟลอริดาของสเปน
3. อังกฤษต้องยอมให้ชาวอเมริกันมีสิทธิจับปลาในน่านน้ำของแคนาดา
4. อเมริกาต้องยินยอมให้พ่อค้า หรือเจ้าหนี้ชาวอังกฤษเข้าไปทวงหนี้ชาวอเมริกาได้
5. รัฐสภาอเมริกันรับว่ารัฐต่างๆ จะมอบทรัพย์สินของผู้จงรักภักดีต่ออังกฤษ ที่ถูกยึดในช่วงสงครามคืนแก่เจ้าของเดิม
ภาพแนบ: สนธิสัญญาปารีส 1783 ในภาพประกอบไปด้วย (จากซ้ายไปขวา) จอห์น เจย์, จอห์น อดัม, เบนจามิน แฟรงคลิน, เฮนรี ลอร์เรนส์ และ เทมเพิล แฟรงกลิน ส่วนตัวแทนจากอังกฤษปฏิเสธอยู่ร่วมในภาพวาด ภาพจึงไม่สมบูรณ์
ผลจากสนธิสัญญาปารีสทำให้อาณานิคมทั้ง 13 แห่งได้รวมตัวกันเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทั้ง 13 รัฐได้ร่วมกันให้สัตยาบันว่าด้วยความร่วมมือกันเป็นบทบัญญัติแห่งสมาพันธรัฐ (Article of Confederation) ที่กำหนดแนวทางการจัดตั้งประเทศอย่างหลวมๆ คือไม่มีรัฐบาลกลางที่คอยควบคุมดูแล เนื่องด้วยแต่ละรัฐล้วนมีรัฐบาลที่มีอำนาจดูแลกันเองอยู่แล้ว
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีการประชุมเพื่อทบทวนเรื่องสมาพันธรัฐซึ่งวอชิงตันก็ได้สนับสนุนในเรื่องนี้ด้วย ในปี ค.ศ. 1787 จึงได้มีการประชุมที่เมืองฟิลาเดลเฟียโดยผู้แทนจาก 12 รัฐ (ยกเว้นรัฐโรดไอแลนด์) รวม 55 คน การประชุมใช้เวลาถึง 4 เดือนเศษเพื่อไกล่เกลี่ยให้แต่ละรัฐเห็นด้วยกับการร่างรัฐธรรมนูญ จนแล้วเสร็จในวันที่ 17 กันยายน 1787 พร้อมกับการตกลงการปกครองระบบสหพันธรัฐ (Federal)
ภาพแนบ: รัฐธรรมนูญสหรัฐ
แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีบางกลุ่มที่ยังคงต่อต้านระบบสหพันธรัฐอยู่จึงทำให้ต้องใช้เวลาในการเจรจาต่อรองจนถึงปี ค.ศ. 1789 จึงสามารถทำการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้สมบูรณ์แบบ ทำให้ จอร์จ วอชิงตัน ได้ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา พร้อมรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาอยู่เพียง 7 มาตรา แต่ก็ไม่เคยถูกเปลี่ยนใหม่เลยแม้แต่ครั้งเดียวจนถึงปัจจุบัน
สาเหตุที่อเมริกาเลือกระบอบประชาธิปไตยนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอิทธิพลของแนวคิดสิทธิโดยธรรมชาติของจอห์น ล็อค (John Locke) นักปรัชญาชาวอังกฤษ ที่ถือว่ามนุษย์มีความเท่าเทียมกัน มีสิทธิโดยอิสระภายใต้ขอบเขตจำกัดของกฏธรรมชาติ
ในด้านการปกครองถือว่าการยินยอมของประชาชนเป็นที่มาซึ่งความชอบธรรมของรัฐบาล (ตรงนี้แสดงถึงการต่อต้านการปกครองที่อำนาจตกอยู่ในมือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อย่างเช่นจักรวรรดิอังกฤษในช่วงเวลานั้น)
แนวคิดนี้เองทำให้แนวทางประชาธิปไตยแบบอเมริกาถูกเขียนขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความเท่าเทียมกันของประชาชนที่เป็นรากฐานสำคัญของการสร้างชาติ
และด้วยเหตุนี้ระบอบประชาธิปไตยในอเมริกาจึงมีการแบ่งอำนาจรัฐบาลกลางเป็น 3 ส่วนคือ นิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ ที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ ถือเป็นต้นแบบสำคัญต้นแบบหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ของโลก (ใครเป็นเจ้าแรกนั้นยังเป็นที่ถกเถียงขึ้นกับนิยามประชาธิปไตยสมัยใหม่คืออะไร แต่ของอเมริกาเป็นที่ยอมรับกว้างขวาง เพราะเป็นประเทศใหญ่ และใช้ระบบนี้สืบมาจนปัจจุบัน)
ภาพแนบ: การร่างรัฐธรรมนูญ ปี ค.ศ. 1787
จะเห็นได้ว่าการจะได้มาซึ่งประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบ และเป็นต้นแบบของการปกครองระบอบประชาธิปไตยของอเมริกานั้น ล้วนเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม การดิ้นรนของผู้คนที่หาญกล้ามาเผชิญหน้ากับสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตนเอง จึงไม่แปลกใจที่ประชาธิปไตยในอเมริกาจะยืนหยัดมั่นคงอยู่ได้ เพราะพวกเขาล้วนแต่ต้องสู้เพื่อให้ได้มันมา และพร้อมที่จะรักษาไว้ให้ถึงที่สุด
ภาพแนบ: เหล่าบิดาผู้ก่อตั้งอเมริกา
อ้างอิง:
หนังสือ/เอกสาร
นพปฎล สุขิตรกูล. (2562). ศึกษาเปรียบเทียบทางด้านปัจจัย ผลลัพธ์ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1917 และการปฏิวัติอเมริกา ค.ศ. 1783 (วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตร์บัณฑิต). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
คริสตีน จอห์นสัน. (2554). ประวัติศาสตร์อเมริกา ฉบับย่อ. กรุงเทพฯ : สำนักงานสารนิเทศ กระทรวงการ ต่างประเทศสหรัฐอเมริกา.
พอล โบเยอร์. (2561). ประวัติศาสตร์อเมริกา: ความรู้ฉบับพกพา [America History: A Very Short
Introduction] (ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และอาวุธ ธีระเอก, แปล). กรุงเทพฯ: บุ๊คสเคป.
เว็บไซต์
www(ดอต)battlefields(ดอต)org/learn/revolutionary-war/battles/
โฆษณา