7 ก.ค. 2022 เวลา 12:50 • ประวัติศาสตร์
⭐ตอนที่ 7
✨จักรวรรดิรัสเซียก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (Russian Empire)
ภาพถ่ายของเหล่าทหารรัสเซียในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
✨ด้านการเมืองและรัฐบาลของจักรวรรดิรัสเซีย
ในช่วงศตวรรษที่ 19 เมื่อนโปเลียนที่ 1 แห่งฝรั่งเศสได้ทำการรุกรานรัสเซีย รัสเซียก็มีชัยเหนือโปเลียน โดยชัยชนะในครั้งนี้เป็นการแสดงให้ทั่วโลกได้เห็นว่าจักรวรรดิรัสเซียนั้นยังคงเป็นชาติมหาอำนาจที่ไม่อาจถูกโค่นลงได้ง่ายๆ
เมื่อล่วงเข้าช่วงต้นของศตวรรษที่ 19 จักรวรรดิรัสเซียก็อยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 1 (Nicholas Ⅰ) ในช่วงเวลานั้นเองจักรวรรดิก็ได้ก้าวเข้าสู่การปฎิรูปประเทศอีกครั้ง
ทาสเริ่มได้รับสิทธิมากขึ้น เริ่มมีการเผยแพร่ความรู้และวางแผนที่จะร่างรัฐธรรมนูญขึ้นด้วย แต่ก็ได้ล้มเลิกความคิดนี้ไป เหตุการณ์หลักที่เกิดขึ้นภายใต้การปกครองของนิโคลัสที่ 1 ก็คือสงครามไครเมีย
สาเหตุของสงครามครั้งนี้เกิดขึ้นมาจากการที่จักรวรรดิออตโตมันได้ทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1852 โดยที่พวกเค้าได้ให้สิทธิ์พิเศษแก่ฝรั่งเศสในการเข้าไปดูแลวิหารแห่งนครเยรูซาเล็ม และคุ้มครองคริสต์ศาสนิกชนโรมันคาทอลิกในดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ซึ่งเป็นพื้นที่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน
การตกลงครั้งนี้ทำให้พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 1 ทรงไม่พอใจเป็นอย่างมากเนื่องจากสนธิสัญญานี้ได้ไปทับซ้อนกับ ‘สนธิสัญญาคูชุค-ไคนาร์จา’ (Treaty of Küçük Kaynarca) ที่จักรวรรดิออตโตมันได้ให้สิทธิ์พิเศษแก่รัสเซียในการปกครองคริสต์ศาสนิกชนลัทธิกรีกออร์ธอด็อกซ์ในดินแดนออตโตมัน ซึ่งทำสนธิสัญญากันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1774
ดังนั้นเจ้าชาย เอ. เอส. เมนชีกอฟ (A.S. Menshikov) และคณะทูตรัสเซียได้เดินทางไปยังกรุงคอนสแตนติโนเปิลในวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1853 แต่ก็ต้องกลับมาด้วยความผิดหวังเนื่องจากรัฐบาลตุรกีนั้นยังคงยืนกรานที่จะไม่ยกเลิกสัญญาที่ทำไว้กับฝรั่งเศส ดังนั้นจึงก่อให้เกิดสงครามไครเมียขึ้น
ภาพวาดของการปิดล้อมที่เซวัสโตปอล (Siege of Sevastopol) ในสงครามไครเมีย (Crimean War)
หลังจากที่สงครามได้ดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้งก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น นิโคลัสที่ 1 สวรรคตลงในวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1855 เนื่องด้วยโรคปอด
ต่อมาในปี ค.ศ. 1855 จักรพรรดิอะเลคซันเดอร์ที่ 2 แห่งรัสเซีย (Alexander Ⅱ) ได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิแห่งรัสเซียตั้งแต่ปี ค.ศ. 1855 - 1881
ภาพถ่ายของจักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 2 แห่งรัสเซีย (Alexander Ⅱ of Russia) ในช่วงอายุราวๆ 60 ปี
หลังจากที่ครองราชย์ได้ไม่นานรัสเซียและสัมพันธมิตรก็ได้เซ็นสัญญาสงบศึกเพื่อยุติสงครามไครเมียกันในวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1856 ต่อมาตัวท่านเองได้พยายามทำการปฎิรูปประเทศหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องอุตสาหกรรม การคมนาคมทั้งด้านการรถไฟและการสื่อสาร
แต่การปฎิรูปหลักในครั้งนี้ก็คือทางด้านบุคลากรของกองทัพรัสเซียที่ส่วนใหญ่จะเป็นเซิฟ หรือก็คือทาส (Serf) หลังจากที่กองทัพเซิฟของรัสเซียได้พ่ายแพ้ให้แก่ฝรั่งเศส อังกฤษ และออโตมันในสงครามไครเมีย จักรวรรดิรัสเซียก็ได้ตัดสินใจทำการปฏิรูปปลดปล่อยทาสในปี ค.ศ. 1861 (Emancipation Reform of 1861)
ต่อมาในปี ค.ศ. 1881 ท่านเคานต์ ลอริส-เมลิคอฟ (Loris-Melikov) ได้เสนอระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญให้กับอะเลคซันดร์ที่ 2 ดังนั้นในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1881 ในงานประชุมที่แม้แต่ตัวอะเลคซันเดอร์เองก็ได้เข้าร่วม ได้มีการปรึกษาหารือกันและอนุมัติให้เดินหน้าพัฒนาโครงการเกี่ยวกับระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญต่อไป
แต่หลังจากนั้นเพียงไม่นานนักในวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1881 จักรพรรดิอะเลคซันเดอร์ที่ 2 แห่งรัสเซียก็ได้ถูกปลงพระชนม์และสวรรคตลง ส่งผลให้การปฎิรูปการปกครองหรือการปฏิรูปสังคมทั้งหมดที่วางแผนไว้ต้องจบสิ้นลงไปพร้อมๆกัน (The Great War, Russia, 2017)
หลังจากที่จักรพรรดิอะเลคซันเดอร์ที่ 2 ได้สวรรคตลง จักรพรรดิอะเลคซันเดอร์ที่ 3 (Alexander Ⅲ) ผู้ซึ่งเป็นพระโอรส ก็ได้ขึ้นครองราชย์ต่อตั้งแต่ปี ค.ศ. 1881 - 1894 แต่มิใช่ด้วยระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่เป็นการปกครองแบบระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ภาพถ่ายของจักรพรรดิอะเลคซันเดอร์ที่ 3 (Alexander Ⅲ)
และแน่นอนว่าผู้คนมากมายที่ต้องการให้ปฎิรูปประเทศ ต่างก็ไม่พอใจและก่อความไม่สงบวุ่นวายไปทั่ว แต่อะเลคซันเดอร์ที่ 3 นั้นไม่ได้เหมือนพ่อของเค้า ท่านกลับมองว่าการปฎิรูปของพระบิดานั้นทำให้จักรวรรดิรัสเซียอ่อนแอลง
ท่านจึงปกครองรัสเซียด้วยความน่าเกรงขามและด้วยบุคลิกของท่านที่มีทั้งความมุ่งมั่นดั่งเหล็กกล้า ก็สามารถปกครองรัสเซียให้อยู่ภายใต้ความสงบได้อีกครั้งหนึ่ง ท่านได้มีพระโอรสนามว่าพระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 (Tsar Nicholas Ⅱ)
ภาพถ่ายของจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย (Nicholas Ⅱ of Russia)
นิโคลัสนั้นมีบุคลิกที่ตรงกันข้ามกับพระบิดาส่งผลให้ท่านมักจะถูกพระบิดารังแกอยู่บ่อยครั้งเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ถึงขึ้นที่เมื่อนิโคลัสอยู่กับเพื่อนๆอะเลคซันเดอร์ก็จะเรียกนิโคลัสว่า “ลูกผู้หญิง” (“Girly Girl”)
แต่หลังจากที่ขึ้นครองราชย์ได้ไม่นานนักอะเลคซันเดอร์ที่ 3 ก็ได้สวรรคตลงในปี ค.ศ. 1894 เนื่องด้วยโรคไต โดยที่ตัวท่านเองมิได้มีเวลาสอนพระโอรสของท่านในการปกครองจักรวรรดิรัสเซียอย่างจริงจังเสียที (The Great War, Russia, 2017)
ส่งผลให้นิโคลัสนั้นไม่มีความมั่นใจและไม่รู้วิธีที่ถูกต้องในการปกครองจักรวรรดิ ตัวท่านเองยังได้กล่าวประโยคต่อไปนี้ต่อญาติของท่านหลังจากการสวรรคตของพระบิดา
จะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเราและรัสเซีย? เรายังไม่พร้อมที่จะเป็นพระเจ้าซาร์ ตัวเราเองก็มิเคยอยากที่จะเป็นเช่นกัน เราไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับการปกครอง
“What is going to happen to me and all of Russia? I am not prepared to be a Tsar. I never wanted to become one. I know nothing of the business of ruling”
แต่ถึงกระนั้นนิโคลัสก็ได้ขึ้นครองราชย์ต่อในปี ค.ศ. 1894 - 1917 และทำพิธีสวมมงกุฎในปี ค.ศ. 1896 ด้วยความเชื่อเทวสิทธิราชย์ที่ว่าองค์พระผู้เป็นเจ้า ทรงเลือกนิโคลัสให้ปกครองจักรวรรดิรัสเซียไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม (The Great War, Russia, 2017) (Keating, ไม่ทราบปีที่เผยแพร่)
ภาพถ่ายพิธีการสวมมงกุฎของจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย (Nicholas Ⅱ of Russia) ในปี ค.ศ. 1896
ในปี ค.ศ. 1894 เซ็มโวส (Zemstvos) (รูปที่ 6) ซึ่งเป็นกลุ่มของคนงานและชาวนาที่รวมตัวกันเป็นรัฐบาลท้องถิ่นถูกสร้างขึ้นโดยอะเลคซันเดอร์ที่ 2 ได้นำข้อเสนอการปกครองประเทศแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ การปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคมและการปฏิรูปสิทธิพลเมืองมาให้กับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2
จำนวนของเซ็มโวสนั้นเยอะมากจนสามารถคิดเป็นประมาณ 82% ของจำนวนประชากรทั้งหมด พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ประกาศความคิดเห็นต่อข้อเสนอเหล่านี้ว่า “ความฝันที่ไร้สาระ” (“Senseless dreams”) ท่านจะปกครองรัสเซียด้วยอัตตาธิปไตย หลังจากนี้นิโคลัสจะต้องปกครองจักรวรรดิที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปแต่เพียงผู้เดียว (The Great War, Russia, 2017) (BBC. Editor, Russia Government, ไม่ทราบปีที่เผยแพร่)
✨ด้านการค้า/อุตสาหกรรมและสังคมความเป็นอยู่ของผู้คนชาวรัสเซียในช่วงศตวรรษที่ 19-20
นิโคลัสนั้นต้องการที่จะสานต่อแนวทางการปกครองที่พระบิดาได้ดำรงไว้ แต่รัสเซียนั้นได้เข้าสู่ยุคสมัยใหม่เสียแล้วส่งผลให้ผู้คนนั้นเริ่มมองต่างออกไป มิหนำซ้ำนโยบายของอะเลคซันเดอร์ที่ 3 จะต้องใช้บุคคลที่เข้มแข็งและเด็ดเดี่ยวในการดำรงมัน ซึ่งนิโคลัสเองก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นเช่นกัน
อย่างไรก็ตามในช่วงสิบปีแรกของการปกครองภายใต้นิโคลัสที่ 2 รัสเซียก็ได้เข้าสู่ยุคแห่งความเจริญรุ่งเรือง แต่ก็เป็นเพราะความพยายามของรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เซอร์เก วิตต์ (Sergei Witte) และนายกรัฐมนตรีรัสเซีย เปตอร์ สโตลีปิน (Pyotr Stolypin)
รัสเซียได้กลายมาเป็นหนึ่งในประเทศที่พัฒนาระบบเศรษฐกิจได้ไว้ที่สุด โดยมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจถึง 4% ต่อปี กล่าวกันว่ารัสเซียมีโรงงานอุตสาหกรรมถึง 400,000 แห่งและมีกรรมกรถึง 2 ล้านคน แต่ในขณะเดียวกันนั้นประเทศมหาอำนาจในยุโรปไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส อังกฤษ หรือเยอรมนี ก็ได้มีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านอุตสาหกรรมไปมากเสียแล้ว
แต่รัสเซียกลับเพิ่งก้าวเข้าสู่ช่วงกลางของการปฎิวัติอุสาหกรรม อย่างไรก็ตามในช่วงปี ค.ศ. 1870 อุตสาหกรรมเหล็กของรัสเซียนั้นสามารถถลุงได้ 375,000 ตันต่อปี แต่เมื่อเข้าปี ค.ศ. 1913 รัสเซียจะสามารถถลุงเหล็กได้ถึง 3.9 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้รัสเซียยังมีเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกด้วยเช่นกัน (The Great War, Russia, 2017) (Berghahn, 2009, #8) (มุขวิชิต, ประวัติศาสตร์รัสเซีย, 1993, #341)
ในปี ค.ศ. 1894 รัสเซียได้ทำสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส เพื่อเป็นการตอบโต้เยอรมนี ต่อมาในปี ค.ศ. 1907 รัสเซียก็ได้กลายเป็นพันธมิตรกับอังกฤษหลังจากที่เป็นศัตรูกับมาเสียนาน ทั้งสองประเทศนี้ได้มีการทำข้อตกลงแบ่งขอบเขตที่สามารถแสวงหาผลประโยชน์และแพร่อิทธิพลของตน
ไม่ว่าจะเป็นในอัฟกานิสถานและเปอร์เซีย นอกจากนี้การที่รัสเซียได้พ่ายแพ้ให้แก่ญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1905 ยังทำให้รัสเซียได้รับรู้ว่าตนไม่สามารถขยายอิทธิพลไปในทางทิศตะวันออกเป็นระยะเวลาสักพักหนึ่ง ดังนั้นเป้าหมายต่อไปของรัสเซียก็คือแหลมบอลข่าน
รัสเซียเองก็มีเชื้อสายชาวสลาฟและมันยังสอดคล้องกับประเทศสลาฟที่พึ่งเกิดขึ้นมาใหม่ในบอลข่านไม่ว่าจะเป็น เซอร์เบีย มอนเตเนโกรและบัลแกเรีย นอกจากนี้ประเทศเหล่านี้ยังนับถือศาสนาเดียวกันกับรัสเซียซึ่งก็คือศาสนาคริสเตียนออร์โธดอกซ์
ไม่เพียงแค่นั้นรัสเซียเองก็ยังมีสัมพันธไมตรีที่ดีกับโรมาเนียและกรีซ ถึงแม้ว่าทั้งสองประเทศนี้จะไม่มีเชื้อสายชาวสลาฟก็ตาม แต่พวกเค้านับถือศาสนาเดียวกับรัสเซีย เหล่าประเทศในบอลข่านต่างก็นับถือและเคารพรัสเซียในฐานะผู้ปกป้องพวกเค้าจากจักรวรรดิออตโตมัน
กลุ่มลัทธิรวมชาติสลาฟในรัสเซียได้สนับสนุนให้มีการปฏิวัติและช่วยเหลือพี่น้องชาวสลาฟของพวกเค้าที่อยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เพื่อเป็นการตอบโต้ทางออสเตรีย-ฮังการีเองก็ได้สนับสนุนเหล่าผู้ที่มีความคิดจะก่อปฏิวัติภายในรัสเซียเช่นเดียวกัน จึงทำให้สองประเทศนี้กลายเป็นปรปักษ์ต่อกันไปโดยปริยาย (Sondhaus, World War One, 2020, #37-38)
แผนที่ของจักรวรรดิรัสเซียในปี ค.ศ. 1914
ในปี ค.ศ. 1914 รัสเซียจะมีประชากรอยู่ที่ราวๆ 166 ล้านคน ในพื้นที่ประมาณ 22,000,000 ตารางกิโลเมตร ด้วยจำนวนประชากรที่มากมายมหาศาลขนาดนี้ทำให้จักรวรรดิรัสเซียมีกองทัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก กองทัพรัสเซียมีชื่อว่า ‘กองทัพจักรวรรดิรัสเซีย’ (Imperial Russian Army) รัสเซียมีทหารประจำการอยู่ที่ประมาณ 1.3 ล้านนาย และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มต้นขึ้นรัสเซียจะมีทหารสูงถึง 3.5 ล้านนาย
แต่หลังจากที่รัสเซียได้พ่ายแพ้ให้แก่ญี่ปุ่น กองทัพเรือของรัสเซียนั้นก็ดูเหมือนจะไม่มีแผนการณ์รบหรือยุทธวิธีการรบทางทะเลเลยแม้แต่น้อย กองทัพเรือรัสเซียมีนามว่า ‘กองทัพเรือจักรวรรดิรัสเซีย’ (Imperial Russian Navy) นอกจากนี้เมื่อสิ้นสุดปี ค.ศ. 1914 รัสเซียจะมีเรือเดรดนอทอยู่เพียงแค่ 4 ลำด้วยกัน
ส่วนกองทัพอากาศรัสเซียนั้นถูกก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1912 เดิมทีแล้วถูกก่อตั้งมาจากเหล่าทหารช่าง ภายหลังได้ถูกแยกออกมาจากกองทัพบกเป็นอีกเหล่าทัพหนึงมีชื่อว่า ‘กองทัพอากาศรัสเซียแอร์เซอร์วิส’ (Imperial Russian Air Service) รัสเซียเองก็ยังมีเครื่องบินประมาณ 200 กว่าลำตอนเริ่มต้นสงคราม (Meyer, 2007, #142-144) (Simkin, Russia 1914, 2020) (Sondhaus, World War One, 2020, #37-38) (Sondhaus, Naval Warfare, 2001, #213-214) (Tucker, Country-By-Country ,2019, #459,#497, #500)
ภาพถ่ายของเรือประจัญบาน แกงกัส (Gangut) กำลังทอดสมออยู่ที่ฟินแลนด์ในปี ค.ศ. 1915
ภาพถ่ายของทหารรัสเซียกำลังเดินสวนสนามที่ปรัสเซียตะวันตก ในปี ค.ศ. 1914
✨จักรวรรดิรัสเซียอันใหญ่ยิ่งแต่มิได้ยิ่งใหญ่
หลังจากที่รัสเซียได้ปฎิเสธแผนการของญี่ปุ่นที่จะแบ่งพื้นที่แมนจูเรียกับเกาหลีให้อยู่ภายใต้เขตอิทธิพล (Sphere of influence) กองทัพเรือญี่ปุ่นก็ได้เข้าโจมตีเมืองพอร์ต อาเธอร์ (Port Arthur) ในช่วงค่ำของวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1904 โดยที่ไม่ได้ประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese war)
ต่อมาในวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1905 ประชาชนได้รวมตัวกันชุมนุมแบบสันติณจัตุรัสแดงที่พระราชวังฤดูหนาวในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ผู้นำในการชุมนุมครั้งนี้ก็คือบาทหลวง จอร์จ กาปอน (George Gapon) และยังได้ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อขอเข้าเฝ้าถวายฎีกาต่อพระเจ้าซาร์
แต่บาทหลวงนั้นไม่ทราบว่าพระเจ้าซาร์ไม่ได้ประทับอยู่ที่พระราชวังฤดูหนาว นิโคลัสที่ 2 ทรงประทับอยู่ที่พระราชวังซาร์คูเซโล (Tsarskoe Selo) ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กออกไป กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงเดินขบวนต่อเพราะอยากจะเฝ้าเข้าพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2
ปรากฎว่าขบวนกรรมกรได้เผชิญหน้ากับกองทหาร เหล่าทหารก็ได้เปิดฉากกระหน่ำยิงใส่ผู้ชุมนุมจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นที่รู้จักกันดีในนาม ‘วันอาทิตย์ทมิฬ’ (Bloody Sunday)
ภาพวาดของเหล่าประชาชนกำลังถูกสังหารหมู่ในเหตุการณ์วันอาทิตย์ทมิฬ ไม่ทราบจิตกรและวันที่วาด
นอกจากนี้ในปีเดียวกันนั้นเองยังมีชนกลุ่มน้อยภายในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเริ่มวางแผนก่อการปฎิวัติ มิหนำซ้ำก็ยังมาเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นรัสเซียได้พ่ายแพ้ในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น
ซึ่งชาวยุโรปได้มองว่าญี่ปุ่นนั้นเป็นเพียงแค่ชาติชั้นสอง ประชาชนต่างก็สูญเสียขวัญกำลังใจ เศรษฐกิจหยุดเจริญเติบโต เกิดเหตุจราจลไปทั่วรัสเซีย เหล่าคนงานต่างก็ปฎิเสธที่จะทำงาน (The Great War, Russia, 2017) (History.com Editors, Russo-Jap war begin, 2020) (มุขวิชิต, ประวัติศาสตร์รัสเซีย, 1993, #354-355)
สถานการณ์ความรุนแรงเหล่านี้ได้นำไปสู่เหตุการณ์ที่มีชื่อว่า ‘การปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ.​ 1905’ (Russian Revolution of 1905)
ภาพถ่ายของเหล่าผู้ประท้วงในการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ.​ 1905
แต่โชคก็ยังคงเข้าข้างนิโคลัส เพราะถึงแม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ประท้วงขึ้นเองในกองทัพก็ตามแต่ ความจงรักภักดีของกองทัพก็ยังคงขึ้นตรงกับกษัตริย์นิโคลัสอยู่ดีจึงทำให้ไม่ทรงสละราชบัลลังก์ แต่ทรงถูกบังคับให้ออกประกาศ ‘หลักการเดือนตุลาคม’ (October Manifests) และยอมให้มีการร่างรัฐธรรมนูญกับเปิดรัฐสภาดูม่า (Duma)
แน่นอนว่านิโคลัสไม่เห็นด้วยกับการแบ่งอำนาจในครั้งนี้และพยายามที่จะยับยั้งทุกครั้งที่มีโอกาส นิโคลัสนั้นต้องการที่จะดำรงระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหาร (Military Dictatorship) โดยมีแกรนด์ ดยุคปีเตอร์ นิไคโลวิชแห่งรัสเซีย (Grand Duke Peter Nikolaevich) เป็นผู้นำในการปกครองครั้งนี้
ดยุคปีเตอร์ นิไคโลวิชได้ปฏิเสธที่จะขึ้นครองและข่มขู่ที่จะยิงหัวตัวเองหากนิโคลัสไม่ตกลงที่จะเซ็นสัญญาการประกาศเดือนตุลาคม การกระทำนี้เด็ดขาดมากพอที่จะทำให้นิโคลัสเห็นด้วยกับการปฎิรูป ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาระบบเศรษฐกิจของรัสเซียก็เข้าสู่ช่วงฟื้นฟู
แต่ระบอบรัฐสภาและการปฏิรูปที่นิโคลัสเคยให้สัญญาไว้มิได้มีการพัฒนาแต่อย่างใด นิโคลัสนั้นไม่ยอมที่จะแบ่งอำนาจของตนให้กับใครทั้งสิ้นและพยายามที่จะปิดตัวรัฐสภาลงทุกๆครั้งที่มีโอกาส ทำให้รัฐสภาดูมากลายเป็นเพียงแค่คณะละครสัตว์ในมุมมองของการเมือง
ส่งผลให้มีกลุ่มผู้ก่อการร้ายและนักฆ่าที่วางแผนลอบสังหารบุคคลในรัฐบาลของนิโคลัสอยู่เป็นประจำ ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1905 - 1909 มีผู้ว่าราชการจังหวัดและเจ้าหน้าที่เกือบ 1,500 คนถูกลอบสังหาร
อย่างไรก็ตามสิ่งที่หน้าแปลกใจก็คือ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มต้นขึ้นผู้คนต่างก็รวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกัน และเป็นครั้งแรกที่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 สามารถเพลิดเพลินกับการเป็นกษัตริย์ได้ (The Great War, Russia, 2017) (MacMillan, 2014, #230-232)
บรรณานุกรม
โฆษณา