5 ก.ค. 2022 เวลา 13:37 • นิยาย เรื่องสั้น
[เชียงใหม่ในฉากชีวิต] : 3.ต๊อก
ตามทฤษฎี Out of Africa แล้ว บรรพบุรุษของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ Homo Sapian แบบเรา ๆ เคยอยู่อาศัยในทวีปแอฟริกาเมื่อประมาณ 300,000 - 200,000 ปีที่แล้ว ก่อนจะกระจายตัวออกพิชิตดินแดนต่าง ๆ แล้วตั้งรกรากสร้างอารยธรรมทั่วผืนโลก การเดินทางในครั้งนั้นทำให้เส้นทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ดำเนินมาจนถึงจุดที่เราเป็นในทุกวันนี้ จนแทบจะจินตนาการไม่ออกเหมือนกันว่าถ้าวันนั้นไม่มีการอพยพย้ายถิ่นฐาน โลกทุกวันนี้จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร
เรื่องราวที่ยิ่งใหญ่มากมายของโลกมักเกี่ยวข้องกับการเดินทาง นับตั้งแต่การล่องเรือกลับบ้านหลังมหาสงครามกรุงทรอยของวีรบุรุษโอดิซุสในมหากาพย์โอดิซซีย์ การเดินทางกว่า 40 ปีเพื่อเข้าสู่ดินแดนพันธสัญญาของโมเสสและชาวอิสราเอลในหนังสืออพยพ หรือการเดินทางสู่ภพภูมิต่าง ๆ หลังถูกเนรเทศจากเมืองฟลอเรนซ์ของดันเต้ใน Divine Comedy ชีวิตมนุษย์กับการเดินทางจึงดูเหมือนจะเป็น “ของคู่กัน” มาโดยตลอด
หลังลงหลักชีวิตที่เชียงใหม่ ผมไม่ได้เดินทางไกลเช่นในอดีต ลักษณะงานที่จำเป็นต้องใช้หลักฐานอ้างอิงอยู่เสมอทำให้ผมเลือกจะอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยเอาไว้ก่อน หากเที่ยวตะลอนไปเสียห่างไกลแล้วมีอะไรเร่งด่วน ผมจะได้กลับมาจัดการ หรือหยิบฉวยเอาเอกสารที่จะใช้ได้อย่างทันท่วงที ภาพที่เคยฝันว่าจะไปนั่งทำงานในที่ห่างไกลอย่างสงบเงียบเช่นพญาอินทรีแห่งสวนทูนอิน*จึงเป็นอันต้องดับวูบลง
กระนั้นก็ดี ผมยังมีที่กบดานลับในการเขียนหนังสือ
มุมสงบที่ผมใช้ทอดอารมณ์นั้นอยู่บนเปลผ้าใบในสวนร่มรื่นของจังหวัดลำพูน ที่นั่นผมสามารถปล่อยให้กระแสเวลาเร็วรี่เคลื่อนช้าลง ให้สายน้ำไหลเอื่อย ๆ ไหลผ่านลำธารเล็ก ๆ นอนมองต้นไผ่ไหวเอนตามแรงลมที่มาปะทะ เบาบ้าง หนักบ้างคละ ๆ กันไปอย่างไม่ต้องรีบร้อน เพื่อให้พุทธิปัญญาสว่างจ้าเหมือนจุดหลอดไฟฟลูออเรสเซนซ์ และไล่จับถ้อยคำในอากาศใส่หน้ากระดาษว่าง ๆ
จากที่อยู่ในเชียงใหม่ ผมใช้เวลาเดินทางเพียง 45 นาทีด้วยรถยนต์ ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ สภาพการจราจร และเส้นทางที่ใช้
แหล่งกบดานลับ ที่ที่ถ้อยคำมากมายไหลพรั่งพรู (วสิษฐ์พล,มิถุนายน 2565)
จริง ๆ แล้วผมคุ้นเคยกับลำพูนมากกว่าเชียงใหม่ สมัยเรียนปริญญาตรี เมื่อครั้งมิตรสหายพามาสัมผัสมนต์เสน่ห์ลับแลแห่งล้านนาเป็นครั้งแรก เขาพาผมมาที่ลำพูน อาจจะเพราะตอนนั้นมีมิตรสหายอาศัยอยู่ที่นั่นด้วย ดินแดนเล็ก ๆ ที่ผู้คนบางตาแห่งนี้ซ่อนใส่เสียซึ่งความอัศจรรย์ในหลาย ๆ แง่มุมทว่าเจือกลิ่นอ่อน ๆ ด้วยบรรยากาศที่คุ้นเคยเหมือนสถานที่ที่เคยอยู่อาศัยมานานแสนนาน
ผมไม่เคยรู้สึกว่ามันเป็นสถานที่เที่ยว แต่เหมือน “บ้าน” ที่กลับไปหากี่ครั้งก็สบายใจ ผมจึงไม่ค่อยจะยอมเสียเวลา 90 นาทีขับรถไปกลับเชียงใหม่ลำพูนเท่าไหร่นัก
ผมลงไปอยู่เป็นอาทิตย์ ๆ เสียเลย
ยามเช้าวันหนึ่งที่จังหวัดลำพูน ผมออกไปสูดอากาศรับลมที่ทุ่งนาของลุงเจ้าของบ้านเช่า เสียงกริ่งรถจักรยานดังมาแต่ไกล พร้อมกับเสียงลิ้นกระทบปากล่างดัง “ต๊อก ๆ “ เจ้าของเสียงปั่นจักรยานมองซ้ายมองขวาอย่างลุกลี้ลุกลน คงเพราะเป็นคนต่างถิ่นต่างที่กระมัง ดวงหน้าของผมจึงไม่เป็นที่คุ้นเคยของคนแถวนี้
“สวัสดีครับ อากาศดีนะครับ” ผมเอ่ยคำทักทายไป หวังจะผูกสัมพันธ์กับคนในพื้นที่
“ต๊อก ๆ” เสียงลิ้นกระทบฟันส่งกลับมาแทนคำตอบ ก่อนทำสายตาล็อกแล็กกรอกไปมาแล้วปั่นจักรยานผ่านไป
หน้าบ้านที่ต๊อกชอบมาปั่นจักรยานยามเช้า (วสิษฐ์พล,กุมภาพันธ์ 2564)
มารู้จากมิตรสหายภายหลังว่าเขาเป็นลูกของชาวบ้านสักคนหนึ่งแถวนี้ สมัยก่อนเขาเคยเรียนมหาวิทยาลัยทางด้านสถาปัตยกรรม แต่เพราะความเครียด ความกดดัน หรือด้วยเหตุผลบางอย่างที่ทำให้เขาไม่สามารถเป็นบัณฑิตได้ และกลายเป็นคนที่ไม่ค่อยจะ “เต็มเต็ง” อย่างทุกวันนี้ แม้ว่าความสามารถเหลือร้ายในการเขียนแบบบ้านจะยังมีอยู่ในตัวของเขาเต็มเปี่ยมก็ตาม
กิจวัตรของเขานั้นเรียบง่ายไม่ซับซ้อน ตั้งแต่ตอนพระสงฆ์ออกบิณฑบาต เขาจะพาจักรยานคู่ใจออกลาดตระเวนไปทั่วหมู่บ้าน เวลามีเหตุด่วนเหตุร้ายอะไร เขามักจะเป็นคนแรกที่ไปถึงเสมอ มีครั้งหนึ่งที่บ้านของคนในหมู่บ้านไฟไหม้ ต๊อกปั่นจักรยานไปเจอกับเจ้าของบ้านที่กำลังกุลีกุจออย่างสับสนก่อนทุกคนในหมู่บ้าน ก่อนพ่อใหญ่บ้าน และก่อนรถดับเพลิงเสียด้วยซ้ำ
การลาดตระเวนของเขายาวนานตั้งแต่เช้าจรดเย็น อาจจะมีแว๊บหายไปกินข้าวบ้างตอนเที่ยง ๆ แต่เขาก็จะมาลาดตระเวนต่ออยู่ไม่ขาด บางวันผมกับมิตรสหายกลับมาจากการไปกินหมูกะทะกันเวลาประมาณทุ่มหนึ่งหรือสองทุ่ม ท่ามกลางเสียงหริ่งหรีดเรไรในท้องนามืดมิด และความเงียบสงบของหมู่บ้าน เสียงกริ่งจักรยานกับเสียง “ต๊อก ๆ “ ของเขาก็ยังคงดังรอบหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง
แม้จะไม่ค่อยเต็มเต็ง แต่ความคิดความอ่านของเขาก็หลักแหลมไม่เหมือนใคร คราหนึ่งที่มิตรสหายกำลังเชิญกลองโบราณที่เพิ่งซ่อมเสร็จกลับมาประดิษฐานที่วัดประจำของหมู่บ้าน ชาวบ้านหลายคนก็มาช่วยงานบุญนี้กัน บ้างก็กำลังวุ่นวายกับพิธีทางสงฆ์ บ้างก็กำลังเคลียร์ทางให้ยกกลองเข้าไปไว้ในที่ของมันได้ เขาก็ลาดตระเวนมาที่วัดตามประสา มิตรสหายของผมที่กำลังยกกลองอยู่จึงพูดขึ้นว่า
“เอ้ยต๊อก เขากำลังยกกลองกัน มันหนักนะ มาช่วยยกหน่อย”
“เอ้า! หมั่นหนักนักแล้วจะยกยะหยังบ่ะง่าวนี่!!”
เออเนอะ! หนักก็ไม่ต้องยกสิ
ชีวิตในลำพูนของผมจึงมีเสียงต๊อกยามเช้าเป็น Background ประกอบเสมอ จากแรก ๆ ที่รู้สึกประหลาดใจ หลัง ๆ ผมก็เริ่มชิน และเริ่มทำเสียง “ต๊อก” กลับไปเป็นการทักทาย ความเรียบง่ายของชีวิตทำให้ผมคิดถึงอะไรหลายอย่าง ความเครียดและความกดดันทางการศึกษาทำร้ายคนได้มากถึงเพียงนี้เชียวหรือ? ผมไม่แน่ใจ แต่จากข่าวที่นักศึกษาในหลายมหาวิทยาลัยเลือกจบชีวิตตัวเองลงด้วยเหตุผลเหล่านี้ คงพอจะให้แนวทางคำตอบอะไรได้อยู่บ้างว่าการที่สังคมไม่ตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้มันน่ากลัวขนาดไหน
ค่ำคืนหนึ่งขณะความเครียดของการทำรายงานกำลังรุมเร้า ผมวิ่งหาหลักฐานและหนังสืออ้างอิงไปมาในห้องราวคนบ้า หยากไย่ เศษผม และกองหนังสือสุมทุมพะเนอะพะเนิน แสงไฟสีส้มจากโคมไฟเสมือนแสงจ้าจากดวงอาทิตย์เวลาพิศเพ่งเสียนานสองนาน
อาการมะงุมมะงาหราขณะก้าวเท้าเพื่อปลดปล่อยความคิดรุมเร้าจนไม่อาจหยิบจับถ้อยคำใด ๆ มาใส่ไว้ในหน้ากระดาษได้ ผมเหลือบมองเวลาบนหน้าจอโทรศัพท์ อีกไม่กี่นาทีจะหมดเวลาที่สามารถส่งรายงานได้ มือหนึ่งเปิดหนังสือ อีกมือหนึ่งยีหัวไปมาด้วยความปวดประสาท ความกังวลถูกสูดเข้าไปกับลมหายใจ และซึมผ่านกระแสเลือด หัวใจผมเต้นเร็วขึ้น สมองทำงานหนักขึ้นจนเมื่อยล้าจนอยากจะกรีดร้องออกมาอย่างสุดเสียง
“ต๊อก!” ผมผงะตกใจจากเสียงที่เพิ่งออกจากปากของตัวเองเมื่อครู่
ตายล่ะหว่า ขืนไปปั่นจักรยานในเชียงใหม่มีหวังโดนรถชนตายแหงม ๆ
บ่อเลี้ยงห่าน ข้าง ๆ แหล่งกบดานที่ผมชอบมาเดินทอดอารมณ์เวลางานเขียนตัน ๆ (วสิษฐ์พล,มิถุนายน 2565)
*รงค์ วงศ์สวรรค์ พญาอินทรีย์แห่งสวนทูนอิน นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของยุคที่สร้าง “สำนวนสวิง” ให้ติดตลาด จนบางคำกลายเป็นคำปกติที่ได้ยินแล้วไม่แปร่งหู ผมรู้จัก “ลุงรงค์” ครั้งแรกจากหนังสือ หอมดอกประดวน ที่กลิ่นเหล้า ควันบุหรี่ และแสงสีแห่งชีวิตในเงามืดอบอวลเสียจนฟุ้ง นำไปสู่การติดตามงานชิ้นอื่น ๆ เช่น กรุงเทพฯรจนา เสเพลบอยชาวไร่ ฯลฯ สำนวน ความเข้มข้นของเนื้อหา และแง่มุมการนำเสนอที่ทลายกรอบของงานวรรณกรรมแบบเดิมทำให้ลุงรบค์กลายเป็น “ครู” อีกท่านทางวรรณกรรมของผมไปโดยปริยาย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา