25 มิ.ย. 2022 เวลา 07:13 • อาหาร
"พรุ่งนี้ไปกินอาหารจามกันมั้ย?...ชุมชนบ้านครัว ริมคลองแสนแสบแค่นี้เอง"
"ตลาดนัดอาหารพื้นบ้านชุมชนบ้านครัว" นิทรรศการอาหารจามมีชีวิต โดยชาวชุมชนจามมุสลิมบ้านครัวเหนือ & ชุมชนจามมุสลิมบ้านครัวตะวันตก ใต้สะพานเจริญผล ริมคลองแสนแสบ และกิจกรรม "เปิดตำนานแขกจามนามบ้านครัว 235 ปี บนแผ่นดินสยาม" พรุ่งนี้ 26 มิถุนายน 2565 ตั้งแต่เวลา 08.30 – 11.30 น. ที่ศูนย์ถักทอสายใยประสานใจบ้านครัว ชุมชนบ้านครัวเหนือ ริมคลองแสนแสน เขตราชเทวี สามารถเข้าร่วมงานได้ ‘ฟรี’ ไม่มีค่าใช้จ่าย
เด็กและเยาวชนจามมุสลิมบ้านครัวร่วมขบวนแห่ “ตัมมัตหนังสือแขก” มอบใบประกาศแก่ผู้ศึกษาคัมภีร์อัลกุรอ่านได้ตามเกณฑ์ 20 ตุลาคม 2561
เคยกินอาหารจามไหม?
จามคือใครก่อน?
  • จาม คือ ชนชาติจาม (Cham) นับถือศาสนาอิสลาม ที่อพยพมาจากอาณาจักรจามปา (Champa) ที่เดิมเป็นแผ่นดินเอกราชและรุ่งเรือง ตั้งอยู่ในดินแดนของประเทศเวียดนามและกัมพูชา สงครามทำให้พวกเขาอพยพ "เทครัว" เข้ามายังแผ่นดินสยาม ร่วมรบในสงครามเก้าทัพในนาม "กองอาสาจาม" จนได้รับพระราชทานที่ดินจากรัชกาลที่ 1 ตั้งครัวเรือนบริเวณป่าไผ่ของทุ่งพญาไท (ปทุมวัน-ราชเทวี) ริมคลองแสนแสบ หรือชุมชน "บ้านครัว" ในปัจจุบัน
  • จาม มีทักษะทางด้านการเดินเรือ การต่อเรือ การรบพุ่งทางเรือ การค้าขายทางทะเล งานสถาปัตยกรรม ดนตรี นาฏศิลป์ และงานศิลปหัตถกรรมหลากหลาย เช่น การแกะสลัก การทอผ้า และการทำอาหาร
  • จาม มีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตซึ่งเป็นอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ที่โดดเด่นและน่าสนใจจำนวนมาก เช่น ภูมิปัญญาการทอผ้าไหมคุณภาพสูง พวกเขาทอด้วยมือมาตั้งแต่สมัยโบราณ ทำหน้าที่ทอผ้าไหมส่งเข้าไปถวายยังราชสำนักสำหรับองค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ของไทยมาตลอดทุกรัชกาล
  • จาม เคยเป็นและยังคงเป็นศิลปินทอผ้าไหมมือดี นอกจากผ้าไหมทอมือสำหรับราชสำนักไทย พวกเขายังผลิตผ้าไหมให้กับแบรนด์ระดับตำนานอย่าง ‘จิม ทอมป์สัน’ (James Harrison Wilson Thompson) ก่อนจะเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในทุกวันนี้
  • จาม มีฝีมือในการทำอาหาร ที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมอาหารจาม อาหารเขมร อาหารฮินดู และอาหารมุสลิม เป็นตำนานตำรับอาหารที่ตกทอดมาจากชาติอารยธรรมโบราณแห่งอาณาจักรจามปาที่ยังมีชีวิต ทว่าหาชิมได้ยากยิ่งในปัจจุบัน
จิตรกรรมใต้สะพานเจริญผล ริมคลองแสนแสบ: นักรบกองอาสาจาม
จิตรกรรมใต้สะพานเจริญผล ริมคลองแสนแสบ: วิถีชีวิตริมน้ำ ชาวน้ำแห่งจามปา
จิตรกรรมใต้สะพานเจริญผล ริมคลองแสนแสบ: วิถีชีวิตชุมชนบ้านครัว 3 มัสยิด
จิตรกรรมใต้สะพานเจริญผล ริมคลองแสนแสบ: ผ้าไหมบ้านครัว
จิตรกรรมใต้สะพานเจริญผล ริมคลองแสนแสบ: อาหารพื้นถิ่นชุมชนบ้านครัว
จิตรกรรมใต้สะพานเจริญผล ริมคลองแสนแสบ: การละเล่นดนตรีพื้นบ้านของมุสลิม
อาหารจามมุสลิมบ้านครัวส่วนใหญ่มีชื่อเป็นภาษาเขมร แสดงให้เห็นว่า ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอาหารเขมรมากกว่าญวน มุสลิม และฮินดู เป็นแบบแผนวัฒนธรรมอาหารที่ติดตัวเข้ามายังสยามเมื่อต้นรัตนโกสินทร์ เนื้อสัตว์ที่นิยมยังคงเป็นปลา ไก่ และปรับเปลี่ยนเป็นเนื้อวัว แกะ และแพะบ้างภายหลัง ขนมส่วนใหญ่ทำจากข้าวเจ้า แทนที่จะเป็นข้าวเหนียวเหมือนขนมโบราณของไทย จีน มอญ ลาว และมุสลิมแถบภูมิภาคนี้ทั่วไป
อาหารจามมุสลิมบ้านครัวมีอะไรน่ากินน่าชมบ้าง?
สำรับคาวน่าสนใจ ชื่อฟังยาก และหากินยากแน่นอนอย่าง บอบอญวน (บายบอฺรญวน) บอบอเฮอ (บายบอฺรเฮิร์) ซัมเบิน (ซัมเบือน) ซัมเบินกะเล็ง แกงส้มเนื้อ (แกงส้มเขมร) ข้าวเหนียวเหลือง ตัมปิยะห์ (น้ำพริกทุเรียน) ข้าวต้มฮินดู กุและห์ซอ แกงเปรี้ยว และข้าวยำเขมร (ข้าวยำสมุนไพร)
สำรับหวาน หรือขนมก็ควรชิม ชื่อฟังยาก และหากินยากเหมือนกัน เช่น ขนมอับปำ (อาปำ) ขนมบอบอสะแด้ก (คล้ายเต้าส่วน) กุหลาบยามุน (กุหลาบจามุน) ขนมอาซูรอ (ข้าวอาซูรอ) ขนมบาเยีย ขนมข้าวแขก ขนมมูดากำปง ขนมบดิน ขนมซูยี ขนมอาหลั่ว ขนมละดงละดา และขนมราชำ
2
สมัยก่อนคนทั้งชุมชนเป็นเครือญาติ เกี่ยวดองกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง บ้านเรือนชิดหลังคาติดกัน ทำงานอยู่กับบ้านทำอาหารกินเอง หากมีวัตถุดิบมากก็ทำแจกเพื่อนบ้านด้วย วันนี้คนรุ่นใหม่ออกไปทำงานนอกชุมชน ทำอาหารกินเองน้อยลง อาหารดั้งเดิมจึงหาคนรู้คนทำยากทุกที ที่ยังทำก็ต้องปรับเปลี่ยนเครื่องปรุงหรือขั้นตอนบ้าง เพื่อประหยัดเวลา ลดต้นทุน และให้สอดคล้องกับยุคสมัย
อาหารจามบ้านครัววันนี้เดินทางผ่านกาลเวลากว่า 200 ปีจากดินแดนเดิมบรรพชนในแผ่นดินเวียดนามและกัมพูชา โลกาภิวัตน์ทำให้วัฒนธรรมกลืนหายไปกับโลกสมัยใหม่ ภายหลังปฏิวัติอิสลามที่มุสลิมทั่วโลกเชื่อมถึงกัน วัฒนธรรมจามมุสลิมยิ่งกลืนกลายไปกับมุสลิมภิวัตน์ แต่ความเป็นโลกาภิวัตน์ก็ทำให้วัฒนธรรมชนกลุ่มน้อยถูกขับเน้นความสำคัญขึ้นใหม่
วัฒนธรรมอาหารเก่าแก่ฟื้นคืนได้ ตราบที่คนยังกินอาหาร และโลกกำลังพูดถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพูดถึงโดยชุมชนเอง การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Food Tourism) อาจทำให้เจ้าของอารยธรรมดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงแห่งจามปาฟื้นคืนวัฒนธรรมอาหารให้ธำรงอยู่ใน "ตลาดนัดอาหารพื้นบ้านชุมชนบ้านครัว" ทุกวัน ทุกวัน...นับจากวันนี้ไปก็เป็นได้
รายการอ้างอิง
องค์ บรรจุน. (2561ก). ผ้าไหมจามบ้านครัวกลาง
กรุง. ใน ศิลปวัฒนธรรม. 40(1): 42-55.
องค์ บรรจุน. (2561ข). ข้างสำรับจามมุสลิมบ้าน
ครัว. ใน ศิลปวัฒนธรรม. 40(2): 28-41.
โฆษณา